นายกฯบุกพบนักธุรกิจเอง โพล‘ซูฮก’ทุ่มเทแก้ปัญหา


เพิ่มเพื่อน    

  นายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ไปพบภาคสมาคมธุรกิจรับฟังความเดือดร้อน-ข้อเสนอแนะด้วยตนเอง เพราะวิกฤติโควิดใหญ่และซับซ้อนมาก ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ "บิ๊กตู่" ได้คะแนนความตั้งใจทุ่มเททำงานแก้ปัญหาเกือบเต็มสิบ 

    เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ว่า "เมื่อวันก่อน ผมเริ่มไปพบกับสมาคมภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อรับฟังสถานการณ์ ความเดือดร้อน และข้อเสนอแนะด้วยตัวของผมเองโดยตรง เพิ่มเติมจากที่หน่วยงานของภาครัฐที่ได้ทำงานกันอย่างเต็มที่อยู่ในขณะนี้เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทย
    ตามที่ผมเคยกล่าวไว้ว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ใหญ่และซับซ้อนมาก หน้าที่ของเราคือต้องต่อสู้ไปด้วยกันแบบเป็นหนึ่งเดียวทั้งประเทศ เราต้องร่วมมือกัน ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มธุรกิจ และทุกคน ผมขอขอบคุณ คุณวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว คุณไพรัตน์ ห่านศรีสุข คุณสุรวัช อัครวรมาศ คุณพรทิพย์ หิรัญเกตุ คุณมิ่งขวัญ เมธเมาลี และ ดร.สุมาลี ว่องเจริญกุล สำหรับข้อมูลที่ดี และมีประโยชน์สำหรับผม"
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกับ ดร.พนม สีหาบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง เหลียวหลังแลหน้าขจัดโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,126 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 เมษายน-1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
    เมื่อเหลียวหลังดูช่วงโควิดเริ่มระบาดจนถึงวันนี้ ผลประเมิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในด้านต่างๆ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความตั้งใจทุ่มเททำงานแก้ปัญหาได้ 8.24 คะแนน รองลงมาคือเกาะติดใส่ใจแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ได้ 7.85 คะแนน อย่างไรก็ตาม ด้านอื่นๆ ได้คะแนนสอบผ่านแบบเฉียดฉิวและคาบเส้น ได้แก่ มาตรการต่างๆ ขณะแก้ปัญหา ได้ 5.29 คะแนน, การเยียวยาฟื้นฟูได้ 5.02 คะแนน และการเตรียมการรับมือปัญหาได้ 5.01 คะแนน
    ที่น่าสนใจคือ รัฐมนตรีมีผลงานลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนช่วงโควิด-19 (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน แจกแอลกอฮอล์ และอื่นๆ ได้ร้อยละ 53.8 รองลงมาคือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจกเงิน ลดภาษี และอื่นๆ ได้ร้อยละ 51.2 ในขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลดค่าไฟ ช่วยค่าน้ำประปา และอื่นๆ ได้ร้อยละ 43.3, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือเกษตรกร แจกเงิน แก้ภัยแล้ง ได้ร้อยละ 12.9 และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แจกหน้ากากอนามัย และอื่นๆ ได้ร้อยละ 11.8 ตามลำดับ
คนไทยส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อชาติ
    ที่น่าพิจารณาคือ สิ่งที่คนไทยทำร่วมขจัดปัญหาโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.8 ระบุ ประชาชนทำตามมาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ได้ดี รองลงมาคือร้อยละ 75.0 ระบุประชาชนหัวใจคุณธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกันเอง, ร้อยละ 69.4 ระบุคนไทยตื่นตัว ตระหนัก ป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อตามจุดต่างๆ, ร้อยละ 65.6 ระบุคนไทยเชื่อฟัง และทำตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล และท้ายสุดคือร้อยละ 53.9 ระบุรัฐบาลจัดการได้ดี
         น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณฯ 63 เพื่อปรับกรอบและวงเงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการในการกู้เงินใหม่ การบริหารหนี้เดิม และการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ โดยมีแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 603,492 ล้านบาท จากเดิม 894,005 ล้านบาท รวมเป็น 1.49 ล้านล้านบาท ส่วนแผนบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 204,627 ล้านบาท จากเดิม 831,150 ล้านบาท รวมเป็น 1.03 ล้านล้านบาท 
    ขณะที่แผนการชำระหนี้ ปรับลดสุทธิ 8,999 ล้านบาท จากเดิม 398,372 ล้านบาท เป็น 389,373 ล้านบาท สำหรับการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลที่ปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 6.03 แสนล้านบาทครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อดำเนินแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการกู้เงินระยะเร่งด่วน เพื่อจัดสรรให้กับการเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในระยะเร่งด่วน ซึ่งเตรียมวงเงินไว้รองรับตาม พ.ร.ก. วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท
     นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงการคลังเปิดให้ยื่นทบทวนสิทธิ์มาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเปิดทางให้ผู้เคยยกเลิกการลงทะเบียนด้วยความเข้าใจผิด สามารถขอรับสิทธิ์คืนอีกครั้งได้ โดยใช้ปุ่มสีม่วง "ยื่นทบทวนสิทธิ์" ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ยื่นทบทวนสิทธิ์แล้วจำนวน 4.8 ล้านราย ในขณะที่กระทรวงคลังยังส่งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ ทั้งกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานสังกัดกระทรวงคลัง ลงพื้นที่ตลอดต่อเนื่องทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ จนกว่าเสร็จสิ้นภารกิจ เพื่อติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของประชาชน 
ยอดขอเยียวยาเพิ่มทุกวัน
    ในส่วนที่ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองมาตรการเยียวยา 5,000 บาท โดยยอมรับว่าเมื่อเปิดให้ทบทวนสิทธิ์ได้ จึงทำให้จำนวนผู้ขอทบทวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงตลอด ทำให้ทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ต้องใช้เวลามากขึ้นในการลงพื้นที่ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังขอให้ผู้ลงทะเบียนเข้าไปตรวจสอบสถานะที่เว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อจะได้ทราบว่าผ่านเกณฑ์และได้รับสิทธิ์หรือไม่ เพราะขณะนี้ระบบได้นำข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์มากกว่า 10 ล้านคนเข้าในระบบแล้ว จึงทำให้ยอดได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยกรณีที่มีปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากบัญชีธนาคาร ก็ขอให้ตรวจสอบว่าบัญชีกับทางแบงก์ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ แต่มีปัญหาว่าเงินยังไม่เข้าบัญชี แสดงว่าบัญชีถูกปิด (ไม่มีการเคลื่อนไหวนานเกิน 1 ปี) หรือบัญชีไม่ตรง ซึ่งเป็นได้ทั้งชื่อ นามสกุล เลขที่บัญชี หรือชื่อธนาคารไม่ตรงกับชื่อผู้ลงทะเบียน จึงขอให้ผู้ลงทะเบียนเข้ามาแก้ไขตรงปุ่มสีเหลือง "เปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับเงิน" ระบบจะตรวจสอบว่าบัญชีถูกต้องแล้วหรือไม่ และพร้อมโอนเงินให้ในรอบถัดไป โดยเน้นจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ผูกกับเลขบัตรประชาชน จะทำให้การโอนเงินสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง
    พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์เฟซบุ๊ก "เหรียญทอง แน่นหนา" ระบุว่า ผมขอประกาศตนอย่างชัดเจนว่าจะทำหน้าที่เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 อย่างสุดกำลัง เต็มความสามารถ โดยไม่ขอรับผลตอบแทนใดๆ ผมจะทำงานให้ฟรีตามที่ผมเคยพูดไว้ ผมมีเจตนารมณ์ตั้งใจทำงานเพื่อชาติที่มี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ผมพูดเสมอๆ ว่าเป็นผู้นำที่จะนำพาชาติไทยให้ฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปได้
         ถึงแม้ผมจะไม่ใช่นักวิชาการก็ตาม แต่ผมเชื่อมั่นว่าด้วยประสบการณ์และเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นแสวงหาแนวทางเพื่อเสนอแนะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าทอดต่อธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ให้เกิดการจ้างงานแก่คนในชาติสามารถดำรงชีวิตไปได้ตามอัตภาพในสถานการณ์โควิด-19 ที่จะลากยาวต่อเนื่องอีกหลายปี
ดินแดนปลอดภัยโควิด-19
        ความเห็นส่วนตัวของผม เห็นว่าประเทศไทยจะต้องใช้จุดแข็ง 'ดินแดนปลอดภัยโควิด-19', ใช้จุดแข็งด้านการแพทย์ 'สุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ', ใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อหารายได้เข้าประเทศ, ใช้ทรัพยากรภายในประเทศที่ทิ้งร้างว่างเปล่าไม่เกิดผลผลิต [Productivity] ให้นำมาสร้างรายได้ เกิดการจ้างงาน ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่จะช่วยประคับประคองการดำรงชีวิตของคนในชาติไปได้จนกว่าจะมีวัคซีนหรือยา หรือวิธีการอื่นใดที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 ได้ ซึ่งสถานการณ์นี้อาจต้องใช้เวลานานนับปีที่เราจะปล่อยให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปตามยถากรรมโดยไม่ดิ้นรนหาแนวทางไม่ได้อย่างเด็ดขาด
         ผมขอเรียนท่านทั้งหลายว่า เพราะความห่วงใยต่อประเทศชาติ ไม่ต้องการเห็นสภาพล่มสลายทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชาติ ไม่อยากเห็นสภาพแร้นแค้นจนกระทั่งรัฐไม่มีงบประมาณแผ่นดินเพียงพอที่จะนำมาช่วยรักษาผู้ป่วยและพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ...ผมไม่ได้ดรามานะครับ
         หากท่านทั้งหลายมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถส่งความคิดเห็นนั้นมาทางกล่องข้อความถึงผมด้วย ผมจะศึกษาและพยายามนำมาบูรณาการเป็นหนทางเพื่อนำเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 พิจารณาก่อนที่จะนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่มีนายกฯ เป็น ผอ.ศูนย์ต่อไปครับ...(ผมไม่ได้ทำหน้าที่ใกล้ชิดนายกฯ นะครับ ได้โปรดอย่าเข้าใจผิด ระบบงานมีขั้นตอนนะครับ)
         ผมอยากเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะส่วนตัวของผมว่า เมื่อผมมีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชา [Commander] ผมจะเป็นคน 'บู๊' ดุเดือดอย่างที่สาธารณชนเข้าใจกัน แต่เมื่อผมมีหน้าที่เป็นเสนาธิการ [Staff] ซึ่งเป็นงานฝ่ายอำนวยการ งานที่ปรึกษา ผมก็จะเป็นคน 'บุ๋น' จะไม่ไปก้าวก่าย ก้าวล่วง ไม่ไปดุเดือด ผมตระหนักในหน้าที่และบทบาทของผมเสมอว่าหน้าที่ใดจะต้องรู้จักวางตนและมีบทบาทอย่างไร ดังนั้นเมื่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้ความไว้วางใจให้ผมทำหน้าที่เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและผลกระทบแล้ว ผมก็ต้องรู้หน้าที่และบทบาทในการเป็นแค่กรรมการคนหนึ่งในคณะที่ปรึกษาสิครับ  หน้าที่ตามคำสั่งนี้คือ ให้ความเห็นทางวิชาการ เสนอแนะแนวทางต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 เท่านั้น 
    "ผมจะไม่ไปก้าวก่าย ก้าวล่วงในหน้าที่ที่ไม่ใช่หน้าที่ของผมอย่างเด็ดขาด...ผมเคยเป็นเสนาธิการ [Staff] มาก่อนที่จะเป็นผู้บังคับบัญชา [Commander] จึงกล้าพูดได้ว่าผ่านมาทั้งบู๊และบุ๋นมาแล้ว...บทบาทนี้ผมจะบุ๋นนะครับ ...จะไม่ปากสุนัข ใจสัตว์ให้เห็นกันแล้วนะครับ" พล.ต.นพ.เหรียญทองระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"