สสส.ร่วมกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยปักหมุดเพื่อผู้หญิงสร้างสังคมปลอดความรุนแรง


เพิ่มเพื่อน    

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวส่งผลต่อความสงบสุขในสังคม สสส.ร่วมกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ส่องโลกออนไลน์เผือกยุคโควิด-19 สร้างชุมชนโลกเสมือนช่วยผู้หญิงที่เผชิญความรุนแรงในบ้าน แนะ 4 วิธีเผือกถูกจุด สร้างสังคมปลอดความรุนแรง

             

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Violence in Society) เป็นการกระทำใดๆ ที่มุ่งหมายให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ แม้จะมี กม.ให้ความคุ้มครองก็จริงอยู่ แต่ยังขาดมาตรการในการปฏิบัติอย่างจริงจัง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาเบื้องต้นที่ทำลายความสงบสุขของสังคม การที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยา การทำทารุณกรรมเด็ก การใช้แรงงานเด็ก ความรุนแรงเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว มีความเก็บกด อาฆาตมาดร้าย ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ยิ่งครอบครัวใดอยู่กับพ่อแม่ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ติดการพนัน อบายมุขทั้งหลาย รวมทั้งสารเสพติดต่างๆ ยิ่งก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวและสังคมสูงยิ่งขึ้น

 

             

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในบ้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่คนในครอบครัวต้องกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานที่บ้านเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะแทนที่บ้านจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงหลายคน อาจต้องเผชิญกับความรุนแรงในบ้าน โดยที่ไม่สามารถหนีออกจากบ้านหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ได้ สสส.จึงร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ต่อยอดแคมเปญ "เผือก" ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

             

โดยปีที่ผ่านมามีแคมเปญ "ปักหมุดจุดเผือก" มีประชาชน นิสิต นักศึกษาร่วมรายงานจุดเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการคุกคามทางเพศทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 611 จุด ในสถานการณ์โควิดได้ปล่อยแคมเปญล่าสุด "เผือก neighborhood หรือทีมเผือกชุมชน" ซึ่งจะเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังโลกเสมือน เพื่อติดตามถามไถ่เพื่อนๆ และคนรู้จักผ่านเครื่องมือดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ถึงสถานการณ์ความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิต เพื่อมีส่วนในการลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ โดยมีเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ how to วิธีการเผือกแบบโลกเสมือนของเพื่อนบ้านอย่างถูกวิธี และการบอกเล่าประสบการณ์เผือกเพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อการไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว
 

             

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิง สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ปัญหาที่ตามมาจากโควิด-19 นอกจากความกังวลเรื่องโรค ปัญหาปากท้องแล้ว ยังมีปัญหาความสัมพันธ์ในบ้านทั้งความเครียด ความไม่เข้าใจกันจนอาจนำไปสู่ความรุนแรงตามมาได้ แคมเปญเผือก neighborhood จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางลดความรุนแรงในบ้านและหยุดยั้งความรุนแรงทางเพศ ผ่านการสังเกตและสอดส่องเพื่อน หรือคนที่รู้จักทั้งในชุมชน ละแวกบ้าน และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเรามีทีมเผือกกว่า 800 คน ช่วยกันสังเกต สอดส่องความรุนแรงในที่สาธารณะ และเพิ่มพื้นที่การเผือกผ่านทางโซเชียลมีเดียของเพื่อนๆ หรือคนที่รู้จัก
 

             

"4 วิธีเผือกที่ทำได้ง่ายๆ คือ 1.สังเกตสัญญาณของเพื่อนผ่านทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี ว่ามีการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่ แนวโน้มไปในทิศทางไหน ความเครียด ความรุนแรง 2.โทรศัพท์ไปถามไถ่ เริ่มจากเรื่องทั่วๆ ไปก่อนแล้วค่อยเข้าประเด็นเผือกแบบเนียนๆ 3.รับฟัง เมื่ออีกฝ่ายไว้ใจที่จะเล่าให้ฟังแล้ว ยังไม่ต้องกังวลกับการช่วยแก้ปัญหา รับฟังไปก่อน และ 4.ตั้งคำถามชวนคิด ไม่ใช่การแนะนำ เพราะลึกๆ เขามีคำตอบอยู่แล้ว เพียงแต่ยังสับสน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งการตั้งคำถามให้อีกฝ่ายคิดอาจทำให้เขามีคำตอบกับทางออกที่ชัดเจนขึ้น

             

สุดท้ายหากประเมินว่ามีความเสี่ยงหรือน่าเป็นห่วงอาจพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว มีอะไรติดต่อมาได้นะ เราพร้อมที่จะรับฟังนะ เป็นต้น และสำหรับวิธีสื่อสารเพื่อลดปัญหาความสัมพันธ์ในบ้านช่วงโควิด-19 คือ 1.ตั้งใจและใส่ใจฟังปัญหาของคนในบ้านให้มากขึ้น 2.หาพื้นที่หรือมุมส่วนตัวทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อทดแทนชีวิตปกติที่เสียไปในช่วงนี้ และ 3.หากคู่ไหน ครอบครัวไหน พอจะพูดคุยกันได้ ลองถามไถ่ความรู้สึกของกันและกัน เพื่อจะได้รับรู้และเข้าใจกัน ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวหรือคู่ชีวิตให้ดียิ่งขึ้น” ดร.วราภรณ์กล่าว

 

ข่าวดี!สสส.-มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิต้านเอดส์หนุนแรงงานนอกระบบผลิตหน้ากากผ้า

สสส.–มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ สนับสนุนแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางสังคม ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย เดินหน้าผลิตหน้ากากผ้า 50,000 ชิ้น หวังบรรเทาปัญหาปากท้อง พร้อมแนบคู่มือสู้โควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ ส่งถึงมือประชากรกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ

             

เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า แรงงานนอกระบบในเมืองไทยหมายถึงกลุ่มคนประเภทใด ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาตินิยามเรื่องแรงงานนอกระบบหมายถึง ผู้ที่มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ ดังนั้น แรงงานนอกระบบหมายถึงผู้ที่มีงานทำที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม กม. และไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน มีการจำแนกแรงงานนอกระบบออกเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง นายจ้าง (ไม่ประกันตน) ลูกจ้าง (ไม่ประกันตนและทำงานไม่ถึง 3 เดือน) ลูกจ้างรัฐบาล (ผู้รับจ้างเหมาไม่ประกันตน) และการรวมกลุ่มโดยในกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้างเอกชน และลูกจ้างรัฐบาลนั้นจะกำกับไว้ชัดเจนว่า “ไม่ประกันตน” อยู่ในกลุ่มประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างก็คงไม่ประกันตนด้วยเช่นกัน สรุปว่าหลักเกณฑ์สำคัญที่มีการสำรวจและนับจำนวนแรงงานนอกระบบจึงอยู่ที่การประกันสังคม

             

แรงงานนอกระบบประกอบด้วย ผู้ทำงานส่วนตัวและนายจ้างที่ประกอบธุรกิจในเศรษฐกิจนอกระบบ ผู้ช่วยธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ หรือในระบบก็ตาม ลูกจ้างที่ทำงานเศรษฐกิจนอกระบบหรือผู้ช่วยธุรกิจครอบครัวโดยได้รับค่าจ้าง Hussmanns ระบุว่างานเศรษฐกิจนอกระบบหรืองานที่ไม่เป็นทางการนั้นดูจากว่างานที่ทำนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองจาก กม.แรงงาน ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องประกันสังคม หรือได้รับความคุ้มครองในการทำงาน อาทิ การแจ้งเลิกจ้างล่วงหน้า เงินชดเชย การลาป่วยหรือวันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง งานที่ชั่วโมงทำงานหรือค่าจ้างต่ำกว่า กม.กำหนด การทำงานในธุรกิจที่มิได้จดทะเบียน งานที่สถานที่ทำงานของลูกจ้างอยู่นอกที่ทำการของธุรกิจ หรืองานที่ กม.แรงงานไม่ได้ใช้บังคับหรือผู้ทำงานการรวมกลุ่ม

             

ILO หมายถึงการคุ้มครองจากกรมแรงงานหรือมาตรฐานแรงงาน ดังนั้น แรงงานที่อยู่ในระบบหมายถึงผู้ที่มีงานทำที่ได้รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ได้แก่ 1.ข้าราชการ ลูกจ้างประจำของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น 2.ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 3.ครูใหญ่หรือครู รร.เอกชนตาม กม.ว่าด้วย รร.เอกชน 4.ลูกจ้างของรัฐบาล ต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ 5.ลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตาม กม.แรงงาน 6.ผู้ที่มีงานทำที่มีประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40

 

 

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สสส. กล่าวว่า สสส.เข้าใจในความยากลำบากของแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีบางส่วนถูกเลิกจ้างในช่วงวิกฤติโรคระบาด เราจึงปรับรูปแบบการทำงานในโครงการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ซึ่งทำร่วมกับมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาเป็นการสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบกลุ่มหนึ่งผลิตหน้ากากผ้าจำนวน 50,000 ชิ้น และส่งมอบให้ประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติทั่วประเทศ หลังพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ประสบปัญหาการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ทั้งยังเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบ เพราะเราเชื่อว่าการจะส่งเสริมให้คนหันมาดูแลสุขภาพได้นั้น ประการแรกต้องแก้ปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้ได้ก่อน เพราะเมื่อประชาชนมีข้าวปลาอาหารบริโภคเพียงพอแล้ว จึงจะหันมาใส่ใจการมีสุขภาพดี

 

“นอกจากการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่าง FAR แล้ว  สสส.ยังบูรณาการแผนงานในองค์กร ระหว่างแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตและแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ตรวจสอบพื้นที่ของประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ส่วนในระยะยาว สสส.จะร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) สื่อสารประเด็นขจัดการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่อาจติดเชื้อ/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่รักษาหายแล้ว เนื่องจากคาดว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน ไทยและทุกประเทศจึงต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ และดูแลการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างมีเมตตา” ชาติวุฒิกล่าว

 

  

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) กล่าวว่า หน้ากากผ้าทั้ง 50,000 ชิ้นถูกส่งมอบให้กับแกนนำประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติทั่วประเทศแล้ว ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และกลุ่มแรงงาน โดยถูกแนบส่งไปพร้อมกับ “คู่มือสู้โควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากยิ่งขึ้น เพราะเราพบว่าผู้ที่อาจติดเชื้อ/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่รักษาหายแล้ว ยังถูกคนในชุมชนรังเกียจ กีดกัน และอาจมีผลทำให้ผู้ที่อาจติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าเดินเข้าไปรับการตรวจวินิจฉัยโรค ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากขึ้น สำหรับผู้สนใจคู่มือดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้แล้วทาง http://llln.me/BfzlIaW

 

 

“หากคนในชุมชนมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 รู้ว่าเชื้อแหล่งที่อยู่ของเชื้ออยู่ที่ไหน รู้ว่าติดต่อได้อย่างไร รู้วิธีป้องกัน รู้วิธีรักษา และเข้าใจว่าทุกคนล้วนมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ ทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ส่งผ่านเชื้อไปให้คนอื่นเพราะเราอาจติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ไม่มีอาการ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะช่วยลดความกลัว คลายความกังวล และทัศนคติเชิงลบที่มีต่อกันได้” สุภัทราให้ข้อคิดปิดท้าย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"