ปลดล็อกธุรกิจสีขาว ประเมินทุก14วันคงพรก.ฉุกเฉินอีก1เดือนติดเชืิ้อใหม่9ราย


เพิ่มเพื่อน    

 

“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุม ศบค. เคาะแล้วคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน คง 4 มาตรการหลัก ทั้งคุมเข้า-ออกประเทศ-เคอร์ฟิว-งดข้ามเขตจังหวัด-รวมตัวทำกิจกรรม แต่ปลดล็อก “ธุรกิจสีขาว” ให้หายใจได้ โดยต้องประเมินทุก 14 วัน กทพ.รับลูกทันควัน ออกประกาศปิดน่านฟ้าถึงสิ้น พ.ค. “หมอทวีศิลป์” แจ้งข่าวดี ผู้ติดเชื้อเหลือหลักเดียว แค่ 9 คน แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะ สธ.ประเมินภาพไว้ เลวร้ายสุดๆ ไทยมีผู้ติดเชื้อเกือบครึ่งแสน ส่วนข้อเสนองดวันนักขัตฤกษ์ยังไม่เคาะ รอประชุม ครม. 28 เม.ย.ชี้ขาด    
    เมื่อวันจันทร์ที่ 27 เม.ย. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนเริ่มประชุมว่า ถือเป็นการหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งไทยทำได้ดีมากในระดับหนึ่ง ได้รับการยอมรับทั้งจากในและต่างประเทศ แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง และที่ต้องมีการพิจารณาวันนี้คือเรื่องการต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการปรับข้อกำหนดให้มีการผ่อนผันโดยมีมาตรการคู่ขนานด้านการสาธารณสุข ต้องดูแลก่อนช่วงปลดล็อก 
    “การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมา 1 เดือนเต็มนั้น ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ วันนี้จะพิจารณาข้อเสนอที่ส่งมายังภาครัฐ เป็นความร่วมมือของประชาชนจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากที่มีการแพร่ระบาดนี้ สิ่งที่ผมจะขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคือแนวทางการผ่อนปรน ภายหลังจากที่มีการขยายเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยแผนต่างๆ จะยึดตามหลักการสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกเป็นหลักดำเนินการ แต่สิ่งที่ผมเป็นกังวลก็คือเรื่องการเยียวยาที่หลายฝ่ายไม่ทั่วถึงเพียงพอ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวก่อนประชุม ศบค.ว่า กระทรวงจะเสนอข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาในวันที่ 6 พ.ค. นี้ โดยจะให้งดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากไปรวมตัวกัน แต่จะพิจารณาและประเมินดูตามกลุ่มจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการผ่อนคลายมาตรการลง อาจอนุญาตให้จัดกิจกรรมเรื่องเวียนเทียน แต่ต้องมีระยะห่าง
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวก่อนประชุม ศบค.ว่า วาระการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 เม.ย.นี้ต่อไปหรือไม่นั้น ให้รอฟังจาก ศบค. ซึ่งในส่วนของ สธ.นั้น พยายามทำให้ดีขึ้นทุกวัน โดยมีการเข้มมาตรการทุกเรื่อง ป้องกัน รักษา คัดกรอง คัดแยก ซึ่งก็ทำมาด้วยดี โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง วันนี้ตัวเลขตัวเดียว แต่ขณะนี้ยังต้องการให้คงมาตรการทำงานที่บ้านต่อไป
    “ตราบใดที่โรคยังมีการระบาดและยังไม่มีวัคซีนรักษา การที่จะให้คนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากหรือเป็นสังคม ก็จะทำให้โรคกลับมาระบาดได้อีก จึงต้องคงเรื่องเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย การทำงานที่บ้าน และการจำกัดการเดินทางต่อไป” นายอนุทินกล่าวตอบถึงข้อเสนอผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องการขอให้ผ่อนปรนมาตรการให้สามารถจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และขนส่งถึงบ้าน
    ทั้งนี้ ตัวแทนสมาพันธ์ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราแห่งประเทศไทย นำโดยนายอชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ และคณะ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ขอให้พิจารณาผ่อนปรนและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามจำหน่ายสุรา จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเรียกร้อง 5 ข้อ ที่สำคัญคือการให้จำหน่ายสุราและแอลกอฮอล์เพื่อซื้อกลับบ้านหรือส่งถึงบ้านได้ รวมทั้งเรียกร้องเงินชดเชยจากการต้องทำลายสุราและแอลกอฮอล์ด้วย
    ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ในประเทศไทย ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ต่ำสิบวันแรก โดยมี 9 ราย ในจำนวนนี้กลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐใน กทม. 2 ราย, ภูเก็ต 1 ราย, สุพรรณบุรี 1 ราย และจากมาตรการค้นหาเชิงรุกที่ จ.ยะลา 5 ราย รักษาหายเพิ่มเติม 15 ราย หายป่วยสะสม 2,609 ราย หรือ 89.01% อยู่ระหว่างรักษาตัว 270 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 52 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 52 เป็นหญิงไทย อายุ 64 ปี เป็นแม่บ้าน มีโรคประจำตัวโลหิตจาง
สธ.ประเมินภาพ
     นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงตัวเลขคนไทยที่กลับจากต่างประเทศว่า ในวันที่ 27 เม.ย.จะมีคนไทยกลับจากญี่ปุ่น 35 คน, เนเธอร์แลนด์ 25 คน, นิวซีแลนด์ 168 คน และวันที่ 28 เม.ย. สเปน 12 คน และอินเดีย 20 คน เป็นนักเรียนนักศึกษา ส่วนกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รายงานตัวเลขการผ่านแดนรอบประเทศ โดยมีผู้ที่ผ่านแดนซึ่งลงทะเบียนไว้ 3,131 ราย ไม่ลงทะเบียน 1,043 ราย รวม 4,174 ราย ส่วนผู้ที่อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ สะสม 3,379 ราย กลับบ้านแล้ว 1,229 ราย อยู่ระหว่างกักตัว 2,150 ราย ขณะที่การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 26 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 27 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนชุมนุมมั่วสุม 59 ราย ลดลงจากคืนก่อน 28 ราย ออกนอกเคหสถาน 449 ราย ลดลงจากคืนก่อน 119 ราย
    นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงการประชุม ศบค.ว่า นายกฯ ได้เกริ่นนำต่อที่ประชุมขอบคุณการทำงานที่ผ่านมาในรอบ 1 เดือนหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมกับชื่นชมทุกคนว่าทำงานได้ดีมากๆ ทำให้ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อยากให้ทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ รัฐ เอกชน ร่วมมือกันทำงานในการต่อสู้กับโควิด-19 ให้ยึดหลักทางด้านสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก นายกฯ ยังตั้งข้อกังวลและแสดงความห่วงใยในเรื่องเศรษฐกิจ รายได้ประชาชนที่ลดลง ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยมอบนโยบายว่าต้องกำหนดระยะในการผ่อนปรน 4 ระยะ ได้แก่ 25%, 50%, 75% และ 100% ซึ่งขอให้ดูเป็นระยะๆ ไป และแต่ละระยะต้องใช้เวลาทบทวน 14 วันเป็นอย่างน้อย และให้มีการประเมินมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรค ถ้าเปิดได้ แง้มได้ ก็ต้องปิดได้ ถ้าผ่อนปรนแล้วได้ผลก็ยืดออกไป สิ่งสำคัญในที่ประชุมไม่อยากให้เกิดการระบาดในระลอกที่สองจนทำให้เกิดความสูญเสียมาก ที่ลงทุนมาจะล้มเหลวทั้งหมด ซึ่งการตัดสินใจขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในการประชุมมีอยู่ 3 ประเด็น โดยปลัด สธ.ได้รายงานให้เห็นถึงกรณีที่อาจเกิดขึ้น 3 กรณี 1.ถ้าควบคุมได้ดีอย่างที่เราทำอยู่นี้จะมีผู้ติดเชื้อ 15-30 รายวันต่อวัน ถ้านับไปอีก 3 เดือนข้างหน้า พ.ค.-ก.ค. มีการพยากรณ์ไว้ว่าจะมีผู้ป่วย 1,889 ราย ซึ่งเข้มมากๆ อย่างที่หลายคนบ่นว่าประกอบธุรกิจไม่ได้ ซึ่งถ้าเข้มเกินไปก็จะกระทบด้านอื่นๆ ตึงไปอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี 2.ควบคุมได้ในความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ซึ่งระบบสาธารณสุขรองรับได้ แต่ต้องชะลอการเข้าประเทศไทย ต้องมีการกักตัว และเปิดให้ภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำดำเนินกิจการได้ จะมีผู้ติดเชื้อ 40-70 รายต่อวัน ตรงนี้พอจะคุมได้ แต่ยังมีความเสี่ยง มีการพยากรณ์ว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.จะมีผู้ป่วย 4,661 ราย ซึ่งพอไหว และ 3.ควบคุมได้ยาก คือการเปิดหลายๆ อย่าง มีการชุมนุม เคลื่อนย้าย ผู้ติดเชื้อจะพุ่งพรวด 500-2,000 รายต่อวัน ถ้านับไปอีก 3 เดือนข้างหน้า พ.ค.-ก.ค. มีการพยากรณ์ไว้ว่าจะมีผู้ป่วยถึง 46,596 ราย เราคงดูแลไม่ไหว ไม่อยากให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมีการตรวจเชื้อไปแล้ว 178,083 ตัวอย่าง เราพยายามตรวจให้ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาตรการเชิงรุก ปูพรมมากขึ้น เจาะเฉพาะกลุ่มแรงต่างด้าว และคนที่อยู่ในสถานที่แออัด   
ต่อ พ.ร.ก.อีก 1 เดือน          
    นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวว่า เลขาธิการ สมช.ได้เสนอที่ประชุมถึงผลสัมฤทธิ์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยรายงานว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้การทำงานตามข้อสั่งการนายกฯ เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เอกภาพ และทันท่วงที ทำให้ผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่อเนื่อง รวมถึงมีการสำรวจความเห็นประชาชน 4 หมื่นคน พบว่า 70% เห็นด้วยให้ขยายเวลา ที่ประชุมจึงเห็นควรขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 พ.ค. โดยมี 4 มาตรการที่ต้องคงไว้คือ 1.ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร 2.การห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ 22.00-04.00 น. 3.งดและชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด และ 4.งดการดำเนินกิจกรรมในคนหมู่มาก ทั้งในที่โล่งและที่จัดพิเศษ ถ้ามีการชุมนุมของคนมากๆ ต้องงดชั่วคราว ส่วนแนวทางที่จะต้องทำต่อคือ ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ แต่ต้องมีหลักโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก พร้อมนำปัจจัยอื่นมาประกอบการพิจารณา ได้แก่ 50% ทำงานอยู่ที่บ้าน พิจารณาประเภทกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในลำดับแรก ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม วัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ มีเจลล้างมือให้บริการ จำกัดจำนวนคนในกิจกรรมและในสถานที่ และนายกฯ ให้แนวทางในการใช้แอปพลิเคชันนำมาใช้ประโยชน์ในการติดตามผลได้ ให้ดูเรื่องของสิทธิมนุษยชนกับความปลอดภัยของสาธารณชน ให้จัดสมดุลสองเรื่องนี้ให้ดี ถ้ามาตรการผ่อนปรนแล้วไม่ดีขึ้นจะให้ระงับมาตรการผ่อนคลายทันที
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนใน ศบค.  ได้เสนอแนวทางการผ่อนคลายภายหลังขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน โดยแบ่งธุรกิจเป็น 4 สี ได้แก่ สีขาว เป็นธุรกิจที่จำเป็นในชีวิตประจำวันสามารถเปิดให้ดำเนินการได้ เป็นสถานประกอบการขนาดเล็กในที่โล่งแจ้ง หรือร้านขนาดเล็กควบคุมได้ สวนสาธารณะ, สีเขียว สถานที่ประกอบการขนาดเล็กอาจติดแอร์หรือไม่ติดแอร์ แต่เป็นพื้นที่ที่ไม่มาก สถานออกกำลังกายกลางแจ้ง, สีเหลือง เป็นสถานที่ปิดมีคนมาจำนวนมาก ติดแอร์ และสีแดง ที่มีความเสี่ยงสูง คนแออัด ยังไม่ให้เปิด เช่น สนามมวย สถานบันเทิง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด เป็นเพียงแบ่งเป็นขั้นๆ ไว้ หลักการนี้นายกฯ ให้ความเห็นชอบ แต่ต้องลงรายละเอียด และนายกฯ ระบุว่าถ้าเลือกกิจการใดมาแล้วอยากให้เปิดได้หมดทั้งประเทศ พร้อมกันทุกจังหวัด ไม่ใช่บางพื้นที่ เพื่อประเมินดู โดยมอบให้คณะที่ปรึกษาฯ ไปพูดคุยลงในรายละเอียด ก่อนนำเสนอ ครม.ในวันที่ 28 เม.ย.
    “มาตรการเหล่านี้ไม่ได้เร่งรีบ ให้มั่นใจแล้วค่อยเปิด และเมื่อเปิดแล้วต้องประเมิน ถ้าดีก็ผ่อนปรนต่อ ถ้าไม่ดีก็ปิด อันนี้เป็นหลักการ และขอย้ำว่าขณะนี้เรารอมียารักษาและวัคซีน ถ้าสองอย่างนี้เกิดขึ้นได้ก็จะกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ตอนนี้เรายังอยู่ในภาวการณ์ที่ต้องเผชิญกับไวรัส เราต้องปรับตัว”
     นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลมีมติเลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ในเดือน พ.ค.ออกไปว่า ในที่ประชุม ศบค.มีการพูดคุยเรื่องนี้ โดย รมว.วัฒนธรรมเป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมให้ใช้หลักการสาธารณสุข เพราะถ้ามีวันหยุดหลายวันจะเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ส่วนมติเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ ครม.ที่จะการพิจารณาในวันที่ 28 เม.ย.
ขายเหล้าเรื่องหยุมหยิม
     เมื่อถามว่า มีการแชร์ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ร้านค้าขนาดเล็ก และร้านอาหารไม่ติดแอร์ในวันที่ 4 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการลงรายละเอียด ยังเป็นแค่การเสนอโดยเลขาฯ สภาพัฒน์ ซึ่งไม่ได้เจาะจงรายละเอียด นายกฯ ให้ไปคิดกันให้ดีๆ ใช้ข้อมูลสถิติและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะเกิดวันนี้ พรุ่งนี้ หรือวันที่ 4 พ.ค.ในที่ประชุม นายกฯ ให้เวลาทีมงานไปกำหนดให้ชัดเจน ต้องพร้อมจริงๆ ถ้าเปิดต้องพร้อมกันทั้งประเทศ ทั้งนี้ การตัดสินใจรัฐไม่ได้ตัดสินใจลำพัง แต่มีหลายภาคส่วน ทั้งด้านสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ทีดีอาร์ไอ ภาคเอกชน สมาคมธุรกิจและธนาคารต่างๆ และหน่วยงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก คิดกันหลายมิติกว่าจะออกมาเป็นข้อเสนอชุดนี้ หากมีข้อเสนอภาครัฐรับฟังอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอของผู้ประกอบและผู้จำหน่ายสุราที่เสนอขอให้รัฐผ่อนปรนสามารถขายแบบเดลิเวอรี หรือซื้อกลับบ้านในเวลา 14.00-17.00 น.นั้น ที่ประชุมไม่ได้พูดคุยกัน เพราะเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ให้คณะที่ปรึกษาฯ ไปหารือกัน หรือเอกชนเสนอมา
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชน ให้เห็นการทำงาน เห็นตัวเลขที่ลดน้อยลง มอบหมายให้ตนกระชับเวลาลง โดยจะปรับรูปแบบให้มีการนำเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชน สังคมและเศรษฐกิจนำชุดข้อมูลมานำเสนอ เพื่อให้รับทราบถึงแนวทางแก้ปัญหา
    แหล่งข่าวจาก ศบค.แจ้งว่า กิจกรรมที่จะปลดล็อกในวันที่ 4 พ.ค.เป็นต้นไป อาทิ ร้านอาหารขนาดเล็กที่ไม่ติดแอร์ ตลาดสด ตลาดนัด ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม และห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะกำหนดรูปแบบว่าหากเปิดกิจการแล้วต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง ซึ่งมาตรการผ่อนปรนที่จะออกมาจะใช้ทั่วประเทศ จะแบ่งเป็นประเภทกิจการ เป็นการทยอยปลดล็อกไปทีละขั้น ซึ่งจะประเมินผลทุก 14 วัน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยที่จะดูแลทั่วประเทศ หากจังหวัดไหนผ่อนปรนแล้ว และประเมินผลไม่ผ่าน ก็กลับมาเข้มอีก
    แหล่งข่าวกล่าวว่า สธ.ยังเป็นห่วงตัวเลขผู้ติดเชื้อ จากมาตรการค้นหาเชิงรุกที่ยังมีพบในพื้นที่ต่างๆ เช่น ศูนย์กักกันแรงงานที่ จ.สงขลา จึงสนับสนุนให้ค้นหาเชิงรุกต่อ โดยเพิ่มกลุ่มของโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไป เมื่อมีการผ่อนปรนให้กลับไปทำงานก็อาจเสี่ยงจากการรวมกลุ่มกันเกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำเรื่องสาธารณสุขนำเศรษฐกิจ โดยให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดต่ำลงอย่างนี้ แต่ก็เข้าใจถึงปัญหาเรื่องเศรษฐกิจขณะนี้ จึงผ่อนปรนมาตรการลง 
ปิดน่านฟ้าถึงสิ้น พ.ค.
    ขณะเดียวกัน นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ได้ลงนามประกาศ กพท. เรื่องห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 4) เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รุนแรงมากยิ่งขึ้น และเพื่อสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้นให้ยุติลงโดยเร็ว จึงยังคงมาตรการต่อไป โดยห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 23.59 น.
    ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงหลักการในการพิจารณาผ่อนคลายในทิศทางของการระบาดวิทยา ว่าต้องพิจารณาให้สถานการณ์ของโรคอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่มีผู้ป่วยเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างน้อยต่อเนื่องกัน 14 วัน ซึ่งในบางพื้นที่นานกว่า 28 วัน ซึ่งยิ่งนานก็ยิ่งดี ถ้าดูจากประสบการณ์ของต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่แพร่ระบาดในช่วงแรกและควบคุมโรคได้ดี เมื่อมีการผ่อนปรนก็มีโอกาสที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าระบบสาธารณสุข การแพทย์มีความพร้อม และทุกคนช่วยกันก็จะทำให้การควบคุมให้จำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับที่ต่ำ ก็จะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยได้คาดหวังอยู่
    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมได้ถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ที่ระบาดในไทยจากผู้ติดเชื้อ 40 ราย พบแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม B ที่เกิดการกลายพันธุ์จากกลุ่ม A ที่พบมากในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วนอกจีน โดยไทยพบถึง 85% และกลุ่ม C ที่เกิดการกลายพันธุ์จากกลุ่ม B โดยเริ่มพบการระบาดในยุโรปและสิงคโปร์ ซึ่งในไทยพบ 15% ทั้งนี้ กลุ่ม A ซึ่งเป็นเชื้อที่คล้ายกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวและตัวนิ่มที่คาดว่าเป็นต้นกำเนิดของการระบาดในครั้งนี้ ยังไม่พบในไทย
    พญ.พรรณพิมล วิปุลากร กล่าวถึงกรณีการใช้หน้ากากพลาสติกใส (เฟซชิลด์) เพื่อป้องกันโควิด-19 ว่าขณะนี้ประชาชนเริ่มนิยมใส่หน้ากากเฟซชิลด์ แต่หลายคนที่ใส่แล้วไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเฟซชิลด์เป็นอุปกรณ์เสริม ไม่ใช่อุปกรณ์หลัก อุปกรณ์หลักของทุกคนเวลาออกจากบ้านคือหน้ากากอนามัยที่ต้องติดตัวไว้ทุกครั้ง 
    ขณะเดียวกัน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ในช่วงเช้า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนช์กับผู้บังคับหน่วยทั่วประเทศ ได้กล่าวถึงมาตรการในการพิทักษ์กำลังพลของกองทัพบกในสถานการณ์โควิด-19 ให้คงมาตรการอย่างเข้มงวดต่อไป และหากภาครัฐมีมาตรการผ่อนปรนในเรื่องต่างๆ ขึ้นในอนาคต กองทัพก็ต้องเตรียมพร้อมมาตรการรองรับให้สอดคล้องกับรัฐบาลเช่นกัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"