'สมพงษ์'อัดพ.ร.ก.เงินกู้เหมือนตีเช็คเปล่าเอื้อพวกพ้อง


เพิ่มเพื่อน    

27 พ.ค.2563 -  นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องพระราชกำหนด 3 ฉบับว่า ขอชื่นชมและแสดงความยินดีต่อความสำเร็จต่อการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย  แต่ในความสำเร็จนั้น ก็แฝงด้วยความผิดพลาดของการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤติ ในหลายๆครั้งของรัฐบาล ไม่ว่าเป็น ความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดหาหน้ากากอนามัยและการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ความสับสนในมาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ การสั่งปิดกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อนประกาศมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน ความล่าช้าและการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและรวดเร็ว ความล่าช้าในการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และที่สำคัญที่สุด ความล่าช้าในการคลายล็อกให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ  วันนี้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กับตัวเลขของผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษกิจเกือบจะไม่แตกต่างกัน 

ทั้งนี้ ภายใต้เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้สูงมาก แต่การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพียงไม่กี่คน ตรวจสอบเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายต่อฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นความจำเป็นที่ตัวแทนของประชาชนมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้การใช้เงินก้อนนี้เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลใช้เงินโดยตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า  ในส่วนของ พ.ร.ก.ฉบับแรก ซึ่งได้แก่ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือเราอาจเรียกสั้นๆว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น สามารถแยกพิจารณาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ส่วนที่ 1  แก้ไขการระบาดโควิด-19  45,000 ล้านบาท  ส่วนที่ 2  การช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ 555,000 ล้านบาท  และส่วนที่ 3 งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท  ก้อนนี้ เป็นก้อนที่พวกเราฝ่ายค้านเป็นห่วงที่สุด เพราะจะเป็นส่วนที่จะมีปัญหามากที่สุด มีข้อสังเกตว่าแบ่งตามกระทรวงต่างๆ ไว้หมดแล้ว  ทั้งๆที่ยังไม่ได้เข้าสภา และตามที่รัฐบาลกล่าวถึงทิศทางการใช้เงินก้อนนี้ ไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่  เปิดช่องการใช้เป็นเงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้กับ ส.ส.เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนำไปทำโครงการแบบเดิมๆ เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง และการตอบแทนทางการเมือง โดยที่ถูกต้องโครงการต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองและตอบโจทย์เรื่องโควิด ไม่ใช่ใช้จ่ายไปทั่ว

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 นั้น มองว่า ดุลยพินิจของการปล่อยกู้ อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มปล่อยให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว  ซึ่งมีแนวโน้มเป็นขนาดกลางขึ้นไป ได้ประโยชน์จากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ SMEs ที่ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบจากโควิด ก็ยังคงเข้าไม่ถึงสินเชื่อเหมือนเดิม นอกจากนั้นยังเปิดช่องทางที่เอกชนรายที่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ เอาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้เอกชนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในราคาสูง มีลักษณะเหมือนสินเชื่อนอกระบบ รายใหญ่ได้ประโยชน์ รายเล็กโดนเอาเปรียบท้ายสุด 

ในส่วนของ พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 นั้น  โดยหลักแล้ว ธนาคารชาติมีหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐบาล และเป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่ลงไปจัดสรรสินเชื่อเอง เพราะอาจสร้างความเสียหายเกี่ยวกับความเชื่อมั่น และเสียหายในเชิงหลักการของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เพราะเหล่านี้ หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย อาจเกิดปัญหาคอร์รัปชัน และเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"