'ชาวเลอันดามัน' ตื่นตัวร่วม 'ข้าวแลกปลา' เตรียมทำปลาตากแห้ง 1 ตันส่งให้ชาวกะเหรี่ยง


เพิ่มเพื่อน    

22 เม.ย.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าในวันนี้ชาวเลจากชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต ได้นำข้าวสารจำนวน 375 กิโลกรัมที่ได้จากโครงการข้าวแลกปลา บรรทุกใส่เรือนำไปมอบให้ชาวเลจากเกาะพีพี โดยมีจุดนัดพบริมเกาะแห่งหนึ่งกลางทะเลริมน่านน้ำจังหวัดภูเก็ต

โครงการข้าวแลกปลามีจุดเริ่มต้นจากการขาดแคลนข้าวของชาวเลชุมชนราไวย์ เนื่องจากผลกระทบในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวหายไป แต่ชาวเลยังคงหาปลาได้จำนวนมากแต่ไม่มีที่ขาย ขณะเดียวกันในภาคเหนือของไทยโดยเฉพาะบนดอยต่างๆ ชาวกะเหรี่ยงมีความมั่งคั่งเรื่องข้าว แต่ปลาทะเลกลับเป็นอาหารที่หายาก ซึ่งทั้งชาวเลและชาวกะเหรี่ยงต่างเคยทำงานเชื่อมโยงกันอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมีแนวคิดแลกเปลี่ยนทรัพยากรกัน

ความเดือดร้อนของชาวเลราไวย์ที่ขาดแคลนข้าวเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ชาวนาจากจังหวัดยโสธรจึงได้ร่วมโครงการข้าวแลกปลาด้วยเช่นกันโดยได้นำข้าวสารจำนวน 9 ตันมามอบให้ชาวเลในชุมชนราไวย์ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ขณะที่ชาวเลได้มอบปลา 1.5 ตันกลับคืน

ข้าวสารล็อตแรกถูกนำไปแบ่งปันให้ครอบครัวชาวเลในชุมชนราไวย์ และบางส่วนได้นำไปมอบให้กับชาวเลในพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากเช่นเดียวกัน

นางสาวพรสุดา ประโมงกิจ ชาวเลบนเกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่าปัจจุบันบนเกาะพีพีไม่มีนักท่องเที่ยวหลงเหลืออยู่เลย ทำให้เรือที่เคยเป็นเรือท่องเที่ยวทุกลำต้องหันกลับมาทำประมงตกปลา เพราะที่นี่ไม่มีเครื่องมือหาปลา เช่น ลอบ หรือไซดักปลาเหมือนที่อื่น เพราะไม่มีใครกล้าตัดไม้ในเขตอุทยานฯมา ทำ เราจึงจับปลาได้ไม่มาก

“เรามีปลากิน ไม่อดแน่ แต่ที่ลำบากคือข้าวสารเพราะต้องใช้เงินซื้อ แต่ทุกวันนี้พวกเราไม่มีรายได้เลย เดือนนี้ยังประคับประคองเอาเงินที่พอเหลือเก็บไปซื้อข้าวได้ แต่เดือนหน้าลำบากแน่”

พรสุดา กล่าวว่าโครงการข้าวแลกปลามีประโยชน์สำหรับชาวเล ตอนนี้บางบ้านไม่มีเรือ ผู้หญิงก็มาช่วยกันทำปลา ผู้ชายก็ไปลงเรือช่วยคนที่มีเรือหาปลา เพื่อเอามาทำเค็มแลกข้าว 

ปัจจุบันชาวเลชุมบนเกาะพีพีมีด้วยกันประมาณ 130 คน และมีเรือประมาณ 35 ลำ โดยกว่า 20 ลำช่วยกันออกหาปลา นอกจากชาวเลที่ชุมชนราไวย์และบนเกาะพีพีแล้ว ยังมีชาวเลในอันดามันพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากไม่แตกต่างกัน

ครูแสงโสม หาญทะเล ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่าเมื่อถูกปิดเกาะป้องกันไว้รัสโควิดแพร่ระบาด ทำให้อาชีพต่างๆซึ่งส่วนใหญ่ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวต้องหยุดหมด ชาวเลผู้ชายที่เคยพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำ หรือชาวเลผู้หญิงที่มีอาชีพแม่บ้านทำความสะอาด ต่างตกงาน ทำให้ไม่มีรายได้และต้องหันกลับไปประกอบอาชีพเดิมคือหาปลาและจับหอย

“ตอนแรกๆก็ยังมีเถ้าแก่จากปากบารามารับซื้อปลา แต่เมื่อเขารับซื้อไปก็ส่งขายใครไม่ได้ เขาจึงชะลอการรับซื้อ ที่นี่เรามีทรัพยากรอยู่เยอะ แต่ขายไม่ได้ ตอนนี้ปลาเลยราคาตกต่ำมากกว่า 50 % ปลาบางชนิดเคยขายได้กิโลกรัมละ 100 บาทตอนนี้เหลือ 20 บาท เราจึงต้องหาปลาแค่เท่าที่ขายได้”

ครูแสงโสม กล่าวว่าได้รับการประสานงานให้ร่วมโครงการข้าวแลกปลา ซึ่งชาวบ้านต่างให้ความสนใจ เพราะเป็นทางเลือกในการได้ข้าวมากิน เพราะในอนาคตหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป ตอนนี้ยังมีข้าวสารขายบนเกาะ แต่ชาวบ้านจะหาเงินมาซื้อได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เดือนนี้ทุกครอบครัวอยู่กันอย่างประหยัดก็ยังพอถูๆไถๆไปได้ แต่เดือนหน้าคงลำบาก ถ้ามีโครงการข้าวแลกปลามาเราก็อยากทำ เพียงแต่ยังห่วงเรื่องการขนส่งเพราะที่นี่มันไกล

ทั้งนี้ เกาะหลีเป๊ะมีชาวเลประมาณ 1,200 คน ซึ่งขณะนี้มีการรวมกลุ่มกันหาปลาประมาณ 30 กลุ่มๆละประมาณ 5-15 คน

ขณะที่นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร เครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ กล่าวว่าโครงการข้าวแลกปลาได้สร้างความคึกคักให้กับชุมชนในหลายพื้นที่ที่ทราบข่าว แม้ขณะนี้ชาวบ้านยังรับรู้ไม่ทั่วถึง แต่ก็ได้สอบถามกันเข้ามามาก คาดว่าภายในกำหนดส่งมอบข้าว จะได้รับข้าวตามเป้าหมายกว่า 4 ตัน ซึ่งมาจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนและตาก

“เรายังเข้าไม่ถึงอีกหลายพื้นที่เพราะอยู่ในช่วงปิดหมู่บ้านป้องกันไวรัสโควิด แต่โครงการนี้เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งผู้อาวุโสได้บอกกับพวกเราว่าไม่เน้นเรื่องมูลค่าหรือการแลกเปลี่ยน แต่ให้เน้นในเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะมีสถานการณ์อะไรอีก ดังนั้นการผูกมิตรกันไว้ดีที่สุด”

ทั้งนี้ ข้าวสารชุดแรกของชาวบ้านจากบนดอยจะขนใส่รถบรรทุกมาจากเชียงใหม่ในวันที่ 25 เมษายน โดยจะถึงชุมชนราไวย์ในช่วยสายๆของวันที่ 26 และจะบรรทุกปลากว่า 1,000 กิโลกรัมกลับไปให้ชาวดอย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"