'คนไร้บ้าน' ท่ามกลางโควิด-พรก.ฉุกเฉิน มาตรการดูแลช่วยเหลือ 'ภาครัฐ-เอกชน'


เพิ่มเพื่อน    

    ช่วงระยะเวลาการระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนจำเป็นต้อง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ  ตามสโลแกนของภาครัฐและเอกชน และตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งการเน้นให้ประชาชนอยู่บ้านเป็นหลักปฏิบัติสำคัญในการหลีกเลี่ยงโรคระบาดร้ายแรงอย่างไวรัสชนิดนี้ ไม่ให้ผู้คนออกมาสัญจรรวมตัวกันมากๆ เพราะไม่รู้ว่าผู้ใดมีเชื้อไวรัสหรือไม่ ขณะที่การทำงานใดสามารถทำที่บ้านได้ก็ให้ทำงานที่บ้านหรือ Work from Home อย่างไรก็ตาม มีประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมิใช่แค่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้เท่านั้น แม้แต่อยู่บ้านก็ไม่ได้ เพราะพวกเขาหรือเธอไม่มีบ้านอยู่

                คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน เป็นกลุ่มคำที่มีความหมายคล้ายกันที่เราใช้เรียกพวกเขา ถือเป็นส่วนสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ให้พวกเขาหรือเธอมีชีวิตที่ดีขึ้นเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ การดูแลช่วยเหลือยิ่งสำคัญต่อชีวิตเป็นอย่างมาก ในการทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยจากไวรัสในวันที่ไม่มีบ้านอยู่ และได้รับความคุ้มครองไม่ถูกจับกุมด้วยเหตุประกาศเคอร์ฟิวเพราะไม่มีบ้านให้กลับ เราจึงพูดคุยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเรื่องนี้กับ ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาประจำสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี

                ธนพร เปิดเผยว่า เบื้องต้นสำนักงานบริหารนโยบายของนายกฯ ได้ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เรียนเชิญภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอที่ทำงานกับพี่น้องคนเร่ร่อน คนไร้บ้านอยู่แล้ว ซึ่งประกอบด้วยมูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิอิสรชน, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มาร่วมกันหารือกับภาควิชาการ คือ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จะร่วมกันเข้าไปให้ความช่วยเหลือดูแลพี่น้องกลุ่มนี้ วิธีการหลักคือการตรึงพื้นที่ จะไม่มีการกวาดจับพี่น้องเหล่านี้ให้ไปรวมอยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพราะวิถีชีวิตของพี่น้องกลุ่มนี้ปกติจะอยู่ห่างๆ กันอยู่แล้ว แต่ละท่านจะมีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัว เช่น วัณโรค ถ้าเราไปกวาดจับมาอยู่รวมกันในสถานสงเคราะห์ จะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้พี่น้องเหล่านั้นเอง และเพิ่มความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งถ้าเราเจอใครป่วยจริงจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล

                “เมื่อได้ยุทธศาสตร์ร่วมกันแล้ว เราใช้วิธีเข้าไปแจกสิ่งของ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเอง สิ่งของนอกจากของกินของใช้ ก็ยังมีสเปรย์แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย เราก็จะลงไป แต่ละเอ็นจีโอก็จะมีพื้นที่ในการทำงานซึ่งไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่ละเอ็นจีโอจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการลงพื้นที่ไป ถ้าในต่างจังหวัดเอ็นจีโอจะร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัด”

            ธนพร เล่าถึงการปฏิบัติหน้าที่ช่วงเคอร์ฟิวว่า ในการลงพื้นที่ไปพบพี่น้องเหล่านี้ ปกติกลางวันจะหาตัวยาก เขาไปทำงานรับจ้าง เก็บขยะ อะไรก็แล้วแต่ ต้องเจอตัวเขาเวลากลางคืน ก็จะติดเรื่องเคอร์ฟิวอีก เราจึงได้เข้าไปพบกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ด้านความมั่นคง เพื่อไปชี้แจงให้ฟังว่าลักษณะของพี่น้องกลุ่มนี้เรามียุทธศาสตร์ต้องตรึงพื้นที่ไว้ จะมีเอ็นจีโอและเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันลงพื้นที่ไปดูแล แจกจ่ายสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวหลังเวลา 22.00 น.ซึ่งติดเคอร์ฟิว ก็ไปชี้แจงเขา ปรากฏว่าสำเร็จ ฝ่ายความมั่นคงออกเป็นข้อกำหนดยกเว้นสำหรับผู้ให้บริการคนไร้ที่พึ่ง สามารถทำงานได้โดยไม่ติดเคอร์ฟิว ในแง่กฎกติกาตรงนี้ภาครัฐเอื้ออำนวยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ  หน่วยงานของรัฐ ใครก็แล้วแต่ได้เข้าไปดูแลพี่น้องเหล่านี้ด้วย

            สำหรับความคืบหน้าขั้นตอนการสำรวจจำนวนของคนไร้บ้าน ธนพร เผยว่า ท่านนายกฯ ได้สั่งให้มีการสำรวจคนที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือของรัฐ เช่นคนที่ไม่สามารถไปลงทะเบียนรับเงิน 5 พันบาทได้  กลุ่มคนเร่ร่อน คนไร้บ้านก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับเอ็นจีโอลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลแล้ว จะปูพรมในเขตเมืองทั่วประเทศ เราจะทราบข้อมูลของพี่น้องกลุ่มเหล่านี้ที่ชัดเจนแน่นอน ระบุตัวตนได้ ประมาณไม่เกินวันที่ 15 พ.ค.นี้ เมื่อเราได้ตัวเลขมาก็จะมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือดูแลพี่น้องเหล่านี้

                “ที่สำคัญที่สุดคือ พี่น้องกลุ่มนี้เราจะไม่ใช้วิธีในการกวาดต้อนเขาเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์  เพราะมันไม่ใช่วิถีชีวิตเขา แล้วมันก็เพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเขาเองด้วย” ที่ปรึกษาประจำสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีกล่าว

            เมื่อเราถามถึงกรณีที่ปรากฏข่าวคนไร้บ้านถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ได้มีการเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ธนพร กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานมีตำรวจพาไปที่โรงพัก มีจังหวัดเชียงใหม่ที่เดียว ซึ่งส่วนนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะเข้าไปทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นไปได้ว่าฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่อาจจะไม่ได้รับรู้ หรือไม่ได้ไปดูข้อกำหนดที่ ศบค.ฝ่ายความมั่นคงยกเว้นให้  ซึ่งเกิดขึ้นกรณีเดียวที่เชียงใหม่ จังหวัดอื่นยังไม่มี (ข้อมูล ณ วันที่ 25 เม.ย.63)

            ถามถึงข้อกำหนดตรงนี้ยกเว้นรวมถึงตัวคนไร้บ้านหรือไม่ "ธนพร" กล่าวว่า ตัวคนไร้ที่พึ่งไม่ได้อยู่ในข้อกำหนด แต่ในข้อกำหนดยกเว้นให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปทำงานกับคนไร้ที่พึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่ออนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานกับคนไร้ที่พึ่งได้ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว ความหมายคืออนุญาตให้พี่น้องที่เป็นคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ให้เขาได้ใช้วิถีชีวิตไปตามปกติของเขา คือความหมายเดียวกัน.

นายชาติสังคม

รายงาน

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"