แฟลชม็อบไล่รบ.หลังโควิด รอบนี้อาจไม่ง่าย!


เพิ่มเพื่อน    

       นับจาก 11 พ.ค.เป็นต้นไปก็เหลือเวลาอีกประมาณสิบวัน การเมืองไทยที่อยู่ในสภาพนิ่งๆ มาร่วม 2 เดือนกว่า นับจากวิกฤติโควิด-19 ก็น่าจะกลับมามีสีสันให้ติดตามอีกครั้งเมื่อมีการเปิดประชุมสภาฯ ตั้งแต่ 22 พ.ค. แต่คาดว่ากว่าจะมีการประชุมกันได้ก็คงสัปดาห์ถัดไป

                เปิดสภาฯ รอบนี้มีหลายประเด็นให้ต้องพิจารณา แต่ที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตามก็คือ การที่ปัญหาโควิดในหลายบริบททางสาธารณสุข-สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง จะถูกลากเข้าสภาฯ ที่จะทำผ่านการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดสำคัญ 3 ฉบับ ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนและพยุงระบบเศรษฐกิจ-การเงิน ไม่ให้พังทั้งระบบ นั่นก็คือ 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท 2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 500,000 ล้านบาท 3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน 400,000 ล้านบาท

                ซึ่งเวลานี้ฝ่ายค้านบางพรรคเริ่มเตรียมหาข้อมูล และเตรียมกำหนดตัว ส.ส.-ขุนพลของพรรคที่จะทำหน้าที่อภิปรายชำแหละ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับไว้แล้ว

                นั่นคือการเมืองในสภาฯ ที่จะเกิดขึ้นหลัง 22 พ.ค. ขณะที่การเมืองนอกสภาฯ ก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะหากเมื่อวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง จนสุดท้ายพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจไม่ยอมต่ออายุ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่จะครบกำหนด 31 พ.ค. ที่อาจส่งผลให้การเมืองนอกสภาฯ กลับมาขยับได้อีกรอบ 

                ก็มีการคาดหมายและประเมินกันทางการเมืองว่า ถึงเวลานั้น แฟลชม็อบ-นักศึกษา ที่เคยพรึ่บกันหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ภายใต้การชูสโลแกน ไม่เอารัฐบาลประยุทธ์-ดันแก้ รธน. จะกลับมาอีกรอบ

                ดูได้จากความเคลื่อนไหวเมื่อวันเสาร์ที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายจัดตั้งแฟลชม็อบดังกล่าว ได้ประกาศจัดตั้ง เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ คนป.

                ที่แม้ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นระบบ เพราะคงรอให้สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงเสียก่อน แต่ก็แสดงท่าทีทางการเมืองไว้แล้วถึงความเห็นต่อรัฐบาลชุดนี้ เช่น ระบุว่าการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างร้ายแรง

                เห็นแบบนี้แล้ว คาดการณ์ได้ว่า การเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบ-นักศึกษา น่าจะกลับมาอีกรอบยามเมื่อวิกฤติโควิดคลี่คลาย

                อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อจากนี้ โดยเฉพาะยามเมื่อวิกฤติโควิดเริ่มคลี่คลายลง โดยเฉพาะแฟลชม็อบ สถานการณ์อาจแตกต่างจากตอนช่วงที่แฟลชม็อบนักศึกษาเริ่มก่อตั้งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม ที่เกิดขึ้นหลังมีการยุบพรรคอนาคตใหม่และหลังสภาฯ ปิดประชุม ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น

                1.ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยนับจากนี้ต้องไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก ต้องไม่เกิดการระบาดรอบ 2 โดยเฉพาะหลังเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการคลายล็อก ที่หากทำได้ ย่อมถือเป็นผลงานรัฐบาล

                2.รัฐบาล-พลเอกประยุทธ์ ต้องสามารถชี้แจงข้อกังขา-คำอภิปรายของฝ่ายค้านในการประชุมสภาฯ ช่วงพิจารณาพระราชกำหนดทุกฉบับที่ออกมาเกี่ยวกับโควิดได้หมดทุกเรื่อง แจงได้ทุกข้อกล่าวหา โดยเฉพาะกรณีที่ฝ่ายค้านพยายามอ้างว่ามีการออก พ.ร.ก.เพื่อเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ

                3.รัฐบาลต้องทำให้เกิดการรีสตาร์ทระบบเครื่องยนต์เศรษฐกิจทุก sector ให้กลับมาขับเคลื่อนต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ SME โดยเฉพาะต้องทำให้ไม่เกิดการว่างงานมากจนเกินไป และรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชนแต่ละกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนให้ทั่วถึงและรวดเร็ว

                4.รัฐบาลต้องไม่ทำให้เกิดข้อครหาในเรื่องการทุจริต-แบ่งเค้ก-เอื้อผลประโยชน์ จากการใช้เงินงบประมาณเกี่ยวกับโควิด ที่ออกมาตาม พ.ร.ก.ต่างๆ โดยเฉพาะเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องใช้เงินทุกบาทให้คุ้มค่า เกิดผลสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชน พยุงเศรษฐกิจและสร้างการเตรียมพร้อมทางระบบสาธารณสุขของประเทศ

                5.เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อใกล้ครบช่วงรัฐบาลทำงานครบ 1 ปี ประมาณต้นเดือนสิงหาคม พลเอกประยุทธ์ต้องปรับ ครม.ให้ออกมาดีที่สุด โดย รมต.คนไหน ประชาชนไม่ยอมรับ ก็ต้องปรับออก ไม่ใช่มัวแต่เกรงจะเกิดแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ

                6.ต้องให้เห็นทิศทางการแก้ไข รธน.ออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าการแก้ไข รธน.คือ 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยอย่างน้อยก่อนสิ้นปี พรรคร่วมรัฐบาล-สภาฯ ที่กำลังศึกษาเรื่องการแก้ไข รธน.ผ่าน กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน. ควรต้องมีความชัดเจนแล้วว่า จะเสนอแนวทางการแก้ไข รธน.อย่างไร และเหตุผลที่ควรแก้ หรือหากไม่แก้ เพราะอะไร เพื่ออย่างน้อยให้ประชาชนพอเห็นทิศทางได้ ก็จะทำให้แรงกดดันการแก้ไข รธน.จากฝ่ายค้านและแฟลชม็อบลดทอนลงไปได้

                หากพลเอกประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งต่างๆ ข้างต้นได้ ก็พอเชื่อได้ว่า คงทำให้กลุ่มต่างๆ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลหลังโควิดจบลงคงต้องคิดหนัก ในการสร้างกระแสเบื่อประยุทธ์ ไม่เอารัฐบาล ที่อาจแป้กและเจอกระแสตีกลับเสียเอง.             


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"