มหิดลจับมือเจนสตาร์ วางมาตรฐานวิชาชีพ ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน


เพิ่มเพื่อน    

 

                การถาโถมของคลื่นตัวเลขผู้สูงวัยที่ทวีขึ้นเป็นลำดับ อาจเรียกได้ว่านี่เป็น “คลื่นสึนามิ” ผู้สูงอายุลูกใหญ่ที่จะโหมเข้ามาในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในปัญหาที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมไทยก็คือ การหาคนดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อครอบครัวต่างๆ นับเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่สังคมควรคำนึงถึง เพราะหากผู้สูงอายุในทุกๆ บ้าน ความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขตลอดอายุขัยก็เท่ากับเป็นการลดภาระของลูกหลานได้ทั้งกายและใจ ส่งผลให้สังคมโดยรวมมีความสุข จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการทดสอบวัดระดับทักษะการดูแลและรับรองมาตรฐานความรู้ผู้ดูแลผู้สูงวัย สำหรับ CareAdviser eco-platform ระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท เจนสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ศ.นพ.บรรจง มไหศวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ชูพรรณ โกวานิชย์ ประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เจนสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนาม

                ศ.นพ.บรรจงกล่าวว่า ความร่วมมือนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมให้การสนับสนุนเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของบริษัท เจนสตาร์ฯ แบบครบวงจร เช่น การเป็นวิทยากร การเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ พร้อมแนะนำการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ รวมทั้งให้การสนับสนุนบุคลากรของบริษัท เจนสตาร์ฯ เข้าฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติงานและศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มประสบการณ์แก่ผู้ดูแลและผู้สูงอายุที่อยู่ในแพลตฟอร์มให้ปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งหวังว่าจะช่วยส่งเสริมธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุได้ครบวงจรและสมบูรณ์ เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุต่อไป

                ศ.ดร.พญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการว่า ปัจจุบันในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องสมาชิกในบ้านไม่มีเวลาจำเป็นต้องจ้างผู้ดูแล แต่พบว่าผู้ดูแลส่วนใหญ่ทำงานได้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น หากสามารถพัฒนาผู้ดูแลให้สามารถดูแลได้อย่างถูกต้องครบถ้วนจะทำให้สมาชิกในบ้านมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุในแต่ละบ้านมีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ปกติเคลื่อนไหวได้เองจนถึงระดับติดเตียงต้องดูแลเป็นพิเศษ ทำให้ผู้ดูแลต้องมีความรู้ความสามารถต่างกัน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับเจนสตาร์ฯ ที่มีแพลตฟอร์มของผู้ที่สนใจมาเป็นผู้ดูแลและผู้สนใจต้องการหาคนมาดูแลผู้สูงอายุ โดยมหิดลเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการจัดทดสอบวัดระดับทักษะตามหลักวิชาการ ที่ได้รับการสนุนสนับจากคณะต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คณะกายภาพบำบัด คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันโภชนาการครบวงจรของการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งผลของการวัดระดับทักษะจะทำให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่ามีผู้ดูแลที่ตรงตามจุดมุ่งหมายของการใช้บริการ

                “ถือเป็นเรื่องที่ดีมากหากเราสามารถจัดผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุได้ จะทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องกันไป ซึ่งการได้รับการรับรองจากโครงการความร่วมมือนี้แล้วก็ไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง อันนี้เป็นสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวต้องการเมื่อจะรับคนมาดูแลพ่อแม่ ก็อยากรู้ว่าใครรับรองได้บ้าง มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เมื่อเราทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจัดผู้ดูแลได้ถูกต้องกับความต้องการ จะสามารถขยายทำให้คนอยากเข้ามาทดสอบเพิ่มขึ้น เราหวังว่าจะเกิดการเซตระดับมาตรฐานในตลาดขึ้นมา เพราะตอนนี้ยังไม่มีมาตรฐานในระบบนี้ถือเป็นการนำร่องจากเดิมที่ไม่มีอยู่ในระบบ มีแค่การอบรมผ่านสถานบริบาล ไม่ได้รับรองออกมาเป็นระดับหนึ่งทำอะไรได้บ้าง สองต้องมีความรู้เรื่องอะไร แต่ครั้งนี้จะเซตมาตรฐานในแต่ละมิติไปเลย เริ่มการทำข้อสอบผ่านแค่ไหน มีทักษะอะไรต้องเพิ่มเติม ค่อยๆ เปิดอบรมเป็นขั้นตอน เมื่อมีการเพิ่มทักษะในอนาคตก็อาจนำไปสู่มาตรฐานเรื่องราคาในการใช้บริการได้อีก” คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยกล่าว

                พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า แม้ประเทศไทยจะมีโรงเรียนบริบาลจำนวนไม่น้อย แต่ยังไม่มีมาตรฐานเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นการอบรมแบบชุดความรู้เดียวกันและมาตฐานแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันไป แต่โครงการนี้จะวางมาตรฐานตามหลักวิชาการ มุ่งไปที่ผู้สูงอายุเป็นหลัก เพื่อตอบรับสังคมสูงวัย โดยเป็นการวางมาตรฐานของผู้ที่จะมาให้บริการดูแลผู้สูงอายุในแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

                “ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพต้องมีความรู้ความสามารถในระดับหนึ่ง มีความเป็นมืออาชีพ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการขึ้นทะเบียนอาชีพนี้ เราพยายามจะทำเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเป็นชีวิตประจำวันของผู้คนสำคัญ ต่างจากการเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลที่พยาบาลเป็นครั้งคราว ขณะที่ผู้ดูแลต้องอยู่ด้วยกันตลอดทั้งวัน ดังนั้น ต้องสบายใจทั้งคนดูแลและผู้ได้รับการดูแล ถือเป็นการส่งเสริมอาชีพนี้อีกทางหนึ่ง” ศ.ดร.พญ.พัชรีย์กล่าวทิ้งท้าย

                ด้าน ดร.ชูพรรณ โกวานิชย์ ประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เจนสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผู้ดูแลในประเทศไทยมีจำนวนน้อยประมาณ 40,000 คน และมีศูนย์บริการราว 2,000 แห่ง ขณะที่ความต้องการในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีการนำผู้ดูแลที่ไม่มีคุณภาพมาให้บริการ จึงควรมีการสร้างมาตรฐานผู้ดูแลที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากลเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ โดยแพลตฟอร์มนี้จะคัดกรองผู้ดูแลที่มีคุณภาพมาให้บริการผ่านการทดสอบวัดระดับและอบรมหลักสูตรที่น่าเชื่อถือ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"