ยังไม่ใช่เวลา ประกาศชัยชนะ


เพิ่มเพื่อน    

 สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ยังไม่ใช่เวลาประกาศชัยชนะ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 1  ราย จากนั้น 6 พฤษภาคม ข้อมูลจากการแถลงของ ศบค.พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย ต่อมา 7  พฤษภาคม ศบค.แถลงข้อมูลว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 3 ราย เป็นต้น          

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ รัฐบาล และ ศบค.ได้เน้นย้ำว่า สถานการณ์ยังวางใจไม่ได้ ต้องมีการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มข้นต่อไป โดยเฉพาะหลังมีการคลายล็อก เปิดเมืองให้กิจการ/กิจกรรม 6 กลุ่มกลับมาเปิดได้ตั้งแต่เมื่อ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่มีประสบการณ์รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ในประเทศไทยมาหลายครั้ง ตั้งแต่ยังรับราชการเป็นนักระบาดวิทยาผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม  จนมาถึงผู้บริหารของกรมควบคุมโรค ย้ำว่าการรับมือป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่จบ ต้องใช้เวลาอีกสักพักจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งโอกาสที่เราจะกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทยไม่ได้มีสูงมาก นั่นคือการไม่มีรายงานการตรวจพบผู้ป่วย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีผู้ป่วยในประเทศ

เมื่อถามว่า จนถึงขณะนี้สถานการณ์การแพร่เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวางใจได้หรือยัง เพราะหลายวันที่ผ่านมาก็พบจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ช่วงหลังพบแค่วันละหนึ่งราย นพ.ธนรักษ์ อธิบายภาพรวมทิศทางของโรคโควิด-19 ในช่วงต่อจากนี้ว่า สถานการณ์ตอนนี้ที่บางวันพบว่ามีผู้ป่วยรายเดียว แต่ปัญหาสำคัญเวลานี้ที่เราต้องตอบก็คือ ตอนนี้ประเทศไทยมีคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดจริงๆ กี่รายกันแน่ ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยาก แต่ทีมทำงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้เชื่อว่ายังมีผู้ป่วยอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เดินเข้ามาในระบบบริการ

...พูดง่ายๆ คือเขามีอาการน้อยๆ คล้ายเป็นหวัด เขาจึงไม่ได้ไปหาหมอ คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่หากเราไม่ออกไปหาเขา เราจะไม่เจอเขา การที่เราเจอคนไข้ในระบบรายงานหนึ่งคน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าทั้งประเทศเรามีคนไข้โควิด-19 แค่รายเดียว หรือแม้แต่หากไปถึงวันที่เรารายงานว่าคนไข้เหลือศูนย์คน ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนไข้เหลืออยู่แล้วในประเทศไทย

            การที่เราจะกำจัดเชื้อโควิด-19 จนทำให้ไม่มีคนไข้เหลืออยู่ในประเทศเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ง่าย ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นและต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

            เหตุผลก็คือโรคนี้คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง คนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นไข้หวัดก็อาจจะไม่ได้ไปพบแพทย์ คิดว่าตัวเองไม่ได้ติดเชื้อ หากจะถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำจัดโรคโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศไทย ตามทฤษฎีก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ พูดง่ายๆ คือต้องพยายามตัดวงจรการแพร่ระบาดให้ได้ ใครที่ไม่สบายก็อย่าไปแพร่โรคให้คนอื่น ซึ่งตรงนี้คือต้องทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อติดเชื้อ แต่ถ้าเขาไม่รู้ตัวว่าเขาติดเชื้อและไม่รู้วิธีการที่จะต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โอกาสที่จะแพร่เชื้อต่อไปก็จะยังมีต่อไปเรื่อยๆ

            "ดังนั้น ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตัดวงจรจนไม่มีคนไข้เหลือเลย ตามทฤษฎีก็เป็นไปได้  แต่ถามว่าง่ายหรือไม่ ก็ไม่ง่าย"

            ตอนนี้สิ่งที่ทีมวิชาการและทีมยุทธศาสตร์ที่รับผิดชอบเรื่องนี้มองก็คือ สิ่งที่เราทำได้เต็มที่ตอนนี้ก็คือ การควบคุมให้โรคแพร่ระบาดในวงจำกัด หรือรักษาระดับให้มีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่สุด และชะลอระยะเวลาการระบาดให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การรักษา สถานที่ และทรัพยากรต่างๆ ระหว่างรอยาและวัคซีน 

            อันนี้คือเป้าหมายของการทำงานในระยะนี้ คือทำอย่างไรก็ได้อย่าให้จำนวนผู้ป่วยกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก ให้มีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด เพื่อให้ระบบโรงพยาบาล ระบบสาธารณสุขสามารถที่จะดูแลจัดการคนไข้ทุกคนได้ตามมาตรฐานของเรา

                -หลังเริ่มมีการคลายล็อกผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ 3 พ.ค.เป็นต้นมา หลายฝ่ายบอกว่าตอนนี้อยู่ในช่วง 14 วันอันตราย เป็นเดือนแห่งความเสี่ยง อาจเกิดจุดเปลี่ยนทำให้เกิดการระบาดรอบสอง?

            เราจะต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องระมัดระวังแบบนี้ต่อไป จนกว่าเราจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นได้  โดยภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้สองลักษณะ

            อันแรกคือ "วัคซีน" พอฉีดวัคซีน คนมีภูมิคุ้มกันก็จะไม่ติดเชื้ออีก

            อันที่สองก็คือ มีคนติดเชื้อมากจนโรคมันหยุดไปเอง แต่เราไม่อยากให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยวิธีนี้  หากปล่อยให้ประเทศปล่อยมีการแพร่ระบาดมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือ แม้จะมีคนส่วนใหญ่มีอาการน้อย  แต่ก็จะมีคนจำนวนประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ที่อาการรุนแรง ถ้าวันนี้เรามีคนไข้ 100 คน แสดงว่าจะมีคนมีอาการรุนแรง 10 คน แต่หากมีคนไข้ 10,000 คน ก็เท่ากับจะมีคนไข้มีอาการรุนแรง 1,000 คน ดังนั้นถ้าเราปล่อยให้มันระบาดโดยไม่ระมัดระวัง ก็จะทำให้มีคนไข้ที่มีอาการรุนแรงที่ต้องนอนห้องไอซียู หรือต้องการเครื่องช่วยหายใจมากเกินกว่าที่เราจะรับได้ ก็คือสถานการณ์จะคล้ายกับที่ประเทศอิตาลี

            สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือ พยายามกดให้มีจำนวนผู้ป่วยน้อยๆ ให้ยาวนานที่สุด

            อย่างที่บอกคือ จุดสุดท้ายอยู่ตรงที่การสร้างให้เรามีภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าตราบใดในพื้นที่ยังไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น พื้นที่นั้นก็ยังมีความเสี่ยงที่จะกลับมามีการระบาดได้อีก ไม่เพียงแต่ต้องระวังในช่วง  14 วันหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ แต่หลัง 14 วันก็ยังมีโอกาสอยู่ จากนี้ไปจนถึงวันที่เราจะมีวัคซีน  เมื่อใดที่เราการ์ดตกเมื่อนั้นโรคโควิด-19 ก็จะกลับมา

                -เมื่อต้นเดือน พ.ค.ซึ่งเริ่มมีการคลายล็อก และมีคนเดินทางออกต่างจังหวัดกันมากช่วง 1-4  พ.ค. ขณะเดียวกันก็มีการให้กลับมาซื้อขายสุราได้อีก ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ที่จะทำให้มีการแพร่ระบาดรอบใหม่?

            ตรงนี้เพิ่มความเสี่ยงหมด การเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต การที่คนออกมาในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น อย่างภาพการทำงานวันแรกหลังหยุดยาวเมื่ออังคารที่ 5 พ.ค. ที่คนไปขึ้นรถไฟฟ้ากันจำนวนมาก เห็นภาพแล้วก็น่ากลัวมาก รวมถึงรถเมล์ รถตู้ และพื้นที่สาธารณะที่มีความแออัดเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงทั้งหมด และการที่คนไปอยู่รวมกันทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ การนัดไปดื่มกินกัน ซึ่งการไปดื่มกินกันกับเรื่องการไปอยู่รวมกันแบบแออัดบนรถไฟฟ้า ถามว่าอันไหนมีความเสี่ยงกว่ากัน ก็ต้องเรื่องการดื่มกิน เพราะการดื่มกินกันไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย แต่การขึ้นรถไฟฟ้าอย่างน้อยก็มีการใส่หน้ากาก

            การที่คนออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น การที่คนออกไปรวมกลุ่มกันโดยไม่มีการป้องกันตัวเอง พวกนี้ถือเป็นความเสี่ยงได้ทั้งนั้น

            เราจำเป็นต้องรักษาความห่างระหว่างบุคคลต่อไป มาตรการที่เราผ่อนปรนเป็นเพียงมาตรการทางสังคมภาคบังคับเท่านั้น แต่เรายังมีอีกหลายมาตรการที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป เช่น มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการเกี่ยวกับอนามัยส่วนบุคคล เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การใช้ช้อนส่วนตัว ที่ผมเรียกว่าเป็น "สุขอนามัยส่วนบุคคล" ที่หากทำได้ดีก็จะลดการแพร่เชื้อได้

            มาตรการ การสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพ เช่น การให้ความรู้แก่ประชาชนว่าต้องทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ หรือความรู้ว่าหากติดเชื้อขึ้นมาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่เป็นการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น สองเรื่องนี้จำเป็นต้องรู้ รวมไปถึงเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น หากคนในบ้านต้องออกนอกบ้านทุกวัน แล้วจะดูแลผู้สูงอายุในบ้านไม่ให้ติดเชื้อได้อย่างไร ตลอดจนเรื่อง "มาตรการทางสังคมภาคสมัครใจ" เช่นเรื่องการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล การทำงานที่บ้าน work from home  การเหลื่อมเวลาการทำงาน เช่นหากมีการเหลื่อมเวลาการทำงานได้ ก็จะทำให้อย่างน้อยการสัญจรบนรถไฟฟ้าอาจไม่แออัด

             ทั้งหมดข้างต้นคือมาตรการที่ต้องไม่ผ่อนปรน จะต้องทำอย่างเข้มแข็งเข้มข้นต่อเนื่องต่อไป จนกว่าเราจะได้วัคซีน มาตรการที่ผ่อนปรนตอนนี้มีเรื่องเดียวคือ มาตรการทางสังคมภาคบังคับ เมื่อเราผ่อนเรื่องหนึ่งลงไป แสดงว่าที่เหลือต้องเข้มข้นขึ้นถึงจะรักษาสมดุลได้ มาตรการทางสาธารณสุขต้องเข้มข้นขึ้น เรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคลต้องไม่การ์ดตก เรื่องความรอบรู้ก็ต้องเข้มข้นขึ้น รวมถึงมาตรการทางสังคมภาคสมัครใจก็ต้องเข้มข้นขึ้น จะต้อง work from home ให้มากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนสถานประกอบการที่เปิดอยู่แล้ว ที่ยังไม่โดนปิด ทุกแห่งต้องพยายามลดความแออัด ป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลให้เข้มแข็งขึ้น เพราะกิจการที่ไม่โดนปิดไม่ได้หมายถึงว่าไม่เสี่ยง แต่เป็นเพราะเป็นกิจการที่อาจมีความจำเป็นที่ต้องเปิด

            อย่าง supermarket ที่เปิดได้เพราะมีความจำเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่า supermarket ไม่มีความเสี่ยง ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ supermarket ปลอดภัยกว่านี้ เช่นทำอย่างไรให้คนเข้าไปแล้วไม่แออัดกว่าปัจจุบัน หรือทำให้เมื่อซื้อของแล้วสามารถกลับบ้านได้เร็วๆ ไม่ต้องรอคิวจ่ายเงินนานๆ ทาง  supermarket เพิ่มช่องแคชเชียร์ให้มากขึ้นได้หรือไม่ เช่นเดียวกับสถานที่บริการประชาชนของภาครัฐที่คนไปติดต่อ อาทิ สำนักงานที่ดินที่คนมักแน่น หรือขนส่ง ต้องดูว่าต่อไปจะทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้มีความแออัดน้อยลง  

            เรื่องมาตรการผ่อนปรนที่ให้มีการเปิดกิจการ 6 กลุ่มตั้งแต่ 3 พ.ค. การเปิดแต่ละอย่างต้องไม่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากเปิดแล้วมีความเสี่ยงและเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยทยอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ก็ต้องมีมาตรการอย่างอื่นเข้าไปจัดการ โดยมาตรการพวกนี้ก็ต้องเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากมีผู้ป่วยมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่งก็ต้องแตะเบรกอีก ถ้าเราไม่อยากให้ชีวิตเป็นแบบเดินๆ หยุดๆ แบบนี้ก็ต้องให้ความร่วมมือในการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังกันต่อไป

            ผลกระทบโควิดรอบนี้ไปไกลมาก ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข จึงต้องพิจารณาเรื่องมาตรการทางสังคมให้ดี มาตรการทางสาธารณสุขต้องเข้มข้นเข้มแข็งเต็มที่ เพื่อที่เราจะใช้มาตรการทางสังคมภาคบังคับที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้น้อยๆ เพราะถ้ามาตรการทางสาธารณสุขสามารถควบคุมการแพร่เชื้อให้อยู่ในระดับต่ำได้ ประชาชนมีความรอบรู้เรื่องสุขภาพเป็นอย่างดี ปฏิบัติตัวดี ป้องกันตัวเองเต็มที่  ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น สนับสนุนมาตรการทางสังคมภาคสมัครใจ ช่วยกัน work from home, learn  from home เท่าที่เราสามารถทำได้ เราก็ไม่ต้องใช้มาตรการภาคบังคับ

            ...ยกตัวอย่างเอาง่ายๆ เช่นเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. ถ้าคนไทยพร้อมใจกันให้ความร่วมมือไม่ออกไปกินเหล้ากันถึงตี 3 ตี 4 ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีเคอร์ฟิว เรื่องเหล่านี้มันมีปัจจัยหลายเรื่องเกี่ยวข้อง  อย่างอันแรกเลย คนไทยเข้าใจกันหรือไม่ว่าตอนนี้ความเสี่ยงยังมีอยู่ ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องทำความเข้าใจ

                "ต้องบอกกับคนไทยว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะมานั่งฉลองชัยหรือประกาศชัยชนะ ตอนนี้ยังเป็นเวลาที่เรายังต้องระมัดระวังกันต่อไป"

...หากประชาชนยังไม่รู้ ต้องทำให้เขารู้ พอเขารู้แล้ว เขาก็จะถามว่าแล้วต้องทำตัวอย่างไร เราก็ต้องบอกเขาในเรื่องนี้

             -กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมควบคุมโรคสามารถถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นนำไปใช้งานในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกรมควบคุมโรค เช่น ระบบการตรวจสอบ ป้องกันและแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างไร เพราะนักระบาดวิทยาหลายคนบอกตรงกันว่าอนาคตยังไงก็ต้องมีโรคระบาดใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก?

            ในขณะที่เราทำงานไปเราก็สรุปบทเรียนไป อะไรที่สามารถแก้ไขได้เลยก็แก้ไขเลย อะไรที่ต้องรอก็รอ เมื่อการระบาดจบลงเราก็จะเข้าสู่ระยะฟื้นฟู เราก็จะสรุปบทเรียนใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง บทเรียนเหล่านี้ ก็จะถูกบรรจุไว้ในแผนปรับปรุงและยกระดับความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศต่อไป

            ในเชิงการจัดการกับภาวะฉุกเฉินในขณะนี้ มันไม่เพียงแต่ภาครัฐที่เข้ามาจัดการ ภาคเอกชนก็ต้องเข้ามาจัดการด้วยเหมือนกัน เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่รัฐต้องเข้าไปจัดการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการให้ได้

            ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง หน้ากาก โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เรามี supply เพียงพอในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งในภาวะฉุกเฉินความต้องการหน้ากากจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็อยู่ได้ในภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 ภาคเอกชนยินดีลุกขึ้นมาผลิต จะทำอย่างไรให้เขาแข่งในตลาดโลกได้ด้วยในภาวะปกติ 

            สมมุติภาวะปกติเราใช้ N95 แค่เดือนละ 1 แสนชิ้น แต่ในภาวะฉุกเฉินสมมุติเราใช้เดือนละ 1 ล้านชิ้น ถ้าเอกชนผลิตแล้วขายให้ภายในประเทศอย่างเดียว หากขาย 1 แสนชิ้นต่อเดือน ถามว่าแล้วเขาจะเตรียมกำลังการผลิตไว้ให้ถึงหนึ่งล้านชิ้นหรือไม่ ถ้าจะพูดถึงเฉพาะเหตุผลทางธุรกิจเพียงอย่างเดียวก็ต้องบอกว่าไม่ เพราะเอกชนเขาจะเตรียมผลิตไว้ทำไม เพราะเขาต้องลงทุนเพิ่มอีกมากทั้งเรื่องของเครื่องจักร ทั้งโรงงาน และเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าก็ได้

            ตัวอย่างอีกเรื่องคือเรื่อง เตียงคนไข้ สมมุติคนไทยนอนเตียงโรงพยาบาลเฉลี่ยคืนละ 1 พันเตียงในภาวะปกติ การเตรียมก็ต้องเตรียมไว้ให้สามารถรองรับภาวะปกติได้ นั่นก็คืออาจเตรียมไว้ 1 พันเตียงและอาจเผื่อไว้อีกสัก 100 เตียง ถามว่าจะเตรียมไว้มากกว่านี้ได้หรือไม่ ก็ย่อมทำได้ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ก็ต้องลงทุนมากขึ้น โรงพยาบาลจะต้องใหญ่มากขึ้น ต้องมีหมอมีบุคลากรมากขึ้น มีเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อไว้เผื่อสำหรับเหตุฉุกเฉิน แต่จะต้องเผื่อไว้ขนาดไหน?

            ...อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้ แม้แต่ในโรงพยาบาลของประเทศที่พัฒนาแล้วเตียงยังไม่เพียงพอเลย เห็นได้จากเช่นที่สหรัฐอเมริกาที่คนไข้แน่น และสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไม่รับคนไข้โควิดทุกคนไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล รวมถึงอังกฤษ แม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเตียงเขายังไม่พอ ของประเทศไทยเรา ยังรับคนไข้โควิดทุกคน เรื่องลักษณะแบบนี้ผมว่าทั่วโลกไม่มีใครเคยผ่านมาก่อน สุดท้ายก็ต้องกลับไปสู่วิธีคิดที่ว่าแค่ไหนถึงจะพอดี คือหากเราเตรียมสำหรับภาวะฉุกเฉิน แปลว่าต้องมีการลงทุน เพราะหากภาวะปกติเราต้องการหนึ่งพันเตียง แล้วเราจะเตรียมไว้กี่เตียงสำหรับภาวะฉุกเฉิน เพราะมันไม่ใช่แค่เตียง แต่เป็นเรื่องของคนและอุปกรณ์ที่ต้องลงทุนทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องยา วัคซีน ซึ่งหากเราไม่มีศักยภาพในการพัฒนาวัคซีนด้วยตัวเอง วัคซีนที่ประเทศอื่นผลิตได้เขาจะขายให้ไทยหรือไม่? และเราต้องรอนานแค่ไหนกว่าจะได้วัคซีน ของพวกนี้เป็นโจทย์ที่คนไทยต้องตอบ ไม่ใช่รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

            เรื่อง Health Security หรือความมั่นคงด้านสุขภาพ จริงๆ เรื่องนี้เราเพิ่งเริ่มลงมือทำกัน เราอาจมีต้นทุนเดิมอยู่แล้วค่อนข้างเยอะ แต่มันก็มีเรื่องใหม่ที่เราต้องเข้าไปจัดการเยอะเหมือนกัน อย่างเรื่อง ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือเรื่อง ระบบการบัญชาเหตุการณ์เพื่อควบคุมโรค รวมถึงเรื่องกองหนุนกำลังเสริมที่ต้องระดมมาให้ได้ในภาวะฉุกเฉิน จากภาวะปกติที่เคยมีกำลังอยู่ตามปกติ แต่ภาวะฉุกเฉินต้องระดมกำลังมาเสริมให้ได้ ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องที่ต้องเดินเร็วๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีกรอบอยู่แล้วว่าต้องพัฒนาอะไรบ้าง เราต้องพัฒนาตามนั้น

                -ที่ผ่านมารัฐบาลต่างๆ ดูเหมือนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับระบบงานสาธารณสุข การป้องกันโรคระบาด แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ถึงเวลาต้องกลับมาทบทวน ให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุขมากขึ้นหรือไม่?

            ใจผมคิดว่าเรื่องพวกนี้ต้องให้ความสำคัญ ต้องมีการลงทุน และจะต้องใช้คนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพวกนี้เหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องมิติทางด้านการรักษา หรือการทำโรงพยาบาลให้ใหญ่ขึ้น  เรื่องนี้เป็นเรื่องของการลงทุนระบบโครงสร้าง ระบบป้องกันโรค โดยจะต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เรามีทีมป้องกันโรคที่เก่งและมีจำนวนมากกว่านี้ รวมถึงการผลิต นักระบาดวิทยา ที่มีมา 40 ปีแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

            ...ทุกรัฐบาลพูดว่า "สร้างนำซ่อม" คือสร้างเสริมสุขภาพ นำซ่อมสุขภาพ ต่างพูดให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคหมด แต่ผมยังว่าไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทุกๆ 100 บาท 95 บาท เป็นเรื่องของการซ่อม เรื่องของการป้องกันแค่ 5 บาท ซึ่งนับว่ายังน้อยมาก เวลาเราพูดถึงงบสุขภาพสาธารณสุขจะไปที่การรักษาโรคมากกว่า การมาสร้างระบบการจัดการกับภาวะฉุกเฉินยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ งบป้องกันก็ 5 เปอร์เซ็นต์แล้ว แล้วงบเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพและการป้องกันการระบาดใหญ่ ยิ่งน้อยเลย

            ผลกระทบของโรคระบาดโควิดรอบนี้ไม่รู้ว่ากี่แสนล้านบาท กี่ล้านล้านบาท แต่ปีหนึ่งๆ เราลงทุนเรื่องนี้แค่หยิบมือเดียว ไม่ถึงร้อยล้านด้วยซ้ำ เราคิดว่าแค่เราลงทุน 50-100 ล้านบาท เพื่อไปแก้ปัญหาระดับล้านล้านบาทหรือ ผมว่าไม่เพียงแต่ภาครัฐที่ต้องลงทุนส่วนนี้มากขึ้น แต่ต้องทุกภาคส่วน

            นพ.ธนรักษ์-รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในการต่อสู้ รับมือกับโรคระบาดในประเทศไทยให้ฟังด้วยว่า ผมจบกลับมาทำงานตอนปี 2543 ซึ่งตอนปี 2546 ที่เจอไวรัสซาร์ส ผมยังเป็นแค่พลทหาร (หมายถึงเป็นทีมสอบสวนโรค) ก็ทำงานตั้งแต่เป็นพลทหารมาจนถึงตอนนี้ แต่ละครั้งที่ทำงานสถานะบทบาทหน้าที่ก็ไม่เหมือนกัน ความเหนื่อยยากความกดดันจะไม่เหมือนกัน ตอนเราเป็นพลทหารก็อาจไม่ต้องคิดมาก เขาให้เราไปสอบสวนโรคเราก็ไป แต่ตอนนี้พอเติบโตขึ้นความรับผิดชอบก็มากขึ้น

            ปัญหาแต่ละช่วงก็แตกต่างกัน โดยผมกลับมาทำงานที่กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ก็เมื่อ 6-7  ปีที่แล้ว ตอนนั้นก็มีหลายเรื่อง เช่น ไข้หวัดนกที่เมืองจีน ไวรัสอีโบลาที่แอฟริกา และไวรัสเมอร์สที่เกาหลีใต้และตะวันออกกลาง ซึ่งสุดท้ายก็มีคนไข้โรคเมอร์สเดินทางเข้ามาป่วยในประเทศไทย 3 ราย  และยังมีโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

            ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา แต่รอบนี้โควิดมันระบาดเร็วและเป็นโรคที่มีความรุนแรง  เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพสูงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จำนวนผู้ป่วยก็มาก หากไม่ระวังจำนวนผู้เสียชีวิตก็จะมาก แล้วตอนนี้ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม น่าจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมหาศาล

            เราถามปิดท้ายว่า สำหรับประเทศไทยตอนนี้ถือว่าใกล้จบหรือยังสำหรับสงครามไวรัสโควิด-19

            นพ.ธนรักษ์-รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ตอบแบบเน้นย้ำว่า "ยังไม่จบ ต้องอีกสักพัก ก็จนกว่าจะมีวัคซีน โอกาสที่เราจะกำจัดโรคให้หมดไปจากประเทศไทย โอกาสไม่ได้สูงมาก แม้ว่าเราจะไม่มีรายงานการตรวจสอบผู้ป่วย แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่มีผู้ป่วย"

                                                                                                            โดย         วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"