แจกเงินพันเยียวยาโคโรนา


เพิ่มเพื่อน    

 ประชานิยมโคโรนามาแล้ว “อุตตม” เตรียมชง ครม.เศรษฐกิจเยียวยาล็อตแรกวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งแจกเงิน 1-2 พันบาทเข้าบัญชีพร้อมเพย์ เผย 14 ล้านคนได้ประโยชน์ “17 สายการบิน” วอนคมนาคมช่วยด่วน สมาคมค้าปลีกรุดชง 4 มาตรการใหญ่อุ้ม ทั้งหั่นแวตเหลือ 5% ฟื้นช้อปช่วยชาติ

เมื่อวันพุธที่ 4 มีนาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.นี้ กระทรวงจะเสนอชุดมาตรการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา ชุดที่ 1 วงเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาทให้ที่ประชุมพิจารณา โดยมาตรการจะประกอบด้วย มาตรการแจกเงินจำนวน 1,000-2,000 บาท ที่อยู่ระหว่างพิจารณากรอบโอนผ่านพร้อมเพย์ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร ซึ่งจะมีผู้รับประโยชน์กว่า 14 ล้านคน
“กำลังพิจารณาว่าจะแจกครั้งเดียวหรือทยอยเป็นรายเดือน เพราะชุดมาตรการต้องการให้มีผลทันทีในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า โดยมาตรการนี้จะไม่เกี่ยวกับชิมช้อปใช้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ผู้ถือบัตรบางส่วนที่เข้าเกณฑ์ ก็จะรับการแจกเงินด้วย” นายอุตตมกล่าว
    รมว.การคลังกล่าวต่อว่า ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและภาคท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก (ซอฟต์โลน) เพื่อไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการผ่อนปรนให้ธนาคารพาณิชย์สำรองหนี้เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งมีมาตรการภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการให้จ้างงานลูกจ้างต่อไป โดยมีทั้งการหักค่าใช้จ่ายมากกว่า 1 เท่า และลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีมาตรการช่วยเหลือตลาดทุนด้วย โดยปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SFF) ให้เหมือนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว 
“ได้เน้นกับปลัดกระทรวงการคลังแล้วว่ามาตรการทั้งหมดเมื่อผ่าน ครม.เศรษฐกิจและ ครม.แล้วต้องมีผลในทางปฏิบัติทันที ซึ่งมาตรการจะมีผล 3-4 เดือน ไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ส่วนผลกระทบของไวรัสโคโรนานั้น จะไปจบเมื่อไหร่ เราไม่สามารถตอบได้ เราจึงออกมาตรการดูแลชุดที่ 1 ซึ่งหมายความว่ามีความพร้อมจะออกมาตรการชุดที่ 2 และ 3 ทันที หากเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น”นายอุตตมกล่าว
    ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังการหารือกับตัวแทนสายการบินเอกชน 17 สายการบินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เข้าช่วยเหลือ โดยให้ยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมสายการบิน เพราะแม้สายการบินจะลดค่าใช้จ่ายในองค์กร รวมทั้งจัดโปรโมชั่นกระตุ้นแล้ว แต่จำนวนผู้โดยสารต่างประเทศยังลดลง 35.2% และในประเทศลดลง 18.4% โดยผู้โดยสารทั้งหมดลดลง 2.54 ล้านคน 
     “มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมรวบรวมรายละเอียด และหาข้อสรุปแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 6 มี.ค.นี้” นายศักดิ์สยามกล่าว
    ทั้งนี้ ข้อเสนอของสายการบินนั้น ได้ขอให้ ทอท.ลดการขึ้นลงอากาศยาน Landing fee, ที่เก็บอากาศยาน parking fee, การใช้สะพานเทียบเครื่องบิน และค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน 
    ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานบริหารเจ้าหน้าที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินมีผู้โดยสารลดลง 15-20% ซึ่งจากการหารือร่วมกับ รมว.คมนาคม ถือว่ามีแนวโน้มที่ค่อนข้างดี 
วันเดียวกัน นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุถึงผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ว่าทำให้ลูกค้าลดลงมากกว่า 30% และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังซื้อหายไปจากระบบกว่า 70,000 ล้านบาท จึงเสนอ 4 มาตรการหลักในการช่วยเหลือเยียวยา คือ 1.มาตการกระตุ้นการบริโภค ประกอบด้วย ฟื้นโครงการช้อปช่วยชาติ, คืนภาษีนำเข้า, ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7% เป็น 5%  และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิจากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก 
2.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนิติบุคคล ประกอบด้วย ยืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี, ให้นิติบุคคลที่ต้องลงทุนซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง แจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดโควิด-19 หักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า และลดอัตราค่าน้ำค่าไฟต่อหน่วยให้แก่นิติบุคคล
    3.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการจ้างงาน ประกอบด้วย ให้กระทรวงแรงงานประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง, ให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายในการสมทบเข้ากองทุน และนโยบายจ้างงานผู้สูงอายุให้ปรับเพิ่มอัตราชดเชยภาษีที่นิติบุคคลสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเดิมหักได้เพียง 15,000 บาท/คน เป็นหักได้สูงสุด 50,000 บาท/คน
และ 4.มาตรการด้านการสร้างความความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ประกอบด้วย ร่วมมือกับภาครัฐรณรงค์ให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกทั่วประเทศทำ Big Cleaning และภาครัฐต้องสนับสนุนให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีก และแหล่งท่องเที่ยว ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง การแจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดโควิด-19 ซึ่งหลายมาตรการจะใช้เวลาชั่วคราวในช่วงวันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.เท่านั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"