สสส.หนุนแพทย์เตือนนักดื่มสิงห์อมควันเสี่ยงโควิด-19ตายเร็วกว่าคนปกติ


เพิ่มเพื่อน    

 

สสส.หนุนเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย รวม 17 องค์กร ฟันธงเหล้า-บุหรี่เสี่ยงโควิด-19!! แพทย์เตือนดื่มเหล้า-สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในโรคติดเชื้อ ทำลายปอด ระบบทางเดินหายใจ หลังพบ 11 คนติดโรคโควิด-19 จากการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน ดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน หนุนมาตรการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ สนามมวยเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น พร้อมออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืน

 

โควิด-19 ไวรัสร้ายเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น แพร่เชื้อแผ่คลุมไปทั้งโลก คนทั่วโลกกว่า 180 ประเทศติดเชื้อจำนวนหมื่นราย/วันเป็นอย่างน้อย ติดเชื้อทะลุ 314,000 ราย หลายชีวิตเกิน 13,500 คนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้สูงวัยร่วงผล็อยเพราะยังไม่มีวัคซินป้องกันและไม่มียารักษา รักษาหายเกือบ 96,000 ราย สถานการณ์ในทวีปยุโรปรุนแรงที่สุด มีผู้ติดเชื้อ 152,117 ราย กว่า 1 ใน 3 อยู่ในประเทศอิตาลี รองลงมาประเทศสเปน

 

เมืองไทยมีทีมสาธารณสุข โดยแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และการตื่นตัวของภาครัฐที่ตั้งแนวรับไว้อย่างเหนียวแน่นในช่วง 2 เดือนแรกโควิด-19 ยังไม่สามารถบุกฝ่าแนวเข้ามาถึงคนไทยได้โดยตรง ได้แต่แฝงร่างเข้าไปอยู่ในคนเดินทางจากต่างประเทศที่หลุดรอดเข้ามาในเมืองไทย สหรัฐและกลุ่มยุโรปถึงกับออกปากชมและยกตัวอย่างเมืองไทยเป็นตัวอย่างในการรับมือโควิด-19

 

 

สาธารณสุขเมืองไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างที่เรียกว่าเหนือโลก เหนือความคาดหมาย คือพิชิตได้อยู่หมัด ใครที่ติดเชื้อก็รักษาหาย มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เสียชีวิตซึ่งเป็นการเสียชีวิตด้วยโรคอื่น (ข่าวล่าสุดเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เป็นชายวัย 70 ปีที่มีโรควัณโรคร่วมด้วย รายที่ 2 ชายวัย 79 ปี ติดเชื้อจากสนามมวย ชายวัย 45 ปี มีภาวะเบาหวานและโรคอ้วน) ตัวเลขล่าสุด วันพุธที่ 25 มี.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสมในไทย 827 ราย กลับบ้านได้ 57 ราย รักษาตัวอยู่ใน รพ. 766 ราย อาการหนัก 4 ราย เป็นกลุ่มสนามมวย 21 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 5 ราย กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วย 37 ราย กลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 2 ราย กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย คือกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ ชาวต่างประเทศ 8 ราย มีหลายรายที่เดินทางกลับจากเที่ยวผับปอยเปตที่ประเทศกัมพูชา กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 108 ราย

 

เวทีเสวนา “เหล้า บุหรี่ กับความเสี่ยง โควิด-19” ที่เดอะฮอลล์บางกอก จัดโดยเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้ภายในงานมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน ได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ ด้วยการคัดกรองจากเครื่องวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัย และนั่งห่างกันมากกว่า 1 เมตร

 

การนำเสนอ VTR รวบรวมสถานการณ์ “ข่าวโควิด-19 ที่สัมพันธ์กับเหล้า บุหรี่” จากไทยรัฐนิวส์โชว์ นำเสนอเรื่องโควิด-19 จากสถาบันบำราศนราดูร รับคนไข้เพิ่มอีก 11 คน เป็นคนไทยทั้งหมด เนื่องจากมีเพื่อนเดินทางมาจากฮ่องกงจึงดื่มเหล้าจากแก้วเดียวกันและสูบบุหรี่มวนเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงติดโรคไข้หวัดโควิด-19 ประชาชนตื่นตระหนกมากกว่าตระหนัก การใช้ชีวิตประจำวันมีความกังวลเชื้อไวรัสเนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวันแบบก้าวกระโดด เป็นการติดเชื้อเป็นกลุ่ม ไม่ใช่คนเดียว ผู้ติดเชื้อ 147 คน วันที่ 12 มี.ค. มีการแถลงข่าวติดเชื้อเป็นกลุ่มเป็นครั้งแรก เกิดจากกลุ่มนักเที่ยวปาร์ตี้สังสรรค์กันโดยกิน-ดื่มแก้วเดียวกัน และสูบบุหรี่มวนเดียวกัน ส่งผลให้มีการติดเชื้อ 11 คน คนที่ไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่รอดจากการติดเชื้อ 4 คน และการติดเชื้อจากเวทีมวยเริ่มจาก แมทธิว ดีน ดารานักแสดงและเจ้าของค่ายมวย และลีเดีย ภรรยา เข้ารับการรักษาที่ รพ.ราชวิถี ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดงานแถลงข่าวและมีการออกแถลงการณ์องค์กรด้านเด็กและเยาวชนต่อสถานการณ์ความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้สำนักข่าวซินหัวนำเสนอสารคดีไวรัสร้ายพลิก “อู่ฮั่น” สู่เมืองร้าง

 

เสวนาหัวข้อ “เหล้า บุหรี่ กับความเสี่ยงโควิด-19” “บุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้ากับความเสี่ยงโควิด-19” โดย ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วย ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับความเสี่ยงโควิด-19” โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข “อยากช่วย อยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน จะทำอะไรได้บ้าง” เปิดระดมความคิดเห็นจากแกนนำเด็กและเยาวชน ดำเนินรายการโดย ชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์

 

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอ Live สด เนื่องจากไม่สะดวกในการมาร่วมงานเสวนา ทั้งนี้เพราะทางจุฬาลงกรณ์ฯ ประกาศหยุดเนื่องจากมีบุคลากรจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จะต้องอยู่ประจำที่ทำงาน “การรวมตัวของกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกัน ใครที่มีเชื้ออยู่แล้วมีโอกาสเผยแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้มากกว่าปกติ ด้วยการสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์จากแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน ผลจากงานวิจัยถ้าติดแล้วย่อมมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ปอด มีโอกาสเป็นวัณโรค ปอดบวมได้สูงกว่าคนทั่วไป

 

แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุเพิ่มความเสี่ยงในโรคติดเชื้อ อาทิ วัณโรคปอด ปอดบวม โรคติดเชื้อในปอด ส่วนเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในปอดได้เช่นกัน ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การดูแลสุขอนามัยก็ไม่ดีเท่าที่ควร ย่อมมีโอกาสรับเชื้อง่ายกว่าคนปกติ ยิ่งคนที่ดื่มแอลกอฮอล์มานานๆ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี เพราะเมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ติดเชื้อต่างๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป การตั้งวงดื่มเหล้ากับเพื่อนหรือเที่ยวในสถานบันเทิงยิ่งเสี่ยงหนัก หากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่ม แค่หายใจหรือหยิบจับภาชนะร่วมกันก็ติดเชื้อได้แล้ว เพราะนั่งในระยะใกล้ จากสถิติพบผู้ใหญ่ติดไวรัสโควิด-19 ง่ายกว่าวัยอื่น ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจะเป็นกลุ่มคนสูงวัยและคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

 

 

“หลายคนอาจสงสัยว่าคนที่ดื่มเหล้าแก้วเดียวกันจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกคนหรือไม่นั้น อาจกล่าวได้ว่ามีสิทธิ์รับเชื้อกันทุกคน เพราะนักดื่มส่วนใหญ่มีกลไกในแง่ความเป็นอยู่ด้านสุขลักษณะหรือการดูแลตัวเองน้อย จึงมีโอกาสรับเชื้อมากขึ้น เชื้อไวรัสจะส่งผ่านแก้วที่ใช้ร่วมกัน เข้าสู่ทางเดินหายใจทางจมูกและปาก เพียงหายใจใกล้กันหรือนั่งใกล้กันก็สามารถติดเชื้อได้แล้ว เพราะผู้ติดเชื้อจะมีอาการไอ และมีน้ำมูก เชื้อโรคจะอยู่ในเสมหะและน้ำลาย ถ้าเกิดการไอ ละอองน้ำลายจะฟุ้งกระจายไปสู่ภาชนะของผู้อื่น ส่งผลให้โต๊ะเดียวกันติดเชื้อ” รศ.พญ.รัศมนกล่าว

 

รศ.พญ.รัศมนกล่าวต่อว่า ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำต้องระมัดระวังตัวมากกว่าคนปกติ เพราะจากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ติดเหล้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดเชื้อในปอดถึง 2.9 เท่า และยังพบอีกว่าเหล้าเป็นสาเหตุของอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มของผู้ติดเชื้อวัณโรค ปอดบวมถึง 13.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร ทั้งนี้เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐกำลังออกมาตรการปิดสถานบันเทิง ถือเป็นมาตรการทั่วไปในการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตามปัจจุบันก็พบว่ามีสถานบันเทิงหลายแห่งก็ทยอยปิดกันไปบ้างแล้ว การงดสังสรรค์ จัดกิจกรรมที่มีผู้คนแออัด รวมถึงปิดสถานบันเทิง จะช่วยชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ยังถือเป็นจังหวะดีที่นักดื่มจะหันมาดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการปกป้องตนเอง ต้องพยายามเว้นระยะห่างกัน ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน ทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายให้แข็งแรง การใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านเชื้อโรคนี้ได้​
​  

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.การสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดไม่แข็งแรง การสูบบุหรี่แม้เพียงมวนเดียวก็ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพปอด และถ้าสูบเป็นระยะเวลานานสามารถนำไปสู่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เสี่ยงติดเชื้อมากยิ่งขึ้น

 

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานจากวารสารการแพทย์จีนที่ระบุว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลง รวมถึงเสียชีวิต เป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า ดังนั้นจึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนจากทั่วโลกกล่าวถึงการงดสูบบุหรี่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เช่น ศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ วิตตี้ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของอังกฤษ ระบุว่า “เป็นช่วงเวลาที่จะเลิกบุหรี่ เพราะคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงมีความเสี่ยงต่อโคโรนาไวรัส”

 

ตามรายงานจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ การเลิกสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสมีสุขภาพที่ดีได้ภายใน 20 นาที หลังเลิกสูบบุหรี่หัวใจจะกลับสู่อัตราการเต้นปกติ การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ความดันโลหิตก็เริ่มลดลง และภายใน 72 ชั่วโมงเซลล์ที่แข็งแรงจะเริ่มแทนที่เซลล์ที่เสียหายในปอด และปอดก็จะกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง รวมถึงการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าด้วย มีการทดลองในหนู พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความไวในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบซึ่งเกิดจากการสูบไอของบุหรี่ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “อิวาลี่” (EVALI) ขณะนี้ในสหรัฐฯ มียอดผู้เสียชีวิต 68 ราย และปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนถึง 2,807 ราย (ข้อมูลวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563)
 

“ประการที่ 2 คือ การแบ่งกันเสพบุหรี่มวนเดียวกัน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน อาจจะส่งผลต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้จากทางน้ำลายหรือเสมหะ ดังจะเห็นได้จากที่มีข่าวคนไทย 11 คนติดเชื้อจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าร่วมกับชาวฮ่องกงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาอันสมควรที่จะเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างสุขภาพปอดให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการติดไวรัสโควิด-19” ดร.วศินกล่าว

 

ทั้งนี้ภายในงาน องค์กรด้านเด็กและเยาวชน 17 องค์กร ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์และมีข้อเสนอต่อสถานการณ์ความเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีจุดยืนและข้อเสนอต่างๆ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"