ตั้งรางวัลแจ้งเบาะแส80ผีน้อย


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" สั่งทุกส่วนราชการบูรณาการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ยอมรับตามหา "ผีน้อย" หลบกักกันตัว 14 วันยาก "ทร." แจ้งยอดเฝ้าระวังแรงงานไทยกลับจากเกาหลีที่สัตหีบ 186 คน ไม่พบใครมีอาการผิดปกติ "ศักดิ์สยาม" ควักเงินส่วนตัวตั้งรางวัลแจ้งเบาะแส 80 ผีน้อยรายละ 1 หมื่นบาท ขู่! ไม่รีบมารายงานตัวจะโชว์ชื่อ-ภาพให้สาธารณะรับรู้ "อิตาลี" วิกฤติวันเดียวยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง 3 เท่า

    เมื่อวันที่ 9 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2563 ว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนราชการบูรณาการงานระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 การแก้ปัญหาภัยแล้ง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะบางครั้งเราต้องการความเร่งด่วนในการทำงาน จึงต้องร่วมกันคิดตั้งแต่ตอนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโควิด-19 สั่งให้มีการทบทวนและให้แนวทางการปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้ประชาชน เพราะประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 คือการแพร่กระจายของคนในประเทศ แต่วันนี้มีความกังวลในกลุ่มแรงงานจากเกาหลีใต้หรือผีน้อย ขอยืนยันว่าตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.เป็นต้นมา รัฐบาลสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ขาออกจากเกาหลีใต้ ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้แจ้งไปยังทุกสายการบินว่าจะต้องแจ้งตั้งแต่ต้นทางว่าใครจะเข้าประเทศบ้าง 
    "ในกลุ่มที่ได้เข้ามาก่อนหน้านี้ก็ได้มีการติดตามขอข้อมูลรายละเอียดจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กระทรวงคมนาคม สายการบินและท่าอากาศยานต่างๆ ก็กำลังเร่งติดตามอยู่สำหรับคนที่เข้ามาก่อน เพื่อนำเข้าสู่ระบบให้ได้ ยอมรับเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เพราะประชาชนของเราบางทีก็ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนหรือแจ้ง แต่กลับไปอ้อมมาอีกเส้นทาง จากนั้นก็ไปทานอาหารและโพสต์ภาพถ่ายออกมา แสดงว่าความรับผิดชอบต่อตัวเองในส่วนของสังคมค่อนข้างน้อย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาต่างๆ รัฐบาลต้องอาศัยความร่วมมือกับประชาชนพื้นที่ ซึ่งในภูมิลำเนาน่าจะรู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบย้อนกลับทั้งหมด เพื่อนำเข้าสู่ระบบการคัดกรองให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งระบบการคัดกรองเรามีกฎหมายควบคุมอยู่แล้วว่าผู้ใดที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ถ้าไม่เข้ารับการตรวจสอบก็จะถูกลงโทษ มีทั้งคดีและการปรับ 
    ถามถึงข้อเสนอปรับผีน้อยที่ไม่เข้าระบบกักกันโรคเป็นล้านบาท นายกฯ กล่าวว่าคิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ถ้ายังแก้ไม่ได้ก็จะไปดูแก้ที่ความรุนแรงกฎหมายให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมพื้นที่ควบคุมไว้กว่า 200 แห่ง แต่ไม่ขอลงรายละเอียด แต่ยืนยันเป็นสถานที่ปิดที่ควบคุมได้ จะเข้าออกได้เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้น คล้ายพื้นที่สัตหีบ หลายคนได้ถูกส่งไปยังพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว แต่คนที่ยังไม่แจ้งต้องติดตามตัวกันต่อไป ในส่วนของพื้นที่วันนี้กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร ได้เข้าไปดูแลและสำรวจร่วมกับท้องถิ่นว่ามีผู้ใดเล็ดลอดหลบหนีจากการกักตัว วันนี้ก็มีเข้มงวดทุกด่านสกัด จึงขอให้เข้าใจด้วยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
    "สถานการณ์การแพร่ระบาดวันนี้ยังอยู่ในจำนวนที่จำกัด มีการเพิ่มไม่มากนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้ วันนี้ประเทศอยู่ในลำดับที่ 25 ของร้อยกว่าประเทศ แสดงให้เห็นถึงการทำงานของประเทศไทยที่มีคุณภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเชื่อมั่นและไว้วางใจ เราต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน หลายอย่างผมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว แต่ส่วนราชการต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบไปด้วยกัน" นายกฯ กล่าว
นักข่าวอบรมศูนย์ข้อมูล
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.30 น. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เชิญสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมหารือเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานของศูนย์ดังกล่าว โดยตัวแทนสื่อมวลชนได้สะท้อนถึงการดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าวว่า การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนมีกระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวให้ข้อมูลประชาชนเป็นหลักอยู่แล้ว ศูนย์จึงน่าจะทำงานเชิงรุก เช่นลงไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบดีกว่ามาแถลงข่าวรายวัน ซึ่งซ้ำซ้อนกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง รวมถึงได้เสนอแนะว่าให้ยึดรูปแบบการแถลงข่าวกรณีถ้ำหลวง มีการบูรณาการในการแถลงข่าวหรือให้ข้อมูลเพียงจุดเดียว ซึ่งสามารถตอบคำถามได้ทุกอย่างและมีการทำงานที่ชัดเจน
    จากนั้นเวลา 14.00 น. ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พล.ร.ท.วิชัย มนัสศิริวิทยา เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ร่วมกันแถลงข่าวประจำวัน
    นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า จากสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกมีคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กว่า 1 แสนคน แต่คนที่มีอาการหนักมีเพียงประมาณ 6 พันคน ส่วนประเทศไทยวันนี้เรามีจำนวนผู้ป่วยยืนยันอยู่ 50 คน  ส่วนใหญ่รักษาหายแล้ว อาการวิกฤติ 1 ราย ถ้าเทียบกับ 102 ประเทศ ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายปิดบังข้อมูล เพราะเมื่อเราพบผู้ป่วย 1 ราย เราต้องตามอีก 40 ราย และทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่  
    ถามว่าคนที่หลุดรอดไปจากการคัดกรองที่สนามบินจะมีกระบวนการลงโทษทางกฎหมายอย่างไร  นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า ตามกฎหมายมีโทษปรับหลักแสน แต่เราไม่ได้ใช้กฎหมายนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีที่หลุดการคัดกรองจำนวน 80 คนนั้น ทุกรายเราติดตามได้ทุกคนแล้วเพราะเรามีข้อมูลประวัติทุกคน 
    พล.ร.ท.วิชัยกล่าวว่า ในส่วนฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ตั้งแต่เปิดศูนย์มีคนที่ถูกส่งมากักตัวจำนวน 188 คน เป็นหญิง 99 คน และชาย 89 คน และเรายังเปิดรับบริจาคสิ่งของจากประชาชนที่อยากให้การช่วยเหลือ สามารถทำได้ที่สโมสรโรงพยาบาลเกียรติวงศ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างเวลา  10.00-17.00 น. ติดต่อที่หมายเลข 08-0661-8193 โดยไม่รับบริจาคเป็นเงิน 
    ส่วนนายสมคิดกล่าวถึงกระบวนการหลังจากคัดกรองว่า กระทรวงมหาดไทยแบ่งกลุ่มดูแลผู้มาจากเมืองที่ความเสี่ยงต่ำสุขภาพปกติ โดยมีรถแยกของคมนาคมไปส่งภูมิลำเนาโดยตรง จากนั้นจังหวัดจะมีคณะกรรมการโรคติดต่อที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พิจารณาพื้นที่ตามความเหมาะสมของแต่ละราย 
    "ตอนนี้บุคคลที่กักตัวสังเกตอาการ มี 40 คนใน 17 จังหวัดดูแล แต่ยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อ นอกจากนั้นจะกำหนดและเตรียมพื้นที่รองรับสำหรับกลุ่มที่จะเข้ามาใหม่ 232 แห่ง ประมาณ 1 หมื่นคน" รองปลัดมหาดไทยกล่าว
ยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
    ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย กลับบ้านแล้ว 33 ราย  เสียชีวิต 1 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมผู้ป่วยยืนยันสะสมคงที่ 50 ราย  ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง (PUI) สะสม ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-8 มี.ค.63 จำนวน 4,518  ราย คัดกรองจากทุกด่าน 212 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 4,306 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,729 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,789 ราย แต่ทั้งหมดไม่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 แน่นอน ทำให้เฉลี่ยแล้วจำนวนผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคโควิด-19 ในไทย ทุกๆ 1,000 คนจะมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้แค่ 1 คน
    นพ.ธนรักษ์กล่าวถึงแรงงานไทยผิดกฎหมายจากเกาหลีใต้ว่า จนถึงเวลา 02.30 น. วันที่ 9 มี.ค.มีแรงงานไทยผิดกฎหมายที่ถูกเจ้าหน้าที่ที่สนามบินกักตัวไว้ดูอาการรวม 186 คน เป็นผู้ชาย 88 คน  ผู้หญิง 98 คน ในจำนวนนี้มีกลุ่มเสี่ยงสูงแค่ 8 คน ที่มาจากเมืองแทกู และคย็องซันเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โรคแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่ทุกคนได้รับการตรวจสุขภาพ อาการปกติ ไม่มีไข้ และมี 18 คนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษเพราะมีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง เป็นเด็กและสตรีมีครรภ์ ส่วนใหญ่ถูกนำตัวไปสังเกตอาการที่อาคารรับรองที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
    "แรงงานไทยผิดกฎหมายกว่า 80 คนที่หนีการตรวจที่สนามบิน ยืนยันยังไม่แสดงอาการป่วย จึงไม่ถือว่ามีการแพร่โรค จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบและติดตามอาการผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด ขอประชาชนไม่ต้องกังวล พร้อมขอตรวจสอบข้อมูลกรณีที่แรงงานไทยผิดกฎหมายคนหนึ่งที่กลับมาแล้วไปอยู่จังหวัดกระบี่ แล้วมีไข้ 39 องศาก่อน แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่น่าจะกักตัวไว้แล้ว" นพ.ธนรักษ์กล่าว
    ถามถึงการติดตามผู้สัมผัสกับนักศึกษาชายไทยที่เดินทางกลับมาจากอิหร่าน 157 ราย รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ได้ดำเนินการติดตามตัว เฝ้าสังเกตอาการ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยมีบางคนเดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว ส่วนที่อยู่ในประเทศไทยทีมสอบสวนโรคได้ตามตัวเพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการว่าติดเชื้อหรือไม่
    ส่วน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้ซื้อยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ชื่อ  "ฟาวิพิราเวียร์" ที่จีนรับรองในการใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เข้ามาเพิ่ม 40,000 เม็ด และจีนบริจาคมาให้อีก 2,000 เม็ด รวมกับของเดิมที่มี 5,000 เม็ด รวมแล้วทำให้ตอนนี้มียาชนิดนี้ 50,000 เม็ด ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยได้ 1,000 คน และจะกระจายยาไปตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยง  ผู้ป่วยแต่ละคนตั้งแต่เริ่มป่วยจนหายจะต้องกินยานี้ประมาณ 50 เม็ด วันละ 4 เม็ด โรงพยาบาลเอกชนสามารถมาเบิกยาได้ อนาคตจะปรับตามสถานการณ์ หากผู้ป่วยมากขึ้นก็ต้องนำเข้ายาให้มากขึ้น 
    ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ การดูแลสุขภาพคนไทยที่เดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้ กองทัพเรือ  อาคารรับรอง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้สรุปยอดผู้เข้าพักทั้งหมดจำนวน 186 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน  89 คน เพศหญิงจำนวน 97 คน ในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 3 คน โดยอาการของผู้เฝ้าระวังอาการที่ผ่านมายังไม่มีอาการผิดปกติ โดยรอบแรกเมื่อเวลา 01.15 น.ของวันที่ 8 มี.ค.63 จำนวน 59 คน รอบสองจำนวน 83 คน และรอบที่ 3 จำนวน 43 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ ที่ลงเครื่องบินโดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขคัดกรองและส่งตัวมาเฝ้าระวังอาการ
    น.อ.หญิง กิ่งแก้ว แก้วกรรณ์ ผู้อำนวยการกองวิทยาการ หัวหน้าชุดปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เคมี  ชีวะ รังสี นิวเคลียร์ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ได้บรรยายเกี่ยวกับขั้นตอนการชำระล้างสารพิษ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในโซนสีเหลือง สีแดง การชำระล้างสิ่งของ รถบุคคล ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ การดูแลสุขภาพคนไทยที่เดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้ กองทัพเรือ อาคารรับรอง เพื่อให้สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ และสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ถึงความปลอดภัยในการทำความสะอาดทั้งอุปกรณ์ สถานที่และตัวบุคคล
ตั้งรางวัลแจ้งที่อยู่ผีน้อย
    ส่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เดินทางไปตรวจเยี่ยมห้องปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) โควิด-19 พร้อมยืนยันสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.มีมาตรการตรวจคัดกรองผู้โดยสารอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสากล โดยมีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนและเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากและทางหู พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จากกรมควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาให้บริการผู้โดยสาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
    นายศักดิ์สยามกล่าวว่า สำหรับประเทศกลุ่มเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกำหนดให้  4 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษเป็นเขตโรคติดต่ออันตราย หากนักท่องเที่ยวหรือบุคคลทั่วไปจากประเทศดังกล่าวจะเดินทางเข้ามาไทย ต้องมีใบรับรองแพทย์อย่างเป็นทางการว่าต้องไม่ติดเชื้อไวรัสมาแสดงต่อสายการบินที่ขึ้นเครื่อง และถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์ก็ไม่สามารถออกมาจากประเทศต้นทางได้ และห้ามเข้าประเทศไทย 
    "กรณีถ้าเข้ามาถึงไทยแล้วตรวจพบว่ามีไข้จะต้องถูกกักตัว 14 วัน ว่าสุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิดหรือไม่ ถ้าติดเชื้อก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนคนไทยหากมาจากประเทศสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเกาหลีจะถูกกัก 14 วัน ถ้าไม่มีไข้จะปล่อยกลับบ้านทันที และถ้าพบบุคคลใดเข้าข่ายจะมีการคัดแยกไปยังสถานที่กักกันที่สัตหีบ" นายศักดิ์สยามกล่าว  
    รมว.คมนาคมกล่าวถึงการติดตามตัว 80 ผีน้อยที่หลบเลี่ยงการกักกันตัว 14 วันว่า จะนำเงินส่วนตัว 10,000 บาทต่อราย เป็นรางวัลให้บุคคลทั่วไปที่ชี้เบาะแสแรงงานไทยผิดกฎหมายจากเกาหลีใต้จำนวน 70-80 คนที่เดินทางเข้ามาในไทย แต่ไม่ได้ผ่านตรวจแยกคัดกรองจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สนามบิน และมีการโพสต์ภาพผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เนื่องจากในช่วงนั้นยังไม่มีมาตรการกักตัวคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 
    "ขอให้บุคคลที่เป็นแรงงานผิดกกฎหมายที่รู้ตัวว่าไม่ได้ถูกคัดกรองมารายงานตัวที่สาธารณสุขโดยด่วน ไม่เช่นนั้นจะประกาศรายชื่อพร้อมภาพถ่ายสู่สาธารณชน ให้รับรู้ว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมายที่ต้องมารายงานตัวกับสาธารณสุข" รมว.คมนาคมกล่าว
    ส่วนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำว่า  เรือนจำเป็นสถานที่ปิด และปกติการเยี่ยมผู้ต้องขังก็ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกัน เพราะมีกระจกกั้น 2 ชั้นอยู่แล้ว คงไม่เกิดการระบาดในเรือนจำ รวมถึงมีการคัดกรองผู้ต้องขังใหม่ โดยเฉพาะผู้ต้องขังชาวต่างชาติ  และตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมามีผู้ต้องขังชาวต่างชาติถูกนำตัวมาควบคุมที่เรือนจำไม่มาก แต่เพื่อความไม่ประมาทตนได้สั่งการให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ดูแลเรื่องการเยี่ยมผู้ต้องขัง โดยในช่วงนี้ไม่ให้มีการเยี่ยมญาติใกล้ชิด
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า รัฐบาลเป็นองค์กรหลักในการแก้ไขการแพร่ระบาดไวรัสดังกล่าว รัฐบาลต้องปรับทัศนคติตัวเองว่าคนที่มีข้อเสนอแนะ ให้ความเห็น ชี้เบาะแส ล้วนปรารถนาดีทั้งสิ้น โดยพรรคมีข้อเสนอ 6 ข้อ คือ 1.รัฐบาลหากจะดำเนินเรื่องใด ต้องยึดประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ 2.วอร์รูมที่รัฐบาลตั้งขึ้นต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไม่ใช่ตั้งมาเพื่อจัดการข่าวเชิงลบกับรัฐบาล และควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ใดเสี่ยง เมื่อคนติดแล้วจะรักษาให้หายได้อย่างไร วอร์รูมเป็นการบูรณาการแก้ปัญหา มากกว่าจัดการข่าวเชิงลบต่อรัฐบาล 3.รัฐบาลควรจัดระเบียบการสื่อสารให้ดี ลดความหวาดระแวง และสร้างภูมิกันให้ความรู้ประชาชน  
    4.รัฐบาลควรบริหารจัดการเรื่องหน้ากากอนามัยให้ดี ไม่ควรปล่อยให้มีการกักตุน โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้รู้ว่ามีโรงงานกี่แห่งทั่วประเทศ และควรให้โรงงานเย็บผ้าปรับไลน์การผลิตหน้ากากอนามัย และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา 5.เรื่องผีน้อย การกักกัน เมื่อมี ส.ส.หรือรัฐมนตรีกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง  ควรแสดงตนให้เป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ควรมีแผนจัดการผีน้อยบนพื้นฐานทุกคนล้วนเป็นคนไทย 6.ตอนนี้ไม่สายเกินไปที่จะคิดใหม่ทำใหม่ สร้างความเข้าใจอันดีต่อประชาชนที่ชี้เบาะแส เสนอแนะ ล้วนมีความปรารถนาดีต่อประเทศ รัฐบาลควรเปิดใจกว้างฟังทุกคำแนะนำ ข้อติชม 
อิตาลียอดเสียชีวิตพุ่ง
    วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มเป็นมากกว่า  110,000 คนเมื่อวันจันทร์ เสียชีวิตมากกว่า 3,800 คน โดยจีนแผ่นดินใหญ่มีผู้ติดเชื้อ 80,735 คน เสียชีวิต 3,119 คน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนระบุว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 40 รายเมื่อวันอาทิตย์  และเสียชีวิตเพิ่มเพียง 22 ราย เป็นยอดต่ำที่สุดนับแต่จีนเริ่มเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ในประเทศเมื่อวันที่ 20 มกราคม
    ทว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในยุโรปยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะที่อิตาลีซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน รายงานเอเอฟพีเผยว่า อิตาลีมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อวันอาทิตย์ จาก  133 คน เป็น 366 คน เกือบทั้งหมดอยู่ที่แคว้นลอมบาร์ดี ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันอาทิตย์มี 1,492  คน ยอดรวมเป็น 7,375 คน รัฐบาลอิตาลีเพิ่งมีคำสั่งปิดแคว้นลอมบาร์ดีและอีก 17 จังหวัด จำกัดความเคลื่อนไหวของประชากรราว 16 ล้านคน แต่มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อครบทั้ง 20 แคว้นแล้ว
    ที่เกาหลีใต้ เมื่อวันจันทร์ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งเกาหลี (เคซีดีซี) ยืนยันว่าผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มเป็น 7,478 รายแล้ว โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันจันทร์นับถึงช่วงบ่ายมีเพียง 96 ราย  เป็นจำนวนที่ลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 และต่ำสุดนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 51 ราย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตในเกาหลีใต้ต่ำ เป็นเพราะผู้ติดเชื้อเกือบครึ่งหนึ่งมีอายุไม่ถึง 40 ปี 
    อิหร่านซึ่งเป็นอีกประเทศภายนอกจีนที่สถานการณ์รุนแรง เมื่อวันจันทร์ รัฐบาลรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 43 คน ยอดผู้เสียชีวิตรวมเป็น 237 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 595 คน ยอดผู้ติดเชื้อรวม 7,167  คน หายป่วยแล้ว 2,394 คน วันเดียวกันนี้รอยเตอร์อ้างรายงานข่าวของเว็บไซต์มีซานของอิหร่านว่า  อิบราฮิม ไรซี ประธานศาลสูงสุด เปิดเผยว่าอิหร่านได้ปล่อยตัวนักโทษแล้วประมาณ 70,000 คน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เขาไม่ได้ระบุชัดว่านักโทษเหล่านี้จะต้องกลับเข้าคุกหรือไม่หรือเมื่อใด
    ที่ยุโรป แอลเบเนียเป็นประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อ เป็นพ่อและลูกชายที่เดินทางกลับจากอิตาลี  รัฐบาลได้สั่งให้ปิดโรงเรียนทั่วประเทศทันทีและห้ามการรวมตัวของสาธารณะเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนฝรั่งเศสและเยอรมนีมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นมากกว่า 1,100 รายแล้วทั้งสองประเทศ
    ผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นมากกว่า 550 ราย จากราว 30 มลรัฐเมื่อวันอาทิตย์  และเสียชีวิตเพิ่มเป็น 21 ราย ออริกอนเป็นมลรัฐล่าสุดที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่วนเรือสำราญแกรนด์ปรินเซสที่มีผู้โดยสารและลูกเรือ 3,500 คน และพบผู้ติดเชื้อ 21 คนบนเรือ เตรียมเข้าเทียบท่าใกล้เมืองโอ๊กแลนด์วันจันทร์
    ส่วนเรือสำราญคอสตา ฟอร์ทูนา ที่ทางการไทยและมาเลเซียไม่ให้เทียบท่าเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศว่าจะอนุญาตให้เรือกลับเข้าเทียบท่าสิงคโปร์ตามกำหนดในวันอังคาร. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"