'แก้วสรร' มาแล้วแพร่บทความ 'ปิดเมือง'...ปิดไปทำไม?..ปิดเมื่อใด ?


เพิ่มเพื่อน    

นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง “ปิดเมือง”...ปิดไปทำไม?..ปิดเมื่อใด ?" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 20 มี.ค. 2563 โดยมีเนื้อหาดังนี้

เห็นข่าววันนี้ว่า ผู้ยิ่งใหญ่บางจังหวัดเขาผลักดันและเป็นผู้นำให้ประกาศ “ปิดจังหวัด” กันแล้วก็ตกใจ ครั้นตรวจทานดูก็พบว่าเป็นเพียงการตั้งด่านตรวจวัดปรอทหาผู้ป่วยตามเส้นทางหลักที่เข้าสู่จังหวัดของตนเท่านั้นเอง หาได้มีอะไรในกอไผ่ไม่ ในไม่ช้าก็คงมีปิดอำเภอ ปิดตำบล ปิดหมู่บ้านกันอีกก็เป็นได้

มาตรการ “ปิดเมือง” ที่แท้จริงในทางระบาดวิทยานั้น คือมาตรการเข้มข้นที่ใช้จัดการกับพื้นที่ระบาดเข้มข้น โดยสั่งปิดเมืองห้ามเข้าออกก่อน แล้วจึงปิดประตูบ้านคือให้ผู้คนทั้งเมืองช่วยกันอยู่กับบ้าน เพื่อตัดหนทางติดต่อระหว่างคนต่อคนให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมกับเร่งตรวจสอบค้นหาผู้ป่วยมารักษา พร้อมทั้งเก็บตัวผู้ต้องสงสัยมาอยู่ในที่จำกัดให้ทั่วถึงที่สุด ซึ่งหากทำได้จริงจนเจ้าไวรัสหมดเหยื่อคนใหม่ ส่วนคนเก่าก็ถูกเก็บไปหมดแล้ว เมืองนั้นก็จะหมดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ไปในที่สุด

มาตรการปิดเมืองเช่นนี้ แม้ธุรกิจจะเสียหาย ผู้คนจะเดือดร้อนกันสาหัส แต่ถ้าทำได้สำเร็จก็คุ้มค่า พาชีวิตตนเองและบ้านเมืองให้ปลอดโรคกลับสู่ปกติได้ ดังความสำเร็จของเมืองอู่ฮั่นเป็นตัวอย่าง

สำหรับเมืองไทยนั้นคณะแพทย์ที่มีส่วนรับผิดชอบนโยบาย ท่านบอกว่าควรจะใช้เมื่อมีการระบาดในเมืองใดถึงขั้นระยะที่ ๓ แล้วเท่านั้น ระยะนี้คืออะไร ท่านก็เฉลยว่าพื้นที่นั้นต้องมีการแพร่เชื้อลามถึงมือที่ ๔ แล้ว และมีการกระจายตัวเพิ่มตัวจนกราฟพุ่งสูงชันด้วย เช่นนี้จึงจะกำหนดให้พื้นที่ระบาดเข้มข้นต่อเนื่องนี้เป็นเขตปิดเมือง และปิดประตูบ้านได้

เงื่อนไขที่ท่านเฉลยมานี้ เมื่อซักกันจริงๆก็มีหมอใหญ่ท่านอื่นชี้ให้เห็นว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเองในทางนโยบายเท่านั้น หากจะนำมาใช้ในกรุงเทพเสียแต่บัดนี้ เพื่อให้ปลอดโรคไปเลย ก็ทำได้และควรจะทบทวนเสียใหม่ได้แล้ว ดีกว่าให้เจ็บนานและเจ็บขึ้นเรื่อยๆ ตื่นมาตกใจล้างมือใส่หน้ากากไปวันๆ ไม่เห็นที่จะสิ้นสุด อย่างเช่นทุกวันนี้

ปัญหาการตัดสินใจปิดเมืองเช่นข้างต้นนี้ เป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของข้อพิจารณา และของมาตรการต่างๆให้จงได้ เพราะงานสู้วิกฤตครั้งนี้เป็นการเดินทางที่ต้อง หยุด แล้วประเมินปัจจุบัน แล้วปรับปรุงแผนงานเดินต่อไปอีกจนสุดทาง จะตื่นตกใจกับเมื่อวานจนเวอร์ไปก็ไม่ได้ จะจมอยู่กับแผนงานเดิมทำซ้ำไปวันๆ ก็ไม่ถูก ต้องประเมินอนาคตไปด้วยตลอดเวลา ความจำเป็นที่ต้องใช้ทั้งวิชาการ ประสบการณ์ และข้อมูลที่ครบถ้วน ปรับการรบให้เท่าทันกับศึกที่ยืดเยื้อ ซับซ้อน ไม่แน่นอนอย่างนี้จึงชัดเจนยิ่ง

ดังนั้นการที่รัฐบาลดึงผู้รู้มาประกอบกำลังกันในโครงสร้างการจัดการกับวิกฤต CORONA -19 จึงถูกต้องแล้ว แต่จะให้ท่านเหล่านี้เป็นเพียงคณะที่ปรึกษาเท่านั้นไม่ได้ ต้องให้เป็นคณะเสนาธิการ มีสำนักงานรองรับทำงานเต็มเวลา จนตื่นตัวตื่นรู้ พร้อมประชุมปรับแก้แผนงานในทุกก้าว แล้วป้อนการตัดสินใจให้ฝ่ายปฏิบัติรับไปปฏิบัติให้เป็นจริงตลอดเส้นทางเลยทีเดียว ถ้าทำได้เช่นนี้จริงๆ แล้ว วิกฤตระยะที่ ๓ และการปิดเมืองจะมาเมื่อใด หรือไม่ อย่างไร เราก็สามารถจะวางใจฝากไว้กับโครงสร้างการทำงาน ด้วยสติปัญญาและข้อมูลจริงอันเป็นปัจจุบันเช่นนี้ได้ในที่สุด

ส่วนท่านผู้นำนั้น เมื่อได้ที่ยืนที่เหมาะสมเช่นนี้แล้ว ท่านก็จะมีเวลาฟื้นฟูจิตใจและสุขภาพ รวมทั้งปรับปรุงการนำของตนให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันได้อีกด้วย

ดูสิครับ..ทรุดโทรมจริงๆ...ท่านต้องพักผ่อนมากๆ และอย่าพึ่งแต่งเพลงนะครับ ผมดูฉากหลังแล้วมันฟุ้งซ่านเหลือเกิน
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"