เลิกห้ามขายเหล้า! ‘บิ๊กตู่’คลอดกฎคลายล็อก6กิจกรรม/‘สธ.’หวั่นไทยซ้ำรอย‘สิงคโปร์’


เพิ่มเพื่อน    

 

“ประยุทธ์” คลอดคำสั่งและข้อกำหนดเพื่อกำหนดมาตรการคลายล็อกดาวน์ 6 กิจกรรมแล้ว สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดตีเส้นสถานที่ที่ต้องปิดตายทั้ง “โรงหนัง-ผับ-ห้าง-สถานอาบอบนวด-สระว่ายน้ำ” ส่วนกิจกรรมที่ผ่อนคลายก็ต้องมีมาตรการดูแลเข้ม ขี้เมาเฮ! 3 พ.ค.เลิกห้ามขาย แต่ต้องหิ้วกลับเท่านั้น “หมอทวีศิลป์”เผยข่าวดีผู้ป่วยรายใหม่ต่ำสุด 6 ราย ไม่มีเสียชีวิต แต่กังวลการจราจรหนาแน่นหลังคนสบายใจออกนอกบ้าน เตือนเชื้อยังไม่เป็นศูนย์ทุกคนเสี่ยงอยู่ สธ.ชี้ไทยมีแรงงานต่างด้าวมากกว่าสิงคโปร์ 10 เท่า หวั่นซ้ำรอยทำยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง
    เมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งและข้อกำหนดแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย 1.คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ที่ 2/2563 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 5) และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 6) ซึ่งคำสั่งและข้อกำหนดต่างๆ จะมีผลบังคับใช้ในวันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป
โดยเนื้อหาของคำสั่ง ศบค.เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่  5/2563 เรื่องการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่องแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และที่แก้ไขเพิ่มเติมนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามคำสั่งนี้โดยเคร่งครัด 
ทั้งนี้ มีบัญชีแนบท้ายคำสั่งดังกล่าวยังระบุถึงมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อรถเข็น แผงลอย หาบเร่ ไม่รวมถึงผับ บาร์ มีมาตรการคือต้องทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเสมอ  เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ ระหว่างที่นั่ง ระหว่างทางเดินอย่างน้อย 1 เมตร ควบคุมมิให้แออัด มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ เลี่ยงสัมผัสกัน หรือแอลกอฮอล์ มีมาตรการคัดกรอง ป่วย ไข้ ไอ จาม เป็นหวัด ส่วนร้านตัดผม ร้านเสริมสวย บุรุษสตรี มีมาตรการหลักคล้ายกัน เว้นระยะห่างระหว่างเก้าอี้ตัดผมอย่างน้อย 1.5 เมตร ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด ด้วยการลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลง ให้ช่างตัดผมและผู้ช่วยสวม Face Shield และเสื้อคลุมแขนยาวทุกครั้ง เปลี่ยนผ้าคลุมตัดผมทุกครั้งที่ให้บริการ จัดให้มีการระบายอากาศ เพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว
ขณะที่กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือดูแลสุขภาพ เช่น สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ก็มีมาตรการหลักคล้ายกัน แต่มีข้อกำหนดย่อยลงมาคือห้ามชุมนุม หรือแข่งขัน ส่วนการออกกำลังในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม ลานกีฬา ให้เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ งดจำหน่ายสินค้า งดรับประทานอาหาร
สำหรับเนื้อหาของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 5) นั้น มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ต่อไปเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปสู่พื้นที่อื่น และป้องกันมิให้โรคกลับมาแพร่ระบาดใหม่ในพื้นที่ซึ่งเคยควบคุมได้ นายกฯ จึงออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้ การห้ามออกนอกคหสถานทั่วราชอาณาจักรระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ผู้ฝ่าฝืนย่อมมีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากชุมนุมมั่วสุมชุมนุมกันทำกิจกรรม อันเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเวลาดังกล่าว อาจมีความผิดอีกสถานหนึ่งตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ รวมถึงเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาอันไม่เป็นความจริงก็จะเป็นความผิดด้วย
สั่งผู้ว่าฯ ปิดตายเพียบ
การห้ามหรือข้อจำกัดการดำเนินการหรือการทำกิจกรรมบางอย่างตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้ามการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่สื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามผู้ใดจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน เช่น การประชุม การสัมมนา การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของ การจัดเลี้ยง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และต้องเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อยหนึ่งเมตร สถานที่ทำกิจกรรมต้องโล่งแจ้ง ไม่แออัด ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ห้ามผู้ใดใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงเว้นแต่เป็นไปตามประกาศ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนด ให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายกำหนด ให้ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ สั่งหรือกำหนด เป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ ที่เอกเทศหรือสถานที่ซึ่งทางราชการกำหนด ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขดังกล่าว 
    “ให้ผู้ว่าฯ กทม.และผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ คำสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่โรคดังนี้ โรงมหรสพ สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก สวนสัตว์ สถานที่เล่นสเกตหรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน สนุกเกอร์ บิลเลียด สถานที่เล่นโบว์ลิงหรือตู้เกม ร้านค้าและร้านอินเทอร์เน็ต สระว่ายน้ำสาธารณะ สนามชนไก่ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมสถานที่จัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุสนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง สนามม้า สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำอบสมุนไพร สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า และสถานประกอบกิจการอาบอบนวดในพื้นที่รับผิดชอบเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อกำหนดให้ผ่อนคลายต่อไป”
     สำหรับการปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธีในวันสำคัญทางศาสนา หรือตามประเพณีนิยม ณ ศาสนสถานใด ให้เป็นไปตามดุลยพินิจและอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ปกครองดูแลศาสนสถานนั้น ในกรณีมีมาตรการหรือคำแนะนำขององค์กรปกครองทางศาสนานั้น หรือของทางราชการเกี่ยวกับการป้องกันโรค ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการหรือคำแนะนำดังกล่าว ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นจังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็นซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งต้องรับการตรวจคัดกรอง และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอันอาจทำให้การเดินทางต้องใช้เวลามากกว่าปกติและไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง 
คอเหล้าเฮ! เปิดขายแล้ว
ขณะที่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 6) นั้น เป็นเรื่องของการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมต่างๆ โดยให้เปิดดำเนินการได้ทั่วราชอาณาจักรตามความสมัครใจและความพร้อม ตั้งแต่วันที่  3 พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตนั้น จะให้มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ ให้เปิดได้โดยอาจให้นำกลับไปบริโภคที่อื่น แต่หากเปิดให้ใช้บริการในสถานที่นั้น ก็สามารถทำได้โดยต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ สำหรับร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งจำหน่ายสุรา ให้เปิดได้แต่ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
ด้านห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธนาคาร ที่ทำการหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนแผนกร้านอาหารให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น ส่วนร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด ให้เปิดได้โดยต้องควบคุมทางเข้า-ออก จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ให้และผู้ใช้บริการ การเว้นระยะห่างในการเลือกสินค้าและการชำระราคา ขณะที่ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรีให้เปิดได้เฉพาะกิจกรรม สระ ตัด ซอยผม แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ คือโรงพยาบาล คลินิก สถานทันตกรรมหรือสถานพยาบาลทุกประเภทที่จัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย สนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟให้เปิดได้แต่ต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน ในกรณีของสโมสรคลับเฮาส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าวให้ปฏิบัติตามเช่นกัน สนามกีฬาเฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้งและตามกติกาสากล ผู้เล่นต้องมีระยะห่างทางสังคมและไม่คลุกคลีกันอยู่แล้ว เช่น เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู และต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน ในกรณีของสโมสร คลับเฮาส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าวให้ปฏิบัติตามเช่นกัน 
สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬาให้เปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้ง เพื่อการเดิน วิ่ง ขี่หรือปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกาย ด้วยวิธีอื่นเป็นส่วนบุคคล โดยไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน การละเล่น การแสดง และสถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์
อย่างไรก็ตาม ให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ทุกประเภทมีหน้าที่ รับผิดชอบการดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่ ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ และจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้เกี่ยวข้อง และให้เป็นไปตามคำแนะนำเงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทางราชการกำหนด เช่น การให้เข้าใช้บริการ โดยนัดหรือแจ้งล่วงหน้า การไม่ให้ผู้ใช้บริการหลายคนรออยู่ในสถานที่เดียวกัน การจำกัดจำนวน ผู้ใช้บริการในแต่ละคราว และเวลาการเข้าใช้บริการ ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจและให้คำแนะนำ หรือตักเตือนห้ามปรามได้ตลอดเวลา หากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือเป็นอันตรายต่อการป้องกัน การแพร่ของโรค ให้เสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อสั่งปิดสถานที่นั้นเฉพาะราย 
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงข้อกำหนดล่าสุดให้ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งจําหน่ายสุรา ว่าข้อกำหนดนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ดังนั้นในวันที่ 2 พ.ค.ยังจำหน่ายไม่ได้ และวันที่ 3 พ.ค.ไม่ใช่เปิดให้ขายโดยเสรี เพราะถูกสั่งห้ามโดยผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ถ้าพูดง่ายๆ รัฐบาลไม่ได้ห้ามอะไรแล้ว ถ้าวันที่ 3 พ.ค.จะเริ่มเปิดขายหรือไม่ขายก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ทั้งนี้ให้เป็นเรื่องที่ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดพิจารณาด้วย โดยถ้าเปิดขายต้องซื้อกลับบ้าน ห้ามกินที่ร้าน ห้ามมีมั่วสุมดื่มสุรา
ก่อนหน้านี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ว่า พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำว่าการควบคุมต้องมี 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 จากส่วนกลาง ก็คือจาก ศบค. กำหนดด้วยมาตรฐานกลาง ระดับที่ 2 จากส่วนประเมิน คือการสุ่มตรวจ และระดับที่ 3 คือระดับพื้นที่ ที่ต้องสอดประสานกันจะได้ไม่เกิดความผิดพลาด พร้อมเน้นย้ำว่าขณะนี้ถือเป็นการผ่อนคลายมาตรการในระดับหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัว แต่ต้องเป็นการค่อยๆ ผ่อนปรน เพราะหากปลดล็อกทันทีอาจทำให้เกิดการระบาดกลับมาอีก ทั้งนี้ เชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้น จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้นจนถึงในช่วงกลางเดือน พ.ค. เชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่เป็นบวก ส่งผลให้เกิดการผ่อนปรนมากขึ้น    
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทย เป็นอีกวันที่มีผู้ป่วยรายใหม่ต่ำสุดอยู่ที่ 6 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,960 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 54 ราย หายป่วยสะสม 2,719 ราย ยังอยู่ระหว่างรักษาตัว 187 ราย ซึ่งเป็นวันแรกที่ต่ำกว่า 200 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 54 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย ในจำนวนนี้มี 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีประวัติเดินทางไปตลาดแห่งหนึ่งใน กทม. ก่อนจะมีอาการเจ็บป่วย ส่วนอีก 5 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ จ.ยะลา โดยมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยที่กลับจากมาไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านและเกษตรกร อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจะต่ำลง แต่ยังวางใจไม่ได้ ยังต้องทำงานเต็มที่ ระยะการผ่อนปรนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือจากทุกคนต่อไป ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยทั่วโลกมี 3,308,233 ราย เสียชีวิต 234,105 ราย 
กังวลคนเดินทางมากขึ้น
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันที่ 1 พ.ค. มีคนไทยกลับจากสิงคโปร์ 165 คน เนปาล 38 คน ส่วนในวันที่ 2 พ.ค. จากคาซัคสถาน 55 คน, เนเธอร์แลนด์ 35 คน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 130 คน โดยตั้งแต่วันที่ 4-30 เม.ย. มีคนไทยกลับมาแล้ว 3,381 คนจาก 23 ประเทศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ชื่นชมคณะทำงานที่เกี่ยวกับการรับคนไทยจากต่างประเทศ เพราะค้นหาผู้ป่วยจากกลุ่มนี้ได้ถึง 81 คนก่อนจะไปแพร่ระบาด ส่วนตัวเลขสะสมของผู้ที่อยู่ในสถานกักตัวของรัฐซึ่งเดินทางมาทางเครื่องบิน 4,218 คน อยู่ระหว่างกักตัว 2,775 คน ส่วนตัวเลขสะสมที่อยู่ในสถานกักตัวของรัฐซึ่งเดินทางผ่านจุดผ่านแดนทางบก 7,628 คน อยู่ระหว่างกักตัว 5,922 คน สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 30 เม.ย. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 1 พ.ค. มีผู้ฝ่าฝืนชุมนุมมั่วสุม 154 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 87 ราย อันดับ 1 มาจากการเล่นการพนัน ออกนอกเคหสถาน 607 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 88 ราย 
โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า สถิติการเดินทางของประชาชนทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล ขนส่งสาธารณะ และขนส่งสาธารณะทางราง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งหมด วันที่ 16 เม.ย. มีตัวเลขประชาชนเดินทาง 800,867 คน วันที่ 23 เม.ย. 848,028 คน และ 30 เม.ย. 962,398 คน เข้าใจว่าทุกคนคงสบายใจจึงผ่อนคลายตัวเอง ออกนอกบ้านมากขึ้น แต่ขอให้จดจำไว้ว่าการออกนอกบ้านมีความเสี่ยง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่เป็นศูนย์ เราเชื่อว่ายังมีคนที่เป็นพาหะของโรคอยู่ในสังคม จึงขอให้ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนที่มีปรากฏภาพในโลกออนไลน์และทางสื่อมวลชนว่ามีการจราจรหนาแน่น มีการเดินทางไปต่างจังหวัดจำนวนมากในช่วงวันหยุดยาวนั้นถือว่าน่ากังวลใจ เพราะข้อสำคัญของการป้องกันคือ การจำกัดการเคลื่อนย้ายคน 
“คนเป็นแหล่งรังโรคและติดโรค ทุกประเทศทั่วโลกก็ใช้มาตรการจำกัดเคลื่อนย้ายประชากร แม้ตอนนี้เราอยู่ในช่วงผ่อนปรน แต่การเดินทางต้องไม่มากกว่าเดิม ไม่จำเป็นไม่ควรเดินทาง และขอให้ลดการเดินทาง หรือเมื่อเดินทางไปแล้วก็ขอให้อยู่แต่บ้าน ไม่ต้องไปพบปะสังสรรค์กับใคร ปรับตัวให้เข้ากับมาตรการของจังหวัดนั้นๆ อย่าไปทำให้เกิดความเสี่ยงถ้า 14 วันนี้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังต่ำจะมีพื้นที่เปิดขยายไปได้มากกว่านี้ รวมถึงห้างสรรพสินค้าจึงขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือด้วย”
เมื่อถามว่า หากโดยสารเครื่องบินภายในประเทศจะต้องกักตัว 14 วันหรือไม่ และต้องมีใบรับรองแพทย์หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า โดยหลักการต้องดูประกาศของจังหวัดที่เดินทางไปเป็นพื้นฐานก่อน ถ้าแต่ละจังหวัดมีข้อกำหนดอย่างไรก็ให้ดำเนินการตามนั้น ดูเป็นจังหวัดไป ส่วนใบรับรองแพทย์เป็นหลักการเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ในประเทศยังไม่เห็นข้อกำหนดดังกล่าว ส่วนที่มีคำถามว่ารถยนต์ส่วนบุคคลต้องจำกัดปริมาณบุคคลในรถหรือไม่นั้น ยังไม่เห็นถึงรายละเอียดที่กำหนดลงไปถึงรถยนต์ส่วนบุคคล แต่หลักการก็ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไว้ตลอด อยากให้เป็นคืออย่างน้อย 90%
เมื่อถามว่า มาตรฐานกลางที่จะออกมารองรับ 6 กิจกรรม กิจการ ที่จะผ่อนปรนมีผลในวันที่ 3 พ.ค.นี้ จะออกมาเมื่อไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำและจะประกาศออกมาเร็วๆ นี้ คาดว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้คงจะได้เห็นมาตรฐานกลางในแต่ละเรื่อง แต่โดยหลักการกว้างๆ ของ ศบค.หากท่านอยู่ 1 ใน 6 กิจกรรม กิจการที่ได้รับการผ่อนปรน ต้องคำนึงถึง 3 ข้อ คือ 1.กิจกรรมนั้นต้องยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง หรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ 2.ความหนาแน่นของผู้ใช้บริการต่อหน่วยพื้นที่ ต้องกำหนดให้มีระยะห่างขั้นต่ำ 1 เมตร และ 3.ลักษณะกิจกรรมต้องไม่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก เช่น ร้านตัดผม ต้องใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้ ต้องคำนึงอีก 3 ส่วนควบคู่กันไปด้วยคือ 1.ผู้ให้บริการต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโรค 2.ผู้มาใช้บริการต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ไปรับเชื้อจากผู้ให้บริการ และ 3.เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและกำกับดูแลว่าจะอนุโลมหรือเข้มข้นอย่างไร ส่วนช่วงวันที่ 1-2 พ.ค.ให้ยึดข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งเดิมที่ออกมาก่อนหน้านี้ต่อไป จนกว่าจะมีประกาศ หรือคำสั่งใหม่ออกมา
หวั่นซ้ำรอยสิงคโปร์
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดสธ. แถลงว่า กรณีของแรงงานต่างด้าวในประเทศสิงคโปร์ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งประเทศสิงคโปร์นั้นมีตัวเลขของแรงงานต่างด้าวอยู่ที่กว่า 3 แสนคน ในขณะที่ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเฉพาะที่ลงทะเบียนไว้ประมาณ 3 ล้านคน ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวมากกว่าสิงคโปร์ถึง 10 เท่า ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังไม่รวมถึงแรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ จึงอดเป็นห่วงประเทศไทยไม่ได้ เพราะไม่อยากให้ไทยซ้ำรอยประเทศสิงคโปร์ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนมากจากแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความรู้ผ่านเครือข่ายต่างๆ ของกลุ่มแรงงานต่างด้าว
ส่วนที่มีคำถามว่าต้องมีการสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรณีนี้สามารถอ้างอิงจากตัวเลขกลุ่มผู้ป่วยต้องสงสัยเฝ้าระวังอาการ ซึ่งในช่วงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากก็ได้มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั้งหมด พบประมาณ 4-5% เท่านั้น ขณะที่ระยะหลังนั้นพบเพียง 1% สำหรับประเทศไทย ใช้วิธีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 2,500 บาท ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อยนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะถึงวันนี้ประเทศไทยได้ทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อหลักแสนคนแล้ว 
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะที่ประเทศรอบบ้านของไทยยังมีผู้ติดเชื้อและยังมีแผนนำคนไทยกลับบ้าน ดังนั้น จะต้องมีความรอบคอบและเข้มงวดในเรื่องการตรวจและวัดไข้ รวมถึงการต้องมีการกักตัว เฝ้าระวังอาการอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 14 วัน ที่ผ่านมาจากมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้นั้น พบผู้ติดเชื้อแล้ว 81 คนเกิดความกังวลว่าจากลำดับของไทยที่ 59 ของโลก อาจทำให้สถานการณ์ของไทยจากที่มีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในลำดับต่ำอาจขยับลำดับขึ้นมาได้ ดังนั้น การดูแลแรงงานที่มาจากเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว ก็ต้องมีตรวจวัดไข้ และกักตัวแรงงานกลุ่มนี้เป็นเวลา 14 เช่นเดียวกัน
นพ.โสภณกล่าวด้วยว่า การที่ประเทศไทยคลายล็อกมีบทเรียนจากต่างประเทศเช่นกรณีของเยอรมนีมีการคลายล็อกก่อนหน้านี้ไปแล้ว 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ก่อนจะมีมาตรการคลายล็อกในเยอรมนีพบว่าผู้ป่วย 1 คนมีอัตราการแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ 0.7 คน แต่ปรากฏว่าหลังจากคลายล็อกไปแล้ว ผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ 1 คน ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องติดตามว่า ผู้ประกอบกิจการ 6 กลุ่มกิจการ รวมถึงประชาชนว่าได้ปฏิบัติตนตามแนวทางในการเฝ้าระวังไว้อย่างเข้มข้น หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนแล้วหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ 2 สัปดาห์จะมีการประเมินว่ามีผู้ป่วยรายใหม่หรือไม่เพื่อปรับมาตรการตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ระหว่างนี้ต้องมีเฝ้าระวังเพราะในหลายสถานประกอบการมีการผ่อนปรน
ฝ่าฝืนพรก.2.1หมื่นคน
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า จากข้อมูลการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในรอบ 1 เดือน ของสำนักงานอัยการต่างๆ ทั่วประเทศ ที่พนักงานอัยการได้ฟ้องคดีต่อศาลในช่วงระหว่างวันที่ 3-30 เม.ย.2563 มีการฟ้องคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ในช่วงดังกล่าว ทั้งสิ้น 15,895 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 21,426 คน โดย  ศบสค.อส. ได้จัดทำรายงานสถิติคดีการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 3-30 เม.ย.2563 ดังกล่าว ถ้าดูย้อนหลังกลับไป 4 วัน คือช่วงระหว่างวันที่ 27-30 เม.ย.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่พบผู้ติดเชื้อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รายใหม่ทั่วประเทศ แต่ละวันไม่ถึง 10 คน หากพิจารณาจำนวนผู้ที่กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเวลาเดียวกัน ก็จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน เช่น ในวันที่ 30 เม.ย. 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 คน ในขณะเดียวกันผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ทั่วประเทศ มีเพียง 656 คน เป็นต้น
“จากความสัมพันธ์ของข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ว่าถ้ามีการปฏิบัติตามพระราชกำหนดฯ อย่างเคร่งครัด เช่น ให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย ไม่มั่วสุมทั้งในบ่อนการพนัน หรืองานสังสรรค์รื่นเริง จะยิ่งทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแนวทางในการป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไรก็ตาม นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ยังคงให้พนักงานอัยการทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ตามหนังสือสั่งการโดยเคร่งครัดต่อไป” นายประยุทธกล่าว
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก โดยขอให้ติดตามสถานการณ์และดำรงความเข้มงวดในมาตรการต่างๆ ต่อไป โดยเฉพาะล่าสุดการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ควบคู่ไปกับการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส ก็ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพของหน่วย เช่น การจัดส่งอาหารและเครื่องใช้ให้ประชาชนที่บ้าน, รถครัวสนาม, ผลิตผลจากโครงการทหารพันธุ์ดี การเข้าซื้อพืชผลจากเกษตรกรมาประกอบเลี้ยง, การดูแลพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ การนำกำลังพลร่วมบริจาคโลหิต และการคัดกรองในพื้นที่ชายแดน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"