ปชป.เสียงแตกอุ้มกม.3ฉบับ!


เพิ่มเพื่อน    

 ฝ่ายค้านขู่ หลังเปิดสภาเจอกันแน่ จองกฐินชำแหละ พ.ร.ก.โควิด 3 ฉบับปลายเดือนนี้ อ้างหวังป้องกันรัฐบาลตีเช็คเปล่า ประชาธิปัตย์เสียงแตก หนุน-ไม่หนุนญัตติด่วนพรรคก้าวไกลตั้ง กมธ.สอบงบสู้โควิด 1.9 ล้านล้าน

    เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมพิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในปลายเดือนนี้ว่า แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านรวบรวมเสียง ส.ส.ได้ไม่ครบ 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ไม่สามารถเสนอให้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้ แต่ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน
    โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมข้อมูลอภิปรายพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และ พ.ร.บ.โอนงบฯ เมื่อเปิดการประชุมสภาสมัยสามัญไว้แล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมกันตรวจสอบ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทอย่างใกล้ชิด ต้องนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ให้มีการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาล การเยียวยาที่ผ่านมาล้มเหลว ล่าช้า ไม่ครอบคลุม ขาดประสิทธิภาพ มีประชาชนตกหล่นเข้าไม่ถึงการเยียวยาจำนวนมาก ปัญหานี้จะส่งผลกระทบไปยังประชาชนทุกกลุ่ม เกษตรกรที่ได้รับการเยียวยาล่าช้าอยู่แล้ว การขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความยุ่งยาก เกษตรกรทุกครัวเรือนต้องได้รับการเยียวยาถ้วนหน้า ทั่วถึง ในเวลาที่รวดเร็ว
    “รัฐบาลไม่ควรฉวยเอาจำนวนผู้ติดเชื้อลด ที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และพื้นฐานที่ดีของระบบสาธารณสุขประเทศ มากลบความไร้ประสิทธิภาพการเยียวยาและความล้มเหลวทางเศรษฐกิจอันเกิดจากมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล” นายอนุสรณ์กล่าว
    ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่ 209 ส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าชื่อยื่นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญว่า ได้หารือกับที่เคยสนับสนุนเรื่องนี้ เห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว วันนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาออกมาแล้ว วันที่ 22 พฤษภาคมได้เริ่มประชุมแน่นอน แม้จะเข้าใจฝ่ายค้าน เพราะยอดผู้ติดเชื้อลดลง แต่ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ลดลงเลย จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลหนีความรับผิดชอบในการเข้ามาแก้ไขไม่ได้อยู่แล้ว จึงอยากให้ฝ่ายค้านอดทนรออีกนิด และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ที่เหลืออยู่ลงพื้นที่ เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนพอเตรียมแจ้งต่อสภาเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการได้ เพราะเมื่อเปิดประชุมวันแรก รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ต้องเป็นลำดับวาระแรกของการพิจารณาอยู่แล้ว 
    ส่วนท่าทีต่อญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามการตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติการระบาดของโคโรนา 2019 ที่ส.ส.พรรคก้าวไกลนั้น นายอัครเดชกล่าวว่า ในส่วนของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นเบื้องต้นเป็น 2 ทาง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงเข้าสู่การพิจารณาของสภา ที่ประชุมส.ส.คงหาข้อยุติกันอีกครั้งเพื่อนำท่าทีไปหารือกับวิปรัฐบาล
    ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่มีสื่อหลักของญี่ปุ่น นิกเกอิเอเชียนรีวิว วิจารณ์รัฐบาลในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะรัฐบาลไทย โดยระบุไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่ามีการใช้ข้ออ้างการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการควบรวมอำนาจของตนเอง และใช้กีดกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและฝ่ายค้าน ดังนั้นในสถานการณ์ที่การระบาดของไวรัสดีขึ้นตามลำดับ จึงควรที่รัฐบาลจะต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้แล้ว และควรจะต้องเริ่มผ่อนคลายให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ที่ผ่านมาต้องขอชื่นชมความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยที่ทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่อย่างไร ความจริงคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลับเป็นอุปสรรคสำหรับประชาชนในการทำมาหากินและปัญหาในการเดินทางกลับบ้านของประชาชนจำนวนมาก 
    นายพิชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้สื่อหลักญี่ปุ่นยังวิจารณ์รัฐบาลไทยในการใช้เงินจำนวนมากกว่า 58,000 เหรียญฯ (1.9 ล้านล้านบาท) ว่าจะเป็นการแจกเพื่อหาเสียงให้กับตัวเอง อย่างไรก็ดี เงินที่ใช้เยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนถือเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ แม้กระนั้น การเยียวยาของรัฐบาลยังมีปัญหาความไม่ทั่วถึง คนลำบากจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยา แต่เงินกู้อีก 400,000 ล้านบาทที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะไปใช้ฟื้นเกษตรกรและฐานราก เกรงว่าจะเป็นเบี้ยหัวแตก และจะไปซ้ำซ้อนกับโครงการเดิมที่แต่ละกระทรวงมีแผนงานอยู่แล้ว สุดท้ายห่วงว่าจะกลายเป็นการนำเงินกู้ก้อนมหาศาลดังกล่าวไปใช้เพื่อเอาใจ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อรักษาตำแหน่งของตนและพวกพ้อง ที่กำลังมีปัญหาความไม่พอใจของ ส.ส.จำนวนมากใน พปชร. ที่ต้องการเปลี่ยนนายอุตตม สาวนายน ออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อให้เปลี่ยนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งจะรวมไปถึงการจะปลดนายสมคิดออกจากตำแหน่งด้วยจากผลงานการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ดังนั้น จึงอยากให้มีการใช้เงินเพื่อพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการใช้เพื่อรักษาตำแหน่ง เพราะจะเสียเงินโดยไม่เกิดประโยชน์ และประชาชนทั้งประเทศจะต้องมาใช้หนี้ก้อนมหาศาลนี้แทน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องมาแบกภาระอย่างหนักในอนาคต
    นายพิชัยกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี หากมองย้อนหลัง 5 ปี รัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลโดยอ้างว่าเพื่อช่วยเกษตรกรและฐานราก แต่ความเป็นอยู่ของเกษตรกรและฐานรากกลับไม่ได้ดีขึ้นเลย การใช้เงินตาม พ.ร.ก.ที่ออกมาอีก 4 แสนล้าน เพื่อเรื่องนี้ก็อาจจะไม่ได้ผลเหมือนที่รัฐบาลเคยทำมาแล้วตลอดหลายปี ซึ่งอาจจะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนโครงการเงินกู้ไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาท สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัติย์ หรือการเข้าช่วยการบินไทยทั้งที่โอกาสรอดทางธุรกิจมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย 
      "สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการต้องพัฒนาวิสัยทัศน์ให้เห็นว่าอนาคตของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังวิกฤติไวรัส แล้วพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับอนาคตโดยมุ่งเน้นการปรับระบบราชการ การสร้างธุรกิจในแนวทางใหม่ และการเพิ่มการจ้างงาน โดยที่การว่างงานของคนจำนวนมากประมาณ 7-10 ล้านคน จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต และรัฐบาลยังไม่มีแนวทางที่จะรับมือแต่อย่างไร" นายพิชัยกล่าว 
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า แม้เวลานี้เราจะมีความภาคภูมิใจกับตัวเลขที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยลง แต่เราอาจลืมก่อนหน้านี้ไปว่าเราได้รับการปฏิบัติการไอโอจะโดยทางตรงทางอ้อมก็ตามที่ให้คนไทยเกิดความหวาดกลัวกันทั่วหน้าว่า หากไม่มีการปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง ประเทศไทยจะติดเชื้อหลายแสนคน และจะตายหลายหมื่นคน แม้ว่าปฏิบัติตามแล้วก็ยังติดเชื้อหลายหมื่นคน แล้วจะตายหลายร้อยคน เหล่านี้เราผ่านจุดที่จะต้องพิสูจน์คือผ่านวันที่ 15 เมษายนมาร่วมเดือน ก็ปรากฏว่าข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้เป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง เพราะได้พิสูจน์แล้วทั้ง 2 ทฤษฎี ไม่ว่าจะมีการปฏิบัติแบบเข้มข้นหรือไม่มีการปฏิบัติ ตัวเลขผิดทั้งหมด
       นายจตุพรกล่าวว่า มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เเพทย์ท่านหนึ่ง ที่มีบทบาทหน้าที่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ก็ได้ถามว่าสถานการณ์โรคจริงๆ ของประเทศไทยนั้น เราอยู่ในสถานการณ์ใด ซึ่งอาจารย์แพทย์ก็ได้พยายามอธิบายว่าสาเหตุที่ประเทศไทยการแพร่เชื้อไม่รุนแรงเหมือนในหลายประเทศ ปัจจัยที่สำคัญคือคณะแพทย์ไทยไปจัดการต้นเหตุ ณ จุดเริ่มต้นกันได้ก่อนหลังจากนั้นก็ดำเนินตามมาตรการต่างๆ อย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตและมีการสอบถามแลกเปลี่ยนกันว่า วัคซีนที่จะมาใช้ป้องกันโควิด-19 นี้จะต้องใช้ระยะเวลาอีกกี่เดือน ก็ได้รับคำตอบที่มีวิทยาศาสตร์เป็นรายละเอียดรองรับมากมาย โดยบอกว่าวัคซีนจะได้ภายใน 1 ปีครึ่ง หมายความว่าเราจะอยู่กับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปถึงเดือนธันวาคม 2564 แม้เเพทย์บางคนจะบอกว่าจะเป็นเดือนเมษายน 2564 แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์เเพทย์ท่านนี้บอกว่า บทเรียนหลายโรคที่มีการยกตัวอย่างกันมากมาย ก็คาดการณ์ว่าต้องเป็นธันวาคม 2564 ประเทศไทยถึงจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดังนั้นไม่ว่าจะใช้สัดส่วนใดในการประเมิน ก็ยังคงต้องใช้เวลาร่วมปี ก็พอจะเห็นชะตากรรมของประเทศเช่นเดียวกันว่ามาตรการแจกเงินที่ประชาชนไปร้องทุกข์สิ้นสุดในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ และการพิจารณาทบทวนสิทธิ์จะแล้วเสร็จในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ก็จะรู้ว่าคนตกหล่นไปประมาณ 1.7 ล้านคน ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาใหญ่มากกว่านั้นคือ หากจ่ายเงินเยียวยาตรงเวลาครบ 3 เดือน แล้วหลังจาก 3 เดือนจะว่ากันอย่างไรต่อไป 
    ประธาน นปช.กล่าวต่อว่า มีการเปรียบเปรยกันว่าสภาพรัฐบาลปัจจุบัน หากเปรียบเทียบกับหน่วยงานก็คือการบินไทย ที่รอเจ๊งทั้งคู่ แต่ก็ประคับประคองกัน ว่าจะเจ๊งกันไปแบบเบ็ดเสร็จเมื่อไหร่ เพราะในยามที่ประเทศเป็นปกติ การบินไทยก็เจ๊ง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากการเลือกตั้ง หรือจะมาจากการรัฐประหาร คือมีนายกรัฐมนตรีคนใดบ้างที่อยู่ในยุคที่การบินไทยได้กำไร ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่การบินไทยเคยเป็นสายการบินแห่งความภาคภูมิใจ แต่ด้วยความไม่เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา เหล่านี้คือความท้าทายของการบินไทย ต้องการรักษาสายการบินแห่งชาตินี้ไว้ โดยเสนอให้เอกชนถือหุ้น 39% ส่วนรัฐถือหุ้น 60% เพราะการบินไทยและสหภาพการบินไทยก็รู้ดีว่า หากเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เอกชนกลายเป็นเสียงข้างมาก ก็จะไม่ปล่อยให้การบินไทยเป็นเช่นนี้ ดังนั้นหากการบินไทยยังไม่ทบทวนตัวเอง ยังเกลือกกลั้วกับทางการเมืองโดยไม่รู้จักแยกแยะสมบัติชาติ ทุกคนก็มีความอึดอัด จึงควรจะพอได้แล้วกับทัศนคติทางการเมืองแบบตื้นๆ ไม่เช่นนั้นก็เป็นเหมือนหัวข้อที่ตนบอกว่าไม่ได้แช่ง อย่างไรก็พัง อีกทั้งมองว่ารัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในตอนนี้เปรียบเสมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน หรือเผาป่าเพื่อฆ่าหนูตัวเดียว. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"