จับตา3พรก.พยุงศก. ชี้ต้องยุติธรรมทั่วถึง


เพิ่มเพื่อน    


    "สมคิด" เตรียมชงที่ประชุม ครม.อังคารนี้ เห็นชอบ 3 พ.ร.ก.สู้โควิด ช่วยคนเดือดร้อน-พยุงเศรษฐกิจไม่ให้ล้มครืน "กรณ์-อดีต รมว.คลัง" แนะ ก.คลังต้องทำแบบรัดกุม-ยุติธรรม-ทั่วถึง กระตุก พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติรับซื้อพันธบัตรเอกชนไทยน่าจะสุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะใช้เป็นครั้งแรกและจะถูกตั้งคำถามนำเงินสำรองมาช่วยอุ้มผู้ประกอบการใหญ่ “เราไม่ทิ้งกัน” เริ่มจ่ายเงินเยียวยา 5 พัน ก้อนแรก 8 เม.ย.
    การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 7 เม.ย.นี้ หนึ่งในวาระที่หลายฝ่ายให้ความสนใจติดตามก็คือ ผลต่อเนื่องจากการประชุม ครม.นัดพิเศษแบบมาร่วมประชุมเต็มคณะเมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ที่เบื้องต้นได้เห็นชอบมาตรการเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เฟสที่ 3 ที่เห็นชอบให้มีการใช้มาตรการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บอกไว้ว่าเบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของจีดีพี โดย 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศไทยคือ ประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท
    ความเห็นในเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 เม.ย. นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.การคลัง ให้ความเห็นผ่านการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ให้จับตา 3 พระราชกำหนดสำคัญเพื่อรับมือต่อวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด โดยเขาย้ำว่า วันอังคารนี้ ครม.จะพิจารณา 3 พระราชกำหนดสำคัญ คือ 1.พ.ร.ก.กู้เงิน 2.พ.ร.ก.สินเชื่อช่วย SME 3.พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติรับซื้อพันธบัตรเอกชนไทย ซึ่งทั้งสามเรื่องเป็นเรื่องสำคัญ จะรอดูรายละเอียดก่อนแสดงความเห็นเพิ่มเติม
    อย่างไรก็ตาม อดีต รมว.การคลังแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้เบื้องต้นมีประเด็นนำเสนอให้พิจารณา (และระมัดระวัง) ตามนี้ 1.พ.ร.ก.กู้เงิน หลักการของการออก พ.ร.ก.กู้เงิน คือเพื่อเสริมกำลังเงินให้รัฐเพิ่มเติมจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณกำหนดไว้ และต้องเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาที่เร่งด่วนเกินกว่าที่จะรอเงินงบประมาณปีถัดไป ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนอื่นเลยคือ รัฐบาลต้องปรับงบที่ไม่เร่งด่วนหรือชัดเจนว่าใช้ไม่ทันสิ้นปีงบประมาณ และเอางบนั้นมาจัดสรรใหม่ในการต่อสู้กับสภาวะวิกฤติ เรื่องนี้นายกฯ สั่งไปแล้ว และน่าจะมีความชัดเจนพรุ่งนี้ และขั้นตอนที่สองคือ รัฐยังมีวงเงินกู้ตามเพดานตามกฎหมายในปีงบประมาณ (เหลืออยู่ประมาณ 300,000 ล้านบาท) รัฐควรพิจารณาวิธีใช้วงเงินนี้ก่อนที่จะออก พ.ร.ก. หากยังต้องออก พ.ร.ก. รัฐต้องออก พ.ร.ก.ในวงเงินที่จะใช้จริงอย่างเร่งด่วนทันทีเท่านั้น ส่วนที่เหลือควรเป็นการใช้เงินในงบประมาณปี 2564 ซึ่งต้องมีการรื้อใหม่ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
    หัวหน้าพรรคกล้าให้ความเห็นต่อไปถึง พ.ร.ก.ฉบับที่สองว่า สำหรับ พ.ร.ก.สินเชื่อ SME ประเด็นสำคัญคือ แบงก์ชาติจะมีระบบประเมินความยุติธรรมในการเข้าถึงวงเงินจากแบงก์ชาติอย่างไร คิดว่าแบงก์ชาติคงใช้กลไกธนาคารในการส่งวงเงินผ่านไปถึง SME จึงมีประเด็นว่าจะตรวจสอบอย่างไรว่าผู้เดือดร้อนจริงได้รับการช่วยเหลือ ไม่ใช่เพียงลูกค้าเดิมของธนาคาร และ 3.พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติรับซื้อพันธบัตรเอกชนไทย กฎหมายนี้น่าจะสุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะไม่เคยมีมาตรการนี้ในประเทศไทยมาก่อน ซึ่งแบงก์ชาติปกติจะเป็น ‘ผู้ปล่อยกู้แนวสุดท้าย’ (lender of the last resort) แต่หากแบงก์ชาติมารับการ rollover พันธบัตรตามข่าวที่ปรากฏ แบงก์ชาติจะเป็นผู้ซื้อธนบัตรในฐานะผู้ซื้อโดยตรงเป็นครั้งแรก
    "คำถามที่จะตามมาคือ 1.แบงก์ชาติจะซื้อในราคาเท่าไร 2.ผู้ถือหุ้นและธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้จะร่วมรับผิดชอบอย่างไร (ไม่ควรเป็นการโอนความเสี่ยงและผลขาดทุนทั้งหมดมาที่แบงก์ชาติ โดยที่ผลกำไรในอนาคตยังอยู่ที่นายทุนเหมือนเดิม) 3.มาตรการนี้เป็นการนำเงินสำรองมาช่วยอุ้มผู้ประกอบการใหญ่ จึงมีคำถามว่าผู้ประกอบการ SME ที่ระดับเครดิตตํ่ากว่าเกรดที่แบงก์ชาติพร้อมรับจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่" อดีต รมว.การคลังแสดงทัศนะ 
ต้องรัดกุมยุติธรรมทั่วถึง
    นายกรณ์ให้ความเห็นด้วยว่า ตนได้ปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์อีกหลายท่าน เราเห็นเพิ่มเติมว่า แบงก์ชาติควรต้อง 1.เริ่มประเมินสถานการณ์ของแต่ละบริษัทที่ออกพันธบัตรแต่เนิ่นๆ เพื่อกำหนดทั้งโครงสร้างการเงินที่เหมาะสมโดยรวมของกิจการ (อย่ารอให้ใกล้ช่วงพันธบัตรจะหมดอายุ) 2.กำหนดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินการของผู้ประกอบการในช่วงนี้และช่วงหลังวิกฤติ 3.เจรจาร่วมกับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นในการกำหนดการแบ่งรับภาระความความเสียหายและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และกำหนดระดับความช่วยเหลือที่จะได้รับจากธนาคารกลาง โดยเรื่องการเตรียมกู้วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิดเป็นเรื่องต้องทำแน่นอน และต้องทำอย่างรัดกุม ยุติธรรม และทั่วถึง
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า การคัดกรองผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงเท่านั้น การดูคุณสมบัติจะดูจากสิ่งที่ประชาชนผู้ขอรับสิทธิ์กรอกข้อมูลเข้ามาเป็นหลัก เช่น กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ จะดูจากข้อมูลใบขับขี่สาธารณะที่จะต้องกรอกในระบบ ซึ่ง AI จะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นกับกรมการขนส่งทางบกว่าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าอาชีพอิสระก็จะดูช่องทางที่ประกอบอาชีพว่าขายของที่ไหน ตลาดอะไร ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
    อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่รัฐบาลต้องแสดงความเสียใจเพราะไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรการ คือ นักเรียน นักศึกษา แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 แต่ภาครัฐมีมาตรการเยียวยาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ส่วนเกษตรกรภาครัฐกำลังจะมีมาตรการเยียวยาเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบบ้างแต่ยังพอทำงานหรือประกอบอาชีพได้ อาทิ คนขายของออนไลน์ โปรแกรมเมอร์ คนงานก่อสร้าง ซึ่งกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ยังมีความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ก็จะทยอยออกมาตรการช่วยเหลือตามลำดับต่อไป
    นายธนกรกล่าวอีกว่า ข้อมูลล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์รวมกว่า 24 ล้านคน มีผู้ขอยกเลิกเกือบ 3 แสนคน โดยระบบจะเริ่มแจ้งผลทั้งผู้ผ่านและไม่ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 8 เม.ย.2563 นี้ทาง SMS หรือ e-mail โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจะเริ่มได้รับเงินเยียวยาในวันเดียวกันเลย การจ่ายเงินจะทยอยจ่ายตามลำดับผลการคัดกรอง ไม่มีการกำหนดโควตาว่าจะจ่ายวันละกี่คน รวมถึงไม่ใช่การจ่ายทั้งล็อตของเดือน เม.ย. เพราะการลงทะเบียนยังไม่สิ้นสุด การตรวจสอบคัดกรองแต่ละคนก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน ถ้าผ่านก็จะรีบจ่ายเงินให้ทันที ทั้งนี้อยากฝากเตือนผู้สนใจลงทะเบียนว่า ขณะนี้มีมิจฉาชีพหลอกลวงขอข้อมูลผู้ลงทะเบียนผ่าน LINE ขอยืนยันว่ามาตรการนี้ไม่มีการขอข้อมูลหรือสอบถามผู้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่าน LINE เพราะการพิจารณาข้อมูลต่างๆ จะดูจากสิ่งที่ท่านกรอกไว้ตั้งแต่ตอนลงทะเบียนอยู่แล้ว อยากให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเต็มที่
พปชร.ดีดปาก "ฟลุค"
    โฆษกพรรคพลังประชารัฐยังกล่าวถึงกรณีที่นายเกริกพล มัสยวาณิช ดารานักแสดงชื่อดัง ออกมาระบุว่ารัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ แต่ดารากลับทำได้ว่า อยากจะเตือนนายเกริกพลว่า จะพูดอะไรให้คิดก่อนพูด เพราะเป็นคนของประชาชน วันนี้รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเต็มที่ ระดมทุกสรรพกำลัง การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์รัฐบาลก็ดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่ อย่าลืมว่าไวรัสโควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่ทั่วโลกต่างเจอสถานการณ์นี้หมด มีประชาชนเสียชีวิตหรือติดเชื้อจำนวนมาก ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ควบคุมได้ในระดับที่ดี การที่นายเกริกพลบริจาคช่วยเหลือโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ดี 
    "ที่ผ่านมาผมยังนึกไม่ออกว่านายเกริกพลเคยทำความดีอะไรให้กับประชาชนและประเทศชาติบ้าง นอกจากข่าวว่าเป็นดาราคาสโนวา วันนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ใช่ออกมาด่ารัฐบาล นายเกริกพลเป็นดาราที่ประชาชนชื่นชอบ สมควรเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช่พูดด่ารัฐบาลเอามันส์ การเปิดรับบริจาคต่างๆ เป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกก็ทำ เป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยาก รัฐบาลจัดสรรงบประมาณช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ต้องเข้าใจว่าไม่มีใครล่วงรู้มาก่อนว่าจะเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ทั่วโลกไม่มีใครเตรียมการมาก่อน พอเกิดเรื่องรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหา งบประมาณต่างๆ ก็มีจำกัด ก็ต้องหามาช่วย ดังนั้นขอให้ได้เข้าใจด้วย นายเกริกพลเป็นผู้ใหญ่แล้ว อยากให้มีสติมากกว่านี้ เวลานี้เป็นเวลาแห่งการร่วมแรงร่วมใจในการต่อสู้โควิด-19 ไม่ใช่เวลาที่จะมาสร้างความแตกแยกในสังคม" โฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าว
    ด้านเพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความในหัวข้อ "7 ข้อเสนอจัดงบประมาณแผ่นดินปี 64 อย่างมียุทธศาสตร์ พาไทยพ้นวิกฤติ" โดยระบุว่า "ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2564 กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในเดือนหน้า และจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม และคณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติเห็นชอบรายละเอียดงบดังกล่าวไปเมื่อไม่นานมานี้ เบื้องต้นพบว่างบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 3.2 ล้านล้านบาท เป็น 3.3 ล้านล้านบาท โดยแม้ว่าในมติ ครม.จะมีแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณให้คำนึงถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และภัยแล้งแล้ว แต่จากที่ทีมงานงบประมาณพรรคก้าวไกลสังเกตการณ์มาตลอด การจัดสรรงบประมาณปี 2564 ที่ปรากฏออกมาแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังยึดกรอบการทำงบประมาณแบบเดิมๆ  ถ้าไม่มีการทบทวนงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2564 เราจะต้องพบกับปัญหาแบบเดิมๆ เหมือนเคย ไม่ว่าจะเป็นงบกลางหมดกะทันหัน ไม่มีเงินเยียวยาอีกต่อไป ไม่มีเงินซื้อหน้ากาก อุปกรณ์แพทย์ขาดแคลน 
    เพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีไว้ว่า มีข้อเสนอถึงรัฐบาลในประเด็นวิธีการจัดสรรงบประมาณปี 2564 อาทิ 1.งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting) สถานการณ์ในประเทศเปลี่ยนไปมาก ยังคงเป็นการทำงบโดยเอางบปีก่อนเป็นตัวตั้ง แล้วขยับตัวเลขขึ้นลงเพียงเล็กน้อย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐที่ไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ไม่ยอม “เฉือนเนื้อ” ตัวเอง ส่วนหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญโดยตรง กลับไม่ได้รับการเพิ่มงบในส่วนที่จำเป็น 2.จัดลำดับความสำคัญใหม่ งบประมาณปี 2563 ตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง ปีนี้เป้าหมายคือความมั่นคงด้านสุขภาพของทุกคน พร้อมรับมือกับผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้น และการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน
    ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข เงินสำรองฉุกเฉิน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงแรงงาน ควรได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ 3.รีดให้เรียบ เรากำลังเผชิญกับปัญหา 2 ต่อ ต่อที่ 1 คือ วิกฤติโควิดที่ทำให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถหากินได้เช่นยามปกติ ต่อที่ 2 คือรายได้ที่เข้ารัฐ เช่น ภาษีก็จะลดลงด้วย เนื่องมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว เราจึงจำเป็นต้องรีดไขมันยังสุดตัว ไม่เว้นแม้แต่ในหน่วยงานที่ควรได้รับความสำคัญเป็นพิเศษด้วย ซึ่งเท่าที่เราเห็น ยังมีงบอีกจำนวนมากที่สามารถตัดออกไปได้เลย เช่น งบดูงานต่างประเทศ งบสัมมนา งบรับรองแขก งบรถประจำตำแหน่ง ฯลฯ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ตอบสถานการณ์ตอนนี้ด้วย เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"