แนวทางพิจารณาคดีหลังพ้นล็อกดาวน์ มิถุนายนนี้'ศาลยุติธรรม'เร่งเครื่อง


เพิ่มเพื่อน    

            จากวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จำเป็นต้องนำมาสู่การล็อกดาวน์ ปิดกิจการบางส่วน การงานบางประเภทของประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ให้ผู้คนรวมตัวกันจำนวนมากในสถานที่ต่างๆ นั้น “ศาลยุติธรรม” เป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ ที่ต้องมีการเลื่อนพิจารณาพิพากษาคดีจำนวนมากออกไปก่อน มิให้จำเลยและญาติสนิทมิตรสหายจำนวนมากของจำเลยจะต้องเดินทางมาขึ้นศาลเผชิญความเสี่ยงในภาวะวิกฤตินี้

            การเลื่อนคดีเป็นไปตามที่ “คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม” (ก.บ.ศ.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้ออกประกาศ ก.บ.ศ. เรื่อง การบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) ให้มีการเลื่อนคดีจัดการพิเศษและการนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องในระหว่างวันที่ 24 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563 ออกไป พร้อมกำหนดข้อยกเว้นบางคดีที่ไม่เลื่อน เช่น คดีอาญาที่จำเลยต้องขัง คดีแพ่งบางประเภท และคดีอื่นๆ ที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาเห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ

            ในช่วงเวลาล็อกดาวน์ที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ การพิจารณาพิพากษาคดีของแต่ละศาลจึงมีไม่มาก คดีที่มีจำเลยจำนวนมากและได้รับการประกันตัว ถูกเลื่อนออกไปตามประกาศ ก.บ.ศ. เหลือเพียงบางคดีที่พิจารณาได้โดยไม่ต้องเลื่อน อย่างคดีเล็กน้อยที่มีจำเลยเพียงคนเดียวบ้าง คดีที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอยู่แล้วบ้าง ซึ่งประเภทหลังศาลสามารถพิจารณาและอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำได้

            ขณะที่ปัจจุบัน สถานการณ์ไวรัสโควิดเริ่มคลี่คลายลงเป็นลำดับ คดีต่างๆ ที่ถูกเลื่อนไปนัดใหม่เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งพ้นระยะเวลาตามประกาศ ก.บ.ศ. แล้ว คงจะได้กลับมาเดินหน้าต่อตามลำดับ ซึ่งแน่นอนว่า คดีเหล่านี้จะมาคั่งค้างรวมกันเป็นงานกองโตของศาลยุติธรรม ซึ่งล่าสุด “สราวุธ เบญจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ก็ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ศาลอาจกำหนดให้มีการพิจารณาคดีเพิ่มเติมในช่วงนอกเวลาราชการ และวันหยุดราชการเพิ่มเติม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยจะจัดทำเป็นโครงการเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการ เพื่อเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีที่เลื่อนมาดังกล่าวให้แล้วเสร็จ

            “การเลื่อนคดีจัดการพิเศษ คดีสามัญ และคดีสามัญพิเศษที่นัดสืบพยานเดิมออกไป ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน คู่ความ และผู้มีอรรถคดี และถือว่าการเลื่อนพิจารณาคดีครั้งนี้ จำนวนกว่า 163,620 คดี เป็นการเลื่อนคดีที่มีจำนวนที่มากและต้องเลื่อนเป็นระยะเวลายาวนานสุดในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ศาลยุติธรรมจะยังไม่หยุดยั้งในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาในการอำนวยความสะดวกกับประชาชน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว

            สำหรับการจัดการคดีที่คั่งค้าง พบว่าก่อนหน้านี้ศาลยุติธรรมได้มี “แนวทางการดำเนินโครงการเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการ เพื่อเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สำหรับศาลชั้นต้น” ซึ่ง ก.บ.ศ. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการนี้ในการประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของไวรัสโควิดกันเลยทีเดียว จนสามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

            วัตถุประสงค์โครงการระบุตอนหนึ่งว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายผู้บริหารศาลยุติธรรม ที่มุ่งเน้นการพิจารณาพิพากษาคดีภายใต้หลักนิติธรรมให้เป็นไปอย่างเปิดเผย ถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานที่ชัดเจนและเหมาะสมแก่ประเภทคดี และสอดรับกับระบบและวิธีการจัดการงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ กล่าวคือ คดีในศาลชั้นต้นในระบบพิจารณาคดีต่อเนื่องใช้ระยะเวลารอการพิจารณาภายในเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งเงื่อนไขของการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการได้ต่อเมื่อมีปริมาณงานมาก จนไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในเวลาทำการปกติ

            โดย “ปริมาณคดี” ที่นัดพิจารณาในวันเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการ ประกอบด้วย (1) คดีที่ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานหลักฐานแทนการสืบพยานหรือสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว หรือคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ทั้งต่อคดีที่มีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะ และคดีที่มีผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะ (2) คดีนัดไต่สวนมูลฟ้อง ให้นัดพิจารณาตามจำนวนที่เหมาะสม

            และ “ประเภทคดี” ที่ดำเนินการตามโครงการได้ เป็นคดีที่นัดพิจารณาคดีต่อเนื่องในระบบ การพิจารณาคดีครบองค์คณะและต่อเนื่องเกินเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้ (1) คดีในศาลจังหวัดที่ค้างพิจารณาเกิน 1 ปีขึ้นไป นับแต่วันรับฟ้องจนถึงวันที่ศาลจัดทำคำของบประมาณ/คดีในศาลแขวงที่ค้างพิจารณาเกิน 6 เดือนขึ้นไป นับแต่วันรับฟ้องจนถึงวันที่ศาลจัดทำคำของบประมาณ และต้องนัดสืบพยานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 (2) คดีอาญาที่จำเลยคนใดคนหนึ่งต้องขังระหว่างพิจารณา และมีจำเลยคนใดคนหนึ่งให้การปฏิเสธ ซึ่งต้องมีการสืบพยาน และต้องนัดสืบพยานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 (3) คดีค้ามนุษย์ที่จำเลยคนใดคนหนึ่งให้การปฏิเสธ ซึ่งต้องมีการสืบพยาน และต้องนัดสืบพยานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2563

            จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ในเดือนมิถุนายน-กันยายนจึงเป็นช่วงเวลา “เร่งเครื่อง” ของศาลยุติธรรมที่จะเคลียร์คดีก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2563 หลังพ้นระยะเวลาล็อกดาวน์แล้ว และนับเป็นช่วงเวลาพิเศษที่เราอาจพบการอ่านคำพิพากษาในวันหยุดราชการให้ได้เห็นก็เป็นได้.

นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"