พ.ร.บ.ป้องกัน “อุ้มหาย” แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เราเดินไม่เคยถึง


เพิ่มเพื่อน    

                การ “อุ้มหาย” หรือ “บังคับสูญหาย” นับเป็นอาชญากรรมที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมาช้านาน ในเหตุการณ์การเมืองแต่ละยุคที่ผ่านไป ไม่ว่าผู้นำจะมาจากการเลือกตั้ง หรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม อย่างกรณีของ “นายทนง โพธิ์อ่าน” ผู้เป็นบิดาของนายอดิศร โพธิ์อ่าน อดีตผู้สมัครส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนายทนงเป็นอดีตผู้นำแรงงานในยุครุ่งเรื่องที่ถูกบังคับสูญหายในยุครัฐบาล รสช. ช่วงปี 2534 หรือกรณีของ “นายสยาม ธีรวุฒิ” หรือกรณีของ “นายสุรชัย แซ่ด่าน” ที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองเช่นกัน ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังคงไม่มีใครพบเจอ ในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นการเมือง

                หรือจะเป็นกรณีของ “บิลลี่” “พอละจี รักจงเจริญ” ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในพื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยง หรือกรณีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดิน ของ “พ่อเด่น คำแหล้” ในภาคอีสาน หรือจะเป็นกรณีของ “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาในจังหวัดชายแดนใต้ สามารถมีทนายเพื่อไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ก่อนจะถูกบังคับสูญหาย เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เป็นต้น

                กรณีเหล่านี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่างที่คนในสังคมอาจจะเคยได้ยินบ้าง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย และมีการบันทึกได้เท่านั้น แต่น่าตระหนกที่ตัวเลขที่องค์กรสหประชาชาติบันทึกไว้เมื่อปี 2019 พบว่ามี 76 ราย ซึ่งยังไม่รวมถึงกรณีการสูญหายที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่ม ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง

                อย่างกรณีของ 6 ต.ค.2519 หรือเหตุการณ์ในเดือน พ.ค.2535 หรือกรณีสงครามยาเสพติดในยุคของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีทั้งประชาชนทั่วไป และกลุ่มชาติพันธุ์ หรือในปัจจุบันที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่สามารถระบุข้อมูลได้อีก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงมีการ “อุ้มหาย” อยู่อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกตีแผ่ออกมา

                สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ออกมาต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรม ของสิทธิตัวเองและสิทธิของผู้อื่นนั้นสามารถตกเป็นเหยื่อได้ จึงเป็นหน้าที่ของสังคม ที่จะต้องปกป้อง เยียวยา และร่วมตามหาความจริง ขณะที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ทำให้เรื่องเหล่านี้กระจ่างชัด และหยุดยั้งไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นอีก

                อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงไม่มีมาตรการในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเข้มข้น แม้จะมีความพยายามจากภาคประชาชนในการผลักดันร่างกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และบังคับบุคคลสูญหาย ตั้งแต่ปี 2555 ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

                อย่างไรก็ตาม มีการจัดเวทีเสวนา เรื่องความคืบหน้าของกรอบกฎหมายและกระบวนการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่หอศิลป์ฯ  กรุงเทพมหานคร

                นางอังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาคนหายวันที่ 9 ม.ค.2555 หลังเข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานะทางสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ   อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกระทรวงยุติธรรมมีความพยายามร่างกฎหมายดังกล่าว

                โดยใน เดือน พ.ค.2559 ครม.มีมติให้สัตยาบันอนุสัญญา ให้มีกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับสูญหาย อย่างไรก็ตาม กรณีของทนายสมชายนั้น เป็นการบอกกับสังคม จากคำพิพากษาว่า คดีคนหายนั้นไม่มีผู้เสียหาย เพราะหลักการตามกฎหมายไทยคือ ผู้เสียหายต้องมาฟ้องศาลด้วยตนเอง

                นอกจากมีหลักฐานว่าเขาบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ญาติจึงสามารถเรียกร้องความยุติธรรมแทนได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้วเสร็จ พอส่งไปที่ สนช.ก็ปรากฏว่ามีการแก้เยอะมาก จนสาระสำคัญหายไป ทำให้ถ้อยคำในกฎหมายไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติ และมีผลทำให้ไม่สามารถคุ้มครองได้จริง

                “ดิฉันไม่เชื่อใจรัฐบาลว่าจะให้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ หลังถูกถอดจาก สนช. โดยไม่มีคำอธิบาย หากรัฐบาลจริงใจให้มีกฎหมายนี้ ดิฉันคิดว่าไม่มีอุปสรรค แต่ปัญหาคือทำไม พ.ร.บ.ฉบับนี้มันถึงล่าช้า ทุกครั้งที่มีการรับฟังความเห็น หน่วยงานความมั่นคงก็จะค้านตลอด ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวทำให้ดิฉันไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะผ่านกฎหมายฉบับนี้ ทำไมร่างที่ออกมาถึงไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหาย เป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง หมายความว่าคนที่หายไปก่อนหน้าที่กฎหมายจะมี จะไม่ได้รับความเป็นธรรม เจ๊ากันเท่ากับเริ่มกันใหม่ ซึ่งหมายความว่าเป็นการขัดหลักการ”

                เธอระบุด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลประชาธิปไตย เราไม่เคยได้รับความเป็นธรรม และถูกปฏิเสธการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด ซึ่งสาเหตุสำคัญเป็นเพราะผู้กระทำผิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้ง สตช. หรือกองทัพ หากเราไม่ปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงเหล่านี้ ต่อให้เปลี่ยนรัฐบาล

                แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามที การพยายามผลักดันที่ดูเหมือนตบมือข้างเดียว หนทางในการต่อสู้กรณีสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงห่างไกลกับสิ่งที่เราทุกคนอยากจะเห็น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"