จม.นายกฯขอมหาเศรษฐีลงมือทำ


เพิ่มเพื่อน    

 "ประยุทธ์" ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีไทยแล้ว ไม่ขอรับเงินบริจาค แต่อยากให้ลงมือทำมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมให้เสนอแนะมาตรการที่รัฐควรทำกลับมาใน 1 สัปดาห์ อึ้ง! ธนาธรชี้เป็นช่วงวิกฤติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ แต่ไม่รู้ จ.ม.น้อยไปถึงแม่สมพรด้วย "คลัง" ชงขยายแจก 5 พันจาก  9 ล้านเป็น 14 ล้านคน เพื่อไทยพาเหรดผุดไอเดียเยียวยา "วัฒนา" เสนอแจกยกครัวละหมื่น อนุสรณ์ชงจ่ายตรงเหมือน "เกาหลีใต้-สิงคโปร์"

    เมื่อวันอังคารที่ 21 เมษายน มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีในประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. มีเนื้อหาระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลก ทำร้ายและทำลายชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นช่วงเวลาที่คนไทยและประเทศไทยต้องการความร่วมมืออย่างมากที่สุดจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนหรือองค์กรที่มีความรู้ความสามารถ มีความเข้มแข็ง จึงสื่อสารมายังท่านในฐานะเป็นผู้อาวุโสของสังคม 
    "ผมซาบซึ้งใจที่หลายท่านได้ลงมือช่วยเหลือประชาชนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการขอให้ทุกท่านทำเพิ่มเติม โดยใช้ศักยภาพของท่านมาทำให้เกิดการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทย ที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผมขอให้ท่านทำเอกสาร นำเสนอสิ่งที่ท่านพร้อมจะทำเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย โดยผมไม่ขอรับเป็นเงินบริจาค แต่ผมขอให้ท่านลงมือทำโครงการที่จะออกไปช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกกลุ่มทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนทางด้านใดก็ตาม หรือด้วยวิธีการใดก็ตามขอให้เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสิ่งใดที่ท่านเห็นว่ารัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับโครงการนั้นได้ ขอให้ท่านโปรดส่งมาให้ผมรับทราบภายในสัปดาห์หน้า ก็จะเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง"
    จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วย ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
    และในเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวว่าเป็นการทำงาน ความจริงก็เพื่อรับทราบว่ามีการดำเนินการอะไรบ้างในการช่วยเหลือบุคลากรในองค์กรของท่านเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยเสริมมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพื้นที่กว้างขวางขึ้นในการช่วยเหลือดูแลประชาชน
    "ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไปกู้เงินหรือยืมเงินอะไร รัฐบาลก็มีเงินของรัฐบาลอยู่แล้ว ในส่วนนี้เป็นเรื่องของพวกท่านที่จะดูแลประชาชน และสิ่งที่ทั้ง 20 ท่านทำอยู่ก็ต้องขอขอบคุณ ทั้งนี้ได้ทำเป็นการส่งจดหมายอย่างเปิดเผย เพราะในห่วงโซ่ของพวกท่านมีคนอยู่จำนวนมาก ซึ่งรวมความไปถึงประชาชนด้วย ผมก็ทราบดีว่าทุกท่านมีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างดีอยู่แล้ว แต่ก็เพื่อให้สอดประสานกันในการทำงาน ยืนยันว่าไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ก็ต้องขอขอบคุณเป็นการล่วงหน้าสำหรับทุกอย่าง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ย้ำไม่มีไถเงินเจ้าสัว
    นายกฯ ย้ำว่าเป็นเพียงขอความร่วมมือ เพราะทราบว่าทุกคนก็ทำมามากพอสมควรแล้ว วันนี้
เพียงแต่อยากจะทราบว่าท่านจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านจะพิจารณาเอง สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน การบังคับ หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้ต้องการ เพียงต้องการระดมความคิดเห็นความร่วมมือต่างๆ จากทุกภาคส่วน ซึ่งนอกจากทั้ง 20 ท่านแล้วก็ยินดีหากภาคส่วนอื่นๆ มีอะไรที่จะช่วยเหลือประชาชนให้ทราบก็สามารถทำเรื่องมาได้ แต่คงไม่ได้ไปพบด้วยตัวเองทั้ง 20 ท่าน แต่ก็มีรายชื่อ มีการประกาศออกมาแล้ว ซึ่งจดหมายเปิดผนึกก็มีรายละเอียดอยู่แล้วว่าไม่ขอรับเงินบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น จึงขอร้องว่าอย่าไปบิดเบือนกัน
    ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะแกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวประเด็นนี้ว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สังคมต้องร่วมมือกัน อย่างกรณีการร่วมมือของบริษัทเอกชน 3 บริษัทที่ร่วมกันทำอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาล ถือเป็นสปิริตของสังคมไทย ในช่วงเวลาที่ยากลำบากหากพวกเราทำอะไรได้ก็ช่วยกันทำ คิดว่าการร่วมมือกันของเอกชนเป็นสิ่งที่เราสามารถทำกันได้  ในภาวะที่วิกฤติขนาดนี้เราร่วมแรงร่วมใจกันได้ 
    เมื่อถามว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้วิธีส่งจดหมายขอความร่วมมือถึงมหาเศรษฐีของไทย จะช่วยกระตุ้นหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร นายธนาธรตอบว่าไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่ได้ติดตาม และเมื่อถามว่าหนึ่งใน  20 รายชื่อมีชื่อของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธรด้วย นายธนาธรกล่าวว่า "ไม่ทราบเลยว่า คุณแม่ได้รับจดหมายหรือไม่" 
    เมื่อถามว่านางสมพรได้ออกไปแจกเงินและสิ่งของจำเป็นแก่ประชาชนที่เดือดร้อน นายธนาธร ตอบว่า "อันนั้นก็เป็นเรื่องของคุณสมพร ความจริงท่านก็ไม่ได้ปรึกษาด้วย ซึ่งท่านก็ได้ทำในนามของมูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนา แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนของสังคม สามารถรับผิดชอบต่อสังคมได้คนละไม้คนละมือ"
    วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงพระราชกำหนดต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้แล้วว่า พ.ร.ก.กู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ครม.เห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยมีส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต้องพิจารณาให้เป็นไปตามระเบียบและทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด  อย่างรอบคอบและจำเป็น โดยให้กระทรวงนำแผนงานและโครงการต่างๆ เข้า ครม.ให้ครบถ้วนในโอกาสต่อไปให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งฟังเสียงรอบด้านจากประชาชนทุกภาคส่วน และมอบให้ส่วนราชการไปพิจารณาให้ถูกต้องและเหมาะสม
    นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนอีก 2 พ.ร.ก. คือ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ได้สั่งการได้ให้กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการด้วยความรอบคอบ และรับข้อสังเกตจากทุกภาคส่วน รวมถึงจากผู้มีประสบการณ์มาประกอบในการทำงานด้วย
ขยายแจก 5 พัน 14 ล้านคน
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่ส่วนราชการต่างๆ เสนอ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างมีการเสนอปรับงบประมาณกันทั้งสิ้น อาทิ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปรับลด 60,271,400 บาท,  สถาบันพระปกเกล้าปรับลด 20,968,163 บาท, สำนักงานศาลยุติธรรมปรับลด 157,866,100 บาท และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งปรับลด 33,806,000 บาท เป็นต้น
    นางนฤมลยังกล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบในหลักการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิ์มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ 5 พันบาท 3 เดือน ให้ครอบคลุมทั่วถึงจากเดิม 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สำหรับเรื่องงบประมาณให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณพิจารณาร่วมกันอีกครั้งถึงแหล่งเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการได้ทันการณ์  
    น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีทั้งหมด 6 หมวด คือ 1.บททั่วไป 2.การเสนอ การพิจารณากลั่นกรอง และการอนุมัติโครงการ 3.การดำเนินโครงการ 4.การเก็บรักษาเงินกู้และการเบิกจ่ายเงินกู้ 5.การติดตามประเมินผล และ 6.การใช้วงเงินกู้สำหรับรายการเงินสำรองจ่าย 
    ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค พร้อมคณะได้แถลงถึงผลประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปยังรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
     โดย น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยตัวเลขชัดๆ ว่าสรุปแล้วในงบประมาณปี  2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลตัดงบออกมาทั้งหมดเพื่อใช้แก้ไขปัญหาโควิดให้ประชาชนเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อความโปร่งใสและเป็นข้อมูลสำคัญให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เต็มจำนวนหรือไม่ ส่วนกรอบงบประมาณปี  2564 ที่ผ่าน ครม.ไปแล้วนั้น พรรคขอเรียกร้องให้รื้อใหม่ทั้งหมด เพราะเป็นการดำเนินการจัดทำกรอบงบประมาณก่อนมีสถานการณ์โควิด 
    "การตั้งใจจะกู้อย่างเดียวโดยไม่ใช้เงินในกระเป๋าของตัวเองก่อน คงเป็นเรื่องไม่ฉลาดและไม่ถูกต้อง  พรรคต้องการให้รัฐบาลลดภาระการกู้เงินที่เป็นหนี้สินของคนทั้งประเทศให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น  และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
โปรยยกครัวละหมื่น
    นายวัฒนา เมืองสุข คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเยียวยาว่า พรรคขอเสนอวิธีการที่ยุติธรรมเป็นประโยชน์สูงสุดและดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงและทันเวลา คือ 1.รัฐบาลควรเยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึง โดยใช้เกณฑ์ครัวเรือนในอัตราครัวเรือนละ 10,000 บาทต่อเดือน ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนผู้ไม่ประสงค์จะรับการเยียวยา 
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาเร่งเปิดสมัยประชุมสภาให้เร็วขึ้น เพราะปัญหาจากสถานการณ์โควิดกับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นพัวพันกันในหลายมิติ และที่สำคัญ พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมีผลบังคับใช้แล้ว หากใช้เงินผิดพลาดหรือมีการทุจริตในการใช้งบประมาณ จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติ จึงต้องรีบเปิดสภาเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินต่างๆ ของรัฐบาล หากเปิดสภาช้าก็จะสายเกินไป เข้าตำรากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ และกระจายความช่วยเหลือประชาชนไม่ทั่วถึง หากขาดการตรวจสอบอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ของประเทศเหมือนในอดีต โดยเฉพาะการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติไปซื้อตราสารหนี้ ซึ่งหากไม่คิดให้รอบคอบอาจซ้ำรอยที่เคยใช้เงินอุ้มสถาบันการเงินผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสมัยวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 
    "ใครที่กังวลว่าการประชุมสภาจะนำไปสู่การแพร่ระบาดโควิดนั้น สามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการทางสาธารณสุข เช่นเว้นระยะห่าง หรือใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการประชุม ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการประชุม ครม. หากคิดแบบนั้นในที่ประชุม ครม.ก็สามารถแพร่เชื้อโรคได้เช่นกัน แต่ทำไมยังเรียกประชุมได้ หากการประชุม ครม.ทำได้ การประชุมสภาก็ควรทำได้เช่นกัน เป็นการฉวยโอกาสใช้วิกฤติโควิดเป็นข้ออ้างเพื่อปิดปากฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลหรือไม่" นายสุทินกล่าว
ยก ตปท.แจกเงินเป็นตัวอย่าง
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทที่เงื่อนไขเยอะ มาเป็นการเยียวยาแบบถ้วนหน้า การจ่ายเงินเยียวยาแบบถ้วนหน้าแบบต่างประเทศ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้แจกเงินสดช่วยเหลือครอบครัวชาวเกาหลีใต้ทั่วประเทศ ครั้งเดียวสูงสุด 1 ล้านวอน หรือประมาณ 26,607.72 บาท ยกเว้นกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 30% ของประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์แจกเงินสดประชาชนทุกคนอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 14,000  บาท ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. รัฐบาลต้องตั้งสมมติฐานใหม่ว่าประชาชนทุกคนเดือดร้อน ไม่ใช่ทุกคนตั้งใจมาโกงเงินเยียวยา รัฐบาลต้องคิด ทำไมมีแจกอาหารที่ไหนคนแน่นที่นั่น ทำไมคนไม่มีจะกินถึงมากมายขนาดนั้น จะทำให้การเยียวยาถ้วนหน้าทั่วถึงรวดเร็วได้อย่างไร
         น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ในฐานะรองโฆษกพรรค พท.กล่าวว่า โควิด-19 ยังจะอยู่กับคนไทยไปอีกระยะหนึ่ง โจทย์ใหญ่คือรัฐบาลจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่รอดโดยที่ไม่อดตายเสียก่อน  เพราะเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ทิ้งประชาชนเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งวางแผนเปิดเศรษฐกิจให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้อย่างปลอดภัย พร้อมมาตรการดูแลไม่ให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการทุกกลุ่มโดยเฉพาะรายย่อยเจ๊งหลังกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง และต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วเพราะความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. กล่าวถึงการเยียวยาภาคเกษตรกรว่าต้องชัดเจน  ใช้หลักเกณฑ์ใด อย่ามั่วเหมือนที่ผ่านมา มีหลักเกณฑ์ว่าผู้ที่เช่าที่นาทำการเกษตรจะได้หรือไม่ได้อย่างไร เพราะชาวนาภาคกลางส่วนใหญ่เช่านาทำ ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลให้ละเอียด ทางที่ดีควรบูรณาการทำงานร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้นำท้องถิ่น เชื่อว่าการช่วยเหลือจะตรงกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรตัวจริงจะได้รับการเยียวยาจากรัฐอย่างแน่นอน
    ส่วนนายธนาธรกล่าวถึงกรณีรัฐบาลกำลังจะผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ว่า ต้องรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินการทางเศรษฐกิจกับการหยุดยั้งการแพร่ระบาด หากจะใช้วิธีการหยุดยั้งการแพร่ระบาดแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด หรือ semi-lockdown ต่อไป ก็ต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และรัฐบาลก็ต้องทำให้มั่นใจว่าการเตรียมการด้านสาธารณสุขมีการเตรียมการที่ดีขึ้นในช่วงที่มีล็อกดาวน์ทุกครั้ง ดังนั้นมาตรการแบบกึ่งเปิดกึ่งปิดก็เป็นโมเดลหนึ่งที่สามารถทำได้ 
    "ต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งเปิดกึ่งปิด เมื่อผมลงพื้นที่ก็พบว่าคนเดือดร้อนจริงๆ อดตายกันหมด ผมจึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลว่าอย่าให้ประชาชนอดตาย อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน" นายธนาธรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"