อนาคตการบินไทย อยู่ที่คนคุมหางเสือ-บริหารแผนฟื้นฟู


เพิ่มเพื่อน    

ผู้บริหารแผนฟื้นฟู การบินไทย

ต้องไม่ใช่ตัวแทน พรรคการเมือง

      อนาคตของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ประชุม ครม.เมื่อ 19 พ.ค. เห็นชอบให้บริษัท การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะเป็นอย่างไร กระบวนการที่สำคัญต่อจากนี้มีหลายขั้นตอนที่สำคัญ เช่น การตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ-การทำแผนฟื้นฟูกิจการ  เป็นต้น ขณะเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ขายหุ้นบริษัทการบินไทยให้กองทุนรวมวายุภักษ์ จำนวน 69 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.17% อันส่งผลให้ ก.คลัง ถือหุ้นในการบินไทย เหลือแค่ 47.86% จากเดิม 51.03% ทำให้การบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจไปเรียบร้อยแล้ว

       ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำกับดูแล บริษัท การบินไทย จำกัด ซึ่งล่าสุดมีชื่อเป็น 1 ในซูเปอร์บอร์ด ที่จะมีการตั้งขึ้น อันเป็นซูเปอร์บอร์ดที่เป็นตัวแทนระหว่างกระทรวงคมนาคม-คลัง เพื่อกรองงานเกี่ยวกับ การบินไทย เสนอนายกรัฐมนตรีเช่น การเลือกรายชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า หลังจากบริษัทการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยหากได้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่มีความสามารถ มาบริหารบริษัทการบินไทย และมีแผนฟื้นฟูกิจการที่ดี ก็จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมการบินได้แบบที่เคยเป็นมาในอดีต

      ประเด็นสำคัญที่ ถาวร-รมช.คมนาคม เน้นย้ำถึงความสำเร็จของการบินไทยดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อยู่ที่ 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 2.แผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย

      โดยในส่วนของ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เรื่องนี้  ถาวร-รมช.คมนาคม ให้ความเห็นว่าตามกระบวนการต่อจากนี้ เมื่อมีการยื่นคำร้องเพื่อขอให้บริษัทการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง จากนั้น  ศาลก็จะดูคำร้องที่ยื่นไปว่าครบองค์ประกอบตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ เช่น การมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ได้-กิจการพร้อมที่จะเดินต่อไปได้ และต้องการรักษาสภาพการจ้างงานไว้และมีผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเรื่องผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย สำคัญมาก

      ...ความคิดผม อยากให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้งเพราะน่าจะเป็นที่เชื่อถือได้มากกว่าคนอื่นตั้ง หรือมีคณะทำงานในการบริหารแผน ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียว อาจสัก 1-3 คน ไม่ควรให้มีมากเกินไป หรือจะตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูแค่คนเดียวก็ยังได้ ไม่อย่างนั้นมันจะเทอะทะ และระหว่างทำแผนอาจเถียงกันไม่จบ ส่วนผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู จริงๆ ถ้าจะมาจากตัวแทนเจ้าหนี้หนึ่งคนและตัวแทนลูกหนี้หนึ่งคนก็จะสวย   และบุคคลที่นายกรัฐมนตรีจะตั้งต้องออกสื่อสาธารณะ เพื่อหยั่งเสียง ฟังเสียงจากประชาชน ว่าน่าไว้วางใจหรือไม่ หรือไม่ก็ถามความเห็นผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ตั้งตามอำเภอใจ ที่กระบวนการก็ไม่ยาก เช่น จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อบอกว่าจะตั้งใคร

“ในการคัดเลือกผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ผมไม่อยากให้มีตัวแทนของพรรคการเมือง และอยากเรียนไปถึงนายกรัฐมนตรีด้วยว่าท่านต้องรอบคอบอย่างมาก เพราะเรื่องนี้คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้การฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จได้ และต้องให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระทรวงเจ้าสังกัด ผู้ถือหุ้นรายเล็กและรายใหญ่ พนักงานการบินไทย สหภาพการบินไทย รวมถึงลูกค้าและประชาชนทั่วไป ต้องเปิดเผยให้คนเหล่านี้ได้รับทราบว่าจะมีการเสนอชื่อใครเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และวิธีการคัดเลือก ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องรับรู้ เพื่อจะได้วิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยต้องมีการบอกล่วงหน้าก่อนการเห็นชอบรายชื่อผู้บริหารแผน เพราะเรื่องนี้คือปัจจัยของความสำเร็จที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย" รมช.คมนาคมระบุ

       - ก่อนหน้านี้ ที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม บอกไว้ว่าจะเสนอรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาประมาณ 15 คน แตกต่างกันอย่างไร?

      อันนั้นเป็นการตั้งคณะทำงานเข้าไปเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเลือกในการบริหารแผน แต่อันนี้ต้องคิดเอง ซึ่งความคิดผม ก็เอาด้วยกับคุณศักดิ์สยาม ไม่เห็นปัญหา เพียงแต่ต้องให้ประชาชนหรือผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้การเมือง top-down ต้องให้ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้-เสีย ได้มีส่วนในการตัดสินใจเสนอแนะหรือรับทราบด้วย เพราะนี่คือบริษัทของเขา ไม่ใช่บริษัทของใครคนใดคนหนึ่ง

       - สเปกของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย  ควรเป็นอย่างไร?

      อย่าไปลงลึก พวกคุณอาจไปเห็นชื่อที่ปรากฏตามสื่อสามชื่อ ซึ่งไม่ใช่ ที่ผมบอกเช่นนี้ เพราะผมรู้ประวัติของคนบางคนในสามคน ผมรับไม่ได้ พวกคุณลองค้นหาข่าว ชื่อที่ออกมาใช่หรือไม่ โปร่งใสหรือไม่ มีความสามารถจริงหรือไม่ บางคนก็เคยอยู่การบินไทยมาแล้ว บางคนก็เคยอยู่รัฐวิสาหกิจมาแล้ว ก็รู้ได้ ใครโปร่งใส ไม่โปร่งใส ใครเก่ง ใครไม่เก่ง ในเรื่องอุตสาหกรรมการบิน

      สมมุติว่ามีการเสนอชื่อสามคนนั้นเข้ามาแล้วเกิดเจ้าหนี้ไม่เอาด้วย แล้วเจ้าหนี้ไปร้องคัดค้านในศาล มีการส่งประวัติยาวเหยียดเข้าไปในศาล จะไม่เสียคนหรือ เสียคนทั้งคนตั้ง คนเสนอ คนที่อยากจะเป็น เพราะมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะในช่วงระหว่างการทำแผนฟื้นฟู

      สำหรับสเปกของคนที่จะมาเป็นผู้บริหารแผน ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการบิน ส่วนความเชี่ยวชาญด้านการเงิน กฎหมาย การปรับโครงสร้างองค์กร สามารถจ้างได้

- พวกอดีตดีดีการบินไทย อดีตบอร์ดการบินไทย สามารถมาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ได้หรือไม่?

      ต้องถามว่าเขามีความเชี่ยวชาญหรือไม่ ขาดทุนมา 5-6 ปี มีตัว KPI อยู่ ผลงานปรากฏอยู่ คือดูเหมือนง่าย อยากจะช่วยพรรคพวก อยากจะหนุนคนโน้นคนนี้ แต่ว่าเอาเข้าจริงมันไม่ใช่

- ก็คือ ก่อนที่รัฐบาลจะคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเสนอให้เข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ก็ควรให้มีการประกาศชื่อออกมาก่อนเบื้องต้น เพื่อเช็กกระแส ฟังเสียงประชาชนถึงรายชื่อดังกล่าว?

      ใช่ โดยเฉพาะความเห็นผู้ถือหุ้น อย่าคิดว่ากระทรวงการคลัง-กองทุนวายุภักษ์-ธนาคารออมสิน รวมกันแล้วถือหุ้นเป็นเสียงข้างมาก จะเสนอชื่อใครก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงนักลงทุนด้วย ซึ่งนักลงทุนจะเป็นตัววิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย จนนำไปสู่ความไม่เหมาะสมหรือความเสียชื่อได้

ในเมื่อเราเปิดกว้างแล้ว ก็ต้องเปิดชื่อให้สาธารณะรับรู้ -รับทราบ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารแผนฟื้นฟูก็อาจตั้งมาก็ได้ แต่ก็ต้องรับฟังความเห็นประชาชนด้วย เพราะเมื่อบอกกันว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ โดยรายชื่อผู้บริหารแผนที่จะเสนอให้มีการตั้งออกมา ควรทำให้เร็วที่สุด และปัจจุบันก็ทำได้ไม่ยาก การฟังความเห็น 3 วัน 7 วัน ก็รู้เรื่องแล้ว

- แต่เห็นตามข่าว รมว.คมนาคมบอกว่าจะเสนอรายชื่อในสัปดาห์หน้า แล้วจะรับฟังความเห็นประชาชนทันหรือไม่?

      เสนอแล้ว นายกรัฐมนตรีอาจจะยังไม่ตัดสินใจ เพราะอยู่ในขั้นตอนของนายกฯ และนายกรัฐมนตรี ก็อาจเปิดกว้างจากที่อื่นด้วยก็ได้ เพราะตรงนี้กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ กระบวนการสรรหาคนดีคนเก่งต้องเปิดกว้าง

      ส่วนบอร์ดการบินไทยชุดปัจจุบันก็ยังคงทำงานไปก่อน จนกว่ากระทรวงการคลังจะมีการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในการบินไทยเสร็จ (ให้เหลือไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์) จากนั้นก็จะมีการแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู ตอนนี้ยังไม่ควรเปลี่ยนแปลงบอร์ดการบินไทย โดยเมื่อมีการเห็นชอบผู้บริหารแผนฟื้นฟูแล้ว บอร์ดการบินไทยก็จะสิ้นสภาพทันที โดยบอร์ดการบินไทยจะดูแลขับเคลื่อนบริษัทในช่วงยังไม่มีผู้บริหารแผนฟื้นฟู 

...ตามขั้นตอนทางกฎหมายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในการบินไทยของกระทรวงการคลัง จนถือไม่ถึง  50 เปอร์เซ็นต์ ถึงตอนนั้นการบินไทยก็จะพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ที่จะทำให้การบริหารงานของบริษัทการบินไทยมีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น การหาคนมาเป็นผู้จัดทำแผน-ผู้บริหารแผน ที่หากมีความสามารถก็สามารถเข้ามาทำงานนี้ได้ แม้แต่คนต่างชาติก็สามารถจ้างได้ รวมถึงทำให้การบินไทยหลุดพ้นจาก พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ปี 2543 ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน

เมื่อไปถึงขั้นตอนดังกล่าว ก็จะทำให้การบินไทยไม่มีสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดเป็นต้นสังกัด แต่จะอยู่ในกลุ่มของคมนาคม ซึ่งตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าเมื่อเป็นแบบนั้นแล้ว ยังจะให้ ก.คมนาคมกำกับดูแลต่อไปหรือไม่ เพราะหน่วยงานนี้ต่อไปก็จะคล้ายกับ  ปตท. ซึ่งแม้หากกระทรวงการคลังมีการโอนหุ้นไปแล้ว แต่บริษัทก็ยังคงอยู่ใต้ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ-พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กระทรวงการคลังยังคงให้การสนับสนุนการหาแหล่งเงินกู้ได้

      ส่วนการฟื้นฟูกิจการจะใช้เวลานานเท่าใด กฎหมายเขียนไว้ว่า ในส่วนของการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องเสนอให้แล้วเสร็จภายในสามเดือน ขยายได้ครั้งละหนึ่งเดือน ไม่เกินสองครั้ง ก็คือ 3+1+1 (5 เดือน) ส่วนการฟื้นฟูกิจการต้องทำให้เสร็จภายในไม่เกินห้าปี 

      ถาวร-รมช.คมนาคม-ว่าที่ซูเปอร์บอร์ด ย้ำชัดๆ อีกครั้งถึงเหตุผลที่รัฐบาลต้องเลือกวิธีการส่งบริษัทการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการว่า จากข้อมูลย้อนหลังเช่น ปี 2558 พบว่าบริษัท การบินไทย ขาดทุน 13,047 ล้านบาท-ปี 2559 กำไร 47 ล้านบาท-ปี 2560 ขาดทุน 2,072 ล้านบาท-ปี 2561 ขาดทุน 11,569 -ปี 2562 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท ส่วน 2563 คาดว่าจะขาดทุนกว่าห้าหมื่นล้านบาท

..ที่ผ่านมามีความพยายามมาตลอดในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูบริษัทการบินไทย ซึ่งสมัยรัฐบาล คสช.มีการประชุม ครม.และมีข้อสั่งการระหว่างการประชุม ครม. ที่ให้ทำการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ-ฟื้นฟูการบินไทยมาตลอดรวม 8 ครั้ง เช่น การประชุม ครม.เมื่อ 2 ก.พ.2559 ซึ่งที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้มีการจัดทำแผนปฏิรูปองค์กร และจัดทำเป้าหมายและประมาณการด้านรายได้และค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนที่จะดำเนินการจนถึงไตรมาสที่สองของปี 2559 เป็นต้น

      ถาวร กล่าวต่อไปว่า ประเด็นปัญหาก็คือ ระหว่างที่จัดทำแผนยังไม่สำเร็จ ผมได้สั่งการให้บริษัทการบินไทยแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับเป้าหมายข้างต้น และสิ่งที่ผมเห็นว่าควรต้องทำ เช่น การแก้ปัญหาการทุจริต-การแก้ปัญหาเรื่องการขายตั๋วโดยสารของการบินไทย-เรื่องตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทการบินไทยที่ซ้ำซ้อน ต้องลดขนาด ทำการ downsizing

“แต่ก็ไม่มีการทำให้เกิดผลสำเร็จเสียที แม้ผมจะไปประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ กับทางการบินไทย 3-4 ครั้ง ก็ยังไม่มีอะไรสำเร็จออกมา นับรวมเวลาประมาณ 5 เดือน หลายเรื่องก็ไม่ไปถึงไหน”

...อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการตามมติ ครม.ก่อนหน้านี้ นั่นก็คือ การจัดซื้อเครื่องบินโดยสารการบินไทยอีก 38 ลำ ซึ่งเคยมีมติ ครม.ไว้ตั้งแต่ปี 2554 และต่อมามติ ครม.ยุครัฐบาล คสช.ก็ยืนยันให้มีการจัดซื้อดังกล่าว จากนั้นวันที่ 8 ม.ค.2562 บอร์ดการบินไทยก็มีมติให้จัดซื้อเครื่องบินโดยสารดังกล่าว

      เมื่อผมเข้ามาดูแลงานการบินไทยก็มีการขอดูข้อมูลเครื่องบินทั้งหมดของการบินไทย ก็พบว่ามีอยู่ 103 ลำ ผมได้ขอให้การบินไทยแจกแจงเส้นทางการบินทั้งหมดของการบินไทย เพื่อต้องการทราบว่า ซื้อมาแล้วจะนำไปทดแทนเครื่องบินโดยสารในเส้นทางการบินเส้นทางใด เขาก็ตอบผมไม่ได้ว่าจะนำไปทดแทนเครื่องบินที่จะปลดระวางอย่างไร ผมจึงขอให้การบินไทยมีการทบทวน โดยให้ทำแผนธุรกิจมาว่า ภายใน 2 ปีเมื่อจัดซื้อเครื่องบินใหม่แล้วมีแผนธุรกิจอย่างไร-ผลกำไรขาดทุนจะเป็นอย่างไร ทางผู้รับผิดชอบก็ทำมาไม่ได้ ผมก็เลยบอกให้นำเรื่องโยนกลับไปให้บอร์ดการบินไทยอีกครั้งก็พบว่า ก็ไม่สามารถตอบหรือให้ข้อมูลอะไรได้ ผมก็ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ควรที่จะต้องออกมาจาก comfort zone กันเสียบ้าง มานั่งพิจารณาข้อมูลทั้งหมดอย่างจริงจัง

หลังจากนั้นก็มีคนในบอร์ดการบินไทยลาออก หลังจากที่ผมเริ่มเข้ามาตรวจสอบเรื่องการทุจริตที่เกิดขึ้นใน บริษัท เรื่องก็จบไป แล้วต่อมาก็มีการแพร่ระบาดของโควิด ระหว่างนั้นก็มีการทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่จัดทำโดยกระทรวงการคลัง ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยนำสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มาร่วมจัดทำแผน ที่ออกมาเป็นมติ คนร.เมื่อ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา

..แผนงานดังกล่าวมีอยู่ 6 เรื่องที่ให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ ที่ใน 6 เรื่องดังกล่าวมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ คือ ให้มีการกู้เงินโดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน 54,000 ล้านบาท และหลังจากนั้นให้มีการเพิ่มทุนอีก 83,000 ล้านบาท ทั้งที่ธุรกิจเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ขนาดในต่างประเทศ ธุรกิจสายการบินอย่างที่สหรัฐอเมริกายังมีการขายหุ้นทิ้ง

      จากนั้นก็มีการส่งแผนดังกล่าวมาให้ผมในฐานะกำกับดูแลการบินไทย ผมก็มานั่งดูในข้อกฎหมายและทำความเห็นแย้งไปว่าไม่เห็นด้วย อย่างแรกที่ผมพิจารณาเลยก็คือ การที่บริษัทการบินไทยที่มีผู้ถือหุ้นเป็นเอกชนร่วม 31 เปอร์เซ็นต์แล้วนอกนั้นก็เป็นรัฐถือหุ้น สิ่งสำคัญก็คือ หากรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือเอกชนที่ถือหุ้นใน บมจ.การบินไทย 31 เปอร์เซ็นต์ มันจะเป็นการใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ไปให้เกิดกับเอกชน จะส่อว่าทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผมก็แจ้งไปว่า ผมไม่เห็นด้วย

...รวมถึงที่สำคัญคือ แผนการฟื้นฟูบริษัท ในเรื่องการปรับปรุงฝูงบินและการบริหารทรัพย์สินด้วยการขาย ที่ตอนนี้มีเครื่องบินที่จะต้องขาย 12 ลำ ผมก็จี้ถามไปตลอดถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ เขาก็บอกว่า ขายไม่ได้ เพราะเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (book value) ราคาท้องตลาดมันต่ำ จึงขายไม่ได้ โดยที่ก่อนหน้านี้มาบอกว่าจะขายให้เสร็จภายในสิ้นปี แล้วจะส่งมอบในเดือนมกราคมปี 2564 จะได้เงินมาหลายพันล้านบาท หรือแม้แต่ข้อเสนอการลดคน-เพิ่มรายได้ที่ดูแล้วก็เป็นไปไม่ได้

      สิ่งเหล่านี้ เมื่อข้อกฎหมายมันผิดตั้งแต่ข้อแรกแล้ว ข้อเสนออื่นๆ จึงไม่ต้องพิจารณา ผมจึงเสนอความเห็นดังกล่าวให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รับทราบ ที่เขาก็เห็นด้วย จึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ไปศึกษาทำรายละเอียดแนวทางการแก้ไขปัญหา การบินไทย แนวทางอื่นๆ มาให้พิจารณา      ซึ่งเรื่องการแก้ไขปัญหาการบินไทย ทุกคนก็รู้ว่ามีอยู่ 3 ทาง คือ 1.รัฐอุ้มต่อ 2.ปล่อยล้มละลาย คือ รัฐไม่หาเงินมาให้ บริษัทก็ต้องล้มละลาย ปิดกิจการ 3.ยื่นฟื้นฟูกิจการ

      ต่อมา เราก็มีหนังสือถึง คนร.เพื่อให้แจ้งต่อกระทรวงการคลัง-สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ถึงแนวทางการให้กระทรวงการคลังลดการถือหุ้นในการบินไทย ให้เหลือไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ง่ายต่อการยื่นทำแผนฟื้นฟูกิจการ และเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการในการหาผู้ทำแผน-บริหารแผน ปรากฏว่าวันนั้นกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย ต่อมานายกรัฐมนตรีก็เรียกผมกับนายศักดิ์สยามไปพบที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อหารือเรื่องนี้ จนต่อมานายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วยกับแนวทางของเรา จน คนร.และที่ประชุม ครม.สุดท้ายก็มีมติเห็นชอบด้วยกับการให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

เร่งสอบปม ขายตั๋วเครื่องบิน

หากพบมีเงื่อนงำ เตรียมดำเนินคดี

      ถาวร-รมช.คมนาคม ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการของบริษัท และปัญหาการทุจริตในบริษัทการบินไทยซึ่งทำให้ประสบภาวะขาดทุน โดยมี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยได้อธิบายถึงเหตุผลการตั้งคณะทำงานชุดนี้ว่า หลังจากเข้ามาทำหน้าที่เป็น รมช.คมนาคม จนถึงตอนนี้ก็ร่วม 7 เดือน ผมพบร่องรอยของการบริหารที่ส่อทุจริตในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานี้ ร่องรอยการทุจริต เช่น กระบวนการจำหน่ายตั๋วโดยสารของสายการบินไทย

      ...การบินไทยมี business unit อยู่ 5-6 business เช่น Cargo มีกำไร Catering มีกำไร ฝ่ายช่างปีที่แล้ว 2562 ขาดทุนเล็กน้อย ส่วนสายการบินไทยสมายล์‎ ขาดทุนต่อเนื่องถึง 7,000 ล้านบาท

      ส่วนกลุ่ม core business หรือธุรกิจหลักคือ ธุรกิจการบิน เช่น ในปี 2561 มีเส้นทางการบินที่ขาดทุน 48 เส้นทาง ส่วนเส้นทางที่ทำกำไรมี 59 เส้นทาง ต่อมาในปี 2562 มีเส้นทางการบินขาดทุน 60 เส้นทาง มีกำไร 39 เส้นทาง เมื่อไปดูผลประกอบการ พบว่า ในปี 2561 ประมาณ 11,000 ล้านบาท ส่วนปี 2562 ขาดทุน 12,000 ล้านบาท

...เมื่อไปดูเส้นทางต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ลอนดอน-กรุงเทพฯ ปี 2561 มีเที่ยวบินทั้งหมด 1,434 เที่ยวบิน ได้เงิน 8,718 ล้านบาท มาจากรายได้จากการขนผู้โดยสาร 7,689 ล้านบาท ขนสินค้าสัมภาระได้เงิน 1,029 ล้านบาท ผลประกอบการขาดทุน 669 ล้านบาท เฉลี่ยขาดทุนประมาณเที่ยวบินละ 4 แสน 6 หมื่นบาท จากนั้นในปี 2562 มีเที่ยวบิน 1,434 เที่ยวเท่าเดิม มีรายได้รวม 8,546 ล้านบาท มาจากรายได้ผู้โดยสาร 7,715 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2561 โดยมีรายได้จากการขนสัมภาระ 831 ล้านบาท ของเดิมปีที่แล้ว 1,029 ล้านบาท ผลประกอบการขาดทุน 1,313 ล้านบาท ขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 9 แสนบาท โดยที่อัตราที่นั่งผู้โดยสารเต็ม 82.9% ขณะที่ปี 2561 อยู่ที่ 77.7%

...ขาดทุนทุกเที่ยวบิน แล้ว 1 ปีมี 1,434 เที่ยวบิน ถามว่าแล้วอยู่ได้อย่างไร โดยที่รู้ว่าก็ขาดทุน ผมก็เอกซเรย์ต่อไปในเรื่องการขายตั๋วโดยสารสายลอนดอน-กรุงเทพฯ ก็พบว่า การบินไทยขายตั๋วโดยสารเอง 20% นอกนั้นเป็นการขายโดยเอเยนซี ผมก็ถามผู้บริหารการบินไทยว่ายกเลิกเอเยนซีได้ไหม เขาก็บอกว่าเป็นระบบ royalty พึ่งพากันมานาน เลิกไม่ได้ นี่คือปัญหา

      "ถามว่านี่คืออะไร เมื่อผมเห็นแบบนี้ผมจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการสอบ 2 ด้าน คือ สอบด้านประสิทธิภาพ และสอบทุจริต โดยที่ผ่านมา บอร์ดก็เดิมๆ ผู้บริหารก็เดิมๆ แต่ประเมินผ่านการทำงานกันได้ทั้งสองฝ่าย บอร์ดก็ประเมินผ่านหมด ยกเว้นตัวเองลาออก ดีดีการบินไทยก็เพิ่งลาออก ก็ประเมินผ่านหมด นั่นหมายความว่ายังไง โดยที่เมื่อไปดูอย่าง Catering ที่มีกำไร ตัวเลขประมาณ 2 พันล้านบาท ส่วนคาร์โกกำไร 3 พันล้านบาท แค่นี้ก็พอแล้ว ส่วนฝ่ายช่างก็ขาดทุนไม่มาก 200-300 ล้านบาท น่าเศร้าไหม ที่ขาดทุนกันหมื่นกว่าล้าน แต่แค่ขยับอะไรนิดเดียวก็มีกำไรแล้ว ผมจึงเห็นว่าควรที่การบินไทยต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ"

        ..คณะทำงานชุดดังกล่าวก็ยังทำงานต่อไป เพราะให้สอบการทุจริตการไม่มีประสิทธิภาพย้อนหลัง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าเมื่อมีการฟื้นฟูแล้วการบินไทยจะไม่หวนกลับไปสู่วัฒนธรรมเดิม โดยการสอบหากพบว่าส่อทุจริตก็ดำเนินการตามขั้นตอน เช่น แจ้งความดำเนินคดี ผมก็ให้คณะทำงานสอบทุกเรื่อง แต่ตอนนี้ให้เร่งเอาเรื่องเดียวมาก่อน คือเรื่องการจำหน่ายตั๋วโดยสาร ส่วนเรื่องขาดประสิทธิภาพไปดำเนินคดีอะไรไม่ได้ แต่ก็จะเป็นบทเรียนว่าพวกคุณอย่าอวยซึ่งกันและกัน เพราะการขาดประสิทธิภาพคือไม่ได้คนเก่งมาทำงาน ต่อไปนี้ต้องได้คนเก่ง

      - การผ่าตัดใหญ่การบินไทยครั้งนี้จะทำให้ อนาคตของบริษัทการบินไทยดีขึ้น?

      ต้องดีขึ้น ต้องอาศัยผู้บริหารฟื้นฟูและแผนฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ เช่น นายกรัฐมนตรี-กระทรวงที่กำกับ-ผู้ถือหุ้น และการบินไทย ผมมั่นใจ เรายังมีจุดเด่นเยอะที่เป็นจุดแข็ง เช่น brand ของการบินไทย-การต้อนรับ-การบริการ รวมถึงฐานของการโดยสารอันเป็นภูมิรัฐศาสตร์-ภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เราอยู่ตรงกลางในการเชื่อมต่อการบิน การโดยสาร ที่ทำให้การบินไทยสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้

 

      การคัดเลือกผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ไม่อยากให้มีตัวแทนของพรรคการเมือง ..ต้องให้ประชาชนหรือผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้การเมือง Top-down ต้องให้ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนในการตัดสินใจเสนอแนะ-รับทราบด้วย เพราะนี่คือบริษัทของเขา ไม่ใช่บริษัทของใครคนใดคนหนึ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"