'หน้ากากอนามัย-โรงแรมกักตัว' วิถี'นอร์มอล'ส่อเค้า'โอละพ่อ'


เพิ่มเพื่อน    

      กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลังจากที่กลุ่มสมาคมสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และภาคเอกชนพัทยา รวบรวมข้อมูลกรณีติดต่อให้โรงแรมในเมืองพัทยาและทั่ว จ.ชลบุรี เข้าร่วมเป็น “สถานที่กักกันของรัฐ” (State Quarantine) เพื่อรองรับคนไทยกลับมาจากต่างประเทศ เรียกหัวคิว 30-40 เปอร์เซ็นต์

      โดยผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้รับการติดต่อต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า ขบวนการนี้ใช้นายหน้า หรือ “เซลส์” ประมาณ 10 คน กระจายกันไปติดต่อแต่ละโรงแรม ระบุข้อมูลต้องการจะเป็นโรงแรมหรือคอนโดมิเนียมก็ได้ แต่ต้องไม่ปนกับผู้พักอาศัยปกติ มีระบบครัวและการบริการเทียบเท่าโรงแรม แต่ให้ความสำคัญโรงแรมมากกว่า ทุกแห่งต้องมีเอกสารถูกต้อง มีใบอนุญาตประกอบการ พื้นไม่เป็นพรม แอร์คอนดิชั่นแยก มีระบบบำบัดน้ำเสีย มีอาหาร 3 มื้อเสิร์ฟถึงห้อง เพราะไม่อนุญาตให้ผู้พักออกจากห้อง ต้องการเช่า 200 ห้องขึ้นไปขั้นต่ำ 30 วัน การจ่ายเงินจะจ่ายให้เต็มในวันเซ็นสัญญา ขณะที่การทำความสะอาด มาตรการต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาอธิบายขั้นตอนให้หลังจากทำสัญญา

      ส่วนที่เรียกหัวคิวระบุในการติดต่อว่า เงื่อนไขภาครัฐจะใช้เป็นสถานที่กักตัวคนไทยที่เดินทางจากต่างประเทศพัก 14 วัน แต่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้ 30 วัน ให้โรงแรมออกบิลห้องละ 1,000 บาทเป็นเวลา 30 วัน หรือ 30,000 บาท และให้หักในส่วนนี้คืนละ 400 บาท เมื่อคิดรวม 30 วันคือ เงิน 12,000 บาท คืนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ส่งงานให้เป็นเงินสดเท่านั้น จะไม่ผ่านธนาคาร อ้างว่าเพราะต้องนำเงินไปรับผิดชอบเรื่องซักผ้าปู ปลอกหมอน

      นอกจากนั้น โรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นอีกห้องละ 50 บาทด้วย จำนวน 30 วันที่กระทรวงสาธารณสุขจ่าย โดยจ่ายกับผู้ประสานงานที่ติดต่อส่งงานให้ ทั้งนี้ต้องผ่านการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขก่อน ส่วนเรื่องสัญญาถ้าผ่านเรียบร้อยแล้ว กรมควบคุมโรคจะเป็นคนทำสัญญากับโรงแรม อย่างไรก็ตาม โรงแรมระบุตรงกันว่า ภายหลังการติดต่อจากเซลส์เข้ามาใหม่ว่าจะขอหักหัวคิวลดลงเหลือคืนละ 300 บาท เพื่อให้โรงแรมได้ไปคืนละ 700 บาท แต่ไม่มีโรงแรมใดเข้าร่วม เพราะเท่ากับเป็นการร่วมทุจริต และเมื่อคำนวณแล้วโรงแรมขาดทุน พร้อมตั้งคำถามว่าการที่ทำได้ขนาดนี้ต้องมี “เบอร์ใหญ่” หนุนหลัง

      แม้จะดีกว่าไม่มีรายได้เลย แต่ในสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจกำลังยากลำบากจากมาตรการล็อกดาวน์ ระบบการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ “นายหน้า” ที่ไปหาลูกค้ามาให้โรงแรมที่เคยทำมาในช่วงสถานการณ์ปกติ จึงเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์เท่าใดนักในช่วงนี้ นอกจากเป็นการ “รีดเลือดจากปู” แล้ว ยังเป็นการหากินจากงบประมาณส่วนเกินในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนต่างประสบความเดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้า

      กระบวนการเลือก State Quarantine จึงกลายเป็นขั้นตอนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็น “ช่องโหว่” ที่ทำให้เกิดการเรียกรับหัวคิวจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ที่เป็นตัวละครชื่อย่อ “พ” พลเรือนขาใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญ พร้อมกับหลักฐาน-ข้อมูลต่างๆ ที่มีการเสนอผลประโยชน์ และตัวละครอีก 4-5 คนจากภาครัฐ และนายหน้าอีก 9-10 คนที่เป็นคนประสานงานกับเจ้าของโรงแรม

      แน่นอนว่ากระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นแม่งานด้านการบริหารจัดการนั้นต้อง “เต้น” เพราะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ยิ่งเมื่อมีการสอบถามการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันเข้ามามาก ก็ยิ่งต้องจริงจังในการค้นผู้ที่ไปเรียกรับเพื่อส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจาก “ทหาร” นับว่าอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการในเรื่องนี้ อาจถูกวิจารณ์ได้ว่าอาจจะมีการโยนความผิด หรือปกป้องกันเอง

      ในข้อเท็จจริง กระทรวงกลาโหมเป็นส่วนราชการในระยะเริ่มต้นที่รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ไปหาพื้นที่กักตัวคนไทยที่เดินทางกลับจากอู่ฮั่น เนื่องจากในตอนแรกยังเกิดความโกลาหลในเรื่องการดูแลกลุ่มคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่กองทัพมีความพร้อมในการจัดการรองรับได้ก่อน อีกทั้งประสบความสำเร็จและได้รับความพึงพอใจในการบริหารจัดการ

      โดยระหว่างนั้นจึงได้ตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงกลาโหม มีการประชุมทุกวันที่กระทรวงกลาโหมในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งมีการรายงานการปฏิบัติงานของเหล่าทัพตามโครงสร้างศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯ ในการสนับสนุนรัฐบาลในภารกิจต่างๆ ที่ได้สั่งการมา รวมถึงการเป็นแม่งานหลักในเรื่องการบริหารจัดการ State Quarantine ไปด้วย มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหมที่สลับกันนั่งหัวโต๊ะ 

      สำหรับการจัดแบ่งพื้นที่การบริหารจัดการพื้นที่กักตัวจะให้เหล่าทัพส่งคนไปเป็นผู้อำนวยการเหตุการณ์ในโรงแรม ซึ่งมี 5 ภารกิจหลัก คือ การอำนวยการงานธุรการ การรักษาความปลอดภัย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น อยู่ในการดูแลของทหาร ส่วนการส่งตรวจโควิด-19 การดูแลสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของ สธ.และจังหวัด 

      ทางด้านขั้นตอนในการเลือก State Quarantine ในเดือนเมษายนนั้น เริ่มจาก 1.กระทวงสาธารณสุข (สธ.) จะประชาสัมพันธ์เชิญชวนเอกชน ผู้ประกอบการ โรงแรมที่พัก พร้อมแจ้งคุณสมบัติและความต้องการ รวมถึงราคาห้องพักไปทางช่องทางต่างๆ 2.ผู้ประกอบการเสนอตัวเข้ามาทางเว็บไซต์ว่ามีคุณสมบัติตามกรอบที่กำหนด 3.สธ.ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสเปก ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ 4.ชุดของทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ สธ. จะลงพื้นที่ไปดูเรื่องการวางระบบการรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการ 5.รอการแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจ้งเที่ยวบินและจำนวนคนที่จะส่งไปโรงแรม

      ในช่วงแรกโรงแรมที่เสนอตัวเข้ามา พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่ไม่ผ่านคุณสมบัติที่ สธ.กำหนด เพราะไม่มีใบอนุญาต หรือใบอนุญาตไม่ถูกต้อง ทำให้หาโรงแรมได้ไม่เพียงพอ อีกทั้งมีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศลงทะเบียนขอกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่าจนถึงกลางเดือน มิ.ย. มียอดผู้ลงทะเบียนถึง 1.5-2 หมื่นคนต่อเดือน

      ปริมาณห้องพักในการรองรับผู้เดินทางกลับมีแค่วันละ 200 คน รัฐจึงอยากขยายการหาห้องพักให้ได้วันละ 400 คน และปัจจุบันต้องให้ได้ 500 ห้อง ดังนั้นจึงต้องเร่งหาโรงแรมเอกชนเพิ่ม ทำให้ช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีการพูดกันแบบปากต่อปากอย่างไม่เป็นทางการ ว่าให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยกันหา ใครรู้จักโรงแรมไหนก็ให้เสนอมา ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้เครือข่าย โดยเฉพาะนายหน้า หรือเซลส์ ซึ่งรู้ข้อมูลในพื้นที่มาติดต่อและรับไปประสานงานกับผู้ประกอบการ และเรียกรับหัวคิว

      สำหรับการหาตัว “หัวขบวน” เสนอเรียกรับหัวคิวตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนสอบสวนขยายผล ที่ดูเหมือนหลักฐาน พยานในเชิงประจักษ์มีมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถฟันธงหรือชี้ชัดได้ว่าการเรียกหัวคิวดังกล่าวถือเป็น “ความผิดสำเร็จ”หรือไม่ เพราะดูเหมือนเจ้าของธุรกิจโรงแรมยังไม่ได้จ่ายค่าหัวคิว ทำให้นึกถึงประเด็น “หน้ากากอนามัย” ที่อาจจะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ซึ่งในที่สุดยังไม่ฟันธงเรื่องการทุจริต เป็นเพียงการบริหารจัดการ และการเข้าใจในเรื่องของตัวเลข-จำนวนที่ไม่ตรงกัน และเรื่อง “ค่าดำเนินการ” ที่เป็นวิถี “นอร์มอล” ในการทำธุรกิจในสังคมไทยมาช้านาน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"