ยึดสุขภาพเป็นหลัก บิ๊กตู่ชี้ปัจจัยสำคัญก่อนผ่อนปรน/ศบค.ลั่นห้ามมีระบาดรอบ2


เพิ่มเพื่อน    

  "นายกฯ" ส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้บุคลากรทางการแพทย์พร้อมเงินสนับสนุน อสม. ขอบคุณที่อุทิศตนเสียสละสู้โควิด-19 ย้ำผ่อนปรนมาตรการต้องยึดสุขภาพประชาชนเป็นหลัก รองลงมาคือเรื่องเศรษฐกิจ เรียก "อนุทิน-ศักดิ์สยาม" หารือ "หมอหนู" เผยส่งข้อมูลด้านสาธารณสุขถึงมือนายกฯ แล้วก่อนเคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ยันยังต้องเข้มมาตรการเดิมใช้โอกาสนี้สร้าง "นิวนอร์มอล-วิถีชีวิตปกติแบบใหม่” ศบค.พบป่วยเพิ่ม 15 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ลั่นไม่ปล่อยให้ไทยระบาดระลอกสอง  ทุกมาตรการผ่อนคลายต้องไม่กระทบการแพร่ระบาด คนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย 

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.30 น. วันที่ 24 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และพิธีมอบกองทุนสนับสนุนและเยียวยาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เข้าร่วมในพิธีด้วย
    โดยการส่งมอบครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับแพทย์และพยาบาล จำนวน 50,000,000 บาท 2.กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้ช่วยพยาบาล เทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิค จำนวน 10,000,000 บาท 3.กองทุนสนับสนุนและเยียวยาให้แก่ อสม. จำนวนเงิน 10,000,000 บาท เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ และตอบแทนการกระทำความดีของบุคลากรสาธารณสุขทั้งระบบ จำนวน 400,000 คน และ อสม. จำนวน 1,040,000 คน ที่เป็นกำลังหลักของประเทศ ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศของเรามีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง บุคลากรของเราทุกระดับมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ และมีความร่วมมือร่วมใจในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี รวมถึงภาคเอกชนที่สร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรที่ทำหน้าที่สู้ภัยโควิด-19 ให้กับประเทศชาติของเรา ต้องขอบคุณทีมพลังนักรบเสื้อกาวน์ ทีม อสม. ที่ถือเป็นด่านหน้าสำคัญที่ยับยั้งการแพร่ระบาดสู้ภัยโควิด-19 มาด้วยกัน ด้วยความเสียสละอุทิศตนในการป้องกันเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุข จึงขอเป็นกำลังใจให้กับหน่วยงานด้านการสาธารณสุขทุกแห่ง รวมทั้ง อสม.ในหมู่บ้านทั่วประเทศ ตลอดจนขอขอบคุณผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่เป็นพลังประชารัฐ 
     “ขอย้ำว่าไม่ได้พูดถึงพรรคการเมือง แต่เป็นเรื่องของการนำพาประเทศไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาชน และประชาสังคม ทุกภาคส่วนเดินหน้าเพื่อประเทศไทย วันนี้เราทราบดีว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มการระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ประมาท เพราะฉะนั้นการที่จะผ่อนคลายสิ่งต่างๆ จะต้องมีมาตรการเฉพาะออกมา สิ่งสำคัญที่เป็นห่วงประชาชน คือเรื่องของอาชีพและรายได้ การประกอบการทางธุรกิจ แม้กระทั่งในเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมต่างๆ แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าอะไรที่เราทำได้หรือทำไม่ได้ในระยะเวลาต่อไปนี้ ต้องขอความร่วมมือและต้องทำความเข้าใจกันด้วย” 
ยึดสุขภาพ ปชช.ตัวชี้วัด
    นายกฯ กล่าวว่า โรคโควิด-19 นั้น ทุกคนคงทราบดี ไม่ใช่ว่าการระบาดของประเทศไทยลดลง การติดเชื้อลดลง แล้วจะหมายความว่าปลอดภัย มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะความจริงเชื้อโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ เชื้อโรคจึงสามารถเข้า-ออกเมื่อไหร่ก็ได้ สิ่งสำคัญจึงต้องทำให้บ้านเมืองของเรานั้นปลอดภัย ทำอย่างไรจึงไม่ให้มีการเจ็บป่วยโดยเป็นการรับเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกติกาและมาตรการของรัฐ ทั้งเรื่อง Social Distancing หรือการสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือไปชุมนุมกันในพื้นที่นอกการควบคุม เช่น บางคนหนีไปทำความผิดในป่าในเขา เรื่องนี้ยอมรับว่ายังเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่ รัฐบาลคำนึงถึงสองอย่างเสมอ คือเรื่องของสุขภาพคนเป็นหลัก รองลงมาคือเรื่องของเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องหามาตรการมารองรับตรงนี้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลต้องใช้เงินอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหน้า
    นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่วันนี้บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และแพทยสมาคม มีส่วนช่วยสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือพลังประชารัฐร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 ได้มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เพื่อให้เกิดความสบายใจและเกิดความอุ่นใจ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จพิธีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รวมถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า คาดว่าเป็นการหารือเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่จะนำเข้าสู่ ครม.ในวันอังคารที่ 28 เม.ย.นี้ โดยใช้เวลาหารือเกือบ 1 ชั่วโมง 
    นายอนุทินเปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งรายละเอียดข้อมูลการวิเคราะห์ที่มีภาพรวมด้านสาธารณสุข มาจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คณะบดีแพทยศาสตร์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาให้กับนายกฯ ได้รับทราบตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อให้นำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจร่วมกับงานด้านอื่นๆ ว่าจะต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  ส่วนแนวโน้มยังต้องคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่นั้น ทุกอย่างจะต้องค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไป และนายกฯ ต้องพิจารณาร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านความมั่นคง เพราะข้อมูลที่ส่งไปเป็นเฉพาะด้านสาธารณสุขที่จะต้องมีการเตรียมการอย่างไร โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนผ่าน ที่ต่อไปไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิดได้ เนื่องจากเวลานี้ยังไม่มีวัคซีน 
    “ดังนั้นสิ่งที่สาธารณสุขเสนอไป ยังคงต้องเข้มมาตรการเดิม คือเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย สนับสนุนทำงานที่บ้าน ลดการเดินทางต่างๆ ที่จะต้องมีมาตรการตรวจเข้ม ทั้งนี้เชื่อว่าสถานการณ์ ณ วันนี้คลี่คลายไปในทางที่ดี สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ต้องผ่านไปด้วยความมั่นใจ จะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ระบาดหนักอีกไม่ได้ การควบคุมการแพร่ระบาดมาถึงจุดนี้ได้ นอกจากแพทย์ พยาบาลแล้ว ต้องขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือ แต่ต้องไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ซึ่งวันนี้การจราจรบนท้องถนนรถเริ่มต้น เนื่องจากคนเริ่มมาทำงาน ตรงนี้อยากให้ทุกคนร่วมมือ ค่อยเปลี่ยนผ่าน สร้าง New Normal ใช้ชีวิตปกติแบบใหม่”นายอนุทินกล่าว 
    ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย ในจำนวนนี้มาจากการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ จ.ยะลา 4 ราย หลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะทำแบบนี้ในอีกหลายจังหวัดเพื่อหาเคสให้ได้มากขึ้น ส่วนผู้ป่วยสะสม 2,854 ราย หายป่วยและกลับบ้านเพิ่มเติม 60 ราย หายป่วยสะสม 2,490 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 314 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ทำให้ยอดสะสมผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 50 ราย มีจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยเข้ามาเลย 9 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา 10 จังหวัด มีรายงานผู้ป่วย 14-28 วันที่ผ่านมา 35 จังหวัด มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7-14 วันที่ผ่านมา 9 จังหวัด มีรายงานช่วง 7 วันที่ผ่านมา 14 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่มีกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 6 อันดับแรก ได้แก่ กทม. ยะลา นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี สมุทรปราการ ซึ่งประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเหล่านี้หากมีอาการสามารถเข้าไปขอตรวจได้เลย
ไม่ปล่อยระบาดระลอกสอง
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หากดูกราฟผู้ติดเชื้อของประเทศไทยจะเห็นว่าเป็นระลอกคลื่น มีช่วงติดเชื้อมาก 2-3 ครั้งแล้ว จะให้เกิดการระบาดลูกใหม่ตามมาไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะเสียชีวิตและงบประมาณ ตัวเลขเบื้องต้นที่เคยคำนวณป่วย 1 ราย ต้องใช้จ่าย 1 ล้านบาท ขณะนี้เรามีผู้ป่วยไปแล้วกว่า 2,000 ราย ใช้งบไปแล้วเกือบ 3 พันล้านบาท ถ้าตัวเลขผู้ป่วยเป็นหมื่นเป็นแสนเราต้องใช้เงินเท่าไร ต้องชั่งกันสองด้าน เงินเสียบ้างแต่ดีกว่าเสียชีวิต เราไม่มีสิทธิ์ให้ใครอยู่หรือไปเหมือนในต่างประเทศ หลายคนบอกว่าเบาใจได้ ออกมาขายของกัน แต่อยากให้ดูเพื่อนบ้านเรา เผลอนิดเดียวจากหลักพันเป็นหลักหมื่นราย เราจึงต้องระวังและตัดสินใจร่วมกันให้ประเทศเราอยู่รอดปลอดภัย ขณะนี้เรามีศักยภาพตรวจเชื้อในประเทศได้วันละประมาณ 2 หมื่นตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม. 10,000 ราย และต่างจังหวัด 10,000 ราย เราจะเพิ่มจำนวนห้องตรวจจากตอนนี้ 123 แห่งทั่วประเทศ ให้ได้ 176 แห่ง ซึ่งต่อไปจะทำให้ได้ในทุกจังหวัดในระยะเวลาอันสั้น          
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วย 2,715,614 ราย เสียชีวิต 190,422 ราย หรือ 7% จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากย้ำว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคตามฤดูกาล และลดความสำคัญไม่ได้ เพราะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง หลายประเทศยังตึงและขยายมาตรการเอาไว้ แนวโน้มเป็นแบบนี้ทั้งสิ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคาดการณ์คงจะไม่แตกต่างกัน ดังนั้นเราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ใช้มาตรการเข้มข้นแบบนี้ ต้องพยายามไม่ให้การ์ดตก ต้องใช้ต่อ 
    เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าแต่ละจังหวัดเริ่มให้สถานประกอบการบางประเภทกลับมาเปิดได้ ตรงนี้แต่ละจังหวัดประเทศประกาศเอง หรือต้องประสานกับ ศบค.ก่อน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการผ่อนปรน ผอ.ศบค.จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นลักษณะของการออกกฎใหญ่ของประเทศ ส่วนการผ่อนคลายเป็นเรื่องของจังหวัดที่จะตามมา ต้องมาดูว่าเป็นกิจการและกิจกรรมอะไร ที่จะค่อยๆ ออกมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกคิดและปรึกษากันอย่างรอบด้านออกมา คนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย และมาตรการทั้งหลายจะต้องไม่กระทบต่อการแพร่ระบาด เพราะเราจะปล่อยให้มีการระบาดระลอกที่สองไม่ได้อีกแล้ว
    ที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเตรียมความพร้อมใช้วิธีการตรวจน้ำลายเพื่อหาเชื้อโควิด-19  ซึ่งวิธีนี้มีความรวดเร็ว และผลตรวจน่าเชื่อถือ โดย นพ.สุวรรณชัยเปิดเผยว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (การตรวจสารคัดหลั่ง) ปกติจะมีการแยกตรวจ ทั้งหมด 4 ประเภท ประกอบด้วย การตรวจประชาชนในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค PUI, ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง-ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ, การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เช่น ที่ จ.ภูเก็ต และการค้นหาผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในชุมชน ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคได้มีการลงพื้นที่สุ่มตรวจแล้วที่เขตบางเขนและคลองเตย  
    สำหรับการเก็บตัวอย่างด้วยน้ำลายนั้น มีข้อดีคือสามารถเก็บตัวอย่างได้มากกว่าการตรวจโดยใช้สารคัดหลั่ง ไม่ต้องใช้และลดการใช้ชุดป้องกัน PPE ที่ขณะนี้มีอยู่อย่างจำกัด ยังมีราคาถูกและรวดเร็ว เบื้องต้นอาจจะมีการนำไปใช้ในการตรวจคนที่เดินทางเข้าประเทศ, การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และผู้ที่ไม่มีอาการในชุมชน เช่น พื้นที่แออัด ที่มีคนงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก, พื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่ใช่การนำไปใช้ทั่วไป เป็นการประยุกต์เพื่อลดการใช้วัสดุอุปกรณ์ป้องกัน และทำให้กลุ่มคนบางคนที่มีความจำเป็นต้องตรวจในห้องปฏิบัติการ สามารถได้รับการตรวจได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
แนะเยียวยาไทยมุสลิมถือศืลอด
    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โควิด-19 ช่วยลดโรคติดเชื้อ คนเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลและอุบัติเหตุในประเทศไทย คนไข้ในโรงพยาบาลต่างๆ ลดลงมากกว่า 30% คนไข้เจ็บป่วยเล็กน้อยที่สมัยก่อนจะวิ่งเข้าหาโรงพยาบาล เพราะรักษาฟรี ก็ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษา การนอนโรงพยาบาล ในช่วงนี้จะลดน้อยลงอย่างมาก นับเป็น 10-10% แน่ๆ แต่มาตรการดังกล่าวทำให้รายได้ต่างๆ ของคนทั่วไปลดลง คนไม่มีจะกิน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหางบประมาณจากส่วนต่างๆ ของกรม กระทรวง พร้อมทั้งกู้เงินมากกว่า 1 ล้านล้าน และจะต้องใช้เงินถึง 2 ล้านล้าน มาดูแลรักษาโรค และช่วยเหลือผู้ว่างงาน การดึงเงินงบประมาณจากส่วนต่างๆ จึงสมเหตุสมผล แต่ก็มีผู้เสียผลประโยชน์จากการกระทำเช่นเดียวกัน งบประมาณ รายจ่ายรายหัวของปีนี้จะถูกตัดไป 1% ก็ควรจะทำได้ เพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีจะกิน
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ในระหว่าง 24-25 เม.ย.63 พระสงฆ์จำนวน 226 รูป รวมทั้งแม่ชี ผู้แสวงบุญ และผู้ตกค้างในอินเดีย จำนวน 116 คน ที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย จะเดินทางกลับไทย โดยสายการบิน Air Asia (เช่าเหมาลำ) จำนวน 2 เที่ยวบิน ในเส้นทางคยา-กรุงเทพฯ ( ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง) ทั้งหมดเดินทางถึงประเทศไทย เที่ยวบินแรกใน 24 เม.ย.63 เวลา 15.10 น. และเที่ยวบินถัดไปใน 25 เม.ย.63 เวลา 15.10 น. โดยพระสงฆ์ทุกรูป รวมทั้งผู้แสวงบุญทั้งหมดจะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองโรค ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และเข้าสู่มาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐในสถานที่ที่กำหนด โดยดำเนินการแยกพระสงฆ์ทุกรูป เข้าพักในพื้นที่ H2do Residence จ.สมุทรปราการ อยู่ในการกำกับของพระสังฆาธิการในพื้นที่ สำหรับผู้แสวงบุญทั้งหมด แยกเข้าพักที่ รร.รัตนโกสินทร์ กทม. ภายใต้การดูแลของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออีกว่า ไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะขยายเวลาต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะดีขึ้นก็ตาม แต่ก็อยากจะให้ตัวเลขการติดเชื้อคงที่อยู่ที่จำนวนเลขตัวเดียว หรือต่ำ 10 ต่อไปได้อีกสักระยะหนึ่ง จนแน่ใจว่าจะไม่ขยายตัวอีกต่อไป จึงค่อยมาพิจารณายกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะไม่อยากเห็นการหวนกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกในรอบที่ 2  ซึ่งจะได้ไม่คุ้มเสีย
    "สิ่งที่สำคัญคือปัญหาปากท้องของพี่น้อง มาตรการการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เป็นวันแรกของเดือนอันประเสริฐของพี่น้องคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามที่ต้องถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องถือศีลอดในเวลากลางวัน และกินอาหารได้ในเวลาหลังตะวันตกดินแล้ว ถ้าหากคนกลุ่มนี้ยังไม่รับการเยียวยาจากรัฐบาลเลย นอกจากจะอดอาหารในกลางวันแล้ว ก็อาจจะต้องอดอาหารในเวลากลางคืนด้วย จึงอยากจะให้รัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาดูแลอย่างเร่งด่วน" นายเทพไทกล่าว
      นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระหว่างสถานการณ์การติดเชื้อโควิดกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ลามถึงปากท้องความอยู่รอดของประชาชน อย่างไหนหนักกว่ากัน ในขณะเฝ้าติดตามยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะกลายเป็นศูนย์เมื่อไหร่สถิติการฆ่าตัวตายรายวันจากการล็อกดาวน์อาจพุ่งแซงผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ได้ ไม่ใช่ทุกอาชีพสามารถเวิร์กฟรอมโฮม ทำงานจากที่บ้านได้ทั้งหมด แม้แต่เคอร์ฟิวก็เกิดปัญหาในการบังคับใช้ มาตรฐานในการตั้งด่านเคอร์ฟิวแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน มีหลายกรณีสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องผ่านด่านเป็นอย่างมาก บางด่านมีการใช้อำนาจเกินความจำเป็น ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจอยู่อีกเป็นปี โควิด-19 ทำลายปอด แต่ล็อกดาวน์ ทำลายเงินในกระเป๋าสตางค์ทุกวัน ความทุกข์ของประชาชนรอไม่ได้ รัฐบาลต้องคลายล็อกอย่างปลอดภัย ประชาชนจะได้กลับไปทำมาหากิน อย่างมีศักดิ์ศรี ปลอดโรค ปลอดภัย
         นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานศูนย์โควิด พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การตรวจหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงยังน้อยมาก หากเทียบกับหลายๆประเทศรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสมีการตรวจหาเชื้อจากประชาชนเพียง 70,000-80,000 คนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ควรมีการตรวจมากกว่านี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่ละเลยการป้องกันชีวิตของประชาชน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนบางส่วนที่ต้องอยู่ศูนย์กักกันเชื้อตามสถานที่ต่างๆ ในหลายจังหวัดยังคงน่ากังวล มีหลายคนที่จากไม่ติดเชื้อกลับกลายเป็นว่ามาติดเชื้อภายในศูนย์กักกัน ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการที่ดีกว่านี้ ในการกักกันเพื่อดูอาการ ที่ผ่านมารัฐไม่จริงใจในการปกป้องประชาชน มาตรการรัฐบาลที่ออกมาจึงสอบตกทุกเรื่อง. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"