ศาลสั่งปรับ ฟิลลิป มอร์ริส เลี่ยงภาษีบุหรี่ 2 ยี่ห้อดัง 130 ล้าน


เพิ่มเพื่อน    

ล่าม และ นายเจอรัลด์ มาร์โกลีส ผู้จัดการสาขาฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ผู้แทนนิติบุคคลบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ จำเลยที่ 1 

20 มี.ค.63 -  ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ อ.232/2560 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด โดย นายเจอรัลด์ มาร์โกลีส ผู้จัดการสาขา ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด และ พนักงานบริษัทหญิงคนไทย (ไม่ขอสงวนชื่อ-สกุล) เป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานร่วมกันนำเข้าบุหรี่ที่มีแหล่งผลิตในต่างประเทศ เข้าราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อฉ้อค่าภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม.27,115 จัตวา

คำฟ้องระบุว่า เมื่อระหว่างวันที่ 22 ม.ค. 2545 -14 ส.ค. 2546 จำเลยที่ 1-2 กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้นำตัวมาฟ้องอีกหลายคน ร่วมกันนำบุหรี่ยี่ห้อ L&M และยี่ห้อมาร์โบโล เข้ามาในราชอาณาจักรไทย และได้ร่วมกันสำแดงเท็จโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงและอุบายด้วยการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร กรมศุลกากรเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งรวมราคาเป็นเท็จไม่ตรงตามราคาที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร จำนวน 780 ครั้ง เหตุเกิดที่เขตบางรัก, เขตคลองเตย กรุงเทพฯ, สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และด่านศุลกากรอื่นๆอีกหลายที่ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และประเทศอินโดนีเซีย ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน

โดยวันนี้ นายเจอรัลด์ มาร์โกลีส ผู้จัดการสาขา ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ผู้แทนนิติบุคคลบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด และพนักงานบริษัท จำเลยที่ 1-2 เดินทางมาศาล พร้อมคำฟังคำพิพากษา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์-จำเลย นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ซึ่งมาจากหลายหน่วยงานนั้น ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ในลักษณะประสานความร่วมมือค้นหาความจริง เบิกความมีน้ำหนักให้รับฟัง 

ประกอบเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวบรวมได้ ทั้งเอกสารโครงสร้างราคาบุหรี่ที่ยึดได้เมื่อไปตรวจค้นสำนักงานของจำเลยที่ 1 ในปี 2542, เอกสารติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ฟิลลิป มอร์ริส เอเชีย ซึ่งเป็นผู้ดูแลบริษัทในเครือที่อยู่ในภาคพื้นเอเชีย ก็ตีราคาหน้าโรงงานซึ่งมีราคาเฉลี่ย และราคาขายปลีกที่ใช้วิธีสุ่มตรวจจากตลาดในประเทศอินโดนีเซีย หรือต้นทุนบุหรี่ยี่ห้อมาร์โบโล และ L&M ก็จะเห็นได้ว่ามีตัวเลขสูงกว่าราคาสำแดงตามใบขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1

พฤติการณ์การนำเข้าและการสำแดงราคาบุหรี่เพื่อผ่านพิธีการศุลกากรของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ, ขณะเกิดเหตุ และภายหลังเกิดเหตุ เป็นการยื่นราคาสำแดงที่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบเหตุสงสัยราคาที่สำแดงกรณีผู้ซื้อผู้ขายมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งก่อน-หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 นำเข้าบุหรี่จากประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์โดยสำแดงราคาคงที่ราคาเดียวมาตลอด จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาสำแดงคือมาร์โบโล ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเคยเข้าตรวจค้นยึดและประเมินเห็นว่าราคาประเมินสำแดงต่ำและเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมมาโดยตลอด ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งและยินยอมชำระภาษีอากรขาเข้าและค่าปรับ เพื่อระงับคดีในชั้นศุลกากรเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับราคาประเมินของศุลกากรเป็นราคาของนำเข้าที่แท้จริง ซึ่งตามปกติราคาสินค้าต้องมีเปลี่ยนแปลงตามสภาวะเศรษฐกิจ แต่จำเลยที่ 1 ยังสำแดงราคาที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรปฏิเสธไม่ยอมรับราคามาโดยตลอด และใช้วิธีย้ายการนำเข้าเมื่อถูกศุลกากรประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม

ซึ่งผู้ขายบุหรี่ให้แก่จำเลยที่ 1 คือฟิลลิป มอร์ริส มาเลเซีย , อินโดนีเซีย , ฟิลิปปินส์ เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ความสัมพันธ์ลักษณะการสำแดงราคาไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม การที่จำเลยที่ 1 สำแดงราคาคงที่ต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนตามเศรษฐกิจ ทั้งที่ไม่ปรากฏการทำสัญญาซื้อขายตกลงราคากันไว้ล่วงหน้า เป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบริษัทแม่ผู้กำหนดราคาตามอำเภอใจและเป็นราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เมื่อพิจารณาในแง่ธุรกิจย่อมขัดกับหลักการประกอบธุรกิจที่ผู้ขายต้องมุ่งหวังผลกำไรสูงสุด

ที่จำเลยต่อสู้ว่า การดำเนินคดีนี้ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 185/2559 (สำนวนแรก) ขัดต่อคำตัดสินของคณะผู้พิจารณาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่วินิจฉัยว่า การฟ้องคดีอาญานี้ ขัดต่อข้อตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรของ WTO ศาลเห็นว่าการดำเนินคดีอาญา พนักงานสอบสวนมุ่งถึงพฤติการณ์การนำเข้าและการสำแดงราคาบุหรี่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดต่อเนื่องระหว่างปี 2543-2549 ว่ามีการสำแดงราคาตรงตามราคาที่แท้จริงหรือไม่ และมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรขาเข้าโดยการสำแดงเท็จหรือไม่ เนื่องจากดีเอสไอได้รับรายงานจากสายลับผู้แจ้งความนำจับว่าจำเลยที่ 1 และบริษัทอื่น สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นเหตุให้ไทยสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีอากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกระบวนการทางอาญา ไม่ใช่ตรวจสอบการประเมินราคา หรือการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อยในชั้นศุลกากร จึงไม่ขัดต่อพันธกรณีที่ต้องนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไป มาถือปฏิบัติ เพราะเป็นคนละกรณี นอกจากนี้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้ศาลต้องถือตามคำตัดสินของ WTO อีกด้วย ข้ออ้างจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จำเลยที่1 เป็นการสำแดงเท็จ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุ , ขณะเกิดเหตุ , หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สำแดงราคาคงที่มาโดยตลอด ไม่เคยชี้แจงเหตุผลเกี่ยวกับราคาที่แท้จริงทั้งที่อยู่ในวิสัยที่พึงกระทำได้ พฤติการณ์บ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการนำสินค้าประเภทบุหรี่เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรให้ครบถ้วนโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล เป็นการผ่าฝืนมาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากรฯ

ส่วนเรื่องราคาที่แท้จริงของบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อ จำนวน 3,184,957,148 บาท แต่จำเลยที่1 สำแดงราคาเป็นเงินจำนวน 2,534,227,797 บาท ดังนั้นราคาของจึงขาดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 650,729,350 บาท คิดอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 4 ของจำนวนดังกล่าวเท่ากับ 32,536,467 บาทซึ่งเป็นค่าอากรขาเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องเสียเพิ่ม

อย่างไรก็ดี ระหว่างการพิจารณาของศาล ได้มีการแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำผิดโดยยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้อง เป็นความผิดอยู่ และมีบทกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่า แต่ไม่เกิน 4 เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่นั้นเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า ตามกฎหมายจึงนำมาพิจารณา จึงพิพากษาว่า ให้ปรับ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จำเลยที่ 1 ตามอัตรากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 130,145,870 บาท และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คดีนี้มีสายลับผู้แจ้งความนำจับ จ่ายสินบนร้อยละ 30 ของค่าปรับ

ส่วนพนักงานบริษัทหญิงคนไทย จำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่าไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในทางบริหาร หรือมีส่วนกำหนดนโยบายเรื่องการนำเข้า/จัดจำหน่ายบุหรี่ในไทยของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2

ภายหลังฟังคำตัดสิน นายเจอรัลด์ มาร์โกลีส ผู้จัดการสาขาฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ผู้แทนนิติบุคคลบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ จำเลยที่ 1 กล่าวผ่านล่ามแปลภาษาว่า เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำตัดสินของศาลวันนี้ เนื่องจากคำตัดสินดังกล่าวขัดต่อกฎหมายศุลกากรของไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงคำตัดสินต่างๆ ของหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศก่อนหน้านี้ และเราจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวเพื่อต่อสู้คดี

ทั้งนี้องค์การการค้าโลก (WTO) ได้มีคำตัดสินออกมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ว่าประเทศไทยดำเนินการขัดต่อกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ โดยการปฏิเสธราคานำเข้าที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดสำแดง และดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญากับบริษัทฯ รัฐบาลฟิลิปปินส์ ร้องขอต่อ WTO เพื่อเริ่มกระบวนการตอบโต้ทางการค้าอันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีกับ WTO ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้าระหว่างไทยและฟิลิปปินส์จำนวนมาก

คดีนี้ก่อให้เกิดข้อกังขาอีกครั้งต่อระบบเงินสินบนรางวัลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนาน ว่าเป็นแรงจูงใจให้เร่งทำคดีจากเงินค่าปรับ และสร้างผลประโยชน์ขัดแย้งสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลของไทยที่อาจจะได้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัวจำนวนมากจากค่าปรับที่ได้รับเป็นอีกประเด็นของเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนต่อเนื่องและการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ เนื่องจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมนี้คุกคามความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยของเรา รวมถึงการซื้อใบยาสูบจากประเทศไทย คดีนี้เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับทุกบริษัทที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องในประเทศไทย เราจะอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินและต่อสู้ข้อกล่าวหาที่มีต่อเราซึ่งไม่มีมูลความจริงต่อไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"