13ก.พ.วันถุงยางอนามัยสากล กรมควบคุมโรค-สสส. ผนึกภาคีแนะคนทุกเพศพกถุงยางหากพลั้งเผลอ


เพิ่มเพื่อน    

วันถุงยางอนามัยสากล (International Condom Day 2020) กรมควบคุมโรค กรมอนามัย สสส. P2H Access ชี้สถานการณ์สุขภาวะทางเพศวัยรุ่น 15-24 ปียังน่าห่วง พบป่วย 5 โรคติดต่อทางเพศ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรค 124.6 ต่อประชากรแสนคน วัยรุ่นเข้าถึงถุงยางได้น้อยเพราะมีราคาแพง ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ยืนยันไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอก เสนอให้วัยรุ่น delay การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก พกถุงยางเป็นความรับผิดชอบทั้งสองฝ่าย ไม่พลาดท้องก่อนวัยอันควร-ไม่ติดโรค ด้านสายด่วน 1663 เผยเหตุผู้หญิงมักไว้ใจคนรัก ขณะที่ชายจำนวนหนึ่งรับไม่ได้มีคู่แค่คนเดียว เสี่ยงติดโรค เร่งสร้างทัศนคติใหม่ ส่งเสริมใช้ถุงยาง

               

วันที่ 13 ก.พ.ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันถุงยางอนามัยสากล (International Condom Day 2020) กรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (Access) และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวส่งเสริมการมีสุขภาวะทางเพศ “วัยรุ่น 2020 รู้จักป้องกันท้อง ป้องกันโรค” จัดให้มีการเสวนาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ พร้อมเปิดตัวสื่อรณรงค์สร้างเสริมสุขภาวะทางเพศในกลุ่มวัยรุ่นเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 ที่ห้องกรีน อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการ

 

               

พญ.มณฑินี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เราจำเป็นต้องปรับภาพลักษณ์ถุงยางอนามัยเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น เพื่อเป็นโอกาสดีในการสร้างสุขภาวะให้กับวัยรุ่น สถิติปี 2562 พบเยาวชนอายุ 15-24 ปี ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรค ได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง สูงถึง 124.6 ต่อประชากรแสนคน หากแยกรายโรคพบว่า โรคหนองในสูงถึง 69.7 และซิฟิลิสสูงถึง 39.3 ต่อประชากรแสนคน หรือวัยรุ่นไทยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 14 คน:วัน บ่งบอกว่าปี 2562 สูงกว่าเดิม 2558 ถึง 5 เท่า          

               

ค่านิยมของการไม่ใช้ถุงยางอนามัยทั้งๆ ที่วัยรุ่นไทยต่างก็รู้จักถุงยางอนามัย เพียงแต่ยังติดปัญหาเรื่องทัศนคติ ส่วนอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่น ที่แม้ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน การคลอดของวัยรุ่นไทยก็ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง โดยพบอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เท่ากับ 35 ต่อจำนวนประชากรหญิง 1,000 คน หรือ 190 คน:วัน หรือจังหวัดหนึ่งจะมีวัยรุ่นคลอดลูก 3 คน 

               

กรมควบคุมโรคจึงพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย พ.ศ.2563-2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์พ.ศ.2560-2573 โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ (1) การส่งเสริมให้การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน (2) การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงถุงยางอนามัย (3) การพัฒนาระบบบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพถุงยางอนามัย (4) การพัฒนานโยบายและเสริมสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย และ (5) การควบคุม กำกับ ติดตาม และประเมินผลยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย

               

การสำรวจข้อมูลในกลุ่มวัยรุ่น (กลุ่มเด็ก ม.2 และ ปวช.ปี 2) เกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยนั้นในรอบ 12 เดือนที่มีเพศสัมพันธ์ 76% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำ เพราะกำหนดตัวเลขไว้ที่ 90% กรณีที่ใช้ถุงยางสม่ำเสมอก็ลดจำนวนลงเป็น 46% มีข้อสังเกตว่าจะใช้ถุงยางกับคนที่ไม่ไว้วางใจ แต่กับคู่สมรส สามีภรรยาหรือคู่ประจำจะไม่ใช้ถุงยางอนามัย แตกต่างจากคนญี่ปุ่นจะมีพฤติกรรมที่ใช้ถุงยางอนามัยในทุกสถานการณ์และสม่ำเสมอ ด้วยการกำหนด Mind Set กับประชาชนทุกคนทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เราต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันบางคนก็ไม่ได้มีคู่เดียว อย่างไรก็ตาม การคุมกำเนิดในเมืองไทยยังมีการใช้ยาคุมกำเนิด ยาฝัง ใส่ห่วงคุมกำเนิด ในขณะที่คนญี่ปุ่นใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีเพศสัมพันธ์

               

เหตุผลหนึ่งที่วัยรุ่นเข้าถึงถุงยางอนามัยได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากติดปัญหาเรื่องกำลังซื้อ ปกติเด็กนักเรียนในต่างจังหวัดจะรับประทานอาหารกลางวันที่ รร. และได้รับเงินจากครอบครัวไป รร.เป็นจำนวนไม่มากนักเพียง 20-30 บาท ผู้ผลิตถุงยางอนามัยในเมืองไทยมีหลายเจ้าที่ผลิตได้มาตรฐานดีที่สุดในโลกเป็นที่นิยมและส่งออกเป็นจำนวนมากที่สุดถึง 90% เมื่อถุงยางนำออกจากโรงงานแล้ว สำนักงานสาธารณสุข จว. จัดส่งให้ได้มาตรฐานนำมาเก็บไว้ในที่สูงเพื่อป้องกันหนู แมลงกัดแทะ และต้องเก็บไว้ในที่อุณหภูมิ 25 องศา เมื่อถึงผู้บริโภคก็ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ เพราะจะทำให้ถุงยางอนามัยแตกได้

 

               

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. (สำนัก 2) กล่าวว่า สสส.ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เพราะประเด็นด้านสาธารณสุขพื้นฐานที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา สสส.พัฒนาจังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยประสานกับคณะทำงานท้องวัยรุ่นจังหวัด จัดทำหลักสูตรพัฒนาผู้นำเยาวชนในการเป็นผู้พิทักษ์สิทธิ ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 โดยทำงานกับเยาวชน มีการพัฒนาชุดความรู้การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ โดยประสานกับชุมชน ท้องถิ่นและโรงเรียน มีระบบพัฒนาทักษะผู้ปกครองให้สามารถสื่อสารเชิงบวกกับบุตรหลานในเรื่องเพศได้ โดยประสานกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสถานประกอบการ อีกทั้งยังมีการสื่อสารรณรงค์ในระดับประเทศเพื่อสร้างความรับรู้ใหม่ในประเด็นเรื่องเพศและการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งต้องเร่งดำเนินการรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่รวดเร็ว

               

“วัยรุ่นมักมองถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ในการใช้เครื่องมืออย่างมีความสุข เราต้องการให้ข้อมูลว่าการใช้ถุงยางสร้างสุขภาวะที่ดีได้ บางคนตั้งคำถามว่า สสส.ชี้โพรงให้กระรอกเพื่อให้เด็กมีอะไรกัน เราต้องมองโลกตามสภาพความเป็นจริง ผู้ใหญ่ต้องเท่าทัน เราไม่สามารถติดตามเด็กได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราสนับสนุนให้มีการ delay การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่ในขณะเดียวกันก็ติดอาวุธให้วัยรุ่นเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง หยิบอุปกรณ์ป้องกันมาใช้ถ้าเผื่อเกิดความพลั้งพลาดในการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อสุขภาวะที่ปลอดภัย ไม่ท้องก่อนเวลาอันควร เรื่องเพศศึกษานั้นถ้าปล่อยให้เด็กคุยหารือกันเองก็มีสิ่งผิดพลาดได้ เพราะต่างฝ่ายก็ไม่ได้รู้จริง ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็เก้อเขินที่จะสอนเด็ก จำเป็นต้องติดอาวุธให้ลูกหลานปลอดภัยในการใช้ชีวิต รู้เท่าทันเรื่องเพศ เพราะเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องสกปรก ต้องปรับวิธีคิดเรื่องเพศ ด้วยสมรรถภาพที่ดีจะทำให้เด็กปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย การใช้ถุงยางเป็นความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อคนที่มีเพศสัมพันธ์ ทุกคนก็จะปลอดภัย และไม่ใช่แค่วัยรุ่นที่เราต้องการสื่อสารเรื่องนี้ แต่ยังรวมไปถึงผู้ใหญ่ด้วย”

 

               

พรนุช สถาผลสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิแพธฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร สสส. และภาคีเครือข่าย เผยแพร่หลักสูตร e-Learning เพศวิถีศึกษาให้ครูผู้สอน ร่วมกับการทำงานเชิงรุกกับผู้บริหารสถานศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย โดยส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา 16 คาบ/ปี อาทิ สอนให้นักเรียนรู้จักความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ รู้จักสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ รู้จักวิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ รู้จักช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพที่พึงได้รับตามสิทธิ รวมถึงสร้างความเข้าใจกับสมาคมผู้ปกครอง แต่ทั้งหมดยังมีอุปสรรคเรื่องทัศนคติของผู้ใหญ่ ครูและพ่อแม่หลายคนไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก มีความพยายามยับยั้งการมีแฟน มีความรัก ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติ ขณะที่หลายโรงเรียนให้ความสำคัญกับการสอบแข่งขันมากกว่าการสอนทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ปลอดภัย ทำให้เด็กขาดภูมิคุ้มกันดูแลตัวเอง

               

“การสอนเพศศึกษาใน รร.เป็นงานท้าทาย หลายภาคีทำงานเรื่องนี้มานานแล้ว ทั้งในส่วนกลางและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การให้การศึกษาเพศวิถีศึกษาที่ รร.ต้องทำ นโยบายที่จะพัฒนาครูสอนเพศวิถีศึกษามีองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ เด็กอยากเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ ในขณะที่ครูไม่สบายใจ ไม่พร้อมที่จะอยากสอนเรื่องเพศวิถีศึกษา ดังนั้นการทำงานกับครูให้ยอมรับเรื่องการสอนเป็นสิ่งจำเป็นในยุคนี้ ขณะนี้ทาง สสส.พยายามทำเรื่องการสอนเพศศึกษาในเด็กชั้นประถม”

 

               

สมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (Access) และผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวว่า สสส.เข้ามาสนับสนุนเมื่อปี 2556 ส่วนใหญ่ปรึกษาเรื่อง HIV/AIDS และปัญหาท้องไม่พร้อม เริ่มต้นจาก 10 คู่สายจากผู้ปรึกษา 3 หมื่นคน เพิ่มจำนวนเป็น 6 หมื่นคน สถิติจากสายด่วน 1663 ปี 2562 พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษา กังวลเรื่อง HIV/AIDs เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 25-45 ปี ซึ่งมากกว่าเพศหญิงที่ยังไม่ได้กังวลเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และทั้งเพศหญิงและชายมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะไว้ใจคู่รัก และน่ากังวลยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าเพศชายที่โทร.มาจำนวนหนึ่ง ยอมรับว่ามีคู่นอนหลายคน และไม่พร้อมเปิดเผยความเสี่ยงกับคู่รักของตนเอง

               

นอกจากนี้ สถิติยังพบเพศหญิงวัยทำงานร้อยละ 70 และเพศหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 30 โทร.เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม อันเป็นผลมาจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นมีความรับผิดชอบ พกและใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ไม่พร้อม

               

ติดตามชมสื่อรณรงค์ “คลิปแหล่” ได้ทาง https://facebook.com/sexpert.family/posts/2566592300105518/


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"