ยาแรงต้านโควิด บิ๊กตู่งัดพรก.ฉุกเฉินเริ่มบังคับ26มี.ค.


เพิ่มเพื่อน    

  ได้เวลาใช้ยาแรง "บิ๊กตู่" งัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินสู้ไวรัสโควิด-19 เริ่ม 26 มี.ค.นี้ ระยะเวลา 1 เดือน ยกระดับเป็น “ศอฉ.โควิด-19" จัดคณะทำงานประสานกัน แย้มมาตรการมีทั้งขอความร่วมมือ-บังคับขู่ถ้ายังไม่ได้ผล "ปิดล็อก" หมด เตือนปล่อยเฟกนิวส์โดนแน่ โฆษก สธ.ชี้ถึงแม้จะใช้ยาแรง ขึ้นอยู่ที่จิตสำนึกและความร่วมมือของ ปชช. "เทพไท-สมชาย" หนุนทำให้มีเอกภาพ "ก้าวไกล" โลกสวยอย่าลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ปชช. "เพื่อไทย" ข้องใจออก พ.ร.ก.แต่ยังขอความร่วมมือ ชง กมธ.ป.ป.ช.หาไอ้โม่งกักตุนหน้ากากอนามัย เปิดปมแอลกอฮอล์ราคาพุ่ง

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทางไกลผ่านจอภาพ หรือระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เชื่อมสัญญาณจากห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบฯ ไปยังรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง รวมถึงรัฐมนตรีที่ยังหยุดในช่วงกักตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  
    จากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า จากสถานการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงเพิ่ม มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 ราย มาตรการที่ออกไปแล้วในระยะที่ 2 มาตรการเหล่านี้จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ วันนี้จะนำ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาประกาศ โดยจะประกาศใช้ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ซึ่งวันนี้ได้หารือมาตรการที่จำเป็นแล้ว ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการจัดระเบียบเรื่องการทำงาน ยกระดับเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือเรียกง่ายๆ ว่าศอฉ.โควิด-19 ซึ่งข้างล่างจะมีคณะทำงานสอดประสานกัน โดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นหัวหน้า ส่วนงานรับผิดชอบ เพื่อติดตามมาตรการที่ประกาศไว้เดิม อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ว่ากันไป 
    "จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมมาที่ ศอฉ.โควิด-19 โดยผมเป็นผู้อนุมัติ เพราะอำนาจทางกฎหมาย 38 ฉบับของทุกกระทรวงมาอยู่ที่นายกฯ หมด เป็นการบูรณาการอย่างแท้จริงในการบริหารงานตรงนี้ ฉะนั้นการทำงานตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 มี.ค. เวลา 09.30 น. จะมีการประชุม โดยนำหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมาเสนอ รายงานสถานการณ์ให้ทราบ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะประกาศออกไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนข้อกำหนดตนกราบเรียนว่าเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว สิ่งสำคัญคือจัดตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ฯ ว่าจะทำงานกันอย่างไร ประเด็นสำคัญคือข้อกำหนดนั้นสามารถออกได้ตลอดเวลา ทุกวัน ดังนั้นระยะที่ 1 ที่จะประกาศนั้น คือการทำอย่างไรที่จะลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ อาจจะเป็นการขอความร่วมมือหรือบังคับบ้างอะไรบ้าง แต่ในส่วนที่ว่าจะปิดจะเปิดอะไรต่างๆ จะเป็นมาตรการในระยะต่อไป อาจจะเข้มข้นขึ้น อยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน ตนไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่สถานการณ์มีความจำเป็นเพื่อสุขภาพประชาชนโดยรวม
    "รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะดูแลสุขภาพประชาชนให้ได้มากที่สุด ขอความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ออกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากจะต้องกลับจะต้องเจอมาตรการต่างๆ การคัดกรอง การตรวจสอบระหว่างทางมากมาย เช่นเดียวกับการที่เราทำมาตลอดกับคนที่เดินทางจากต่างประเทศ จะต้องมีการกักตัวที่บ้าน หรือในพื้นที่ หากมีความจำเป็นจะต้องกักตัวในสถานที่ของรัฐเพิ่มเติม หากมีการพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหามาตรการอื่นรองรับ ไม่ว่าโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่เป็นร้อยเป็นพัน ในเรื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องจัดหาให้เพียงพอ วันนี้แม้จะมีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามา แต่ยังไม่เพียงพอกับสิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ จึงต้องจัดซื้อจัดหาเพิ่มเติม ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก วันนี้ถ้าตื่นตระหนกมันก็คือปัญหา ขอให้ฟังรัฐบาลในการให้ข่าวข้อมูล ซึ่งจะมีการให้ข้อมูลทั้งวันในสื่อโซเชียลต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น จะมีศูนย์บัญชาการต่างๆ ขอให้รีบฟังช่องทางรัฐบาลเป็นหลัก" 
ประกาศใช้พรก.ฉุนเฉิน1เดือน
    นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ขอให้ทุกคนระวังการใช้สื่อโซเชียล การให้ข่าวสารบิดเบือน เดิมใช้กฎหมายปกติอยู่ แต่จากนี้จะแต่งตั้งเจ้าพนักงาน พลเรือน ตำรวจ ทหาร จัดตั้งด้านตรวจ จุดสกัด เตรียมพร้อมช่วยเหลือส่วนต่างๆ ในการทำงาน จะมีการปรับมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ก็จำเป็นต้องปิดล็อกต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งสามารถจับกุมดำเนินคดีได้ ไม่ว่าจะกักตุนสินค้าหรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ รวมถึงการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สิ่งเหล่านี้จะมีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ จึงขอเตือนไว้ ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีระยะประกาศใช้ 1 เดือน
    ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มี.ค.นั้น ก็เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้มีเวลาเตรียมตัว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม. ซึ่งประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งแรก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงแรกว่า วันนี้ไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งหมด แต่ใจถึงใจ เพราะ ครม.ทำงานร่วมกันมานาน จากนั้นเมื่อถึงช่วงท้ายการประชุม นายกฯ ได้กล่าวขึ้นว่า “วันนี้ตนก็ขออำนาจ ครม.เพื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะขณะนี้สถานการณ์มีความจำเป็น จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อประกาศใช้ฉุกเฉินแล้วนายกฯ จะมีอำนาจมากขึ้นในการประกาศหรือทำอะไร หรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ทหารตำรวจ อำนาจอยู่ที่นายกฯ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อขอมติ และไม่ใช่เป็นการปิดเมือง ปิดจังหวัด ปิดประเทศ เพราะคนไทยยังต้องเดินทางกลับมา โดยที่ประชุมทุกคนเห็นด้วย
    จากนั้น นายกฯ สอบถามที่ประชุมว่าใครมีอะไรจะพูดหรือไม่ โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า อยากให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพียง 1 เดือนก่อน แม้อำนาจการประกาศจะมีถึง 3 เดือนก็ตาม โดยมาตรการเบื้องต้นในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะพยายามหยุดการเคลื่อนย้ายของผู้คนให้อยู่กับบ้านให้มากที่สุด ทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชน ควบคู่มาตรการทำงานเหลื่อมเวลา ส่วนมาตรการเปิด-ปิดสถานที่เสี่ยงยังคงเป็นไปตามประกาศของผู้ว่าฯ กทม.และผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด และยังคงผ่อนผันให้เปิดตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต  ร้านอาหาร และสถาบันการเงิน เป็นต้น ขณะที่การเดินทางของประชาชนนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจ โดยเฉพาะรอยต่อของแต่ละจังหวัดอย่างเข้มข้น
    ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเพียงพอต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ว่าการยกระดับมาตรการจะเพียงพอหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในประเทศเป็นสำคัญประเทศที่มีการปกครองแบบจีน มาตรการมีความเข้มข้นตั้งแต่แรกได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ได้รับรายงานตัวเลขที่ลดน้อยลง ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน และระยะของโรคด้วย กฎทุกอย่างอยู่ที่ทุกท่านเองจะปฏิบัติหรือไม่ แม้โทษปรับจะแรงขึ้นเพิ่มเป็นล้าน ถ้าทุกคนไม่มีปฏิบัติ ทุกคนยังอยู่ที่บ้าน ไม่มีใครไปตามจับท่านได้ อยู่ที่จิตสำนึกและความร่วมมือร่วมใจกัน ถ้าเราไม่อยากให้ภาครัฐประกาศมาตรการที่เข้มข้นต้องกลับมาที่ตัวเราเองร่วมมือตั้งแต่วันนี้ ถ้า กทม.ประกาศแล้วได้ผล จะเป็นตัวอย่างของทุกจังหวัดได้ทั้งหมด แล้วไม่ต้องประกาศอะไรเพิ่มเติมอีกเลย เราอยากเห็นภาพนี้มากๆ
    นายสมชาย แสวงการ ส.ว.และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวสนับสนุนให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเร็วก่อนที่จะสายเกินไป เพราะอำนาจพิเศษนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะสามารถนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีบัญญัติในมาตรา 9 และ 11 รวมๆ ประมาณ 16 มาตรการ จะทำให้มีเอกภาพในการปฏิบัติและการสั่งการมากขึ้น 
     นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ เพราะตอนนี้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังรุนแรง ลุกลามขยายตัวมาก จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการอย่างเข้มข้น เพื่อบูรณาการแก้ปัญหาในลักษณะรวมศูนย์ โดยใช้ ศอฉ.เป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหาทั้งหมด แม้อาจจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนบ้าง แต่ก็ขอให้ทุกคนเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ในการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด
พท.ข้องใจทำไมขอความร่วมมือ
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สรุปเป็นการแถลง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยังไม่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันนี้ นอกเหนือจากการที่ประชาชนต้องเสียสมาธิกับการแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ เดี๋ยวหน้ากากอนามัยหลุด เดี๋ยวแว่นตาหล่น แถลงเสร็จก็ลุกลี้ลุกลนเดินออกไป ไม่ได้อยู่ตอบคำถามเพิ่มเติมใดๆ จากนักข่าว ส่วนของเนื้อหาที่แถลงก็ดูว่ามีความย้อนแย้งอยู่ในตัวเอง คือจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มี.ค.2563 เป็นต้นไป แต่เบื้องต้นจะขอความร่วมมือจากประชาชน จึงเกิดคำถามว่า ถ้าจะใช้วิธีการขอความร่วมมือแล้วทำไมต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ควรมีเป้าหมายเพื่อการควบคุมสื่อหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงไม่ควรมีการขยายขอบเขตของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปเพื่อการอื่นหากประชาชนจะร้องเรียนเรื่องหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ ขาดตลาดหรือราคาแพง จะสามารถร้องทุกข์กับรัฐบาลได้หรือไม่ จะตกเป็นกลุ่มที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่
    นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรการที่รัฐออกมาก่อนหน้านี้เป็นมาตรการสนับสนุนการแพร่เชื้อโควิด-19 ให้มีการกระจายไปในหลายพื้นที่ เมื่อมีมาตรการปิดร้านอาหาร แรงงานในภาคบริการไม่มีเงินใช้ก็กลับบ้านต่างจังหวัด หากเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็จะเป็นพาหะอย่างดี ภายหลังมาตรการล็อกดาวน์ พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนถึงวันนี้จะถึง 1,000 คนแล้ว เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในเวลานี้ช้าไปมาก แต่ก็ยังดีหากออกมาแล้วคุมอยู่ รัฐจะออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ออกได้ แต่ต้องมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วย ออกมาตรการอะไรต้องมีมาตรการรองรับและไม่ควรเปิดโอกาสให้เจ้าสัวหาประโยชน์กับประชาชน 
    ขณะที่พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ว่า วิกฤติที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าก่อนหน้านี้กฎหมายปกติอ่อนแอหรือคณะรัฐมนตรีมีอำนาจน้อยเกินไป แต่หัวใจของปัญหาที่นำมาสู่วิกฤติเกิดจากการที่รัฐบาลขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การวางแผนอย่างไม่รอบคอบ ขาดการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ขาดการเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างเพียงพอ รวมถึงความล้มเหลวในการเปิดเผยข้อเท็จจริงและการสื่อสารกับประชาชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้แก้ไม่ได้ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างจำกัดและระมัดระวัง ต้องไม่ใช้เพื่อลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.นี้ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.นี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่ฉวยโอกาสใช้อำนาจตามอำเภอใจ 
         น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการกักตุนหน้ากากอนามัยจนทำให้ราคาแพงและหายากว่า ในฐานะกรรมาธิการ ป.ป.ช. คงร่วมกับกรรมาธิการในคณะทำการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เพราะเป็นเรื่องน่ารังเกียจ จะไม่ยอมให้ใครก็ตามที่หากินกับวิกฤติของชาติลอยนวลไปได้อย่างแน่นอน เรามอบให้คณะอนุกรรมาธิการไปทำการบ้านและนำรายละเอียดเข้าพิจารณาในคณะใหญ่วันพุธที่ 25 มี.ค. เชื่อว่าคงมีความคืบหน้าไปไม่น้อย และยังได้รับการร้องเรียนเรื่องแอลกอฮอล์ด้วยว่ามันมีความไม่ชอบมาพากลของการบริหารจัดการที่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก และเสกให้ต้นทุนแอลกอฮอล์ที่ราคาถูกมากๆ กลายเป็นสินค้าราคาแพงได้อย่างมหัศจรรย์ ดังนั้นจะเสนอให้กรรมาธิการตรวจสอบเรื่องนี้ควบคู่ไป
    นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การประชุมกรรมาธิการ ป.ป.ช. วันพุธที่ 25 มี.ค. จะมีการเชิญอธิบดีกรมการค้าภายใน กรมสรรพากร หน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยขาดแคลน แต่ ส.ส.ต่างจังหวัดที่เป็นกรรมาธิการ ป.ป.ช. ได้แจ้งลาประชุมหลายคน เนื่องจากหากเดินทางเข้ามา กทม. เมื่อกลับไปต่างจังหวัดจะต้องถูกกักตัว จึงยังไม่แน่ใจว่าจะประชุมได้หรือไม่ และวันนี้พบปัญหาวัสดุที่จะมาทำหน้ากากผ้า มีการขึ้นราคา หนังยางที่ใช้เย็บขาดตลาด หรือมีการขึ้นราคาไปมาก เดิมหนังยางม้วนละ 75 บาท ตอนนี้ราคาสูงถึง 300 บาท เรื่องนี้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูให้ครบวงจร ไม่อยากให้มีการใช้สถานการณ์แบบนี้มาแสวงหาผลประโยชน์ เอาวิกฤติมาเป็นโอกาส แล้วมาสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"