ระหว่างโลกเสมือนจริงและโลกแห่งความเป็นจริง


เพิ่มเพื่อน    

        หลังๆ มานี้...ดูเหมือนว่าความเป็นไปใน “โลกเสมือนจริง” หรือโลกโซเชียล มีเดีย มันชักจะมีบทบาท อิทธิพล ครอบงำความเป็นไปใน “โลกแห่งความเป็นจริง” มากยิ่งขึ้นไปทุกที โดยเฉพาะในสังคมไทย ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาด้วยแล้ว ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ น่าจะเห็นได้ถนัด ชัดเจน ยิ่งขึ้นไปใหญ่...

                                    ---------------------------------------------

                เรียกได้ว่า...ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ ต่างหนีไม่พ้นต้องไปหยิบเอาคลิปโน่น คลิปนี่ ข้อความ คำพูด คำบ่น คำระบายที่โพสต์กันไป โพสต์กันมา แชร์กันไป แชร์กันมา ในเว็บไซต์ ในเฟซบุ๊ก ในเพจโน่น เพจนี่ มานำเสนอเป็นข่าวคราว เป็นเนื้อหาสาระ แบบชนิดทั้งดุ้น ทั้งด้าม โดยไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาตรวจสอบ กลั่นกรอง ว่ามันพอจะมีสาระ หรือสุดจะไร้สาระ หรือไม่ เพียงใด ขอเพียงแต่ให้ถูกพูด ถูกแชร์ ถูกกดไลค์ กดไม่ไลค์ ชนิดเยอะๆ เข้าไว้ ก็สามารถนำมาเป็นข่าวคราว นำมาสะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว ความเป็นไป ในโลกเสมือนจริง ที่ค่อยๆ เข้ามาบดบังความเป็นไปในโลกแห่งความเป็นจริง จนแทบไม่รู้ว่าโลกไหน เป็นโลกไหน กันไปซะแล้ว...

                                       -----------------------------------------------

                ซึ่งปรากฏการณ์ในลักษณะทำนองนี้...คงไม่ถึงกับเป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไรมากมาย เพราะเท่าที่เคยฟังๆ มาจากบริษัท องค์กรที่พยายามรวบรวมข้อมูล สถิติ จากการสำรวจและวิจัย อันเป็นที่รู้จักกันในนาม “We are Social” แล้วนำเอามาเปิดเผยไว้เมื่อช่วงปลายๆ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทุกสิ่งทุกอย่างมันคงต้องเป็นไปในแนวนี้นั่นแหละทั่น เพราะแค่จำนวนตัวเลขประชากรประเทศไทย ที่มีอยู่ประมาณ 60 กว่าล้านคน ว่ากันว่า...มีจำนวนถึง 50.18 ล้านคน หรือประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองไทย คือผู้ที่ต่างหันมาใช้บริการอินเทอร์เน็ต หรือหันมามั่วมา-มั่วไป อยู่ในโลกเสมือนจริงไปด้วยกันทั้งสิ้น...

                                    -------------------------------------------------

                ถือเป็นตัวเลข สถิติ ที่สูงกว่าตัวเลข สถิติ โดยเฉลี่ยของบรรดาประชากรโลก ที่จำนวนผู้หันมาใช้บริการอินเทอร์เน็ต หรือหันมามั่วมา-มั่วไป อยู่ในโลกเสมือนจริง ยังอยู่ในระดับเพียงแค่ 59 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกเท่านั้น ยิ่งถ้าหากเป็นการใช้บริการผ่านอุปกรณ์ เครื่องมือ อย่างโทรศัพท์มือถือด้วยแล้ว ยิ่งทะลุเมฆ ทะลุเพดาน หนักขึ้นไปใหญ่ คือทะลุขึ้นไปถึงประมาณ 134 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรประเทศไทย หรือพูดง่ายๆ ว่าตัวเลขจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ มันมีมากกว่าจำนวนประชากรประเทศไทย ไปไม่รู้กี่เท่า ต่อกี่เท่า...

                                  ----------------------------------------------------

                อีกทั้งในบรรดาผู้ที่มั่วไป-มั่วมา อยู่ในโลกเสมือนจริง หรือโลกอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยนั้น ออกจะเป็นอะไรที่หมกมุ่น มัวเมา กว่าบรรดาชาวโลกโดยทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดเจน หรือเป็นผู้ใช้ช่วงเวลาไปกับอินเทอร์เน็ต ใช้เวลาอยู่ในโลกเสมือนจริง สูงถึงวันละไม่ต่ำกว่า 9 ชั่วโมง 45 นาทีต่อวัน หรือสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกทั้งโลก โดยเฉพาะผู้ใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือนั้น วันละไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง 0.18 นาที มากกว่าบรรดาชาวโลกโดยทั่วไป ที่มีอัตราการใช้โดยเฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมง 57 นาทีต่อวัน เท่านั้นเอง หรือพูดง่ายๆ ว่า...ออกจะ “บ้าอินเทอร์เน็ต” กว่าใครเค้าเพื่อน...

                                   -----------------------------------------------------

                และแหล่งที่ถือเป็น “ศูนย์รวมความบ้า” ของชาวไทย...ก็น่าจะอยู่ที่อาณาเขต พื้นที่ ที่คิดๆ กันเอาเองว่าเป็น “พื้นที่ส่วนตัว” หรือ “โลกส่วนตัว” ที่เรียกๆ กันว่า “เฟซบุ๊ก” นั่นแหละทั่น ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันแทบไม่ได้มีอะไรที่เป็นส่วนตัวเอาเลยแม้แต่น้อย แต่ว่ากันว่า...เป็นพื้นที่ที่คนไทยเข้าไปใช้บริการมากที่สุด โดยจะเอาไว้ใช้เพื่อการบ่น การระบาย เอาไว้ถ่ายรูปชามข้าว จานข้าว ที่ตัวเองรับประทาน รับประแดก ว่าอะไรเป็นอาหารมื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น เอาไว้โพสต์ให้ใครต่อใครได้รับทราบว่าตัวเองไปเที่ยวไหนต่อไหนมามั่งแล้ว หรือเอาไว้ด่า เอาไว้เชียร์ ใครต่อใครก็แล้วแต่ ฯลฯ แต่ถือเป็นพื้นที่ที่คนไทยเข้าไปใช้บริการมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมด สูงกว่า “ยูทูบ” ที่อยู่ที่ 94 เปอร์เซ็นต์เล็กน้อย สูงกว่า “ไลน์” ที่อยู่ที่ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ “อินสตาแกรม” 65 เปอร์เซนต์ และ “ทวิตเตอร์” ที่อยู่ที่ 55 เปอร์เซ็นต์...

                                  --------------------------------------------------------

                ส่วนความบ้าที่ว่านั้น...มันจะออกไปในแนวไหน อันนี้ก็ออกจะน่าสนใจไม่น้อย เพราะถ้าหากเป็นความบ้าที่พอจะก่อให้เกิด “ประโยชน์” ต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น บ้าความรู้ บ้าความคิด ความเห็น ที่เป็นเรื่อง เป็นราว เป็นสาระวิชาการ บ้าเพราะความเป็นห่วง เป็นใย เพราะความอยากจะช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือเพื่อนผู้ร่วมวัฏสงสาร หรือช่วยเหลือสังคม ฯลฯ อันนี้...ก็น่าดีใจ น่าภาคภูมิใจมิใช่น้อย แต่ตามที่บริษัทสำรวจข้อมูล ตัวเลข สถิติและการวิจัย เขาได้ลองไปแยกแยะความบ้า โดยอาศัยข้อความที่เกิดจากการเข้าไป “เสิร์ช” ไปค้นคว้า หาสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ อยากบ้า มาใช้เป็นมาตรฐาน ปรากฏว่า...ข้อความที่มาเป็นอันดับหนึ่งและอันดับรองๆ ลงไป ก็คือคำว่า “บอล” คำว่า “หนัง” คำว่า “หวย” หรือ “ผลบอล” หรือ “ตรวจหวย” หรือหนักไปทางบันเทิง ไม่ก็ออกไปทางกีฬา และการพนัน ฯลฯ ซะเป็นหลักใหญ่...

                                 ----------------------------------------------------

                ดังนั้น...โดยสรุปรวมความแล้ว ก็จึงไม่ถึงกับน่าแปลกใจซักเท่าไหร่ ว่าภายใต้ความเป็นไปใน “โลกเสมือนจริง” ที่มันชักจะมีบทบาท อิทธิพล ครอบงำ “โลกแห่งความเป็นจริง” ยิ่งเข้าไปทุกที เหตุใดมันถึงทำให้ประเทศไทย สังคมไทย ไม่ว่าตั้งแต่แวดวงปุถุชนคนธรรมดา แวดวงสื่อฯ ไปจนถึงแวดวงการเมือง หรือแวดวงระดับผู้บริหารประเทศ ฯลฯ ถึงได้ยิ่งออกอาการ “บ้าก็บ้าวะ” หนักเข้าไปทุกที!!!

                                    ------------------------------------------------

                ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้ จากอาจารย์ เรืองอุไร กุศลาสัย ถอดความจาก To the Buddha ของท่าน ระพินทรนาถ ฐากุร...“อนิจจาโลกา ณ ครานี้-ช่างเหลือที่ทรหวนปั่นป่วนคลั่ง-ทรมาพยาบาทอาฆาตชัง-กระทบกระทั่งขัดแย้งระแวงใจ-ช่างทารุณกรุ่นกรึงด้วยขึ้นโกรธ-ไม่สิ้นสุดหฤโหดหรือไฉน-วิถีทางโลกาน่าเศร้าใจ-ด้วยบ่วงใยคิดคิดกบฏกัน...”

                                     ------------------------------------------------ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"