ปลุกผีพฤษภา! ชำระความจริงหรือดิสเครดิตรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

     เดือนที่มักจะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ในห้วงประวัติศาสตร์การเมืองไทย นอกจากเดือน “ตุลาคม” ที่ผู้คนมักจะยกมาอ้างถึงบ่อยๆ แล้ว เดือน “พฤษภาคม” ก็เป็นอีกช่วงเวลาที่มักจะมีอีเวนต์ที่ทำให้คนไทย “จำไม่ลืม” ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535, การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ในปี 2553 และการทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557

            ช่วงอายุของคน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ต่างรับรู้-รับทราบถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภา.ที่เกิดขึ้น บางคนอาจจะเกิดทันปี 2535 บางคนอาจจะไม่ทัน แต่ที่แน่ๆ คือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในตอนนี้ ทุกคนล้วนทันกับเหตุการณ์ปี 2553 และ 2556 ทำให้บางคน จากที่ไม่เคยสนใจการเมือง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว ก็กลายมาเป็นให้ความสนใจมากขึ้น และเริ่มรู้สึกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว

            บ้างถึงขั้นจดจ่อกับการเมืองไทยแบบที่หายใจเข้าออกเป็นเรื่องการเมืองไปเลย ขณะที่บางเหตุการณ์ทำให้คนที่เคยมีความเชื่อทางการเมืองแบบหนึ่งเปลี่ยนไปอยู่ขั้วตรงข้าม ภายหลังเมื่อพวกเขาเหล่านั้นพยายามขุดหาข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าแท้จริงแล้วมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หาใช่จะฟังความเพียงแต่ฝั่งของรัฐฝั่งเดียวเท่านั้น

            ขณะที่ในปี 2563 เมื่อเวลาเวียนครบบรรจบมาที่เดือนพฤษภาคมอีกคำรบ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็น “บทเรียน” และไม่มีใครอยากจะให้เกิดซ้ำอีก โดยเฉพาะ 2 เหตุการณ์ในปี 2535 และปี 2553 ที่มีผู้บาดเจ็บ-สูญหาย-เสียชีวิต จำนวนมาก

            แต่ที่ต่างออกไปในปีนี้คือการ “นำเสนอ” แคมเปญใหม่ที่มีชื่อว่า “ตามหาความจริง” ของคณะก้าวหน้า ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พักหลังดูเหมือนว่า “ความแข็งกร้าว” จะลดลงไป แต่กลับไปเพิ่มอยู่ในตัวของแกนนำคนอื่นๆ ทั้งนาวสาวพรรณิการ์ วานิช และนายปิยบุตร แสงกนกกุล แทน

            แคมเปญดังกล่าวเป็นที่จับตา (จากฝ่ายรัฐ) ทันที หลังมีการยิงเลเซอร์ข้อความ “ตามหาความจริง” ที่บริเวณซอยรางน้ำ วัดปทุมวนารามฯ สยามพารากอน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกระทรวงกลาโหม ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 10 พ.ค. ก่อนคณะก้าวหน้าจะออกมารับว่าเป็นฝีมือของพวกเขาเอง

            ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก "คณะก้าวหน้า-Progessive movement" เองก็โหมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำรูป บทความ และสารคดีของเหตุการณ์ในปี 2535 และ 2553 มาลง รวมทั้งการเชื่อมโยงเหตุการณ์ในประเทศไทยกับการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยที่เป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างปี 2508-2509 และคาดว่าในวันที่ 22 พ.ค.นี้จะมีกิจกรรมจากพวกเขาอีกอย่างแน่นอน แต่ยังคงไม่มีการแพร่งพรายใดๆ ออกมาว่ารูปแบบกิจกรรมจะออกมาเป็นแบบไหน

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บรรดาแกนนำคณะก้าวหน้าหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดคือ "วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” โดยปรากฏชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์, พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด, สุเทพ เทือกสุบรรณ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงไม่มีใครถูกเอาผิด และกลับกันกลายเป็นว่าพวกเขาเหล่านี้แทบจะทั้งหมดกลายมาเป็นผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ในประเทศไทยด้วยซ้ำ ซึ่งเชื่อเลยว่าบรรดาชื่อข้างต้นก็จะยังคงถูกกล่าวถึงไปทุกๆ ปี แม้ในอนาคตพวกเขาเหล่านี้จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตามที เช่นเดียวกับประเด็นการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่ทหารกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของประชาชนทันทีที่มีการลั่นกระสุนนัดแรกออกไป

                "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" กล่าวตอนหนึ่งถึงข้อเสนอที่เขาเชื่อว่าสามารถปลดวิกฤติความขัดแย้งได้ ในการเสวนาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ได้แก่ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อย่าให้มีการประวิงเวลา อย่าให้มีการใช้เทคนิคทางกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามประชาชนทุกกลุ่มรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมาย 2.ปฏิรูปกองทัพ ทำให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพให้ได้ กองทัพต้องไม่สามารถสั่งเคลื่อนกำลังพลเองได้หากปราศจากการยินยอมของรัฐบาลพลเรือน กองทัพต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ 3.เปิดประวัติศาสตร์บาดแผล ทำเรื่องต่างๆ ให้เป็นสาธารณะ คนพูดคุยอย่างสันติ เอาข้อเท็จจริงมาถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล การจดจำและพูดถึงประวัติศาสตร์นองเลือด ไม่ใช่การฟื้นฝอยหาตะเข็บ รื้อฟื้นความขัดแย้ง

                ไม่ว่าสิ่งที่คณะก้าวหน้าพยายามผลักดันและนำเสนอมาตลอด นับแต่พวกเขายังคงอยู่ในคราบพรรคอนาคตใหม่นั้นจะเป็นจริงได้หรือไม่ ทุกคนก็คงจะรู้คำตอบอยู่แก่ใจอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีแค่คณะก้าวหน้าเท่านั้นที่พยายามหยิบประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอ และผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นอย่างที่ทุกคนเห็น นั่นคือ เรื่องค่อยๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา จะมาพูดถึงกันอีกครั้งก็ช่วงเดือนพฤษภาคมในแต่ละปี จนกลายเป็นเครื่องมือหากินของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้นเอง.

 

  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"