เอาชีวิตประชาชนให้รอดก่อน ธงนำรัฐบาลสู้ศึกโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

        การรับมือกับสภาวะ "วิกฤติโควิด-19" ของรัฐบาล คือสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามอยู่ในเวลานี้

                โดยสถานการณ์ล่าสุดตามการแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อ 16 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดว่า มีผู้ป่วยเพิ่ม 33 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ป่วยสัมผัสเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้านี้ คือ กลุ่มมีอาการป่วย ที่อยู่ใกล้ชิดกับคน เช่น ในสนามมวย สถานบันเทิง 2.เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 17 คน โดยส่วนหนึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งทำงานใกล้ชิดคนต่างชาติ สรุปผู้ป่วยสะสม 147 ราย

                วันเดียวกันผลการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลที่เป็นวอร์รูมสำคัญของรัฐบาล ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม เมื่อ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการเฝ้ารอติดตามว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 ของสถานการณ์หรือไม่ ซึ่งผลก็คือ ไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 แต่ก็มีการเตรียมมาตรการรองรับทุกรูปแบบเพื่อสู้วิกฤติรอบนี้ โดยเฉพาะหากในอนาคต กระทรวงสาธารณสุขยกระดับการแพร่ระบาดเป็นระยะที่ 3 ทุกฝ่ายจะได้มีความพร้อมในการรับมือ

                "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลว่า ที่ประชุมซึ่งมีรัฐมนตรีทุกคนร่วมประชุมมีมติเอกฉันท์ว่า ประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่ไปสู่ระยะที่ 3 ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีผลปฏิบัติและวิชาการว่าการจะประกาศระยะที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีประชาชนไทยรับเชื้อหรือติดต่อโรคกันเอง โดยสืบสาวราวเรื่องแล้วไม่ปรากฏต้นตอมาจากประเทศที่แพร่เชื้อก่อน โดยต้องเป็นการติดต่อในหมู่คนไทยที่ไม่พบว่าผู้แพร่เชื้อไม่ได้เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่จะแสดงให้เห็นความรุนแรง และอีกตัวชี้วัดคือ การปรากฏแพร่เชื้อหลายพื้นที่ ถ้าสถานการณ์ไปถึงจุดนั้นถือว่าคับขัน

                ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญๆ ที่รัฐบาลตั้งรับไว้และออกมาตรการมาและเตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม.อังคารที่ 17 มี.ค.นี้มีหลายเรื่อง รวมถึงมาตรการอีกหลายอย่างที่แม้ไม่ต้องนำเข้า ครม. แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือกับวิกฤติรอบนี้

                เช่น การให้เตรียมโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร ตำรวจ และสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อเตรียมปรับสถานที่ให้มีเตียงที่จะใช้ได้เพียงพอเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะมาถึง ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมจะระดมแพทย์อาชีพ แพทย์ภาครัฐ เอกชน แพทย์ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว จะระดมติดต่อมาช่วยทำงาน ถ้าสถานการณ์ถึงจุดจำเป็น 

                และเรื่องที่หลายคนสนใจก็คือ เรื่องวันหยุดในช่วง "เทศกาลสงกรานต์" ซึ่งเดิม ครม.เคยมีมติให้วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้หยุดยาวรวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย. แต่ที่ประชุมได้มีมติเห็นว่า การมีวันหยุดยาว 5 วัน อาจทำให้ประชาชนเคลื่อนย้ายและเดินทางมากผิดปกติ ซึ่งการเคลื่อนย้ายในช่วงเวลาเดียวกันอาจทำให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการติดโรคโควิด-19 ทางคณะแพทย์ที่เข้าร่วมประชุมเกรงว่าจะมีคนใน กทม.ที่เป็นพาหะไปแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว หรือไปติดเชื้อจากต่างจังหวัดแล้วกลับเข้ามา กทม. เพราะมีการรวมตัวกันเกิดขึ้น เป็นโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อทั้งสิ้น จึงต้องลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ทำให้ จะมีการเสนอที่ประชุม ครม.อังคารนี้ ให้งดวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ 13-15 เม.ย. โดยไม่เป็นวันหยุดราชการ หรือเป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน แต่รัฐจะชดเชยวันหยุดในโอกาสอื่นต่อไปในปีนี้ เมื่อสถานการณ์บรรเทาเบาบางลง ส่วนที่มีกระแสข่าวจะย้ายวันหยุดยาวสงกรานต์ไปช่วงเดือน ก.ค. ยังเป็นเพียงข้อเสนอที่ยังไม่ใช่มติ ครม. เพราะรัฐบาลต้องรอประเมินสถานการณ์เป็นช่วงๆ ไป

                อีกประเด็นที่สำคัญคือ การยกระดับการป้องกัน การปิดหรือหยุด หรือระงับการเปิดสถานที่บางแห่ง ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน หรือคนไปอยู่รวมกันจำนวนมาก ได้ออกเกณฑ์มา 2 ข้อ คือ 1.สถานที่ใดซึ่งมีผู้คนไปชุมนุมกันคราวละมากๆ ชุมนุมเป็นกิจวัตร และมีโอกาสเสี่ยงสูง จะมีการเสนอที่ประชุม ครม.อังคารนี้เช่นกัน เพื่อให้หน่วยงานไปดำเนินการหยุดหรือปิดกิจการเหล่านั้นไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว โดยเริ่มได้ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มี.ค. เช่น มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน โรงเรียนรัฐและเอกชน สนามมวย สนามกีฬาที่มีการสัมผัสถึงกัน เช่น สนามฟุตบอล ส่วนสถานที่อื่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ไม่เข้าเกณฑ์ ยังสามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการรองรับ เช่น วัดไข้ สวมหน้ากากอนามัย จัดที่นั่งให้ห่างกัน 1 เมตร มีเจลล้างมือ โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจตราเป็นระยะ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะสั่งปิดหรือดำเนินการเป็นรายๆ ต่อไป

                “นายกฯ ขอให้เรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอันดับ 1 ของประเทศ ส่วนเรื่องอื่น เศรษฐกิจ ผลกระทบการท่องเที่ยว การค้าขาย มีความสำคัญเป็นลำดับ 2 เราต้องเอาชีวิตของประชาชนให้รอดไปก่อน เพราะไม่รู้ว่าต่อไปข้างหน้าศึกนี้จะไปขนาดไหน”

                เป็นการรับมือของภาครัฐที่ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับว่าจะมีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของตัวเองไม่มากก็น้อย โดยอาจมีบางฝ่ายได้รับผลกระทบรุนแรงในเรื่องทางธุรกิจ แต่สถานการณ์มาถึงเวลานี้ก็ต้องยอมรับกันแล้วว่า มันต้องมีบางคน-บางกลุ่ม "เจ็บเพื่อจบ" เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ขยายตัวมากไปกว่านี้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"