พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด กำจัดเชื้อได้จริงหรือไม่


เพิ่มเพื่อน    

    สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดเกือบทุกประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศต่างมีมาตรการที่แตกต่างกัน ในส่วนของประเทศไทยมาตรการเบื้องต้นคือ สวมใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดมือบ่อยๆ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่มีมาตรการเพิ่มเติมที่ผุดขึ้นและมาแรงในช่วงนี้ ที่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือนักการเมือง ต่างทำกันคือการพ่นยาเพื่อฆ่าเชื้อโควิด
    ถ้าดูวิธีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เหมือนกับโรคที่เกิดจากไวรัสทางระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ที่ติดต่อทาง "ละอองฝอย" เมื่อคนไอหรือจาม การไอครั้งเดียวสามารถสร้างละอองฝอยได้ถึง 3 พันหยด ซึ่งจะไปถูกตัวคนอื่น ไปอยู่ตามเสื้อผ้าและพื้นผิวโดยรอบ แต่บางส่วนก็สามารถลอยอยู่ในอากาศได้ ยังมีหลักฐานอีกด้วยว่า ไวรัสในอุจจาระสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าคนที่เข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ จึงสามารถนำเชื้อไปแพร่ที่อื่นอีกได้เมื่อไปจับอะไรเข้า
    แต่เชื้อ "โควิด-19" อยู่บนสิ่งของต่างๆ ได้นานแค่ไหน เริ่มกันที่อากาศ ถ้าเชื้อไวรัสอยู่ในละอองฝอย น้ำมูก น้ำเสมหะ น้ำลาย และน้ำตา สามารถอยู่รอดในอากาศได้เพียง 5 นาที วัสดุ เช่น พื้น โต๊ะ ลูกบิดประตู บนพื้นผิววัสดุ เช่น พื้น โต๊ะ ลูกบิดประตู จากการสัมผัสของผู้ติดเชื้อ จะสามารถอยู่ได้นาน 7-8 ชั่วโมง ในผ้า หรือกระดาษทิชชู สามารถอยู่ได้ 8-12 ชั่วโมง อยู่บนพื้นผิววัสดุที่มีลักษณะเรียบ เช่น พื้นกระจก จะสามารถอยู่ได้นานขึ้นถึง 24-48 ชั่วโมง อยู่ในน้ำ จะสามารถอยู่ได้นานถึง 4 วัน
    และในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส อาจอยู่ได้นานถึง 1 เดือน ทั้งนี้ยกเว้นตู้เย็น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของแต่ละประเทศ ยิ่งอุณหภูมิต่ำเชื้อโรคยิ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเหมือนอย่างจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
    แต่ข้อสงสัยคือการฆ่าเชื้อด้วยการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อสามารถกำจัดเชื้อได้จริงหรือไม่ พท.นพ.ภพกฤต ภพธรอังกูร เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารบก ได้ระบุในครั้งที่แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขว่า การทำความสะอาดฆ่าเชื้อโควิด-19 โดยการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ แนะนำให้เช็ดถูมากกว่าการพ่นน้ำยา เนื่องจากถ้าพ่นน้ำยาในพื้นที่โรงพยาบาล พื้นที่ที่พบผู้ป่วย หรือพื้นที่ที่พบสารคัดหลั่งจะทำให้เชื้อไวรัสฟุ้งกระจายไปในอากาศ ถ้าจะพ่นควรพ่นในชุมชนที่แออัด หรือในพื้นที่ที่มีการสัมผัสบ่อย ส่วนการพ่นน้ำยาในพื้นที่โล่งแจ้งนั้นไม่มีประโยชน์ เนื่องจากในพื้นที่โล่งจะมีทั้งลมและแสงแดด จะทำให้สิ้นเปลือง โดยการพ่นน้ำยาต้องทำในที่ที่เหมาะสม และควรใส่ชุดป้องกันน้ำยา อย่างไรก็ตามไม่สามารถช่วยในเรื่องของการควบคุมโรค แต่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้ เพราะฉะนั้นการทำความสะอาดจะไม่ทำให้ฟุ้งกระจาย ที่ดีที่สุดคือการเช็ดถูมากกว่า
    ด้านสมาคมโรคติดต่อได้ออกมาเตือนหลายหน่วยงานที่กำลังทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัสดังกล่าวเช่นกันว่า ไม่ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ รวมทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณอีกด้วย ซึ่งความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะช่วยทำลายเชื้อ หรือลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่าน หรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า
    ซึ่งการฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหายใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในลักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้อง คือการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ นอกจากนี้ หากในบริเวณนั้นมีเสมหะหรือสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่ยังไม่แห้ง การฉีดพ่นน้ำยาอาจทำให้เชื้อฟุ้งกระจายขึ้นมาเป็นอันตรายได้
    แต่ใช่ว่าจะมีการต่อต้านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อกันทั่วโลก  ถ้าหากลองดูสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่นที่เป็นเมืองแรกที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ กลับมีการใช้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นถนน ตลาด ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากรัฐบาลจีนได้มีการปิดเมืองใช้นำยาฆ่าเชื้อเข้มข้น การกำจัดเชื้อจึงมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจ้าหน้าที่จากทางรัฐบาล หรือผู้ให้บริการจากภาคเอกชนจะต้องทำให้ถูกต้องในการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามที่อธิบดีกรมอนามัยได้แนะนำ คือหลังจากพ่นน้ำยาแล้วควรจะต่อด้วยการเช็ดถูพื้นผิวทำความสะอาด ไม่ได้แปลว่าพ่นเสร็จแล้วจะสบายใจได้ เพราะความเสี่ยงจะกลับเข้ามาอีก หรืออีกวิธีคือพ่นน้ำยาลงในผ้าก่อนจะใช้ผ้าทำความสะอาด ส่วนการประดิษฐ์เครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามตัวบุคคลนั้นมีประโยชน์น้อย อีกทั้งสารเคมีบางชนิดไม่แนะนำใช้ผิวหนังร่างกายเนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ ควรล้างมือทำความสะอาดที่พื้นผิวซึ่งมีประโยชน์มากกว่า
    การป้องกันที่ดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ การล้างมือ เลี่ยงการเข้าใกล้คนที่ไอหรือจาม และพยายามอย่าสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก และปาก การใช้หน้ากากอนามัย และไม่ควรใช้หน้ากากซ้ำ เว้นแต่หน้ากากผ้าที่สามารถซักแล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เปรียบเสมือนทหารด้านสุขภาพที่ต่างทำงานอย่างหนักเพื่อประชาชน.

                            วอชเชอร์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"