ไขข้อข้องใจ พรก.หุ้นกู้ 4แสนล้าน ทำไมถูกโวย "อุ้มคนรวยล้นฟ้า"


เพิ่มเพื่อน    

    พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ 2563 เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กู้เงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท  จัดตั้งกองทุนระดมทุนในตราสารหนี้ของเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2563  
    ภายใต้ความรับผิดชอบของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้ายุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาล และนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ซึ่งกำลังพิจารณาขอความเห็นชอบจากสภาอยู่เวลานี้ (27-31 พ.ค.) และต่อเนื่องวุฒิสภาในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ 
    พ.ร.ก.ฉบับนี้ถือเป็น 1 ใน 3 พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก จากนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้าน นักการเงิน นักการเงิน ภาคประชาชนว่าจะออกมา “อุ้มเจ้าสัว” ที่ใกล้ชิดรัฐบาลหรือไม่ 
    เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก “นวพร เรืองสกุล” ผู้มีประสบการณ์การเงินและเคยทำงานในแบงก์ชาติ  เปิดเผยข้อมูลมี 15 บริษัทแรกที่หุ้นกู้จะครบกำหนดในปี 2563  มูลค่า 214,699 ล้านบาท โดย 15 บริษัทแรกมีเจ้าสัวรวยอันดับ 1 และ 2 ของประเทศ รวมอยู่ในบัญชีดังกล่าวด้วย  
    เจ้าสัวรวยอันดับ 1 คือกลุ่มซีพีกลุ่มเดียว มีบริษัทในเครือมากถึง 4 บริษัท รวมมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ทรูมูฟ เอช 17,800 ล้านบาท, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร 16,260 ล้านบาท, ซีพี ออลล์ 12,231 ล้านบาท, ทรูคอร์ปอเรชั่น 12,231 ล้านบาท และเจ้าสัวรวยอันดับสอง คือกลุ่มเจ้าสัวน้ำเมา คือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) 17,920 ล้านบาท  
    ด้วยข้อมูลเช่นนี้ จึงเกิดกระแสวิพากษ์อย่างกว้างขวางเช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน วุฒิสภา ออกมาตีปลาหน้าไซว่า  หากตัวเองเป็นบริษัทมหาเศรษฐี จะไม่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากมีศักยภาพทางการเงินที่มั่นคงอยู่แล้ว สามารถใช้แนวทางอื่นๆ หาเงินได้ และหากมหาเศรษฐีไม่เข้าร่วมมาตรการนี้ ยังช่วยลดแรงเสียดทานทางการเมืองให้แก่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อีกด้วย 
    ขณะที่ฝ่ายค้านได้ดาหน้าออกถล่ม พร้อมสาดวาทกรรมพ.ร.ก.หุ้นกู้ 4 แสนล้าน คือการ “อุ้มเจ้าสัว” สุดท้ายอาจซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่เอาเงินไปช่วยหรือสถาบันการเงินต่างๆ  ต่อมาถูกชักดาบกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล   
    “เนื่องจาก ธปท.จะเอาเงินตัวเอง 4 แสนล้านบาทไปใช้แก้ปัญหาชีวิตบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ทั้งหลายที่ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ แต่พอถึงคิวที่จะต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ปี 63 มีเหตุต้องสะดุด... ธปท.อธิบายว่าเป็นมาตรการจำเป็นเพื่อใช้ประคองตลาดไม่ให้เกิดวิกฤติล้มเป็นโดมิโน ทำแบบนี้เท่ากับ ธปท.ขุดหลุมฝังตัวเอง รวมทั้งยังไม่เห็นด้วยกับแบงก์ชาติ ดำเนินการด้วยตัวเองขัดหลักความเป็นกลาง อาจทำให้ถูกเอกชนฟ้องร้อง  ทั้งที่ควรทำผ่านธนาคารต่างๆ ของรัฐ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญมากกว่า” ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง อดีตรองนายกฯ เคยตั้งข้อสังเกต
    หลังจากเสียงสะท้อนออกไป ทำให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ  และโตโยต้า ลีสซิ่ง ซึ่งหุ้นกู้จะครบกำหนดในปี 63 นี้เป็นอันดับ 2 (มูลค่า 25,000 ล้านบาท) และ 3 (มูลค่า 20,720 ล้านบาท) ประกาศไม่เข้าร่วมมาตรการ พ.ร.ก.หุ้นกู้ 4 แสนล้านบาทของแบงก์ชาติ 
    สำหรับ 2 บริษัทดังกล่าวนับเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และกลุ่มเครือไทยเบฟเวอเรจ ที่กำลังมีหุ้นกู้ครบกำหนดในปี 63 ไม่ควรขอรับการเข้าร่วมใช้เงินตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว สอดรับกับกระแส 20 มหาเศรษฐีที่นายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือเชิญชวนเพื่อช่วยเหลือประเทศในช่วงวิกฤติโควิด-19
    หลังจากข้อเรียกร้องนี้ออกไป มีรายงานว่า 2 บริษัทของเจ้าสัวรวยอับดับ 1 และ 2 เริ่มขยับตัวด้วยการออกข่าวว่าจะขายหุ้นกู้รอบใหม่รวมมูลค่า 4.3 หมื่นล้าน แบ่งเป็นเฉพาะบริษัท ซีพีเอฟ 2.5 หมื่นล้านบาท และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์  1.8 หมื่นล้านบาท ระดมทุนนำคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 63 และนำมาใช้หมุนเวียนในองค์กรอีกด้วย หากเป็นความจริงก็ถือเป็นผลดี อาจไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของชาติก็เป็นได้  
    ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย มองต่างออกไป ด้วยการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ให้ ธปท.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทเพื่ออุ้มคนรวยนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 ประกอบมาตรา 140 หรือไม่ 
    “การออก พ.ร.ก.รับซื้อหุ้นกู้ 4 แสนล้านบาท เป็นเสมือนการลักไก่ อาศัยสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 เอาความเสี่ยงและฐานะทางการคลังของประเทศเข้าไปอุ้มเอกชนที่รวยล้นฟ้าแบบไม่ละอาย และถ้าเกิดความเสียหายขึ้น กระทรวงการคลังต้องนำเงินภาษีไปชดเชยความเสียหายให้แก่ ธปท.วงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ความจริงเอกชนต่างๆ สามารถที่จะหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐบาลเช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯลฯ ได้อยู่แล้ว” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุ
    แม้รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.หุ้นกู้ 4 แสนล้านบาท และผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไป แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับเอกชนที่รวยล้นฟ้ารายอื่นๆ จะมีแสดงสปิริต ไม่ขอรับประโยชน์จากรัฐบาลเพิ่มขึ้นหรือไม่ เปิดทางให้ผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง สามารถเข้าถึงสิทธิ์ดังกล่าว.
                            
                                    เสือดำ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"