ต้องใช้ยาแรง รับมือวิกฤติ หนุนกู้ 2 ล้านล้านบาท


เพิ่มเพื่อน    

 อัดยาแรง-ใช้บาซูก้า สู้โควิด 19 ออก พรก.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

                มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ยังคงทยอยผลักดันออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน-ภาคธุรกิจ-ผู้ประกอบการ โดยล่าสุดผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 3 เมษายน ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจชุดที่ 3 ที่มีสาระสำคัญคือ การให้มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ คือ 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 2.พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนครบกำหนด 3.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน โดยแนวทางข้างต้นคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณไม่เกินร้อยละ 10 ของจีดีพี ซึ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศไทยคือประมาณไม่เกิน 1.68 ล้านล้านบาท

                ความเห็น-ข้อเสนอแนะในเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ โดยเฉพาะแนวทางการช่วยเหลือประชาชน-ผู้ประกอบการที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัสจากวิกฤติโควิด 19 จาก ปริญญ์  พานิชภักดิ์-รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์-อดีตนักการเงินที่มีประสบการณ์บริหารงานภาคเอกชนมายาวนาน อาทิ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด และยังเคยเป็นอดีตกรรมการหน่วยงานภาครัฐอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เป็นต้น

                ปริญญ์ ย้ำข้อเสนอการช่วยเหลือประชาชน-ผู้ประกอบการในช่วงวิกฤติเวลานี้ว่า รัฐบาลต้องอัดยาแรงให้มากที่สุด โดยควรตั้งวงเงินกู้เพื่อนำมาใช้รับมือกับวิกฤติรอบนี้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยเงินที่กู้มาดังกล่าวนอกจากช่วยประชาชนแล้ว จะได้นำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขในระยะยาว เช่น งบลงทุนด้านที่เกี่ยวกับโรงพยาบาล-แพทย์-อุปกรณ์ทางการแพทย์ และนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของทัพหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป หากไม่ยอมตัดสินใจใช้ยาแรงมากกว่านี้

                เริ่มต้นที่ ปริญญ์ กล่าวถึงมติ ครม.เมื่อ 3 เม.ย. ที่เห็นชอบมาตรการต่างๆ เช่น การเตรียมออก พ.ร.ก.ที่จะนำเข้า ครม.สัปดาห์หน้านี้ว่า พ.ร.ก.ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผลักดันออกมา อย่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชน เป็นการช่วยตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ให้มีเสถียรภาพ เพราะเสถียรภาพในตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่ง พ.ร.ก.ที่จะออกมา จะเป็นการช่วยเหลือความกังวลของสถาบันการเงินและความกังวลของตลาดเงินตลาดทุนที่ก็ยังเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทย จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะสิ่งที่แบงก์ชาติทำ เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเรื่องกระแสเงินสด บริษัทขนาดเล็ก-ขนาดย่อม เพื่อให้ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในการพักชำระดอกเบี้ย-หยุดการชำระดอกเบี้ย เพราะในสถานการณ์เวลานี้ การที่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ต้องแบกรับภาระการจ่ายดอกเบี้ย ทั้งที่รายได้ของกิจการแทบจะเหลือศูนย์เป็นส่วนใหญ่ เขาก็คงไม่ไหว มาตรการดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ดี

                ..สำหรับการจะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เป็นเรื่องที่หวังว่ากระทรวงการคลังจะเร่งทำ เพราะ size ของมาตรการเยียวยาที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องเหมาะสมกับขนาดของวิกฤติตอนนี้ที่เราเผชิญอยู่ เพราะเวลานี้วิกฤติสาธารณสุขกำลังลามเข้ามาเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถ้าเราไม่มีมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือให้ทำไปควบคู่กัน เพราะการแก้ปัญหาวิกฤติสาธารณสุขรอบนี้จะแก้ไขแค่ด้วยนโยบายสาธารณสุข เช่น การเพิ่มอัตราการจ้างบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นพนักงานจ้างของกระทรวงสาธารณสุขให้บรรจุเป็นข้าราชการ ก็เป็นเรื่องที่ดีระดับหนึ่ง เพราะเป็นการช่วยเรื่องขวัญกำลังใจและทำให้มีบุคลากรมาทำงานให้เพียงพอ

...การออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินฯ ขนาดของวงเงินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากดูหลายประเทศทั่วโลก ขนาดของ size ทั้งงบประมาณรวมกับเงินกู้ ขั้นต่ำควรจะมีอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งของไทยก็อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ผมก็เห็นว่าควรมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 2 ล้านล้านบาท ที่เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับระหว่าง 12-14 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะผมเชื่อว่าวิกฤติของบ้านเรามันโดนหนักกว่าคนอื่น เพราะแค่การท่องเที่ยวอย่างเดียวก็น่าจะมีตัวเลขรายได้ร่วม 1 ล้านล้านบาทที่หายไปจากประเทศไทย ซึ่งตัวเลขนี้มีตัวคูณรวมเข้าไปอีก เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ ประชาชนหาเช้ากินค่ำที่ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะส่งผลต่อเรื่องตัวเลขการจ้างงานที่กว้างขวาง จึงเป็นเหตุผลที่ผมเสนอให้ควรออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

                “2 ล้านล้านบาทดังกล่าวไม่ได้หมายถึงให้กู้ทั้งหมด เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวกระทรวงการคลังจะกู้ตอนแรก 2 แสนล้านบาท ตอนหลังมีข่าวปรับเป็น 1 ล้านล้านบาท ที่ต้องรอดูว่าสุดท้ายวงเงินจะอยู่ที่เท่าใด แต่สิ่งสำคัญที่เหนือกว่าจำนวนที่ประกาศมาก็คือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจให้ได้ว่ารัฐบาลเอาจริง ซีเรียสกับเรื่องนี้

...โดยเฉพาะการสนับสนุนการทำงานของทัพหน้าอย่างแพทย์-พยาบาล ให้มีเครื่องมือทางการแพทย์พอที่จะไปออกรบ ที่ตอนนี้รบกับไวรัส ก็ต้องมีเครื่องมือต่างๆ ให้แพทย์เพียงพอ รวมไปถึงการจัดสถานที่ซึ่งจะให้คนไปกักตัวที่ต้องได้มาตรฐานของสาธารณสุข ซึ่งสามารถใช้งบส่วนที่จะกู้ดังกล่าวมาเข้าไปเสริมได้ ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนกับแพทย์ไทยในการวิจัย พัฒนาวัคซีน และผลิตยา เพื่อรบกับโรคโควิดนี้ได้ ไม่ใช่มาตั้งรับรอจะใช้ยาที่ประเทศอื่นอย่างจีน สหรัฐ เยอรมันคิดค้นได้ เพราะหากต้องรอก็อาจใช้เวลาอีกหลายเดือน ถ้าเป็นแบบนี้จะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากมหาศาล

สิ่งที่ผมอยากเสนอรัฐบาลก็คือ ไม่ใช่มัวแต่คิดว่าเพดานการกู้เงินต้องไม่เกิน 10 หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีก็พอแล้ว ซึ่งสำหรับผม คิดว่ายังไม่พอ เพราะอย่างที่เยอรมัน ก็มีการประกาศใช้เงินจากเกือบทุกงบประมาณนำมาพิจารณาแล้วทุ่มให้หมด ดังนั้นของเราไม่ควรมาเกี่ยงตัวเลขว่า ให้ตัดมากระทรวงละ 10 เปอร์เซ็นต์ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยไปตัดจากงบต่างๆ เช่น งบสัมมนา งบจัดประชุม แต่ให้ดูงบประมาณที่เหมาะสมแล้วจัดสรรมาให้เพียงพอ เพื่อพัฒนาวัคซีนตัวนี้มาให้ประชาชนคนไทยใช้ได้ หรือการจัดสรรงบมาเยียวยาเรื่องการจ้างงาน เพราะยังมีบางกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันมีโรงแรมจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการในช่วงนี้ ซึ่งภาครัฐควรต้องมีการออกมาตราการช่วยเหลือ เช่น กลุ่มพนักงานโรงแรมที่ต้องหยุดกิจการจำนวนมากเพราะไม่มีลูกค้า นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังมีการปิดเมือง ก็ต้องช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวด้วย  

                เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลควรอัดยาแรงด้วยการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 2 ล้านล้านบาท ปริญญ์ ตอบหนักแน่นว่า ใช่ เพราะตัวเลขนี้จะเท่ากับประมาณ 12-15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งบางประเทศอย่างเยอรมันเขาใช้ทุกวิถีทาง ไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่อง บาซูก้าทางตัวเลข”

...อย่างประเทศมาเลเซียก็ใช้ประมาณ 13-15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสิงคโปร์ก็ประมาณ 12-13 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะที่ของสหรัฐใช้มากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบกับสิ่งที่ไทยเรากำลังจะทำ โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติทางโควิดฯ ไม่แพ้กันกับเรา ไทยเราก็ต้องมี size ของมาตรการที่เหมาะสม และทันท่วงที ทันเวลาด้วย อย่าให้ล่าช้าจนเกิดความเสียหายจริงจังเกิดขึ้น อยากเป็นกำลังใจให้รัฐบาลกล้าใช้ยาแรง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลพร้อมที่จะทำทุกอย่าง โดยมองการณ์ไกลว่าเมื่อไทยพ้นจากวิกฤติครั้งนี้แล้ว เราจะออกมาจากวิกฤติครั้งนี้อย่างเข้มแข็งและมีความพร้อมมากขึ้นด้วย

                - ข้อเสนอให้กู้เงินฯ เพื่อรับมือ 2 ล้านล้านบาทไทย ถือเป็นบาซูก้าได้หรือไม่?

                เป็นครับ จริงๆ ผมอยากบอกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่จำเป็นต้องกู้หมด 2 ล้านล้านบาท เพียงแต่เรามีวงเงินที่จะกู้ได้ถึง 2 ล้านล้านบาท เพราะเราอาจใช้งบบางส่วนจากงบกลาง 7 หมื่นกว่าล้านบาท บางส่วนก็ปรับมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของทั้งปี 2563 และปี 2564 ที่กำลังจะจัดทำเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ตอนนี้ แล้วส่วนที่เหลือก็ไปกู้ได้ เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้ดอกเบี้ยต่ำสุดทั่วโลก รวมถึงบ้านเราด้วย ที่อยู่ที่ 0.75 เปอร์เซ็นต์แล้ว และสภาพคล่องก็ยังดีอยู่ จึงเป็นจังหวะการกู้ที่จะกู้ได้ถูกมาก และเวลาเราทำแพ็กเกจใหญ่ๆ ต้องไม่มองแค่ระยะสั้น แต่ต้องมองระยะกลางและระยะยาว เมื่อเราฟื้นตัวจากวิกฤติรอบนี้ผู้ประกอบการของไทย แรงงานไทยต้องมีทักษะ ฝีมือที่สูงขึ้น ต้องมีงบประมาณไปสนับสนุนว่าเมื่อคนทำงานหรืออยู่บ้าน ก็ควรส่งเสริมให้คนเรียนรู้ออนไลน์ได้ เพราะตอนนี้ก็มีหลักสูตรต่างๆ ทำออกมาเยอะมากของหน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ แต่ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาเรียนรู้ เช่น เมื่ออยู่ที่บ้านก็ให้เขาเรียนรู้โดย download หลักสูตร แล้วพอเรียนจบหลักสูตรก็ให้มีการทดสอบ ซึ่งหากผ่านก็ให้เงินเพิ่มเป็นกำลังใจ เช่น 1000-2000 บาทต่อเดือน ในการเรียนรู้แต่ละหลักสูตร เราต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยใช้วิกฤตินี้ในการสร้างทักษะให้กับแรงงานไทย คนไทย ให้มีทักษะมากขึ้น ทำให้เขามีความพร้อมกับ digital transformation ที่ทำให้คนเริ่มเห็นแล้วว่า ระบบต่างๆ สามารถทำให้คนทำงานจากบ้านได้

..ก็มีบางคนมีการเสนอให้พิจารณาว่า เรื่องการกักตัวสำคัญ ก็มีการบอกว่า หากใครอยู่บ้านแล้วกักตัวโดยไม่ติดเชื้อโควิดฯ รัฐควรจ่ายให้ 10,000 บาทต่อครัวเรือน ผ่านการลงทะเบียนตามทะเบียนบ้าน โดยพิจารณาไปเลยว่า ทะเบียนบ้านหลังหนึ่งหากสมาชิกในบ้านไม่มีใครติดโควิดฯ เลย ก็ให้ไปเลย เช่น 9,999 บาท หรือ 1 หมื่นบาทไปเลย ที่จะเป็นมาตรการจูงใจให้คนกักตัวอยู่กับบ้าน กักตัวหยุดเชื้อเพื่อชาติ ดีกว่าไปแจกเงินฟรีๆ ดีกว่าเอาเงิน 5,000 บาทไปแจกฟรีให้ทุกคน แต่ไม่มีอะไรเป็นแรงจูงใจ

                รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นนักการเมืองคนแรกๆ ที่ออกมาเสนอให้ใช้มาตรการ lockdown แบบเจ็บแต่จบ บอกว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ก่อนที่จะเกิดวิกฤติทางสาธารณสุข โควิด-19 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยก็มีความยากลำบากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยแล้งที่เป็นปัญหาใหญ่มาก รวมถึงราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำ เป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้ว ตอนแรกก็หวังกันว่าตัวเลขการท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาได้ รวมถึงการลงทุนในภาครัฐ การเบิกจ่ายต่างๆ แต่เมื่อมาเจอวิกฤติโควิดก็ทำให้เศรษฐกิจแต่ละส่วนได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน เช่น การท่องเที่ยว ที่มีผลกระทบต่อการจ้างงานเยอะมาก วิกฤติโควิดจึงเป็นห่วงโซ่ที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทั้งระบบ

..เนื่องด้วยเพราะแรงงานของไทยเราอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบเยอะมาก วิกฤติครั้งนี้ทำให้เราต้องมาฉุกคิดกันว่า การที่เราจะไปพึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เมื่อเจอวิกฤติอะไรขึ้นมา ซึ่งอนาคตมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก แต่ในเวลานี้ระยะสั้นจากผลพวงวิกฤติโควิดที่มีผลกระทบแรงมาก แต่วิกฤติรอบนี้จะพบว่าแตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้น เช่น วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งตอนปี 2540 ผู้ได้รับผลกระทบคือระดับตัวใหญ่ๆ บริษัทใหญ่ๆ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน ประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการ เป็นเรื่องของปัญหาทางการเงิน แต่รอบนี้คนที่เจ็บตัวมากที่สุดไม่ใช่คนตัวใหญ่ๆ คนตัวใหญ่ๆ ยังโอเค พอไปได้ อาจเจอปัญหา เช่น กระแสเงินสดติดขัด บางบริษัทที่มีหนี้อยู่เยอะก็ต้องระวังกระแสเงินสด แต่ส่วนใหญ่มองว่าสุขภาพทางธุรกิจไม่ได้ถึงกับเลวร้ายนัก อาจไม่ได้กำไร อาจมีขาดทุน

คนที่เจ็บตัวแรงมากสุดในวิกฤติรอบนี้ก็คือคนที่อยู่ในภาคแรงงาน ประกอบอาชีพอิสระ คนทำงาน part-time คนประกอบอาชีพแบบหาเช้ากินค่ำ พวกนี้จะโดนกระทบ คือ พวกเศรษฐกิจฐานราก จึงทำให้วิกฤติรอบนี้กระทบกับคนจำนวนมากในประเทศ แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไม่ใช่ไม่กระทบ เพราะเขาก็จ้างแรงงานเหล่านี้ เมื่อบริษัทเขามีรายได้น้อยลง บางแห่งอาจเหลือศูนย์เลย อย่างเช่นธุรกิจโรงแรมที่บางแห่งเริ่มปิดตัว เขาก็ต้องเลิกจ้างพนักงาน”

ปริญญ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ทำให้กิจการตัวใหญ่ๆ ที่มีหนี้สูง หากรัฐบาลไม่เร่งเข้าไปช่วย ปรับโครงสร้างเชิงรุก เช่น พักหนี้ ที่ต้องทำให้มีการพักหนี้จริงๆ เพราะวิกฤติรอบนี้ที่มันน่ากลัว เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่ และเป็นวิกฤติทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน สุขภาพคน ที่ผ่านมาประเทศไทยลงทุนด้านนี้น้อย เพราะไปลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน การสร้างถนนหนทางต่างๆ ที่เป็นเรื่องการลงทุนเรื่องโครงสร้าง การขนส่ง ซึ่งทำได้ แต่เราอาจจะละเลยในเรื่องการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ โรงพยาบาล การศึกษา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเตือนตัวเองว่านี่คือเสียงกระดิ่งดังเตือนเรา เพราะต่อไปนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย มันก็จะมีปัญหาตามมาตอนหลังในระยะยาว

                ..ผมถึงย้ำว่า กระทรวงการคลัง-รมว.คลัง ต้องกล้าที่จะ set เลยว่าเรามีงบประมาณที่จะสู้ในช่วงโควิดอย่างน้อยสัก 2 ล้านล้านบาท ประกาศตัวเลขใหญ่ให้คนรู้ว่า หน้าตักมีเท่านี้ มีใหญ่จริง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเรามีเม็ดเงินจำกัด จะใช้ 1 ล้านล้านบาทหรือ 2 ล้านล้านบาท ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะเรายังต้องไปลงทุนในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นเรื่องระยะยาว เช่น การลงทุนในด้านสาธารณสุข อยากให้รัฐบาลมีความกล้ามากขึ้นในการช่วยให้ถูกจุดและต้องช่วยให้แรงขึ้น ต้องอัดยาแรง ตั้งงบประมาณไว้ให้เยอะๆ เพราะเงินไม่ใช่ปัญหาในรอบนี้ เรามีเงิน แต่ต้องบริหารจัดการให้รวดเร็ว

                “เรากำลังรบอยู่ สถานการณ์ฉุกเฉิน คือ เรากำลังรบอยู่ รบกับไวรัส เราไม่รู้ว่าจะรบจบเมื่อใด แต่ถ้าเรายิ่งไม่ฉีดยาแรง ไวรัสนี้ก็จะโตและแพร่ระบาดขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีใครรู้ได้ว่าปัญหามันจะจบเมื่อใด การตั้งงบฉุกเฉิน 2 ล้านล้านบาท ตั้งไว้เลย ต้องเบิกจ่ายยาแรง และเมื่อตอนนี้มีการใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ แล้ว ต้องเร่งให้มีการนำงบประมาณออกมาใช้เพื่อช่วยทัพหน้า คือบุคลากรทางการแพทย์ การใช้ยาแรงคือ ตั้งงบให้ใหญ่ไว้ก่อน อย่าตั้งเล็ก ตอนนี้จะไปตั้งเล็กๆ แล้วให้ไปวิ่งตามสถานการณ์ แต่ พ.ร.ก. 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ไปลงทุนในการก่อสร้างทำโครงการพวกรถไฟความเร็วสูง แต่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสังคม หรือ social infrastructure พวกเกี่ยวกับสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล เพราะมันขาด มันวิกฤติ ต้องรีบเร่ง เพราะมันคือชีวิตคน เป็นเรื่องของกำลังใจให้กับพวกเขาบุคลากรทางการแพทย์

ยาแรง จึงต้องเข้าไปช่วยเขาอย่างจริงจัง ตอนนี้รัฐไม่ได้เข้าไปช่วยเขาอย่างจริงจัง ถึงได้ถูกต่อว่า เช่น เรื่องเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ไม่พอ ต้องบริหารกันแบบวันต่อวัน” ปริญญ์ย้ำ

หลังจบสงครามไวรัส

ศก.ไทยฟื้นแบบกะเผลก-กะเผลก

                “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรค ปชป.” กล่าวต่อไปว่า สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หากถามว่าจะฟื้นเร็วหรือไม่ ผมมองว่าอาจจะฟื้นแบบกะเผลกกะเผลก ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะกล้าใช้ยาแรงแค่ไหน เพราะอย่างภาคการท่องเที่ยวคงกลับมาได้เร็วหากว่าโควิดมันจบเร็ว การท่องเที่ยวทั่วโลกจะกลับมาเร็ว คนจะเริ่มกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานสังสรรค์ การไปกินข้าวนอกบ้าน อีกทั้ง พบวัคซีนได้เร็วก็จะฟื้นตัวเร็ว แต่ว่าวิกฤติรอบนี้ไม่ได้มาจากวิกฤติทางการเงิน ผมก็ยังหวังว่าจะไม่มีวิกฤติการเงิน เพราะหากเรายังไม่ทำเรื่องพักหนี้ มันจะเกิดวิกฤติทางการเงิน เพราะดูจากสัญญาณต่างๆ เช่น ตัวเลขการซื้อขายตราสารหนี้ เริ่มส่งสัญญาณไม่ดี รัฐบาลก็ต้อง make sure เมื่อจบวิกฤติโควิดตรงนี้ ต้องกั้นไม่ให้เกิดวิกฤติทางการเงินตามมา ถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะปิดช่องโหว่ไม่ให้ไฟลามทุ่งไปมากกว่านี้

ถ้าเราใช้ยาแรง ไฟมันจะไม่ลามทุ่ง แต่ถ้าเราไม่กล้าใช้ยาแรง เราก็จะเจอปัญหา ส่วนเมื่อทุกอย่างจบลงแล้ว ผมก็เชื่อว่าเราจะฟื้นตัวได้เร็วแน่นอน เพราะปัจจัยพื้นฐานความแข็งแกร่งของธุรกิจท่องเที่ยว ประเทศไทยเรามีอยู่แล้ว ส่วนการส่งออกก็มีการเติบโตได้ แต่การจะทำได้ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายให้กับเอกชน-ประชาชน.

                                                                                วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"