"บตท." บทพิสูจน์ภารกิจพัฒนาตลาดรองฯ เสริมแกร่งสภาพคล่องอสังหาริมทรัพย์ไทย


เพิ่มเพื่อน    

"การควบรวมที่เกิดขึ้นนี้ จึงไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะไม่มีตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพียงแต่จัดวางให้เป็นฟังก์ชันหนึ่งในหน่วยงานที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด"

 

 

     บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) หรือ SMC เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประเภทสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อช่วงที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติปี 2540 ในช่วงที่สถาบันการเงินและภาคธุรกิจของไทยขาดสภาพคล่อง ดังนั้นภารกิจของ บตท.ในช่วงก่อตั้งคือ พัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย การเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน จนมาถึงบทบาทในการขยายสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการของที่อยู่อาศัย โดยใช้หลักการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) เริ่มต้นด้วยทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท

บทบาทของ บตท.

(กรพล ชินพัฒน์)

 

    “กรพล ชินพัฒน์” ผู้ช่วยกรรมการและผู้จัดการสายบริหารสินเชื่อ รักษาการในตำแหน่งผู้จัดการ บตท. เล่าถึงพันธกิจหลักของ บตท. ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้การส่งเสริมการเจริญเติบโตของตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยการเสริมสภาพคล่อง และลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดทุน โดยการทำ Securitization และการออกตราสารหนี้อื่นๆ รวมถึงการช่วยให้ประชาชนสามารถขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวได้มากขึ้น

     ด้วยการทำงานภายใต้หลักการในการระดมเงินจากตลาดทุนมาให้ตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยการรับซื้อสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกลายเป็นสินเชื่อที่มีสภาพคล่อง สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ และการนำสินเชื่อนั้นมาหนุนหลังตราสารทางการเงิน เป็นการระดมทุนจากตลาดทุนและพัฒนาตลาดทุนไปในตัว ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

     นั่นหมายถึงบทบาทของ บตท.ในช่วง 10 หลังก่อตั้ง ได้ถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้น โดยกระทรวงการคลังได้มอบบทบาทใหม่ให้ คือ “การพัฒนาตลาดทุน” ผ่านการออกตราสารหนี้โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง ที่ในขณะนั้นเองประเทศไทยยังไม่เคยมี นั่นเป็นจุดกำเนิดตราสารการเงิน “Mortgage-Backed Securities : MBS” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงของ บตท.

เดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่

    “กระทรวงการคลังผลักดันให้ บตท.ทำหน้าที่ในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้ตลาดทุน โดย MBS จะเป็นตราสารทางการเงินที่ผู้ซื้อลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งบทบาทตรงนี้ดำเนินควบคู่ไปกับบทบาทในการออกสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว ด้วยเพราะกระทรวงการคลังมองเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนเลย เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทนี้ ข้อดีคือจะช่วยลดความกังวลให้กับประชาชน เนื่องจากหากดอกเบี้ยปรับขึ้นทุก ๆ 1% ค่างวดที่ประชาชนจะต้องส่งจะปรับเพิ่มขึ้นทันที 7%”

     นอกจากนี้ บตท.ก็ได้มีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับองค์กร ด้วยการเริ่มซื้อพอร์ตสินเชื่อจากสถาบันการเงินมาบริหารจัดการ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นแหล่งรายได้หนึ่งที่สำคัญของ บตท.

     หลังจาก บตท.เริ่มมีสต๊อกสินเชื่อที่อยู่อาศัยในมือ ก็เริ่มออก MBS โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการออก MBS ไปแล้วจำนวน 9 กอง คิดเป็นวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท จากปริมาณสินเชื่อที่ซื้อรวมๆ กันในช่วง 10 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ บตท.เก็บสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไว้ส่วนหนึ่งในการบริหารสภาพคล่องขององค์กร

ภารกิจควบรวม

    “กรพล” ยอมรับว่า บทบาทและภารกิจของ บตท.ในช่วงที่ผ่านมา อาจจะยังไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมากนัก นั่นเพราะอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงขาลง จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนได้ค่อนข้างชัดเจนว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวของ บตท. จะไม่เวิร์กกับสถานการณ์ตลาดเงินและตลาดทุนไทยอย่างแน่นอน โดยหากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าสัดส่วนลูกค้าดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว 10 ปี มีเพียง 1% เท่านั้น รองลงมาเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ 7 ปี มี 3% ดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี มี 2% ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี และอื่นๆ

     ด้วยปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ แม้ว่า “กระทรวงการคลัง” จะยังยืนยันว่า บตท.ยังมีความจำเป็นและมีประโยชน์กับระบบการเงินของประเทศไทย แต่ด้วยระบบนิเวศทางการเงินในหลายๆ ปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย จึงเป็นเหตุให้มีแนวคิดเรื่อง การควบรวม เกิดขึ้น

     โดยย้อนไปเมื่อปี 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ขณะที่กระทรวงการคลังจับมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เดินหน้าศึกษาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของ บตท. กับตลาดการเงินไทย จนผลการศึกษาออกมาตรงกันทั้งหมดว่า “บตท.ยังมีความจำเป็น” แต่ด้วยขนาดขององค์กรที่เล็กเกินไป ด้วยทุนจัดตั้งที่มีอยู่อย่างจำกัด แม้ขณะนั้นจะทำเรื่องขอเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาทไปยังกระทรวงการคลังแล้วก็ตาม ตรงนี้ทำให้มองว่าการทำงานของ บตท.อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงเกิดแนวคิด ควบรวม เกิดขึ้น

     ในที่สุด กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งมาที่ บตท. ให้หยุดการซื้อสินทรัพย์ โดยพอร์ตขณะนั้นอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท โดยจนถึงปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของ บตท. ปรับลดลงมาเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้พยายามบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสภาพคล่องขององค์กร

     โดย บตท.ถูกสั่งให้ควบรวมเข้ากับ “ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)” โดยทุกฝ่ายพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมที่สุด เพราะย้อนไปในอดีต บตท.เองก็เคยเป็นสำนักงานตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ภายใต้ ธอส.มาก่อน จุดนี้เองทำให้กระทรวงการคลังมองว่า ถ้าจะต้องเกิดการควบรวมขึ้น ธอส.จึงตอบโจทย์มากที่สุด

     กระบวนการควบรวมเดินหน้าไปตามขั้นตอน โดยกระทรวงการคลังได้นำเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ จนมาถึงการร่างกฎหมายยุบเลิก บตท. เพื่อให้ไปรวมกับ ธอส. ซึ่งผ่านสภาวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าภายในเดือน พ.ค. 2563 น่าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 หลังจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา โดยคาดว่ากระบวนการในส่วนนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย.2563

     ขณะที่กระบวนการควบรวม ตามกฎหมายจะมีเวลาให้ 270 วัน หรือ 9 เดือนในการจัดการส่วนนี้ ซึ่งตรงนี้ บตท.ได้หารือกับ ธอส.ในเบื้องต้นว่า กระบวนการควบรวมควรเป็นไปอย่างรอบคอบ และรวดเร็ว ทำให้ประเมินในเบื้องต้นว่า กระบวนการควบรวมจะแล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน (ต้นปี 2564) หรืออย่างช้าที่สุดภายใน 9 เดือนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

    

ความท้าทายหลังควบรวม

    คำถามที่ตามมาทันทีว่า ภายหลังการควบรวมแล้ว บทบาทของ บตท.จะเป็นอย่างไร “กรพล” ชี้แจงว่า ยอมรับว่ามีการหารือถึงเรื่องนี้พอสมควร โดยกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง มองว่า Seccuritization ซึ่งเป็นเครื่องมือของ บตท. ยังมีความจำเป็นอย่างมาก หากถึงจุดที่สถานการณ์ในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้

     "การควบรวมที่เกิดขึ้นนี้ จึงไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่มีตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพียงแต่จัดวางให้เป็นฟังก์ชันหนึ่งในหน่วยงานที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด"

 

ทิศทางภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย

    “กรพล” ยังได้ฉายภาพทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยหลังจากนี้ว่า อาจจะยังไม่หวือหวาไปอย่างน้อย 3 ปี ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังอยู่ในช่วงชะลอตัว โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ ธปท.ออกมาตรการ LTV ในช่วงเดือน เม.ย.2562 ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงให้ธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เกิดจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทันทีที่มาตรการนี้ออกมา ทำให้ตลาด “ช็อก” และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย

     ที่สะท้อนชัดเจนคือ ความต้องการและกำลังซื้อที่อยู่อาศัยลดลงทันที ส่งผลให้เกิดโอเวอร์ซับไพรม์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนล่าสุดแม้ ธปท.จะออกมาผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามมาตรการ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าสายไปเสียแล้ว! นั่นเพราะเศรษฐกิจประเทศไทยเข้าสู่ช่วงชะลอตัวจากปัจจัยเสี่ยงมากมาย

     “เดิมทีหลายฝ่ายมองว่าปี 2563 เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวเข้าสู่จุดที่สมดุลมากขึ้น นั่นจะส่งผลให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยกลับมา ที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบ แนวดิ่งที่ล้นตลาดในขณะนี้จะลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ผู้ประกอบการเองก็จะเริ่มวางแผนลงทุนใหม่ แต่สถานการณ์จริงกลับไม่เป็นอย่างที่คิด จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก กำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ที่อยู่อาศัยที่ล้นตลาดในขณะนี้ก็จะยังคงกองอยู่ในตลาดต่อในอีกระยะหนึ่ง แต่ครั้งนี้สถานการณ์ไม่ได้ร้ายแรงจนถึงขึ้นทำให้เศรษฐกิจวิกฤติเหมือนปี 2540 หรือเกิดปัญหาฟองสบู่แตกแน่นอน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการปรับตัววางแผนการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้และวิธีอื่นๆ ทำให้คลายความกังวลเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่แตกต่างกับวิกฤติปี 2540 อย่างชัดเจน แต่แม้สภาพคล่องจะไม่มีปัญหา แต่การดำเนินธุรกิจก็อาจจะไม่ได้กำไรหวือหวา ไม่ถึงกับล้ม แต่จะซึม นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มองได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เติบโตในในช่วง 3 ปีนี้” กรพลระบุ

    สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ออกมา จะมีผลในช่วงสั้นเท่านั้น หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาที่ดีและตรงจุดที่สุดคือ การกระตุ้นกำลังซื้อ และการเสริมความเชื่อมั่นของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่ม โดยทั้งหมดยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"