“โรงเรือนอัจฉริยะ" นวัตกรรมเกษตรดีต่อสิ่งแวดล้อม


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) นำโดยนางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. พร้อมด้วย นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นายเฉลิมชัย เอี่ยมสอาด นักวิชาการ ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. และนายสุวิทย์ ไตรโชค ผู้ก่อตั้งบริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด ฟาร์มปลูกเมลอนกว่า 30 ปี ร่วมกันลงแปลงเมลอนในโรงเรือนอัจฉริยะบริเวณแปลงเกษตรสาธิตของ สท. ภายในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเมลอน 4 สายพันธุ์ นำไปส่งมอบแก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. รับมอบ 

      วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. กล่าวว่า สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร มีบทบาทหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และนำไปสู่การทำเกษตรแบบยั่งยืน สำหรับผลผลิตเมลอนที่เก็บเกี่ยวเป็นตัวอย่างความร่วมมือการทดสอบการปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะระหว่าง สท.–สวทช. และบริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ เพื่อนำไปสู่การขยายผลความรู้แบบครบวงจรให้แก่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการให้สามารถผลิตเมลอนให้มีขนาดผลและความหวานได้คุณภาพและตรงตามมาตรฐานของท้องตลาดในอนาคต

      “ โรงเรือนอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้น เป็นโรงเรือนแบบน็อกดาวน์โครงสร้าง SMART Greenhouse Knockdown สามารถขึ้นโครงและติดตั้งได้ในทุกพื้นที่ มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 5.6 เมตร ออกแบบหลังคา 2 ชั้น พร้อมพัดลมระบายอากาศ และประตูกันแมลง 2 ชั้น ช่วยลดปัญหาแมลงเล็ดลอดเข้าไปในแปลงปลูก ที่สำคัญได้นำระบบเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ที่มีเซ็นเซอร์ต่างๆ มาช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ เซ็นเซอร์วัดความเข้มแสง วัดความชื้นดินใช้ควบคุมการทำงานของระบบน้ำหยด เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิความชื้นอากาศ เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ใช้ควบคุมการทำงานของพัดลมใต้หลังคา ใช้ควบคุมการทำงานของระบบพ่นหมอก และใช้แอปพลิเคชันแสดงผลแจ้งเตือนโดยควบคุมการทำงานของระบบผ่าน Smart Phone และ Web base” วิราภรณ์ กล่าว

 

 

      รอง ผอ.สวทช. กล่าวว่า เพื่อทดสอบและพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ฯ ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์เมลอนสายพันธุ์ดีเกรดพรีเมียมพร้อมทั้งความรู้ในการผลิต ผลปรากฏว่าคุณภาพและมาตรฐานรสชาติของผลผลิตเมลอนในการปลูกครั้งแรกได้ผลดีมีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่ง สท.-สวทช. พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจ โดยสอบถามและดูงานได้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ​

​      สุวิทย์ ไตรโชค ผู้ก่อตั้ง บ.นาวิต้าฟู้ดส์ฯ กล่าวว่า การคัดเลือกสายพันธุ์เมลอนที่ดีมาปลูก เป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญมาก ตั้งแต่การทดลองจนมั่นใจว่าเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกได้ในเมืองไทย และได้ผลที่อร่อยตามความต้องการของผู้บริโภค บางสายพันธุ์ต้องใช้เวลาทดลองและคัดเลือกมากกว่า 5 ปี เป็นสายพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว ทั้งนี้ จากการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ ปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม การันตีด้วยใจผู้ปลูกและใบรับรองจาก Central Lab และกรมวิชาการเกษตร ที่สำคัญปัจจุบันบริษัทได้ร่วมกับทาง สท. สวทช. นำเซ็นเซอร์ และ Smart IoT Controller เข้ามาใช้ควบคุมดูแล และเก็บบันทึกข้อมูลนำไปสู่การเรียนรู้การปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง

 

 

​      เฉลิมชัย เอี่ยมสอาด นักวิชาการ สวทช. กล่าวว่า  การจะทำการเกษตรให้สำเร็จ มีข้อมูล 2 ส่วนที่สำคัญ คือ พืชต้องการอะไร และการควบคุมแบบสมาร์ท การปลูกพืชด้วยระบบ IoT ด้วยซอร์ฟแวร์ที่พัฒนาขึ้นมาจะช่วยบันทึกไว้ทุกขั้นตอน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราจะสามารถสั่งการได้ตลอดเวลา เมื่อเราเห็นค่าจากกราฟจากดาต้าเบสแบบเรียลไทม์

      “เราต้องได้ข้อมูลพืชครบก่อน แล้วจึงมาปรับข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อยู่กับพืช ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในการปรับใช้แค่ 20% แต่เราต้องให้ความสำคัญ 100% ในการเก็บข้อมูล เมื่อเรารู้ว่าพืชต้องการอะไร เราพยากรณ์ล่วงหน้าได้ เช่น ปุ๋ยอาจจะไม่มากไป การมีระบบเซ็นเซอร์ประตู 2 ชั้น กันแมลง ช่วยให้ไม่ต้องใช้สารพ่นฆ่าแมลงเยอะ ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะโรงเรือนทั่วไปจะไม่มี เนื่องจากเวลาเราเปิดโรงเรือนแมลงจะตามตัวคนเข้าไป ถ้าเราใช้เป็นระบบแอร์ล็อกเปิดทีละบาน เปิดบานแรกเข้าไปแล้วปิดให้สนิท จะไม่มีแมลงเข้าไป แล้วตัวห้องกันแมลงจะมีหน้าที่ติดระบบสมาร์ทด้วย" เฉลิมชัย กล่าว

 

 

​      สำหรับสายพันธุ์เมลอนที่นำมาปลูกนั้น ได้แก่ 1.เพิร์ลเมลอนเนื้อเขียว เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมสไตล์มินิมอล หอมเย็นๆ ทานแล้วสดชื่น รสชาติลงตัว 2.โกลเด้นดราก้อน เนื้อส้ม : เนื้อหวานกรอบ 3.กาเลียเมลอนญี่ปุ่น เนื้อสีขาว : เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่น หอมเข้มข้น กลิ่นมีมิติเมื่อเคี้ยวกลิ่นจะยิ่งชัดขึ้น เมื่อกลิ่นผสานกับความหวาน ทำให้พันธุ์นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ 4.เพิร์ลเมลอนเนื้อส้ม :  เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมสไตล์มินิมอล กลิ่นสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ หอม หวานเข้ากันอย่างนุ่มนวล.

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"