"ฤดูกาลเปลี่ยน"ถึงยุค"บริหารจัดการน้ำ" ต้องวางแผนเก็บไว้ใช้ให้ได้นานกว่า1ปี


เพิ่มเพื่อน    

สถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

 

 

     ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนปี 2563 อย่างเป็นทางการแล้ว ช่วยคลี่คลายจากช่วงที่ผ่านมาที่หลายจังหวัดต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างหนัก อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำที่ดีมีประสิทธิภาพยังจำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมและรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนแทน โดยมีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนที่แปรปรวน ตกเหนือเขื่อนบ้าง ใต้เขื่อนบ้าง จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมและเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 63 และปี 64

      กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ เสนอ 8 มาตรการสำคัญรับสถานการณ์น้ำหลากฤดูฝนปี 2563 เพื่อให้ กอนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการป้องกันและลดผลกระทบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด ดังนี้ การคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมโดยใช้ข้อมูลฝนคาดการณ์รายเดือนของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในระบบ ONE MAP ร่วมกับข้อมูลเส้นทางลำน้ำ และข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยที่หน่วยงานจัดทำไว้ พื้นที่การเตือนภัยน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากต่อเนื่อง 5 ปี

      ถัดมา มาตรการปรับแผนการเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำท่วมซ้ำซาก ปรับแผนปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้นเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลาก และปรับเป็นพื้นที่รับน้ำ, การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ, การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปรับปรุงแก้ไข, สำรวจแม่น้ำคูคลอง และขุดลอก โดยเร่งให้เสร็จภายในมิถุนายนนี้ ขอให้ท้องถิ่นจัดเก็บขยะที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ, เตรียมพร้อมเครื่องจักรช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดน้ำท่วม มาตรการสุดท้าย ให้ความรู้กับประชาชน สร้างเครือข่ายสื่อสารข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทันต่อเหตุการณ์

 

.ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สนทช.

 

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ในฐานะกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า การจัดการน้ำให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำฤดูฝน แม้ว่าประเทศไทยมีแหล่งกักเก็บน้ำทั่วไปความจุกว่า 80,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังมีแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติขนาดเล็กกว่าแสนแห่ง แต่ละปีๆ พัฒนายาก วิธีการนี้ต้องปรับรูปแบบเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนลงแหล่งน้ำเหล่านี้ บริหารจัดการหาทางเก็บน้ำในอ่างให้อยู่มากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป เพราะอาจมีฝนทิ้งช่วง วิธีการเพิ่มน้ำในอ่างให้มากขึ้น นอกจากพึ่งฝนแล้ว ยังมีการขุดลอกแหล่งน้ำ เสริมสันฝายเพื่อให้ปริมาณน้ำในอ่างมีมากขึ้น ขุดเชิงลึกและเสริมให้สูงขึ้น เราทำมาตลอด แต่ตามนโยบาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ใช้ระบบสูบกลับ เอาน้ำระบายออกไปแล้ว สูบกลับมาใช้ เดิมใช้ในพื้นที่ที่มีค่าลงทุนสูง แต่เนื่องจากฤดูฝนเปลี่ยนแปลง การใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก น้ำไม่เข้าอ่างตามที่คาดการณ์ และฝนตกกระจุกตัวและแช่อยู่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่ไม่มีแหล่งเก็บน้ำ ต้องทำโครงข่ายน้ำ หากเอาน้ำจากจุดที่มากไปน้อย เช่น โครงการผันน้ำแม่กวง-แม่งัด แต่บางแห่งหาแหล่งน้ำยาก การสูบกลับจึงเป็นนโยบายหลัก

      “ การสูบกลับ เอาน้ำที่ตกหรือไหลท้ายอ่างเก็บน้ำ สูบย้อนกลับเข้าไป ซึ่งต้องอาศัยแหล่งพลังงานมาป้อนด้วย เมื่อก่อนอาจไม่คุ้ม แต่ปัจจุบันการสูบกลับเหมาะกับการใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ไม่เหมาะกับการทำนา ฉะนั้นต้องดูเป็นพื้นที่ ตัวอย่างชัดเจนคือ ภาคตะวันออก ทำทุกอย่างแล้ว เสริมอ่างเก็บน้ำ ทำโครงข่ายน้ำแล้ว แต่น้ำยังไม่เพียงพอ หมายความว่า ฝนที่ตกท้ายอ่าง หรือตกในสาขาอื่น ก็สูบกลับไปเติมสาขาเดิม ต้องทำทุกรูปแบบ เพราะการสร้างแหล่งเก็บน้ำใหม่อาจส่งผลกระทบ เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประวิตรได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดพื้นที่ที่ต้องค้นหาน้ำบาดาลให้ได้ ทุกพื้นที่ของไทยจะต้องทำกิจกรรมเพื่อเอื้อเศรษฐกิจให้ได้ บางพื้นที่ใช้น้ำผิวดิน บางพื้นที่ใช้น้ำบาดาล หรือใช้ทั้งสองแบบ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

 

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เสี่ยงเกิดอุทกภัยน้ำหลากฤดูฝนปี 63

 

      เลขาธิการ สนทช. กล่าวถึงการเตรียมรับมือช่วงฤดูฝนว่า ฝนทิ้งช่วง มาล่า มาน้อย ต้องใช้น้ำจากเขื่อนเสริมน้ำฝน ถัดมาจะบริหารน้ำท่า ฝนตกท้ายเขื่อน มีประตูน้ำ ฝาย ควบคุมยกระดับน้ำไปใช้หรือเก็บน้ำ รวมถึงการป้องกันอุทกภัย สำหรับการเก็บ จะวางแผนการเก็บและใช้คู่กันไป โดยจำลองสถานการณ์ 5 Scenario หรือความน่าจะเป็นที่สำคัญ หากฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย พื้นที่ใดปล่อยน้ำ และเก็บน้ำ การบริหารจัดการต้องดูทุกมิติ และทำเป็นขั้นตอน ดึงน้ำ ระบายน้ำ เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนต่อผู้ใช้น้ำ และเสถียรภาพตัวเขื่อน

      “ หน้าฝนนี้มีการคาดการณ์ล่วงหน้า 3-4 เดือน เตรียมพร้อม ถึงแม้มีอุปกรณ์ เครื่องมือ แต่เป็นการแก้ระยะสั้น หัวใจสำคัญคือ ท้องถิ่น ช่วยจัดทำแผนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟู ขณะนี้มีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก ซึ่งมีพื้นที่ 100 ล้านไร่ บูรณาการทุกหน่วยงาน โครงการแบบนี้ต้นทุนมีแล้ว ก็เดินหน้าไป ส่วนหนองน้ำธรรมชาติ พื้นที่ท้องถิ่นที่มีความจุน้อยกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำโครงการของบฯ ได้เลย เพื่อเพิ่มศักยภาพกักเก็บน้ำ ต้องฟื้นฟูแหล่งน้ำชุมชนให้ได้ แต่ละท้องที่ให้สำรวจ หากเป็นแหล่งน้ำใหม่จะมีภาคีมาช่วยวางแนวทางเก็บน้ำมากขึ้น เป็นโครงการขนาดเล็ก” ดร.สมเกียรติ กล่าว

      ส่วนแผนน้ำชาติ 20 ปี ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หลังทำแผนปฏิบัติการต้องมีเจ้าภาพ ประกอบด้วย เจ้าภาพเชิงพื้นที่ คือ จังหวัด และเจ้าภาพเชิงหน้าที่ จากนั้นจัดหางบประมาณ ซึ่งโครงการต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องรูปแบบ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องใช้เวลา บางหน่วยงานมีความชำนาญ แต่ท้องถิ่นอาจขาดความชำนาญ ต้องหนุน สิ่งที่ต้องทำให้ชัดคือ ข้อมูลน้ำลงสู่จังหวัด การจัดทำแผนงานงบล่วงหน้า 1-3-5 ปี ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม สุดท้ายการบริหารจัดการน้ำ แบ่งปันน้ำ

 

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต้องควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ เฝ้าระวังใกล้ชิด

 

      ในส่วนกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้ เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับใช้ตลอดฤดูฝน ประกอบด้วย 5 มาตรการหลักๆ คือ จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดปี, ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝน ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น, บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน มาตรการถัดมา กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด และวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย

      สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ (ข้อมูลวันที่ 29 พฤษภาคม 2563) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่าง รวมกันทั้งสิ้น 33,289 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 9,632 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุน้ำใช้การ

      ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,059 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,363 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 8 ของความจุน้ำใช้การ ทั้งนี้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำใกล้เคียง ได้ดำเนินการตามมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยเรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคนที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย

 

ดร.เปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

 

      ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนที่กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดูแล เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง รวมถึงบึงที่ สนทช. ให้กรมชลประทานดูแลอีก 3 แห่ง ภาพรวมมีปริมาณน้ำในอ่างเพียง 46% เท่านั้น ใช้การได้เพียง 19% ถือว่าน้อย สืบเนื่องจากปริมาณฝนปี 62 ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 16% ส่งผลให้น้ำในอ่างมีน้อย แต่ปริมาณความต้องการใช้เยอะกว่า เขื่อนใหญ่ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ที่เก็บกักได้ถึง 19 แห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากถึง 9 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ที่เหลือภาคเหนือและภาคกลาง พื้นที่ดังกล่าวต้องเฝ้าระวัง

      “ แม้เข้าสู่ฤดูฝนเป็นสัญญาณที่ดี แต่จะเบาใจหรือไม่ต้องดูผลคาดการณ์ระบุว่า สถานการณ์ของฝนปี 63 จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% ช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมฝนจะทิ้งช่วง ปลายกรกฎาคมถึงจะดีดตัวกลับมา จากนั้นเดือนสิงหาคม กันยายนถึงจะมีพายุเข้า ฉะนั้นนับจากนี้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมต้องประคับประคองการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่อยู่ในลุ่มน้ำชี ตอนล่างอยู่ในลำน้ำมูล รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนที่ผ่านมายาก เพราะเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาพฤติกรรมฝนเปลี่ยน กระจุกตกตามขอบประเทศ ไม่กระจาย ทิ้งช่วง แล้วมาเยอะสิงหาคมกันยายน วิธีบริหารจัดการต้องปรับเปลี่ยน รวมถึงคนใช้น้ำด้วย โดยเฉพาะภาคเกษตรต้องทำนาเหลื่อมเวลา ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืช การเก็บน้ำ การจัดการน้ำ” ดร.ทองเปลวกล่าว

      อธิบดีกรมชลฯ กล่าวด้วยว่า ล่าสุด สนทช.ให้กรมชลประทานและหน่วยงานอื่นที่ดูแลเขื่อนขนาดใหญ่ กลาง ปรับการทำคู่มือการควบคุมรักษาระดับปริมาณน้ำ การระบายน้ำในแต่ละเดือนใหม่ จะไม่เกินหรือไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ จากเดิมคงที่มีเส้นควบคุมน้ำตอนบนและตอนล่างที่คงที่ แต่ขณะนี้มีความเป็นพลวัต มีความเคลื่อนไหว ดูจากสถานการณ์ฝนและคาดการณ์ถึงอนาคต การจัดการน้ำจะดีขึ้นเปลี่ยนตามบริบทและสภาพปัจจุบันที่เกิดขึ้น

      ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เวลา ต้องกลับมาดูแผนแม่บท หากไม่อยู่ในกรอบทำไม่ได้ เรากลับมาทบทวนของเดิม ทำอะไรได้บ้าง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บน้ำ เช่น เสริมสันเขื่อน เสริมสันทางระบายน้ำล้น เพิ่มทางลึก โดยขุดตะกอนเพื่อคืนความจุเดิมหลังใช้งานมา 20-30 ปี หรือขุดเพื่อเพิ่มความจุมากขึ้น อีกแบบ ทำทางสูงเสริมทางทางระบายน้ำล้น สันฝาย สันเขื่อน ซึ่งในเชิงวิศวกรรมจะพิจารณาด้านความปลอดภัย อย่างเขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เดิมจุ 110 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มมาอีก 40 ล้าน ลบ.ม.

      อีกตัวอย่าง อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เดิมเก็บน้ำ 248 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มฝายพับบริเวณทางระบายน้ำล้นความสูงเพียง 1 เมตร เพิ่ม 295 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มความจุน้ำได้ 19% หรือโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ จ.อุบลราชธานี แผนปี 63-64 ขุดปริมาณดิน 10 ล้าน ลบ.ม. เดิมเก็บ 7 ล้าน ลบ.ม. จะกลายเป็น 22 ล้าน ลบ.ม. จากการขุดและทำเพิ่มฝายพับ ฝนนี้เก็บได้ 1 ล้าน ลบ.ม. อีกวิธี การถ่ายเทน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนึ่งไปอีกแหล่งน้ำ รวมถึงแก้ปัญหาคอขวด หากต้องการรับน้ำมากๆ เราทะลวงยิงตรงเลย สำหรับภาคตะวันออกถือว่าคุ้มค่าในภาพรวม เพราะการใช้น้ำทุกมิติมีทั้งพืชเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เหลียวหลัง แลหน้า ใช้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพบรรเทาภัยทั้งท่วมและขาดแคลนน้ำ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"