มองอ่าวนางาซากิ จาก 'สวนโกลเวอร์'


เพิ่มเพื่อน    

อ่าวนางาซากิ มุมมองจากสวนโกลเวอร์  

ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตรจากสถานีฮากาตะ จังหวัดฟุกุโอกะ ถึงสถานีนางาซากิ จังหวัดนางาซากิ รถไฟชิงกันเซ็นที่ว่าเร็วดั่งหัวกระสุนยังต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง เพราะช่วงที่ผ่านริมฝั่งทะเลอะริอะเกะซึ่งกินระยะทางเกือบครึ่งของเส้นทางนั้นคดเคี้ยวไปมาเหมือนงูเลื้อย รถไฟจึงไม่สามารถทำความเร็วได้

ผมบอกที่ตั้งของโฮสเทล Casa Noda บนถนน Ohato กับเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟนางาซากิ ก็ได้รับคำตอบว่าเมื่อออกจากสถานีแล้วให้เดินตรงไปทางขวามือ เดินไม่นานนักก็ถึง หลังจากเช็กอินแล้วก็เดินตรงไปทางขวามืออีก แวะกินข้าวหน้าปลาไหลทะเลที่ร้านแถวท่าเรือเดจิมะ เนื้อปลาชิ้นใหญ่หลายชิ้นโปะข้าวมาจนพูนชาม รสชาติหวานมันอร่อย ราคาเพียง1,830 เยน หรือไม่ถึง 600 บาท

อิ่มแล้วก็เดินเลียบอ่าวนางาซากิต่อไปยังทิศทางเดิม แวะดื่มกาแฟในร้านที่มีเครื่องดื่มแบบบุฟเฟต์ราคา 390 เยน พวกที่นั่งนานน่าจะคุ้มค่า แต่ผมต้องออกเดินต่อ (ทั้งที่มีรถรางสาย 5 วิ่งผ่าน) ไปยัง “สวนโกลเวอร์” (Glover Garden) บนเนินเขา “มินามิ - ยามาเตะ” มองลงมายังอ่าวนางาซากิได้ทิวทัศน์สวยงามสบายตา

เพื่อนต่างวัยของผมนาม “ปีเตอร์ คัมเบอร์เบิร์ช” นักเขียนรูปและกวีชาวแคนาเดียน ผู้ใช้ชีวิตช่วง 30 ปีหลังในเอเชีย เขามีบรรพบุรุษตระกูล “วอล์คเกอร์”ซึ่งครั้งหนึ่งเดินทางมาทำมาหากินและพำนักอยู่ในนางาซากิช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศในยุคเอโดะตอนปลายเชื่อมต่อกับยุคเมจิ ซึ่งก่อนหน้านั้นนางาซากิคือเมืองท่าแห่งเดียวของญี่ปุ่นที่ได้รับการผ่อนผันให้ติดต่อกับโลกภายนอกและมีชาวต่างชาติอยู่อาศัย

บ้านของตระกูลวอล์คเกอร์

ปีเตอร์ขอให้ผมมาที่นี่เพื่อถ่ายรูปบ้านพักของตระกูล “วอล์คเกอร์” และสวนโกลเวอร์โดยรวมกลับไปให้เขาดูที่กรุงเทพฯ เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้อีกแล้วด้วยสาเหตุบางประการ

สวนโกลเวอร์มาจากชื่อ “โทมัส เบลค โกลเวอร์” (Thomas Blake Glover) พ่อค้านักเดินเรือชาวสก็อต เขามาถึงนางาซากิ ในปี ค.ศ. 1859 เมื่ออายุได้เพียง 21 ปีเท่านั้น แล้วจัดการตั้งบริษัท Glover & Co. และสร้างบ้านขึ้นบนเนินเขาแห่งนี้ในปี ค.ศ. 1863

ในช่วงที่ฝ่ายนิยมระบอบกษัตริย์กำลังก่อการปฏิวัติประเทศจากการปกครองอันยาวนานของโชกุนตระกูล “โตกุกาวะ” โกลเวอร์ได้ให้การสนับสนุนฝ่ายปฏิวัติในแคว้นซัตสุมะ ไม่ไกลจากนางาซากิ และเมื่อล้มฝ่ายโชกุนลงได้เข้าสู่ยุคจักรพรรดิเมจิในปี ค.ศ. 1868 โกลเวอร์ก็กลายเป็นผู้นำทางด้านการค้าในญี่ปุ่น อีกทั้งได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาพัฒนาญี่ปุ่นสู่ยุคใหม่ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำเหมืองถ่านหินและการเดินเรือ

ในปี ค.ศ. 1885 เขาได้ช่วยก่อตั้งบริษัท Japan Brewery ซึ่งต่อมาคือบริษัท Kirin Brewery เจ้าของ Kirin (กิริน) เบียร์ยอดนิยม คุณูปการหลายด้านที่มีต่อญี่ปุ่นทำให้ในปี ค.ศ. 1908 โกลเวอร์ได้รับเครื่องราชอิศริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ระดับ Gold and Silver Star ซึ่งเป็นชั้นที่ 3 จากทั้งหมด 9 ชั้น

บ้านของตระกูลโกลเวอร์

โกลเวอร์เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1911 ที่กรุงโตเกียว ศพของเขาถูกฝังในสุสาน Sakamoto International Cemetery เคียงข้าง “ซึรุ” ภรรยาชาวญี่ปุ่น บ้านของเขาในนางาซากิถูกซื้อต่อโดยมิตซูบิชิ บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่โกลเวอร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาตลอดชีพ จากนั้นบริษัทมิตซูบิชิก็บริจาคบ้านหลังนี้ต่อให้กับเมืองนางาซากิ ก่อนที่ Glover House จะถูกขึ้นทะเบียนเป็น “สมบัติทางวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งของชาติ” โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1961

ผมคลำทางอยู่สักพักก็เจอประตูทางเข้า ห้องขายตั๋วตั้งอยู่ด้านใน จ่าย 610 เยนแล้วรับคู่มือเดินขึ้นทางเลื่อนไปอย่างสะดวกสบาย ผ่านร้านอาหาร Jiyu-Tei” ทางด้านขวามือ นี่คือร้านอาหารตะวันตกแห่งแรกในญี่ปุ่นยุคเอโดะ ผู้ก่อตั้งคือ “โจคิชิ คูซาโน” เขาได้ร่ำเรียนอย่างช่ำชองจากพ่อครัวชาวดัตช์ในย่านเดจิมะก่อนที่จะไปเปิดร้านตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลเจ้าอิบารายาชิ ทางการเมืองนางาซากิได้รื้อและย้ายให้มาอยู่ในย่านชาวตะวันตกหลังจากปี ค.ศ. 1970 เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมรวมถึงสภาพการตั้งถิ่นฐานของชาวตะวันตกไม่ให้สูญสลายไปกับกาลเวลา อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว นำรายได้เข้าเมืองจำนวนไม่น้อยจากผู้มาเยือนสวนโกลเวอร์ปีละประมาณ 2 ล้านคน

เช่นเดียวกับ “บ้านของตระกูลวอล์คเกอร์” (Former Walker House) ที่อยู่ถัดไป บ้านหลังนี้ดั้งเดิมตั้งอยู่ติดกับโบสถ์คาธอลิค “โออุระ” ใกล้ๆ ทางเข้าสวนโกลเวอร์ในปัจจุบัน ได้ถูกย้ายและย่อขนาดสร้างขึ้นใหม่

“โทมัส เบลค โกลเวอร์” ผู้ทำการค้า บุกเบิกอุตสาหกรรมหนัก และก่อตั้งโรงเบียร์กิริน

ตระกูลวอล์กเกอร์นั้นมาจากอังกฤษ ผู้ที่เดินทางมายังญี่ปุ่นเป็นคนแรกคือ “วิลสัน วอล์คเกอร์” เมื่อปี ค.ศ. 1868ทำหน้าที่ควบคุมเรือกลไฟให้กับบริษัท Glover & Co. ของ “โทมัส โกลเวอร์” จากนั้นทำงานกับบริษัท Holme, Ringer & Co. ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันเรือกลไฟของบริษัท Mitsubishi Mail Steamship Co. เขาเติบโตและมีบทบาทสำคัญในอุตสากรรมเดินเรือของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการริเริ่มเดินเรือสายโยโกฮามา – เซี่ยงไฮ้ เรือกลไฟนานาชาติสายแรกของญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังช่วยงานในบริษัท Nippon Yusen Kaisha (NYK) กระทั่งร่วมกับโทมัส โกลเวอร์ ก่อตั้ง Japan Brewery ขึ้น ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่นางาซากิและเปิดโรงแรมชื่อ Cliff House Hotel บนเนินเขาแห่งนี้

นอกจากวิลสันแล้ว น้องชายของเขา “โรเบิร์ต นีล วอล์คเกอร์” ก็ได้ตามรอยพี่ชาย เดินทางมาญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1874 และได้รับใบอนุญาตการเป็นกัปตันเรือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในอีก 2 ปีต่อมา เขาทำหน้าที่ควบคุมเรือให้บริษัทมิตซูบิชิ และ NYK

หลายปีต่อมา โรเบิร์ต วอล์คเกอร์ และ “ซาโตะ” ภรรยาชาวญี่ปุ่นจำต้องย้ายกลับไปอังกฤษพร้อมกับลูกๆ 7 คน หลังจากใบอนุญาตเดินเรือของเขาถูกเพิกถอนเป็นเวลา 6 เดือนจากสาเหตุเรือที่เขาควบคุมประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปวลาดิวอสต็อก ทั้งคู่มีลูกด้วยกันอีก 2 คน ในเมืองแมรีพอร์ท ประเทศอังกฤษ แต่ซาโตะต้องมาเสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจเมื่ออายุได้เพียง 36 ปี ไม่นานต่อมาโรเบิร์ตหอบลูกๆ กลับญี่ปุ่นอีกครั้งเนื่องจากไม่สามารถทนการเหยียดเชื้อชาติจากคนในละแวกบ้านที่มีต่อลูกๆ เชื้อสายเอเชียของเขาได้

บ้านของตระกูลริงเกอร์

หลังจากย้ายกลับมายังญี่ปุ่น ปักหลักที่เมืองนางาซากิในปี ค.ศ. 1898 พร้อมกับการเปิดบริษัท R.N. Walker & Co. ธุรกิจขายข้าวของเครื่องใช้ในเรือ ต่อมาไม่นานก็ตั้ง Banzai Aerated Water Factory ขึ้น เป็นโรงงานเครื่องดื่มน้ำอัดลมแห่งแรกในญี่ปุ่น ทว่าในปี ค.ศ. 1908 โรเบิร์ต นีล วอล์คเกอร์ ก็ส่งต่อกิจการเครื่องดื่มให้กับ “โรเบิร์ต วอล์คเกอร์ จูเนียร์” ลูกคนที่สอง ส่วนตัวเขาย้ายไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศแคนาดาพร้อมลูกสาว 4 คน หนึ่งในนั้นคือย่าของปีเตอร์ (ที่เหลือแต่งงานและอาศัยต่อในญี่ปุ่น)

เท่ากับว่าปีเตอร์ เพื่อนของผมมีเลือดเนื้อเชื้อไขชาวอาทิตย์อุทัยอยู่ในกายและจิตวิญญาณ แม้ว่าจะมองไม่เห็นในหน้าตาของเขาเลย แต่เขาก็มีช่วงเวลาอย่างน้อย 8 ปีที่ได้จับพลัดจับผลูไปอยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น แถมยังมีคนรักเป็นชาวญี่ปุ่นอีกต่างหาก

ตระกูลวอล์คเกอร์ยังคงอาศัยในเมืองนางาซากิเรื่อยมา โดย “โรเบิร์ต วอล์คเกอร์ จูเนียร์” ซื้อบ้านหลังนี้มาในปี ค.ศ. 1915 ซึ่งบ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นในตอนกลางของยุคเมจิ หรือปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการผสมผสานลักษณะสถาปัตยกรรมระหว่างตะวันตกกับญี่ปุ่น ส่วนที่เห็นได้ชัดว่าเป็นญี่ปุ่นคือชายคาของบ้าน

ชุดถ้วยกาแฟในบ้านของตระกูลอัลต์

โรเบิร์ตได้ประจักษ์กับระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ในระยะ 4 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ทว่าบ้านพังเสียหาย กระเบื้องหลังคาปลิวว่อน เขาจัดการซ่อมแซมและอยู่อาศัยต่อมาในบ้านหลังเดิม กระทั่งเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1958 จากนั้นภรรยาของเขาได้บริจาคตัวบ้านส่วนหนึ่งให้กับทางการนางาซากิ

สำหรับบ้านของคนสำคัญคือ “โทมัส เบลค โกลเวอร์” นั้นเป็นบ้านหลังใหญ่ ถือเป็นบ้านไม้แบบตะวันตกที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น มีต้นปาล์มสาคู หรือ “ปรงญี่ปุ่น” อายุ 300 ปีอยู่ในสวนหน้าบ้าน เมื่อเดินเข้าไปก็พบกับรูปปั้นกิริน (หรือกิเลน) สัตว์ในเทพนิยายจำนวน 2 ตัวในเรือนกระจกซึ่งเป็นที่มาของเบียร์กิริน หนวดของกิรินทั้งสองมีส่วนคล้ายหนวดที่รกเฟิ้มของมิสเตอร์โกลเวอร์จนมีคนเชื่อว่านี่คือที่มาที่แท้จริงของโลโก้เบียร์กิริน ในบ้านยังจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ของตระกูลโกลเวอร์ไว้อย่างเสมือนว่ามีคนอยู่อาศัย โต๊ะอาหารที่พร้อมรับแขก ภาพถ่ายของโกลเวอร์และภรรยา ไม้เท้าคู่ใจ กระจกเงาที่ไม่สามารถมองเห็นหน้าคนส่อง เป็นต้น

หนึ่งในสองหัวใจหินบนพื้นทางเดินในสวนโกลเวอร์​​​​​​​

บ้านของชาวเกาะบริเตนคนสำคัญในสวนโกลเวอร์ยังมีอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะบ้านของ “วิลเลียม อัลต์”(William Alt) ที่เดินเรือมาจากอังกฤษเพื่อทำให้ชาวโลกรู้จักชาของญี่ปุ่น และ “เฟรดเดอริก ริงเกอร์” (Frederick Ringer) ที่เคยทำงานให้กับ Glover & Co. ก่อนที่จะตั้งบริษัท Holme, Ringer & Co. ของตัวเองร่วมกับเพื่อนชาวอังกฤษอีกคน เขาทำธุรกิจหลายอย่าง ทั้งค้าขายระหว่างประเทศ ผลิตชา โรงโม่ เครื่องปั่นไฟ รวมถึงธุรกิจโรงแรม

นอกจากบ้านเหล่านี้แล้วก็ยังมีอาคารต่างๆ อาทิ บ้านพักของลูกเรือบริษัทมิตซูบิชิ, บ้านพักของประธานศาลแห่งเขตนางาซากิ, พิพิธภัณฑ์ศิลปะการแสดงนางาซากิ, โรงเรียนเก่าแก่ Steele School ที่ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ส่วนใหญ่จัดแสดงโมเดลเรือโบราณแบบต่างๆ, สตูดิโอถ่ายภาพย้อนยุค ให้บริการชุดโบราณสำหรับใส่ถ่ายภาพ ค่าบริการ 500 เยนต่อ 30 นาที

ในสวนโกลเวอร์ยังมีรูปปั้นอย่างน้อย 2 ชิ้นที่มีความสำคัญมาก นั่นคือรูปปั้นของ “จาโกโม ปุชชีนี” คีตกวีชาวอิตาเลียน ผู้รจนาบทละคร “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” (Madame Butterfly) ขึ้นในปี ค.ศ. 1904 โดยเหตุการณ์ในท้องเรื่องเกิดขึ้นที่เมืองนางาซากิแห่งนี้ ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในสามเรื่องของละครโอเปร่าที่ได้รับความนิยมและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และอีกรูปปั้นที่อยู่ข้างกันคือ “ทามากิ มิอูระ” ผู้รับบทเป็น “โจโจ้ซัง” กำลังยืนเคียงลูกชายรอคอยการกลับมาของคนรัก นาม “เรือโทเบนจามิน พิงเคอร์ตัน”

บนถนนเลียบอ่าวนางาซากิ​​​​​​​

ภายในพื้นที่สวนโกลเวอร์ ได้รับการตกแต่งด้วยต้นไม้ใหญ่ สวนหย่อม ปาล์มพันธุ์ต่างๆ สวนดอกไม้ สระปลาคาร์ป สวนน้ำ สมอเรือโบราณ หลักเขตแดนบ่งบอกการแยกเขตพื้นที่ชาวต่างชาติออกจากคนท้องถิ่น แท่งหินโบราณแท่งเล็กๆ แสดงเลขที่บ้าน ถนนยางมะตอยแห่งแรกในญี่ปุ่น ก็อกน้ำสาธารณะจากยุคเมจิ ฯลฯ

มีอย่างหนึ่งที่ผมทราบตอนใกล้จะออกจากสวนเมื่อได้อ่านข้อมูลในคู่มือตอนนั่งพัก นั่นคือหินรูปหัวใจขนาดจิ๋วที่ปูราบกลืนไปกับพื้นทางเดิน มีอยู่ด้วยกัน 2 จุด เชื่อกันว่าหากใครเจอหัวใจทั้ง 2 ดวงและก้มลงสัมผัสก็จะสมหวังในความรัก ผมพบหัวใจแค่ดวงเดียว มาทราบทีหลังว่าอีกดวงอยู่ตรงไหนก็ตอนเดินออกไปแล้ว

เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ผมได้เจอกับปีเตอร์อีกครั้งในอีก 2 เดือนต่อมา เขาป่วยหนักและจากโลกนี้ไปในอีก 1เดือนหลังจากนั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"