ศาลยกฟ้อง 'ธาริต-เครือมติชน' หมิ่น 'สุเทพ' กรณีสร้างโรงพักตำรวจ 396 แห่ง


เพิ่มเพื่อน    

29 มี.ค. 61 -  ที่ห้องพิจารณา 709 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1940/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), บริษัท มติชน จำกัด, นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการ นสพ.มติชน, บริษัท ข่าวสด จำกัด และนายสุริวงศ์ เอื้อปฏิภาณ บรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328

กรณีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. – 5 มี.ค. 2556 นายธาริต จำเลยที่ 1 แถลงข่าวกล่าวหาโจทก์ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีว่า ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 โรงพัก จากรายภาครวมเป็นรายเดียว ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อันเป็นข้อความเท็จ ทำให้โจทก์เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2558 ให้ยกฟ้องก่อนชั้นพิจารณาคดี ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 ให้ศาลชั้นต้นประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา

วันนี้จำเลยทั้งห้าเดินทางมาศาล ขณะที่โจทก์มีผู้รับมอบอำนาจจากนายสุเทพมาศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะนั้นโจทก์ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่วนจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ จำเลยที่ 2-5 เป็นสื่อมวลชน เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด ตีพิมพ์ข่าวสารเผยแพร่จัดจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งในโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งทางสำนักงบประมาณเคยมีความเห็นว่าการคำนวนทำสัญญาการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง เป็นภาระผูกพันงบประมาณรัฐบาล ควรมีการทบทวนการลงทุนภาครัฐ สำนักงบประมาณมีหนังสือทำความเห็นถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการทำสัญญาก่อสร้างที่บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประมูลรับเหมาก่อสร้างในโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ที่นายสุเทพโจทก์ได้พิจารณาเห็นชอบรับเหมาโครงการ 

ซึ่งต่อมาได้มีบริษัทเอกชนที่เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ประมูลรับเหมา ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการรับเหมาทำสัญญาเกี่ยวกับบริษัทพีซีซี ต่อผู้รักษาการปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น อีกทั้ง ครม.ได้พิจารณาเห็นชอบให้ สตช.ปฏิบัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอ แต่ สตช.ไม่ได้ดำเนินการตามที่ ครม.กำหนดไว้ การก่อสร้างสถานีตำรวจทั้ง 396 แห่ง ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ยากแก่การบริหารงาน จึงไม่เป็นการปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งโจทก์ได้มีการเปลี่ยนสัญญาแก้ไขการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง เป็นสัญญาเดียวจากที่สำนักงบประมาณเคยทำความเห็นเสนอ ครม.เป็นรายภาค ซึ่งต่อมาบริษัทพีซีซี ก็ก่อสร้างโรงพักทดแทนไม่แล้วเสร็จตามสัญญา

อีกทั้งนายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ได้ยื่นเรื่องต่อนายธาริต จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีดีเอสไอให้ตรวจสอบการก่อสร้างโรงพักทดแทนดังกล่าว โดยนายธาริตจำเลยที่ 1 ได้รับเรื่องไว้ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำความเห็น แล้วส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนและวินิจฉัย หลัง ป.ป.ช.รับไว้ไต่สวน จำเลยที่ 1 นายธาริตได้แถลงข่าวให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าว ต่อสื่อมวลชนที่เป็นจำเลยที่ 2-5 ซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้น

ศาลเห็นว่า การกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นต้องเป็นการนำความอันเป็นเท็จใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 ให้ได้รับการถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือการกระทำตามหน้าที่ หรือติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งนั้นในทางนำสืบได้ความว่า ครม.ให้ สตช.รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปดำเนินการ แต่ไม่ปรากฏว่า สตช.ดำเนินการตามมติ ครม. เเละระเบียบสำนักนายกฯ จึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การก่อสร้างไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน อีกทั้งทางนำสืบโจทก์ยังเบิกความรับว่าให้ สตช.รวมทำสัญญาเดียวกันและให้ยกเลิกการประมูลราคาแยกรายภาค

จึงเห็นว่าเมื่อการที่นายสุเทพ โจทก์มีคำสั่งรวมสัญญาเดียวกันและยกเลิกสัญญารายภาคนั้น การกระทำจึงมีเหตุเชื่อว่าโจทก์ไม่ได้ทำตามมติ ครม.และระเบียบสำนักนายกฯ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 นั้นมองว่าการกระทำของโจทก์อาจเป็นการกระทำความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของดีเอสไอ การแถลงข่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่จะแถลงข่าว เนื่องจากโครงการก่อสร้างโรงพักเป็นโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวไปตามที่จำเลยที่ 1 แถลง เป็นการติชมโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่บุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของวิญญูชนพึงกระทำ โดยที่จำเลยที่ 2-5 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการแถลงข่าวในช่วงใกล้เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 กับพวกต้องการทำลายฐานคะแนนเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.แข่งขันกับพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ส่วนที่อ้างว่าศาลเคยประทับรับฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีหมิ่นประมาทอีกสำนวนจากเรื่องการก่อสร้างโรงพักเช่นกันนั้น ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีย่อมมีความแตกต่างกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การใส่ความ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ 2-5 นำไปตีพิมพ์ข่าวเสนอข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 แถลงข่าว เป็นการกระทำโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของวิญญชนพึงกระทำ จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังฟังคำพิพากษา นายธาริตได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"