นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ กับภารกิจร้อนสางหนี้แสนล.-ดันเมกะโปรเจ็กต์


เพิ่มเพื่อน    

      เป็นที่ล่วงรู้กันว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยตัวผู้ว่าสำรองโดยรักษาการผู้ว่าการ รฟท.ถึง 2 คน คือ “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รองปลัดกระทรวงคมนาคมในขณะนี้ และ “วรวุฒิ มาลา” รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการ รฟท.คนปัจจุบัน ถือว่าที่ผ่านมารักษาการผู้ว่าฯ รฟท.ได้ทำงานกันอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท

      เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2563 คณะกรรมการบอร์ด รฟท.ที่มีมติเห็นชอบให้ “นิรุฒ มณีพันธ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย และเลขานุการธนาคารกรุงไทย และเคยเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร บริษัท การบินไทย เป็นผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่

      ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนให้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเงินเดือน 390,000 บาท รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษประจำปี และสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้รับจ้างจะได้รับตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว

เร่งแก้โควิด

      สำหรับภารกิจที่ต้องรีบด่วนสำหรับผู้ว่าฯ มือใหม่ก็คงหนี้ไม่พ้นเรื่องการป้องการการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการและพนักงานของ รฟท.ที่ทำงานบนรถไฟและไม่สามารถใช้มาตรการทำงานจากที่บ้านได้

เร่งแก้หนี้ดันเมกะโปรเจ็กต์

      หลังจากนั้นก็หนีไม่พ้นการฟื้นฟูองค์กรและแก้ไขปัญหาขาดทุนที่ปัจจุบันมียอดสะสมกว่า 1.6 แสนล้านบาท รวมไปถึงการผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟ ที่ปัจจุบันมีหลากหลายโครงการที่รอการเซ็นสัญญา ซึ่งโครงการสำคัญๆ ของ รฟท.ที่ต้องเร่งรัดทั้งก่อสร้าง เปิดประมูล รวมถึงผลักดันโครงการให้ ครม.อนุมัติตามแผนมีทั้งหมด 44 โครงการ วงเงินลงทุนสูงถึง 1.15 ล้านล้านบาท ไม่รวมการจัดซื้อหัวรถจักรและระบบอาณัติสัญญาณมูลค่าหลายหมื่นล้าน

      สำหรับ โครงการสำคัญของ รฟท.ที่ต้องเร่งดำเนินงานนั้น แบ่งเป็น โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา รถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้า) สายสีแดง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และงานเดินรถ และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 622,491 ล้านบาท

      ทั้งนี้ ในส่วนโครงการที่เตรียมเปิดประมูลและผลักดันให้ ครม.เห็นชอบ ได้แก่ รถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้า) สายสีแดง 4 ช่วง คือ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-หัวหมาก

      นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 โครงการ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบางไผ่-มุกดาหาร-นครพนม รถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา, ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 493,149 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีที่ดินของ รฟท.ที่จะต้องนำมาบริหาร ได้แก่ 1.บริเวณสถานีกลางบางซื่อ 1,100 ไร่ 2.สถานีแม่น้ำ 227 ไร่ และ 3.โรงแรมหัวหิน 72 ไร่

      ขณะที่ความคืบหน้าโครงการการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่นายนิรุฒต้องมาสานต่อนั้นขณะนี้อยู่ขั้นตอนที่ รฟท.หารือในรายละเอียดของแผนก่อสร้างโครงการร่วมกับกลุ่มซีพี โดยเอกชนจะเสนอแผนก่อสร้างดังกล่าว พร้อมทั้งระบุถึงความต้องการที่จะเข้าพื้นที่พัฒนาตามลำดับ

      ซึ่งตามแผนการดำเนินงานโครงการในส่วนของ รฟท.นั้น ปี 63 จะทำหน้าที่เคลียร์พื้นที่เพื่อส่งมอบให้เอกชนก่อสร้าง ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อรวมรายชื่อของที่ดินที่ต้องเวนคืนจากผู้บุกรุกแล้วเสร็จ หากเอกชนต้องการเข้าพื้นที่ รฟท.จะเร่งจ่ายเงินชดเชยผู้บุกรุก จึงคาดว่าภายในปีงบประมาณ 63 นี้จะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้บุกรุกเสร็จ พร้อมเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบให้เอกชนนำไปพัฒนา

      ด้าน นายนิรุฒ กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่า รฟท.แล้ว ไม่ได้รู้สึกหนักใจกับปัญหาภาวะขาดทุน เนื่องจากเป้าหมายในการทำงานต้องการเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว โดยขอเวลาศึกษารายละเอียดงานทั้งแผนฟื้นฟู ซึ่งหลังจากลงนามในสัญญาจ้างกลางเดือน เม.ย.นี้ก็จะเริ่มงานทันทีเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการมากมาย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19

      “ในขณะนี้ยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และอยู่ระหว่างรอการเซ็นสัญญาจ้าง หลังจากนั้นจึงจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์ ขณะนี้ทราบข่าวสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ล่าสุดมีพนักงานติดเชื้อในพื้นที่โรงซ่อมมักกะสันแล้ว ยอมรับว่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว  และหลังเข้าปฏิบัติหน้าที่จะเร่งเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว”

      อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ก็คงต้องจับตาดูกันว่า ภารกิจท้าทายทั้งหนี้สะสมกว่าแสนล้านบาทกับเมกะโปรเจ็กต์ที่เป็นความหวังของรัฐบาลที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศนั้น ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่แหกโค้งแซงลูกหม้อการรถไฟมาได้ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจพอดู โดยเฉพาะประวัติการทำงานและผลงาน ที่จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเกียรตินิยมอันดับสอง, จบเนติบัณฑิตไทย, ปริญญาโท 2 ใบทางด้านกฎหมายจาก Howard University, Washington D.C. USA และ Temple University, Philadelphia USA อีกทั้งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

      จากนั้นได้เข้ามารับตำแหน่งรอง DD การบินไทย ด้านกฎหมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่สหภาพยุโรป (EU) กล่าวหาเรื่องฮั้วกันภายในกลุ่ม Star Aliance ทำให้การบินไทยรอดพ้นจากข้อกล่าวหา และยังดูคดีสำคัญกรณีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ที่ดินตระกูลกฤษดาฯ และปล่อยกู้บริษัททำธุรกิจถ่านหินอันเลื่องชื่ออย่าง EARTH ด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"