'โควิด-19'พ่วง'เคอร์ฟิว-ฉุกเฉิน' ส่อแนวโน้มคดีเพิ่ม 20%


เพิ่มเพื่อน    

    จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่เว้นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยในฝ่ายตุลาการอย่าง “ศาลยุติธรรม” ที่มีความจำเป็นต้องเลื่อนนัดพิจารณาคดีช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2563 จำนวน 163,620 คดีออกไป และกำหนดวันนัดพิจารณาคดีใหม่หลังจากนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีที่จะมีผู้คนทั้งโจทก์-จำเลย ญาติและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากมารวมตัวกันที่ศาล ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิดที่มิให้ผู้คนมารวมตัวกัน ยกเว้นบางคดีที่ไม่เลื่อน อาทิ คดีที่จำเลยอยู่ในเรือนจำสามารถพิจารณาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ และคดีเล็กน้อยอื่นๆ
    แต่ทว่า นอกจากคดีที่ศาลมีอยู่แล้วและต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปนั้น ก็ต้องไม่ลืมว่าจะมีคดีที่เพิ่มเข้ามาด้วย ยิ่งในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดที่จำเป็นต้องปิดเมือง “ล็อกดาวน์” จนส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านธุรกิจปากท้องที่ต้องหยุดชะงักด้วย อันที่จริงก็เริ่มส่งผลมาตั้งแต่ก่อนล็อกดาวน์ ที่ประชาชนป้องกันตัวเองด้วยการไม่ออกไปท่องเที่ยว เมื่อเศรษฐกิจชะงัก ประชาชนเดือดร้อน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ย่อมมีส่วนส่งผลให้ปริมาณคดีเพิ่มขึ้นหลังวิกฤติโควิดได้แน่นอน ซ้ำปัจจุบันยังมีเรื่องของ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” พร้อม “ประกาศเคอร์ฟิว” ที่บังคับใช้อยู่ โดยยังไม่มีท่าทียกเลิก ย่อมเป็นเหตุให้ประชาชนละเมิดได้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจด้วย จนกลายเป็นคดีเพิ่มขึ้นมา
    สถิติคดีที่อาจจะเพิ่มขึ้นภายหลังวิกฤติโควิด นอกเหนือจากการเลื่อนคดีที่มีอยู่เดิมนั้น “สราวุธ เบญจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์แนวโน้มปริมาณสถิติคดีที่จะขึ้นสู่ศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร ภายหลังวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ อ้างอิงปริมาณสถิติคดีที่เคยเกิดขึ้นจากสถานการณ์สำคัญในอดีต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540-2562 พบว่า
    1.วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ปี 2540 หรือเรียกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง มีสาเหตุจากการโจมตีค่าเงินบาทจากต่างชาติ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของไทยและในภูมิภาคเอเชียอย่างรุนแรง มีผลทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น เกิดการฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก โดยในปี 2541 สถิติคดีแพ่งเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 19 หรือมากกว่า สถิติคดีอาญาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 หรือมากกว่า
    2.วิกฤติโรคซาร์ส ปี 2545 และไข้หวัดนก ปี 2547 การแพร่ระบาดของเชื้อทั้ง 2 ชนิด ประชาชนต้องระมัดระวังในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ หรือการพบปะบุคคลอื่น ส่งผลในการก่อเหตุอาชญากรรมลดลง โดยคดีอาญาลดลงมากกว่าร้อยละ 19 แต่ในทางกลับกัน สถิติคดีแพ่งเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 22 หรือมากกว่า
    3.วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ปลายปี 2554 ประชาชนเกือบทุกหลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ภาคธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติ ภาคการเกษตรได้รับความเสียหาย ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถผลิตสินค้าได้ การเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คดีผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติคดีผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 15 หรือมากกว่า สถิติคดีแพ่งเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 6 หรือมากกว่า สถิติคดีอาญาเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 10 หรือมากกว่า
    4.วิกฤติโรคเมอร์ส-คอฟ ปี 2555 การแพร่ระบาดของโรคเมอร์ส-คอฟ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคระบาดทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศ ส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทย อัตราการว่างงานไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2557-2560 ส่งผลให้สถิติคดีแพ่งเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 2 สถิติคดีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 หรือมากกว่า และสถิติคดีอาญาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 หรือมากกว่า
    เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถิติคดีที่อาจจะเพิ่มขึ้นภายหลังวิกฤติโควิด-19 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ เปิดเผยว่า หากรัฐบาลไม่มีมาตรการปลดล็อกให้มีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการบางประเภทในระยะยาวภายในปี 2563 อาจส่งผลกระทบให้แนวโน้มปริมาณ “คดีแพ่ง” คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือมากกว่า เนื่องจากกิจการต่างๆ และลูกหนี้ขาดรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
    “คดีผู้บริโภค” ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือมากกว่า เนื่องจากผู้บริโภคขาดรายได้หลักต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และอาจมีการฉ้อโกงจากการขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น
    “คดีอาญา” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือมากกว่า เนื่องจากมีการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งในด้านการเดินทางเพื่อดำเนินการกิจการการค้า การเสพของมึนเมาในเวลากลางคืน การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ การค้ายาเสพติด และการก่อจลาจล เป็นต้น
    “คดีแรงงาน” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือมากกว่า อันเนื่องมาจากกิจการโรงงานปิดกิจการต่อเนื่องหลายเดือน ผู้ใช้แรงงานถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทน และ “คดีล้มละลาย” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 หรือมากกว่า เนื่องจากกิจการถูกฟ้องล้มละลายโดยตรงจากเจ้าหนี้มากขึ้น
    อย่างไรก็ตาม “สราวุธ” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังคงลุกลามไปทั่วโลก เพื่อไม่ให้เกิดการพิจารณาคดีล่าช้า ศาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการบริหารจัดการคดีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องภายใต้วิกฤตการณ์ต่างๆ และนำมาใช้สนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดี โดยนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดี และการบริการแก่คู่ความและประชาชนในรูปแบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางมาศาลก็สามารถติดต่อหรือสืบค้นข้อมูลของศาลผ่านโปรแกรมระบบต่างๆ ได้จากที่พักอาศัย หรือที่ใดก็ตามที่มีระบบอินเทอร์เน็ตรองรับ เช่น การไกล่เกลี่ยออนไลน์ การรับฟ้องและส่งคำคู่ความผ่านโปรแกรม e-filing, CIOS, ระบบติดตามสำนวนคดี (Tracking System) และ e-notice เป็นต้น การนำระบบพิจารณาคดี Night Court และการพิจารณาคดีนอกเวลาราชการมาใช้ในศาล เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาล
    “ส่วนในเรื่องกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลยุติธรรมได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน จากปกติที่ต้องนำตัวจำเลยที่จะถูกปล่อยตัวมาที่ศาล ก็จะปรับเปลี่ยนเป็นการสอบถามจำเลยด้วยระบบ VDO Conference จากที่เรือนจำ เช่นเดียวกับการอ่านคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยอยู่ที่เรือนจำอยู่แล้ว ก็สามารถอ่านผ่านระบบ VDO Conference โดยตรง ซึ่งการไม่ต้องนำตัวจำเลยมาที่ศาลยังช่วยลดความเสี่ยงของเขาที่จะต้องออกมาติดเชื้อ และในบางกรณียังช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกชิงตัวหลบหนีด้วย สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ในสังคม “New Normal ศาลยุติธรรม” ตามนโยบายของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา การยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานผู้ต้องหาและจำเลย คำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวทิ้งท้าย.
นายชาติสังคม
รายงาน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"