กู้ 5 หมื่นล้านอุ้มการบินไทยไม่จบ


เพิ่มเพื่อน    


    ลุกลามเหมือนไฟลามทุ่งไปแล้ว สำหรับแผนการฟื้นกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงานและชำระหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระให้การบินไทย เบื้องต้นการบินไทยจะกู้เงินจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น
    แน่นอนว่าเรื่องการค้ำประกันเงินกู้เพื่อนำมาฟื้นฟูการบินไทยในครั้งนี้ หรือที่พูดกันให้เข้าใจง่ายๆ คือ การกู้เงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง หรือมาใช้ชำระหนี้สินต่างๆ ที่การบินไทยมีอยู่แล้ว ใครจะสามารถการันตีได้ว่าหากได้เงินก้อนนี้มาแล้วการบินไทยจะสามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ และสิ่งที่จะได้กลับมาคืออะไร???
เสนอแผนขอกู้เงิน 50,000 ล้านให้ ครม.พิจารณา
    ต้องยอมรับว่าการขอกู้เงิน 50,000 ล้านของการบินไทยนั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้น สถานะของการบินไทย อาจเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้ เพราะจากข้อมูลสถานะของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท หนี้สินรวม 244,899.44 ล้านบาท รายได้รวม 188,954.45 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท มีเงินสด 21,663 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการปี 2563 ประเมินว่า ช่วง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 จะประสบปัญหาขาดทุน 18,038 ล้านบาท และเริ่มมีกระแสเงินสดติดลบตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
    ดังนั้น แผนการกู้เงินจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เนื่องจากการกู้เงินถึง 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง มันจะเกิดคำถามมากมาย ซึ่ง "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม ระบุว่า ทางกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับปรุงแผนฟื้นฟูการบินไทยให้มีความชัดเจนมาขึ้น ให้เป็นลักษณะของแผนปฏิบัติการ (Action plan) ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง กู้มาแล้วคุ้มไหม ใครรับผิดชอบ ดังนั้น ต้องรอบคอบ กลั่นกรองให้ละเอียด ไม่ปล่อยให้เกิดช่องโหว่  
ขอกู้เงินก้อนใหญ่แต่แผนไม่มีความชัดเจน
    รายงานข่าวแจ้งว่า แผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น จะพบว่าแผนดังกล่าวไม่มีแผนการสร้างรายได้ในอนาคตที่ชัดเจน, แผนการบริหารหนี้, แผนรายจ่ายที่จะต้องดำเนินการตามกรอบเวลาให้เห็นภาพที่ชัดเจน ขณะเดียวกันตามแผนตามยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการทุกอันของการบินไทย มีการระบุว่าล้วนมีความเสี่ยงในทุกแผนการดำเนินงาน ดังนั้น จึงทำให้มีข้อกังวลว่า หากแผนมีการดำเนินการและเกิดความเสี่ยงขึ้น การที่ภาครัฐจะใส่เม็ดเงินเข้าไปช่วยเหลือ ที่จะมีความเสี่ยง ทำให้เม็ดเงินที่ใส่ไปสูญเปล่าหรือไม่
    ขณะเดียวกันในแผนฟื้นฟูที่การบินไทยทำมา ไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินต่อไปอย่างไรบ้าง และไม่มีการประเมินเปรียบเทียบ หรือ หากระยะเวลาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะยุติในระยะสั้น หรือยืดเยื้อในอนาคต ต้องใช้เงินในการฟื้นฟูเท่าไหร่  หรือหากการแพร่ระบาดผ่านไป การบินไทยจะมีแผนการสร้างรายได้จากธุรกิจที่มีอยู่ หรือจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ และมีพันธมิตรที่จะมาร่วมดำเนินการเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ซึ่งแผนทั้งหมดเห็นได้ชัดว่าไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหา และสร้างรายได้ให้กลับมา
ผ่าตัดการบินไทยครั้งใหญ่
    อย่างไรก็ดี แนวทาง "ผ่าตัด" การบินไทย ที่คลังและคมนาคมมีข้อสรุปร่วมกันก็คือ การปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นรูปแบบ "โฮลดิ้ง" โดยมีการบินไทยที่เป็นบริษัทแม่ และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกนั้นจะแยกธุรกิจตั้งเป็นบริษัทลูก 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ฝ่ายครัวการบิน 2.บริษัท บริการภาคพื้น 3.บริษัท คลังสินค้า 4.บริษัท ฝ่ายช่าง และ 5.สายการบินไทยสมายล์
        ขณะเดียวกันคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% ให้หน่วยงานของรัฐอื่นๆ เข้ามาถือมากขึ้น อาทิ ธนาคารออมสิน กองทุนรวมวายุภักษ์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลายเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่ 3 จากเดิมอยู่ประเภทที่ 1 บริหารงานได้คล่องตัวขึ้น และจะมีผลทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสถานะลงไปด้วย
       ในส่วนของแผนฟื้นฟูการบินไทย จะแบ่งได้เป็น 6 กลยุทธ์ ในการดำเนินการประกอบด้วย 1.กลยุทธ์การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน (Network Strategy) 2.กลยุทธ์การปรับปรุงแผนฝูงบิน (Fleet Strategy) 3.กลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ (Commercial Strategy) 4.กลยุทธ์การปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน (Operation & Cost Strategy) 5.กลยุทธ์การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร (Organization Strategy) 6.กลยุทธ์การจัดการกลุ่มธุรกิจของบริษัท (Portfolio Strategy)
    ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูการบินไทยระบุว่า ในส่วนของ การลดขนาดองค์กร (Downsizing) โดยจะมีการลดกำลังการผลิต โดยปรับลดขนาดฝูงบิน ลดแบบเครื่องบิน เครื่องยนต์ ปรับลดเส้นทางบิน เหลือเฉพาะที่ทำกำไร หรือที่มี demand สูง ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ การบังคับบัญชารวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานให้สอดคล้องกับกำลังการผลิต โดยเทียบเคียงกับอุตสาหกรรมเดียวกัน
    การปฏิรูปองค์กร (Transformation) ปรับกระบวนการด้านรายได้บัตรโดยสาร ปรับโครงสร้างราคา ช่องทางการจำหน่าย รายได้ขนส่งสินค้าและรายได้สนับสนุนอื่น จะมีการลดกำลังการผลิต โดยปรับลดขนาดฝูงบิน ลดแบบเครื่องบิน เครื่องยนต์ ปรับลดเส้นทางบิน เหลือเฉพาะที่ทำกำไร หรือที่มี demand สูง ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ การบังคับบัญชารวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานให้สอดคล้องกับกำลังการผลิต โดยเทียบเคียงกับอุตสาหกรรมเดียวกัน เป็นต้น
    อย่างไรก็ดี แม้ว่ามีแผนการออกมา แต่ดูเหมือนทางผู้ที่ปฏิบัติงานอย่างพนักงานก็ยังไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูในครั้งนี้ โดยกลุ่มสหภาพแรงงานก็ออกมาเคลื่อนไหว และไม่เห็นด้วยกับแนวทางฟื้นฟูดังกล่าว  
อนาคตของการบินไทย
    ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาการบินไทยนั้น หลังจากที่ คนร.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับบริษัทจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าแผนเดิมที่ทางการบินไทยเสนอมาที่ 70,000 ล้านบาท เพราะจะให้การบินไทยไปเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในประเทศ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และเจ้าหนี้ต่างประเทศ รวมถึงให้การบินไทยทำแผนปรับลดค่าใช้จ่ายลง ทำให้จะช่วยให้เงิน 50,000 ล้านบาทใช้ได้เพียงพอ โดยจะเริ่มกู้ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังจากได้รับการอนุมัติจาก ครม.ตามที่วาดฝันไว้
    ต้องยอมรับว่าในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม รัฐบาลก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่ทางการบินไทยเองก็ต้องช่วยเหลือตัวเองที่จะรักษาองค์กรให้เดินหน้าต่อไปร่วมกัน ไม่ใช่นึกถึงแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเองเป็นหลัก
    สุดท้ายนี้ จะต้องวัดการเดิมพันในครั้งนี้ว่า การช่วยเหลือครั้งสุดท้ายของรัฐบาล ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถรั้งชีวิตของสายการบินแห่งชาติให้กลับมาได้แค่ไหน ในช่วงสถานการณ์ของธุรกิจการบินที่ยังไม่แน่นอน จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 และถ้าแผนที่ผลักดันออกมาทำไม่ได้จริง การบินไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร คงจะต้องมาติดตามดูกันต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"