'ทอน'โวยลากปชช.แบกหนี้อุ้มบินไทย! โชว์วิชันสอนรัฐบาลปล่อยเจ๊งเปิดเสรีน่านฟ้า


เพิ่มเพื่อน    

11 พ.ค. 63 -  ช่วงค่ำวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เฟซบุ๊กไลฟ์แสดงความคิดเห็นกรณีแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ค้ำประกันกู้เงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ใช้ในการดำเนินงานและชำระหนี้ระยะสั้นว่า 

"รัฐบาลอุ้มการบินครั้งนี้ไม่ได้ใช้เงินเพียงแค่ 50,000 ล้านบาท เพราะใช้เพียงหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง และจ่ายเงินเดือนพนักงาน ในขณะที่ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว และสนามบินปิดอยู่ ต่อไปถ้าการบินไทยล้มละลาย เจ้าหนี้ได้เงินทุกบาททุกสตางค์จากรัฐบาล แต่ยังมีก้อนที่สองที่พูดถึงกันน้อย คือการเพิ่มทุนเพื่อปรับปรุงงบการเงินให้แข็งแรง และเดินหน้าธุรกิจในระยะยาวอีก 80,000 ล้านบาท รวมแล้วจะต้องใช้เงิน 130,000 ล้านบาท

ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการอุ้มการบินไทยแบบรัฐบาล เพราะแบบที่รัฐบาลทำอยู่ปัจจุบันนั้น ถ้าการบินไทยไปได้ดี ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชนะ ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแพ้ ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นตามมาตรการของรัฐบาลนี้ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ กับผลประกอบการของการบินไทย ไม่ว่าจะขาดทุนเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ากำไรพวกเขาได้ประโยชน์ กลับกันในส่วนของประชาชน ถ้าการบินไทยไปได้ดี ประชาชนไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนจะต้องเป็นคนแบกหนี้ เป็นคนที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มทุนลงไป ดังนั้นผมเห็นว่าเรามีรูปแบบอื่น มีวิธีแบบอื่นที่จะจัดการปัญหาของการบินไทยในวันนี้ได้ดีกว่านี้

ส่วนประมาณการณ์งบกำไรขาดทุนในแผนฟื้นฟูระหว่างผู้บริหารการบินไทยกับรัฐบาล ที่ประมาณการว่าในปีนี้จะติดลบ 59,000 ล้านบาท แต่ปี 2564 จะกลับมามีกำไร 4,500 ล้านบาท และในปี 2567 จะมีกำไร 13,000 ล้านบาทนั้น ในฐานะที่ทำธุรกิจ เป็นไปไม่ได้ที่การบินไทยจะลดต้นทุน 42% ภายใน 2 ปี เพราะผมไม่เชื่อมั่นแผนธุรกิจนี้ และผู้ที่ทำแผนธุรกิจนี้รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้ขอเงินแค่ 50,000 ล้านบาท แต่ขอเงินจากรัฐบาลถึง 130,000 ล้านบาท ถ้าเป็นไปตามแผนธุรกิจนี้จริง ไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เงินและเพิ่มทุนเช่นนี้

แต่แผนธุรกิจนี้ทำขึ้นมาเพื่อให้สวยหรู สามารถขอเงินกระทรวงการคลังได้ เพื่อที่จะบอกว่าปีต่อไปจะมีกำไร จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การบินไทยไม่สามารถปรับปรุงตัวเองให้กลับมามีกำไรยั่งยืนได้ ในปีที่แล้วขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจะปรับต้นทุนจาก 200,000 ล้านบาท ให้เหลือ 116,000 ล้านบาท ต้องลดต้นทุนกว่า 40% ภายใน 2 ปี เป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นจึงไม่มีความเชื่อมั่นในแผนธุรกิจฉบับนี้เลย ว่าภายในปีหน้าปีเดียวการท่องเที่ยวจะกลับมา เราจะสามารถลดต้นทุนได้ เราจะขายฝูงบิน (Fleet) ได้ และจะกลับมามีกำไรได้ 4,500 ล้านบาทภายใน 1 ปี

การบินไทยไม่ใช่สายการบินเดียวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ยังมีสายการบินอื่นอีกด้วย ที่ผ่านมาเงินเดือนและสวัสดิการของการบินไทย สูงกว่าสายการบินอื่นๆ ในเอเชีย แต่ประสิทธิภาพต่อพนักงานหนึ่งคนต่ำ ค่าเฉลี่ยพนักงาน 1 คนของการบินไทย สร้างยอดขายได้เพียง 8.8 ล้านบาทต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสายการบินอื่น 11.7 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่าการบินไทยมีต้นทุนต่อพนักงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบิน แต่ขณะเดียวกันมีประสิทธิภาพต่อหัวพนักงานต่ำกว่า แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้บริหารและการบริหารองค์กร ที่ไม่สามารถเอาศักยภาพของพนักงานมาแปรเป็นรายได้และกำไรได้ ดังนั้นคงหนีไม่พ้นการปฏิรูปครั้งใหญ่ การปรับโครงสร้างการบริหาร การปรับโครงสร้างหนี้ และการปรับโครงสร้างทุนของการบินไทย หากยังเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีสายการบินแห่งชาติต่อไป

เรามีทางเลือกอยู่ 4 ทาง คือ 1.เปิดเสรีน่านฟ้า รัฐบาลถือหุ้นการบินไทยเหลือ 0% แล้วให้สายการบินทุกแห่งแข่งขันอย่างเสรี 2.เปิดเสรีน่านฟ้า หุ้นการบินไทยที่รัฐบาลถือต้องไม่เกิน 25% แต่ให้กลไกตลาดมีอำนาจพอที่จะกำกับการบินไทย 3.ทำแบบปัจจุบัน ที่รัฐบาลถือหุ้นมากกว่า 51% 4.รัฐบาลถือหุ้นการบินไทย 100% แต่ปัจจุบันมีหนทางคือ 1.ปล่อยการบินไทยล้มละลายไปเลย รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่ง ให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการ ถ้ามีคนสนใจ ผู้ซื้อรายใหม่จะไปดำเนินการต่อเอง 2.การเข้าไปช่วยการบินไทยปล่อยกู้ในระยะสั้นเพื่อนำไปสู่การขาย หรือล้มละลายอย่างมีการจัดการ (Bridge Loan) 3.ยึดการบินไทยกลับมาเป็นของรัฐ (Nationalization) ตัดผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ออกให้หมด ซึ่งจะไปสู่จุดจบแบบไหนก็ได้ 

เช่น หากปล่อยให้ล้มละลาย จำเป็นจะต้องนำมาสู่การเปิดน่านฟ้าเสรี เพราะการบินไทยได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยไม่ได้เปิดเสรีน่านฟ้า ใครอยากจะบินเส้นทางไหนก็บินได้ ค่าสัมปทานเส้นทางต้องเท่ากันทุกสายการบิน ซึ่งมีหลักการของการเท่าเทียมของการแข่งขัน รัฐบาลห้ามช่วยสายการบินแห่งชาติของตัวเองเป็นพิเศษ ทุกสายการบินจะต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน การบินไทยได้รับประโยชน์จากการไม่เปิดเสรีทางการบิน ผูกขาดเส้นทางการบินในเมืองที่มีกำไรได้ การเปิดเสรีน่านฟ้าทำให้เกิดการแข่งขัน ประชาชนได้ประโยชน์ ทีนี้ถ้าให้เงินกู้ 50,000 ล้านบาท เอาไปปล่อยกู้แล้วเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยไม่ต้องเพิ่มทุน 80,000 ล้านบาท ให้เงินกู้เพื่อนำไปสู่การขายกิจการ รัฐบาลจะได้คืนโดยผู้ซื้อรายใหม่ อาจนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้าทั้งแบบ 100% หรือรัฐบาลถือหุ้นไม่เกิน 25% โดยนำการบินไทยไปประมูลเพื่อนำเงินคืนรัฐบาล

แต่การยึดกิจการกลับมาเป็นของรัฐ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2551-2553 จากสหรัฐอเมริกาลามมาถึงยุโรป สายการบินที่ล้มละลายคือ เจแปนแอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น รัฐบาลไม่ให้เงินช่วย แต่เข้าไปยึดกลับมาเป็นของรัฐ เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นเป็นศูนย์ เมื่อทำกำไรได้ 4-5 ปี กลับไปขายในตลาดโดยรัฐบาลขายหุ้นจนเหลือ 0% ถ้าเดินเส้นทางนี้อาจเข้าสู่การฟื้นฟูและปรับปรุงกิจการ แล้วนำไปสู่ทางใดก็ได้ ผมเห็นว่าถ้ารัฐบาลเลือกใช้วิธีถือหุ้น 51% และแบบถือหุ้น 100% ย่อมเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลอุ้มการบินไทยมาแล้วหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าการบินไทยไม่ปรับปรุงตัวเองให้แข่งขันกับตลาด และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนได้ ถ้าจะเหลือทางเลือกคือ ควรถือหุ้นรายย่อย ถ้าเห็นว่าการบินไทยมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ แล้วปล่อยให้ตลาดกำกับดูแลการบินไทยได้จริง ปราศจากอิทธิพลการครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ใช้ทรัพย์สินของการบินไทย โดยไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง

น่าเสียดายที่ผู้ซื้อกิจการการบินไทย ที่มีศักยภาพในไทยมีเพียงแค่ 5 เจ้า ได้แก่ กลุ่มซีพี กลุ่มเบียร์ช้าง กลุ่มบีทีเอส กลุ่มกัลพ์ และกลุ่มคิง เพาเวอร์ ซึ่งมีธุรกิจบางอย่าง หรือผลประโยชน์บางอย่างที่สามารถใช้ประโยชน์จากการบินไทยได้ ส่วนต่างชาติแคนดิเดตที่เป็นไปได้ คือสายการบินจากประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลจีนมีความใกล้ชิดกันสูง และครอบงำธุรกิจด้านต่างๆ ในประเทศไทย นอกจากนี้ในเชิงยุทธศาสตร์ สายการบินอื่นที่ทำให้การบินไทยอยู่ในกลุ่มบริษัทสายการบิน ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลกสูง แต่ตัวเลือกนี้ก็ลำบาก เพราะสายการบินใหญ่ๆ ทั่วโลกล้วนแต่ประสบปัญหาความลำบากในช่วงนี้ ดังนั้นโอกาสที่สายการบินใหญ่ๆ จะมีศักยภาพเข้ามาซื้อกิจการการบินไทยในช่วงนี้มีน้อยมาก กลุ่มสุดท้ายคือกองทุนจากภาคการเงิน ทั้ง Private equity หรือ Hedge Fund เข้ามาซื้อกิจการที่มีปัญหาและฟื้นฟูกิจการเพื่อขายในตลาดเอากำไร

หากจะต้องปล่อยให้ล้มละลาย หรือปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อขาย จะมีการเรียกร้องให้เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น รวมถึงผู้บริหาร พนักงาน และสหภาพแรงงาน มารับผิดชอบร่วมกันในการฟื้นฟูกิจการ อนาคตที่การบินไทยจะต้องเพิ่มทุน ต้องไม่มาจากภาษีประชาชนอย่างเดียว เจ้าหนี้อาจแปลงหนี้เป็นทุนหรือลดหนี้ ส่วนผู้ถือหุ้นก็ต้องลดหุ้นตัวเองลงเพื่อให้บริษัทไปต่อได้ ทุกคนหาทางออกร่วมกันและเจ็บร่วมกัน ปัจจุบันเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของการบินไทย พบว่ากระทรวงการคลังถือหุ้น 51% รองลงมาคือกองทุนรวมวายุภักดิ์ นอกนั้นเป็นบริษัทเอกชนทั้งหมด ถ้ารัฐบาลอุ้มการบินไทย คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับสถานการณ์ของการบินไทย ถ้าไม่ลดทุนของพวกเขาลง แต่ถ้าการบินไทยมีกำไรก็ได้ดอกผลจากรัฐบาล ไม่ต้องลงขันยามที่เจ็บปวด เจ้าหนี้พบว่ามีทั้งกระทรวงการคลังและธนาคาร ถ้าไม่ปรับโครงสร้างหนี้ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ซึ่งหนี้การบินไทยมีหลายประเภท มากที่สุดคือค่าเช่าเครื่องบิน (Leasing) หลายประเทศยังให้หยุดจ่าย

แต่ข้อเสนอของรัฐบาลไม่มีที่ไหนพูดถึงการร่วมรับผิดชอบของเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น ไม่มีที่ไหนที่จะปลดกรรมการบริษัท (บอร์ด) และผู้บริหารออกทั้งหมด โดยปกติในบริษัทส่วนใหญ่เมื่อจะต้องไปขอกู้เงินรัฐบาลขนาดนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องปลดบอร์ดและผู้บริหารระดับสูงออกให้หมด การผลักภาระทุกอย่างมาอยู่ที่ภาษีประชาชนโดยที่คนกลุ่มอื่นไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เลย ท้ายที่สุดประชาชนผู้เสียภาษีรับผิดชอบการบินไทยฝ่ายเดียว สิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกแย่มาก คือทุนของการบินไทยไม่ว่าจะเกิดโควิดหรือไม่ ทุนก็เหลือน้อยอยู่แล้ว ปีนี้หากขาดทุนเท่าเดิมก็ล้มละลายอยู่ดี เพียงแต่สถานการณ์ทำให้การล้มละลายเร็วกว่าเดิม แต่สิ่งที่ผู้บริหารไม่รู้สึกกับอนาคตของตัวเอง มีความพยายามซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ ในช่วงเดือน มี.ค. 2562 หลังการเลือกตั้ง อาศัยช่วงสูญญากาศที่ยังไม่มีรัฐบาล นึกไม่ออกว่าถ้าไม่ออกมายับยั้งการซื้อฝูงบินจะเกิดอะไรขึ้น ในภาวะที่การบินไทยจะล้มละลายอยู่แล้ว 

ในภาวะแบบนี้ถ้ารัฐบาลถือหุ้นใหญ่ก็จะกลับไปสู่แบบเดิม วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การเปิดเสรีน่านฟ้า และให้รัฐบาลไม่ต้องถือหุ้น หรือถือหุ้นน้อยกว่า 25% และใช้ต่อเมื่อมีวิกฤตและความจำเป็น เป็นทางเลือกที่ดีกว่าข้อเสนอของรัฐบาลในปัจจุบันนี้ เพราะเมื่อเจ๊งประชาชนรับ แต่กำไรผู้ถือหุ้นเอาไป ไม่มีความยุติธรรมกับประชาชน 

ยืนยันว่ารัฐบาลมีทางเลือกอื่นที่ประชาชนไม่ต้องรับต้นทุนทั้งหมดของการอุ้มการบินไทย ในขณะที่ถ้าจะเลือกให้รัฐบาลถือหุ้นต่อไป เลือกที่จะถือหุ้นที่เล็ก น้อยกว่า 25% เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้า ผมเชื่อว่าเงิน 130,000 ล้านบาทเป็นเงินจำนวนที่เยอะ ประเทศไทยมีงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3-4% ของงบประมาณประเทศต่อปี เรากำลังบอกว่า เราจะใช้เงินก้อนนี้ไปอุ้มการบินไทย โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นไม่ต้องรับผิดชอบเลย ผมไม่เห็นด้วย และผมเชื่อว่าเรามีทางเลือกที่ดีกว่านี้".

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"