'จตุพร'รำลึก 28 ปีพฤษภาทมิฬขอสืบทอดเจตนารมณ์วีรชน


เพิ่มเพื่อน    

17 พ.ค.63-ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี  มีการจัดรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์  นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า วันนี้17 พฤษภาคม 2563 ครบ 28 ปี พฤษภาคม 2535 ในฐานะที่อยู่ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือที่เรียกว่า เป็นคนพฤษภา ดังนั้นวันนี้ตั้งแต่ช่วงเช้า 9 นาฬิกา มีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับวีรชนผู้ล่วงลับทั้งที่เสียชีวิต และ สูญหาย ซึ่งตลอดระยะเวลา 28 ปีมานี้ คนที่สูญหายหมายความว่า เสียชีวิตและไม่มีโอกาสนำศพมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนากว่า 40 ชีวิต และ สิ่งที่ญาติวีรชน 2535 ได้เรียกร้องมาตลอดคือ การทวงคืนร่างที่ไร้วิญญาณเหล่านั้น แต่ด้วยเวลาที่ล่วงไปกว่า 28 ปีก็ไม่ทราบว่ากระดูกยังเหลืออยู่หรือไม่ ในท่ามกลางความสูญเสียนั้นญาติผู้สูญเสียก็มีทั้งที่สามารถนำศพมาประกอบพิธีกรรมและไม่มีศพนำประกอบพิธีกรรมได้และยังคงหวังว่าวันหนึ่งจะได้นำอัฐิมาบรรจุไว้ ในอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภาคม 2535 ที่สวนสันติพร
อย่างไรก็ตามเรื่องราวต่างๆหลังจากเหตุการณ์ ก็มักจะพูดเสมอว่า การนองเลือดในพฤษภาคม 2535 จะเป็นครั้งสุดท้าย และตนในตอนนั้นก็เป็นคนหนุ่มสาวก็มีความความรู้สึกและคาดหวังเช่นเดียวกันว่า ไม่ควรที่จะต้องมีใครมาเสียชีวิตกันอีกแล้ว หลังจากการชุมนุนวันที่ 17 พฤษภาคมข้ามคืน 18 พฤษภาคม เคลื่อนจากท้องสนามหลวงไปติดตรงสะพานผ่านฟ้า ที่เรียกว่ากำแพงเบอร์ลินนั้นในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม บริเวณข้างเคียงก็มีความตายนับ 10 ศพ ตนอยู่บนเวทีก็เห็นเหตุการณ์ต่างๆมากมายในฐานะที่เป็นโฆษกตั้งแต่เวทีใหญ่จนกระทั่งเวทีที่เป็นหลังคารถ มีเสียงปืนกันเป็นระยะๆ และสุดท้ายความรุนแรงก็ปรากฎในช่วงที่ตนลุกขึ้นปราศรัย เพื่อจะเชิญคนอื่นขึ้นมาปราศรัยต่อกันนั้น ลำโพงถูกยิงเป็นรูเพราะอยู่บนรถจนนำไปสู่การเจรจาพักรบกันชั่วคราว ซึ่งในเวลานั้นอาวุธเดียวของผู้ชุมนุม คือขวดน้ำดื่มที่เป็นขวดพลาสติกเคาะกับพื้นถนนราชดำเนินเกิดเป็นเสียงที่ทรงพลังจริงๆ 

ดังนั้นเสียงของการเคาะขวดน้ำพลาสติก สามารถไปข่มขวัญความรู้สึก แม้แต่คนที่ถือปืน แต่ทั้งหมดนั้น ในการยื้อกันมานั้นตนก็ไม่ได้นอนเป็นคืนเหมือนกัน สุดท้ายเวลา 15 นาฬิกาของวันที่ 18 พฤษภาคมก็เป็นการสลายการชุมนุม มีการจับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ส่วนตนนั้นรอดไปอย่างหวุดหวิดอาจจะเป็นเพราะด้วยความเป็นศิษย์วัดบวรนิเวศ เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ก็มีความช่ำชองถนนราชดำเนินทุกตรอกซอกซอยเพระอยู่มาตั้งแต่วัยเด็ก บรรดาน้องๆที่มาจากรามคำแหง ก็แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดหนึ่งก็ให้กลับมหาวิทยาลัย ส่วนอีกชุดหนึ่งก็อยู่กับตนนอนค้างกันที่วัดบวรนิเวศเพราะเป็นศิษย์วัดเก่าที่นั่น

คืนวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นคืนแห่งความโกลาหลและบ้าคลั่ง หลักคิดในการจับแกนนำผู้ชุมนุมอาจจะมาจากหลักคิดทางสงครามต่างๆว่า หากแกนนำถูกจับหรือผู้นำถูกฆ่าแล้ว ทัพนั้นจะต้องแตกพ่าย แต่บทเรียนพฤษภาทมิฬปี 2535ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความน่ากลัวอยู่ที่การชุมนุนไร้แกนนำ ต่างคนต่างมาแล้วก็สู้กัน ชนิดที่ใครก็คาดไม่ถึงว่าจะนำมาซึ่งความตายอย่างยับเยิน ภาพเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ /ที่ท้องถนนราชดำเนิน กองสลาก กรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งความสูญเสีย 

จากนั้นในวันที่ 19 พฤษภาคม ตนเดินทางจากวัดบวรนิเวศไปยังมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในระหว่างทางผ่านถนนราชดำเนิน ก็เห็นร่องรอยที่อธิบายผ่านซากปรักหักพังได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งถึงรามคำแหง ประชาชนก็เริ่มเดินทางมาและก็บอกว่าเห็นการถูกฆ่าถูกล้อมปราบกันอย่างไร ได้ฟังความรู้สึกของประชาชนเหล่านั้นและเขาก็จำตนได้เพราะตนเป็นโฆษก ในการชุมนุมร่วมกับนายอุสมาน ลูกหยี นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล และอีกหลายๆคนจากหลายมหาวิทยาลัย ตนได้ตัดสินใจใช้รามคำแหงเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายประชาชน เพราะ อย่างน้อยที่สุดประชาชนที่แตกต่างกันออกไปนั้นมีโอกาสรอดชีวิตกันมากกว่า เนื่องจากการจัดชุดไล่ล่านั้นความตายได้ยินเป็นระยะๆ ก็ได้บอกนายธีรวัฒน์บุญอยู่ ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว ให้ไปพูดโทรโข่งที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง 

จากนั้นก็ได้ติดต่อประสาน เครื่องเสียงอะไรต่างๆ เนื่องจากไม่มีอะไรเลย มีเพียงโทรโข่งอันเดียวไว้สู้กับ รสช. จากนั้นตนได้ขึ้นปราศรัยเห็นประชาชนจากหลักร้อย พริบตาเดียวกลายเป็นหลักพัน หลักหมื่น หลักแสน  โดยได้เจรจากับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในขณะนั้น อธิการบดีชื่อ นายชูศักดิ์ ศิรินิล อาจารย์วิโชติ วัณโณก็เป็นอาจารย์อยู่ในรามคำแหง นายอารี ไกรนราก็อยู่ฝ่ายแนะแนว  โดยตนได้บอกกับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยว่า รามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน มีหน้าที่ต้องตอบแทนบุญคุณของประชาชน ที่เขาให้ภาษีอากรสร้างมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514 วันนี้ถึงต้องใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานที่มั่นสุดท้าย ในที่สุดนายชูศักดิ์ ศิรินิล ได้สั่งการให้เปิดประตูมหาวิทยาลัย โดยใช้ลานกิจกรรมเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของประชาชน 

นายจตุพรกล่าวว่า การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็มีข่าวการล้อมปราบมาเป็นระยะ จนกระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยนายสัญญาธรรมศักดิ์ พลเอกเปรม ติณลสูลานนท์ พลตรีจำลอง ศรีเมืองและพลเอกสุจินดา คราประยูร เข้าเฝ้า สภาพในรามคำแหงต่างก็รู้ชะตากรรมหากมีการล้อมปราบก็ต้องคิดอ่านหาวิธีการ โดยได้มีการเปิดทุกอาคารของมหาวิทยาลัยรามคำแหง หากมีการปราบปรามจะให้ประชาชนเข้าไปหลบในทุกอาคาร อย่างน้อยก็ได้รักษาชีวิตของประชาชนเอาไว้ และตน ได้ประกาศในเวลานั้นว่า หากเห็นว่าการชุมนุมของประชาชนที่รามคำแหงนั้น เป็นปัญหาให้มาจัดการที่ตนอย่าไปจัดการประชาชน ในฐานะที่ตนเป็นแกนนำ แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน ได้มีการถ่ายทอดภาพการเข้าเฝ้าของพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลองศรีเมือง ประชาชนและบรรดาแกนนำที่ชุมนุมอยู่ในรามคำแหง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกมาหย่าศึก เราในฐานะพสกนิกรก็พร้อมยุติการชุมนุมเช่นเดียวกัน แต่เพื่อให้เกิดการคลายความกังวลและความวิตก ก็ให้รอกันถึงเช้าทำบุญตักบาตรและแยกย้ายกันกลับไป 

การชุมนุมที่รามคำแหงประวัติศาสตร์บันทึกไว้น้อยมาก ทั้งที่เป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ชุมนุมในพฤษภาคม 35 ตนจึงบอกว่าเราเป็นไม้สุดท้ายของเหตุการณ์นี้และพวกเราเองก็กลับไปใช้ชีวิตของนักศึกษาดังเดิม ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องแสวงหาผลประโยชน์ใดๆทางการเมือง และภายหลังเหตุการณ์นั้นได้มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้ปราบปรามและประชาชน มีเพียงยุคหลังเท่านั้นที่ นิรโทษกรรมให้กับผู้ปราบปราม หรือให้กับผู้ใช้อำนาจ หลังจากนั้นพลเอกสุจินดาคราประยูรก็ลาออก จึงเป็นที่มาของการตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีภารกิจเดียวคือการจัดการเรื่องการเลือกตั้งและการจัดการภายในกองทัพ เป็นครั้งแรกที่พลเรือนขึ้นมาจัดการทหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

ดังนั้นที่พูดเรื่องนี้ก็เพราะว่าประเด็นข้อเรียกร้องหลัก เมื่อ 28 ปีที่แล้วคือนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง และในเวลานั้น ประเทศไม่ได้มีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจปากท้อง แต่กระทบเรื่องประชาธิปไตย แต่ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ 28 ปีผ่านมา เราได้ประชาธิปไตยที่แข็งแรงหรือไม่ ซึ่งตนสามารถตอบได้เลยว่า ลุ่มๆดอนๆ และยิ่งถอยห่างจากคำว่าประชาธิปไตย โดยเฉพาะปัจจุบันยิ่งยากลำบาก เพราะไม่ว่าจะไปทางไหนมีแต่ทางตัน ต่อให้ยุบสภาผลลัพธ์ก็ไม่เปลี่ยนเพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 ให้ส.ว.มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

นายจตุพร กล่าวอีกว่า วันนี้ สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในพรรคพลังประชารัฐ ตนมองว่าเป็นจุดที่ต้องวิเคราะห์และเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐจะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนของทุกอย่าง เพราะพรรคการเมืองอยู่ในสภาพอ่อนแอ พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นปัญหา พรรคภูมิใจไทยก็ดูเหมือนว่าจะแข็งแรงแต่มีปัญหากับพรรคร่วมพัวพันกันเต็มไปหมด ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเองก็อยู่ท่ามกลางความเหนื่อยยากทั้งในเรื่องกติกาที่กำหนดไว้ ดังนั้นหากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องทวีความรุนแรงถึงขีดสุด สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงคือ แบบพฤษภาคมปี 2535 จะกลับมาอีกครั้ง เพราะสิ่งที่ตนพยายามบอกคือ ในเดือนพฤษภาคม 2535 เศรษฐกิจดีแต่ในอนาคต เศรษฐกิจพัง แล้วจะกลายเป็นม็อบหิวโหย ซึ่งตู้ปันสุขก็เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า จิตใจคนได้ขาดหายไปค่อนข้างมากจากความหิวทำให้ไม่ได้ใช้สมองคิด แต่ใช้ท้องคิด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนมีความกังวล 

"ครบรอบ 28 ปีพฤษภาคม 2535 ตนยังยืนอยู่ ณ จุดเดิม และยังมีความหวังว่า ทุกดวงวิญญาณและทุกชีวิตที่สูญหาย อย่างน้อยที่สุดควรจะได้รับกระดูกมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และยังคงยืนยันว่า จะสืบทอดเจตนารมณ์ของวีรชนเหล่านั้น พร้อมกล่าวสดุดี วีรชนพฤษภาประชาธรรม หรือพฤษภา2535 ความตายของวีรชนจะไม่สูญเปล่า แต่จะเป็นพลังให้กับผู้รักประชาธิปไตยสืบไป"
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"