ประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ ต่อลมหายใจให้ประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

“ปริมาณ 1,500 ลบ.ฟ.ต่อวันนั้นเหมาะสม แต่ก็จะทำให้ภาพรวมของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศนั้นลดลง  แต่ถือว่าเป็นการยืดอายุออกไป ซึ่งการยืดอายุดังกล่าวนั้นก็ยังตั้งอยู่ในความหวังของการสำรวจในอนาคต อาจจะทำให้ประเทศไทยค้นพบแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ เพิ่มเติม เนื่องจากต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้นั้นมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดไม่เหมือนกับอดีตที่ผ่านมา ซึ่งก็จะทำให้การค้นหาหรือสำรวจนั้นเป็นไปได้ง่ายด้วยเช่นกัน”

 

        ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์ที่ดี เป็นจุดกึ่งกลางของหลายๆ ด้าน รวมถึงยังมีวัตถุดิบต่างๆ ที่สามารถไปต่อยอดและพัฒนาต่อได้ โดยเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดี เนื่องจากวัตถุดิบด้านพลังงานนั้นไม่ใช่ว่าจะสามารถสร้างขึ้นมาเองได้ แต่ต้องอาศัยความเป็นมาของธรรมชาติและการสะสมของแหล่งวัตถุดิบบางอย่าง

        จากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นประเทศไทยได้รับประโยชน์จากวัตถุดิบทางธรรมชาติมากมาย ทั้งน้ำ แสงแดด ดิน อากาศ รวมถึงวัตถุดิบที่จะต้องค้นหาและขุดเจาะอย่างน้ำมันและปิโตรเลียมทั้งบนดินและในน้ำ ซึ่งการค้นหานั้นต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย รวมทั้งยังต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาควบคุมและดูแลเพื่อให้การดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลในด้านนี้ก็หนีไม่พ้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือ ชธ. ที่อยู่ภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงพลังงานอีกที

(สราวุธ แก้วตาทิพย์)

        ซึ่ง ชธ.ในยุคนี้อยู่ในการควบคุมโดย นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และจากการพูดคุยกันนั้น เห็นได้ชัดว่าวิสัยทัศน์และแผนดำเนินการภายใต้การดำเนินงานของอธิบดีคนนี้มีความชัดเจนอย่างมาก นอกจากจะสานต่องานเก่าๆ ที่ยังค้างคาแล้วนั้น ยังเตรียมที่จะพัฒนาและดำเนินการโครงการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเปิดสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมรอบใหม่

 

 

ลดการผลิตยืดอายุการขุดเจาะ

        โดย นายสราวุธ กล่าวว่า ภาพรวมปิโตรเลียมของประเทศไทยนั้นปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) ต่อวัน ซึ่งกำลังการผลิตในประเทศที่ทำได้ตอนนี้คือประมาณ 3,500 ลบ.ฟ.ต่อวัน และในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,500 ลบ.ฟ.ต่อวัน จะต้องนำเข้า ซึ่งกำลังการผลิตในประเทศที่สำคัญนั้นมาจาก 2 แหล่งใหญ่ในอ่าวไทย คือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่มีกำลังการผลิตรวมกันอยู่ที่ประมาณ 2,100 ลบ.ฟ.ต่อวัน ถือว่าเกิน 50% จากกำลังการผลิตทั้งหมด

        โดยกำลังการผลิตดังกล่าวนั้นจะอยู่ที่ปริมาณนี้จนถึงปี 2565 หลังจากที่แหล่งเอราวัณนั้นหมดอายุสัญญาสัมปทานเดิมจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  และเปลี่ยนมือการบริหารมาเป็นของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. หลังจากที่มีการเปิดประมูล และประกวดราคาเพื่อถือสิทธิ์บริหารแหล่งดังกล่าวหลังจากสัญญาเดิมหมดอายุในปี 2565 รวมถึงการเปลี่ยนระบบการดำเนินงานจากสัมปทาน เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือพีเอสซีด้วย

        ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนระบบเป็นพีเอสซีนั้นตามสัญญาการประมูล (ทีโออาร์) นั้น ได้ระบุปริมาณในการขุดเจาะปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณจากเดิมที่ผลิตเต็มกำลังจะเหลือ 1,500 ลบ.ฟ.ต่อวัน ซึ่งส่วนนี้ได้รวมกำลังการผลิตจากแหล่งบงกช ด้วย ซึ่งจะหมดอายุในปี 2566 และเริ่มดำเนินการภายใต้ระบบพีเอสซีเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 แหล่งนั้นจะได้รับการบริหารงานจาก  ปตท.สผ.เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นรายเดิมที่ถือสิทธิ์ในการบริการแหล่งบงกชอยู่แล้ว

        ซึ่งการกำหนดโควตาขุดเจาะให้เหลือ 1,500 ลบ.ฟ.ต่อวันนั้น เป็นการประเมินทางด้านธรณีวิทยาในการที่จะยืดอายุการขุดเจาะแหล่งก๊าซให้ได้ไปอีก 10 ปี เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวระบุว่าหากมีการขุดเจาะเต็มกำลังของแหล่งแบบเดิม ปริมาณก๊าซธรรมชาติในหลุมนั้นจะผลิตได้ไปอีกเพียง 6-7 ปีเท่านั้น  และจากวิสัยทัศน์ของกรมที่อยากจะสงวนก๊าซนี้ให้ไปเข้ากระบวนการผ่านโรงแยกและนำสารที่มีคุณค่าออกมาพัฒนาเป็นจุดตั้งต้นของปิโตรเคมีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ จึงจำเป็นต้องยืดอายุการขุดเจาะดังกล่าวออกไป

 

        “ปริมาณ 1,500 ลบ.ฟ.ต่อวันนั้นเหมาะสม แต่ก็จะทำให้ภาพรวมของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศนั้นลดลง แต่ถือว่าเป็นการยืดอายุออกไป ซึ่งการยืดอายุดังกล่าวนั้นก็ยังตั้งอยู่ในความหวังของการสำรวจในอนาคต อาจจะทำให้ประเทศไทยค้นพบแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ  เพิ่มเติม เนื่องจากต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้นั้นมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดไม่เหมือนกับอดีตที่ผ่านมา ซึ่งก็จะทำให้การค้นหาหรือสำรวจนั้นเป็นไปได้ง่ายด้วยเช่นกัน” นายสราวุธกล่าว

 

นำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่ม

        แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติลดลงนั้น ก็ต้องนำเข้าเพิ่ม ซึ่งการนำเข้าปัจจุบันนั้นอยู่ที่ประมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 700 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว ถ้าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือคงที่เท่าปัจจุบันนั้นก็จะต้องนำเข้าเพิ่ม

        ซึ่งจากสถิติการเปิดประมูลมารวมทั้งสิ้น 20 ครั้งที่ผ่านมานั้น ก็มีการสำรวจกันไปพอสมควรแล้ว และครั้งที่พบมากที่สุดคือครั้งแรกที่ได้แหล่งบงกชและเอราวัณ และอีกครั้งก็คือครั้งที่ 13 ในปี 2532 ที่มีการเปลี่ยนระบบจากไทยแลนด์หนึ่งเป็นไทยแลนด์สาม และเปิดสำรวจเยอะมาก ทั้งหมดกว่า 109 แปลง  ซึ่งก็พอสำรวจพบบ้าง และเราไม่ได้เปิดประมูลมา 13 ปี ซึ่งในช่วงนี้เทคโนโลยีเกิดขึ้นมามาก ดูได้จากในช่วง 5 ปีหลัง มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถขุดเจาะในพื้นที่ใหม่ๆ ค้นพบก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ทั้งเชลล์ออย เชลล์แก๊ส แต่ต้องทำความเข้าใจว่าข้อมูลทางธรณีวิทยาพื้นที่ในประเทศไทยนั้นไม่ใช่การขุดเจาะไปหนึ่งครั้งแล้วจะเจอทั้งหมด  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งเล็กๆ กระจายกันอยู่ในหลายพื้นที่ซึ่งการขุดเจาะก็จะยากลำบากมากกว่า และใช้ระยะเวลาดำเนินการมากกว่า แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ๆ นั้น ก็เป็นไปได้ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับการขุดเจาะนี้ ซึ่งถ้าเปิดประมูลใหม่ได้ และขอให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสำรวจก็อาจจะทำให้ความหวังนั้นเป็นจริง

 

เม.ย.63 เปิดสำรวจรอบที่ 23

        นายสราวุธกล่าวว่า การเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในเดือน เม.ย.2563 นี้ โดยจะได้ข้อสรุปรายละเอียดจำนวนแปลงที่จะเปิดสัมปทานภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดแปลงในอ่าวไทยเป็นหลัก เพราะแปลงบนบกติดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)  และจะมีการร่างขอบเขตและรายละเอียดการประมูล (ทีโออาร์) พร้อมกับประกาศให้เอกชนรับทราบภายในช่วงเดือน เม.ย. 63 หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูล ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติ (พีคิว) และยื่นซองประกวดราคาต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและได้ผู้ชนะการประมูลในช่วงเดือน ม.ค.2564  อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าประเทศไทยนั้นจะมีความสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาสำรวจและผลิตได้ ถึงแม้ว่าหลายประเทศได้ปรับกติกาเพื่อจูงใจการลงทุนด้านปิโตรเลียมมากแล้ว เนื่องจากทุกประเทศเห็นว่าการผลิตปิโตรเลียมเองในประเทศเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งนี้ประเทศไทยเองจะอาศัยโอกาสที่ว่าไม่ได้ปิดประมูลมานาน ก็อาจจะมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเยอะ และหากมีการสำรวจอาจจะมีแหล่งก๊าซที่เพิ่มขึ้น

      “การเปิดรอบใหม่นี้ถือว่าเป็นการต่อลมหายใจให้กับประเทศ สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพได้ พร้อมกับเกิดเงินลงทุนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะมีการเก็บค่าภาคหลวงเป็นเงินเข้าประเทศด้วย ซึ่งค่าภาคหลวงจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนั้นจัดเก็บเป็นรายได้แผ่นดินอันดับที่ 4 ของประเทศ ซึ่งภาพรวมการจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา มีสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศที่ดำเนินการอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลง สำรวจแบ่งเป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลงนายสราวุธกล่าวว่า

       

สำรวจแหล่งสินภูฮ่อมเพิ่ม

        นายสราวุธกล่าวว่า ในปีนี้ บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด จำกัด หนึ่งในกลุ่ม ปตท.สผ. จะดำเนินการขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติบนดิน แหล่งสินภูฮ่อมเพิ่มเติม ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น เพื่อใช้ในการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง ทดแทนโรงเก่าที่มีกำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ และจะหมดอายุในปี 2564 นี้

        หลังจากที่ก่อนหน้าได้ทาง ปตท.สผ.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซน้ำพอง (ทดแทน) เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ แทนที่จะต้องปลดออกจากระบบ จากการสิ้นสุดอายุโรงไฟฟ้า ทั้งนี้หากการขุดเจาะดังกล่าวมีกำลังการผลิตเพียงพอเทียบเท่ากับเดิมที่สามารถป้อนก๊าซในระยะยาวกว่า 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ ก็จะมีการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทันที ทั้งนี้หากการขุดเจาะดังกล่าวมีน้อยกว่าที่กำหนด ก็อาจจะต้องปลดโรงไฟฟ้าก๊าซน้ำพองเดิมออกจากระบบ

        ขณะเดียวกัน คณะกรรมการปิโตรเลียม ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มีการอนุมัติกำหนดพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมนงนุช จำนวน 363.05 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ในแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G11/48 (บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดนราธิวาส) เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1 แห่ง ซึ่งมีบริษัท เอ็มพี จี 11 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน โดยในเบื้องต้นมีการประเมินอัตราการผลิตน้ำมันดิบจากพื้นที่ผลิตดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 5 พันบาร์เรลต่อวัน โดยบริษัทผู้ดำเนินงานมีแผนจะผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงปี 2564-2576

 

พื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลย์ยังไม่ชัด

        นายสราวุธกล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ยังบอกอะไรไม่ได้ ต้องหารือกันทั้ง 2 ฝ่ายให้มีความชัดเจนก่อน  ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับอธิบดีกรมต่างๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ แต่เรื่องนี้ก็คงทำได้ไม่เร็ว

        "เราคงหนีไม่พ้นการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ หรืออาจเรียกว่ารอบที่ 23 ก็ได้ เพราะการเปิดประมูลนอกจากจะสร้างเม็ดเงินการลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และต่อยอดในยังเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากมาย รวมถึงยังต่อยอดไปยังสายงานอาชีพอื่นๆ และสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศอีกด้วย" นายสราวุธกล่าวทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"