กระดูกสะโพกในผู้สูงอายุ ต้องระวัง'รู้ทัน...กันหักซ้ำ'


เพิ่มเพื่อน    

    จากสถานการณ์ระดับโลก รวมถึงประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ภาวะกระดูกสะโพกหัก หรือ Hip fracture จากภาวะกระดูกพรุน ได้มีอุบัติการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว และจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า สอดคล้องกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกี่ยวกับ Burden of osteoporosis in Thailand ในปี พ.ศ.2542 พบว่าอุบัติการณ์การเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุคนไทยจะสูงขึ้นจากปีละ 180 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย เป็น 450-750 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย ภายในปี พ.ศ.2568 จัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขขนาดใหญ่ และยังมีการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้กว่า 20% จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี, 40% จะไม่สามารถเดินด้วยตัวเองได้ และมากถึง 80% ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง 
    ล่าสุดเมื่อวันก่อนมีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลเลิดสิน และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อมุ่งรณรงค์ให้ความรู้โครงการ “รู้ทัน...กันหักซ้ำ” สนับสนุนจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในการขับเคลื่อนโครงการให้เป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ดียิ่งขึ้น ตามนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โครงการ “รู้ทัน...กันหักซ้ำ” เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 2560 
    นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันเป็นไปตามนโยบายที่กระทรวงได้ออกประกาศให้โครงการ “รู้ทัน...กันหักซ้ำ” เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 2560 ให้ดำเนินไปตามแผนงานเพื่อตอบสนองแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร ตลอดจนความต้องการด้านสุขภาพของประเทศได้ทันท่วงที ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลเลิดสิน และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทีมงาน “รู้ทัน...กันหักซ้ำ” ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องไปกับแนวทางของ Fracture Liaison Services (FLS) ซึ่งเป็นระบบการบริหารรูปแบบหนึ่งเพื่อขจัดปัญหาช่องว่างของการดูแลผู้ป่วย (care gap) และการจัดตั้งเครือข่ายการพัฒนาบุคลากรด้านสารสนเทศ และผู้เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “รู้ทัน...กันหักซ้ำ” ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน 
    นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการ “รู้ทัน...กันหักซ้ำ” กล่าวว่า โครงการรณรงค์ในครั้งนี้ นอกจากหน่วยงานแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ยังต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการป้องกัน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งสถิติผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่กระดูกหัก 1 จุดอันเนื่องมาจากกระดูกพรุน ก็จะมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกหักซ้ำเพิ่มได้อีกในบริเวณอื่นๆ โดยกระดูกบริเวณที่พบว่ามีโอกาสหักได้บ่อย ได้แก่ กระดูกสะโพกกระดูกหลัง กระดูกข้อมือ และผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยในการสร้างกระดูกจะลดต่ำลงมาก จึงทำให้เกิดภาวะสลายเซลล์กระดูกมีมากกว่าการสร้างเซลล์กระดูก 
    จากสถิติของการเกิดกระดูกหักซ้ำในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนพบว่า จะมีกระดูกสะโพกหักซ้ำอีกข้างได้ร้อยละ 10 และกระดูกส่วนอื่นๆ หักตามมาได้ร้อยละ 12.20 ดังนั้นหากสามารถลดการเกิดกระดูกหักซ้ำลงได้ร้อยละ 25-50 หมายถึง การลดกระดูกสะโพกหักซ้ำให้เหลือร้อยละ 5 และกระดูกหักในส่วนอื่นๆ ให้เหลือร้อยละ 6-10 จะพบความแตกต่างของจำนวนผู้ป่วยสะสมในระยะที่ผ่านไปอย่างเห็นได้ชัด 
    สำหรับแนวทางการรักษาภาวะกระดูกหักซ้ำประกอบด้วย การผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกหักแบบ Fast Track Surgery (ผ่าตัดไว) เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน เพิ่มอัตราการฟื้นตัวที่ดียิ่งขึ้น การเข้าถึงการประเมินและการรักษาภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis treatment) ที่ถูกต้องและเหมาะสม การประเมินความเสี่ยงต่อภาวะหกล้ม ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ การฟื้นฟูและบริหารร่างกายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการล้มซ้ำ และเพื่อการฟื้นฟูสมรรถนะหลังการผ่าตัดให้ดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่สำคัญด้านอื่นๆ การขยายขอบเขตการดูแลไปยัง Primary health care ในชุมชน มีการส่งต่อการดูแลไปยังชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน 
    นายอีริค อึ้ง ผู้จัดการบริษัท แอมเจน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า บริษัท แอมเจน รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและความเข้าใจร่วมกับโรงพยาบาลเลิดสิน และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการขจัดปัญหาช่องว่างของการดูแลผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนในประเทศไทย ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยโครงการ “รู้ทัน...กันหักซ้ำ” เป็นโครงการที่สอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทในการช่วยเหลือผู้ป่วย นอกเหนือจากวิธีการรักษาด้วยยา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น โดยบริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จในการดำเนินโครงการในครั้งนี้สามารถพัฒนาการให้บริการผู้ป่วยโรงกระดูกพรุนได้ดียิ่งขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"