ว่าด้วยรัฐสภาแห่งใหม่ ปัญหาค่าโง่-ความยืดเยื้อ


เพิ่มเพื่อน    

          ว่าด้วยความวุ่นวายของหลายต่อหลายครั้งในการขยายสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เกียกกาย

                หลายคนคงมึนงงกับโครงการดังกล่าวอย่างยิ่ง มีข่าวค(ร)าวตั้งข้อสังเกตฝ่ายราชการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้รับเหมาอยู่ตลอดเวลา

                และถ้าหากใครเทคะแนนไปในฝั่งที่เชื่อว่ามีการทุจริตเอื้อกันจริงๆ ขณะนี้คงรู้สึกหดหู่ไม่น้อย เนื่องจากเมื่อวันที่  29 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับเหมา ไปฟ้องศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 1,590 ล้านบาท โทษฐานที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้ว่าจ้างส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างให้บริษัทล่าช้า

                เรื่องนี้ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ติดตามการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่อย่างใกล้ชิด เคยระบุไว้เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2562  ซึ่งเป็นช่วงเกิดเหตุฟ้องต่อศาล

                "การขยายเวลาก่อสร้างแต่ละวัน สภาต้องจ่ายเงินภาษีของพี่น้องประชาชนวันละประมาณ 2 ล้านบาท เมื่อขยายเวลาทั้งสิ้น 1,864 วัน สภาก็ต้องจ่ายเงินโดยไม่ควรต้องจ่ายกว่า 3,728 ล้านบาท ซึ่งในความจริง ตามสัญญาหากก่อสร้างไม่เสร็จในระยะเวลาที่กำหนด 900 วัน บริษัทผู้รับเหมาต้องจ่ายค่าปรับให้สภาวันละ 12,280,000 บาท เมื่อคูณจำนวนวันที่ล่าช้าในการขยายเวลา 3 ครั้งในยุค คสช.  จำนวน 1,482 วัน บริษัทผู้รับเหมาต้องจ่ายเงินค่าปรับให้กับประเทศชาติเป็นเงินกว่า 18,000 ล้านบาท"

                นอกจากนี้ นายวัชระยังกล่าวไว้ด้วยว่า บริษัทผู้รับเหมามีหนังสือเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรแล้วกว่า 1,600 ล้านบาท ทั้งๆ ที่สภาควรจะเป็นฝ่ายปรับบริษัทผู้รับเหมา

                อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมีความอีนุงตุงนังกับการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง

                ต้องบอกว่าจุดเริ่มของเรื่องนี้มีอยู่ว่า ตามสัญญากำหนดเวลาก่อสร้าง 900 วัน หรือหมายความว่า ส.ส. ส.ว. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใช้อาคารรัฐสภาที่สมบูรณ์แบบได้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2558 แต่เกิดปัญหาว่านับแต่มีการเซ็นสัญญาให้เริ่มก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทผู้รับเหมาได้

                ดังนั้น จึงเกิดการขยายระยะเวลาก่อสร้างครั้งที่หนึ่งขึ้น จำนวน 387 วัน ไปสิ้นสุดที่วันที่ 15 ธ.ค.2559 โดยอ้างเหตุผลว่าส่งมอบพื้นที่ล่าช้า

                และแม้ขยายเวลาในการก่อสร้างให้ แน่นอนว่าไม่มีทางแล้วเสร็จ เพราะเดิมกำหนดไว้ 900 วัน อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการระบายดินที่ขึ้นมา เพื่อสร้างชั้นใต้ดินอีก จึงเป็นที่มาในการขยายสัญญาครั้งที่สองอีก 421 วัน เป็นสิ้นสุดการก่อสร้างในวันที่ 9 ก.พ.2561

                ระหว่างนั้นเอง ช่วงเดือน มิ.ย.2560 บริษัท ซิโน-ไทยฯ อ้างว่ามีปัญหาการส่งมอบพื้นที่ในส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงขอขยายเวลาครั้งที่สามอีก 926 วัน

                ตรงนี้เองหลายฝ่ายเริ่มออกมาพูดกันและตั้งข้อสังเกต ดังนี้

                1.ถ้าหากปล่อยให้เกิดการขยายสัญญาครั้งที่สาม เท่ากับว่าเวลาการก่อสร้างนานกว่ากำหนดเดิม 900 วัน เรียกว่าขยายสัญญาการก่อสร้างมากกว่าสัญญาหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเขาคิดทำกัน

                2.นายวัชระนำเอกสารมาแสดงต่อสังคมว่าเหตุที่บริษัทผู้รับเหมามาขอให้ขยายเวลาเป็นครั้งที่สาม ไม่สมเหตุสมผล เพราะมีหลักฐานเป็นหนังสือว่าทางสภาฯ ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2559 โดยมีนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภา ลงนามในหนังสือดังกล่าว

                แต่คำพูดเหล่านี้ไม่อาจทัดทานได้ ที่สุดทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้อนุมัติขยายการก่อสร้างครั้งที่สาม แต่มีการปรับเวลา โดยซิโน-ไทยฯ เสนอมา 926 วัน แต่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ปรับเหลือ 674 วัน หรือสิ้นสุดในวันที่ 15 ธ.ค.2562

                เท่านั้นไม่พอ ยังมีการขยายสัญญาครั้งที่สี่อีกด้วย จำนวน 382 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2562-31 ธ.ค.2563 โดยอ้างเหตุในการขยายว่าการจัดหาผู้รับจ้างงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อีกทั้งงานสาธารณูปการ งานประกอบอาคารและภายนอกอาคารล่าช้า

                ถ้าคำนวณจากกำหนดการก่อสร้างเดิม 900 วัน ได้อาคารใหม่ 1 หลัง การขยายสัญญาต่อทั้ง 4 ครั้ง รวม 1,864 วัน เท่ากับสิ้นปีที่จะถึง เราต้องได้อาคารรัฐสภาเพิ่มอีก 2 หลัง

                แต่ในความเป็นจริงนาทีนี้อาคารหลังหลักหลังแรกยังไม่มีวี่แววว่าจะแล้วเสร็จ และถ้าจะให้ฟันธงก็บอกเลยว่าการขยายสัญญารอบที่ห้าเกิดขึ้นแน่ๆ

                อย่างไรก็ตาม ปัญหายังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะอาคารเปล่าๆ คงใช้งานไม่ได้ แต่จะต้องประกอบไปด้วยงานระบบต่างๆ ทั้งระบบไอที และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งในส่วนของระบบไอทีจะสิ้นสุดแถวๆ เดือน มิ.ย.-ก.ค.-ส.ค.ของปีนี้ ก็มาลุ้นต่อแล้วกันว่าภาษีประชาชนจะต้องสูญเสียจ่ายเป็นค่าปรับให้กับ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (เอไอที) ในฐานะบริษัทวางระบบไอทีอีกหรือไม่

                เพราะดูแววแล้วงานไอทีก็ไม่มีทางเสร็จเช่นกัน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"