'ไส้ศึก'เดินเกม'เขาในเรา' สมรภูมิ'ไซเบอร์'ถึง'เลเซอร์'


เพิ่มเพื่อน    

      กรณีการหายตัวไปของ “ต้าร์ วันเฉลิม” ส่งผลให้องค์กรต่างๆ เริ่มขยับออกมาเคลื่อนไหว โดยการจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงแสดงจุดยืนให้รัฐใส่ใจ ติดตามตัว ผ่านการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ในฐานะของคนไทยไม่ว่าเขาจะมีสถานะใดก็ตาม

      ทหารและฝ่ายความมั่นคงเป็นเป้าที่เครือข่ายกลุ่มต้านเผด็จการฟันธงว่าอยู่เบื้องหลังการหายตัวไปครั้งนี้ เพราะ “ต้าร์” และกลุ่มที่หนีไปอยู่ต่างประเทศหลังการรัฐประหารปี 2557 บอกกล่าวข่าวสารผ่านโลกออนไลน์มาตลอดว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐของไทยและกัมพูชาติดตามความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ จะมากน้อยตามดัชนีสถานการณ์ในประเทศไทยในห้วงนั้นๆ

      มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องห้วงจังหวะการหายตัวไป เกิดขึ้นหลังปรากฏการณ์ “ยิงเลเซอร์” ทั้งในและต่างประเทศฝั่งยุโรป อาจมีการเชื่อมโยงในเรื่องสถาบัน แต่ก็มีคำถามตามมาว่า “ต้าร์” ไม่ได้ไปปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มต่างๆ อีกทั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จะเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร

      ที่ผ่านมาตัวบุคคลที่หนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านถูกบังคับสูญหายหลายคน บางคนถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม ต่างก็มีคดีตามฐานความผิด ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายคนเรียกแขก ปลุกแฟนคลับ ผ่านช่องทางยูทูบ เฟซบุ๊ก หลักๆ เป็นเครือข่ายของ “รุ่นใหญ่” ในขบวนการ

      หลังเกิดเหตุการณ์หายตัวไปกลุ่มบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ ทั้งมีสถานะผู้ลี้ภัยหรือไม่มีสถานะ ต่างก็โทษกันไปกันมาถึงการสูญหายของคนกลุ่มนี้ว่า “มีไส้ศึก” ชี้เป้า กลายเป็นประเด็นที่คนในขบวนการเดียวกันไม่ไว้วางใจ มีการโจมตีกันเองผ่านโซเชียลมีเดีย

      กรณีของ “ต้าร์” ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ “เครื่องมือ” แห่งยุคสมัยในการต่อสู้เชิงยุทธศาสตร์ อันส่งผลต่อทัศนคติของผู้ที่ได้รับรู้ข่าวสารของคนไทยอย่างได้ผล โดยเขาไม่เลือกใช้วิธีเปิดหน้าชน หรือใช้ถ้อยคำแบบทิ่มตรง แต่การแฝงตัวอยู่ในโลก "ไซเบอร์” ก็ไม่ได้ทำให้เขาหลุดจากสายตาของหน่วยงานความมั่นคง เพราะในโลกของ "ความจริงเสมือน” ก็ไม่ได้ปลอดภัย หรือมีคนพวกเดียวกันเสมอไป 

      โดยฝ่ายต่อต้านเผด็จการและปฏิวัติโครงสร้างอำนาจ ใช้ “เพจอวตาร” ในการต่อสู้ ผ่านการผลิตซ้ำ ตอกย้ำด้วยการ “ส่งต่อ” เผยแพร่ข้อมูลได้รวดเร็ว

      ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่มีอุปกรณ์ “สมาร์ทโฟน” ที่รับสารในมือแบบ “เรียลไทม์” สามารถเข้าถึงการรับรู้ได้ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ ย่อมส่งผลต่อผู้มีอำนาจที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ การสแกนหา “ต้นตอ” หรือจุด “เชื่อมต่อ” จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย โดยเฉพาะช่วงหลังปรากฏการณ์ “ยิงเลเซอร์” อีเวนต์ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ลามถึงเมืองไทย ก็เชื่อได้ว่าความเข้มข้นในการปฏิบัติการของหน่วยงานความมั่นคงย่อมมากขึ้นเป็นเท่าตัว

      ปรากฏการณ์ “เขาในเรา" หรือ “เราในเขา” จาก “เพจอวตาร” และชุมชนสื่อสังคมออนไลน์ทางการเมือง จึงเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับคนที่เคลื่อนไหวไม่น้อย

      ในขบวนการ “เสื้อแดง” ที่มีแนวทางการต่อสู้แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ ช่วงอายุ และข้อมูล จึงทำให้เกิดการแตกตัวทางความคิดเห็น มีการชี้เป้า “ไส้ศึก” ในพวกเดียวกันเอง เกิดเป็นความหวาดระแวงขึ้นใน “ขบวนการ” กลายเป็นเรื่องแฉกันเองในกลุ่มต่างๆ

      ด้วยสมมุติฐานว่า “ไส้ศึก” อาจเป็นคนที่จัดตั้งมาจากหน่วยงานความมั่นคงตั้งแต่แรกเข้ามาสอดแนมฝังตัวในขบวนการ หรือเป็นคนที่เข้ามากลมกลืนในแวดวงเสื้อแดงในภายหลัง เลยไปถึงความแตกต่างในเรื่องของแนวทางจากผลกระทบจากความยากลำบากในการดำรงชีวิตที่อาจทำให้มีบางคนเปลี่ยนข้าง

      ขณะที่ภาพรวมของขบวนการคนเสื้อแดง-ต่อต้านเผด็จการที่หนีไปอยู่ต่างประเทศ พบว่ามีหลายกลุ่ม โดยกลุ่มแรกประกอบด้วย เล็กจรรยา, จรัล, วัฒน์, ไฟเย็น, จอม, ปวิน, อั้ม, หนิง ดีเค ฯลฯ อีกกลุ่มประกอบด้วย โรส, ชูพงศ์ ถี่ถ้วน, สะใภ้เสียงชาวบ้าน, วันเพ็ญ สวีเดน, สหายเผด็จ ฯลฯ และกลุ่มกลางๆ ได้แก่ เพียงดิน เอนก ซานฟราน, อาคม ซิดนีย์ เป็นต้น 

      แต่ดูเหมือนว่า “กลุ่มต้านสถาบัน” ที่สู้ในเชิงเปลี่ยนแปลงระดับบน เริ่มมีแนวร่วมที่มากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มตื่นตัวกับข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งต่อผ่าน “เครื่องมือ” ในยุคดิจิทัล และกลายเป็มปมสำคัญที่ทำให้มองว่า “ปล่อยไว้ไม่ได้” และอยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของ “ต้าร์”

      หันมาดูฟากของ “กองทัพ” ก็มีสถานการณ์ไม่ต่างกัน เพียงแต่ “เขาในเรา” นั้นอาจไม่ได้เกิดจากการส่ง “สายลับ” เข้ามาอยู่เพื่อล้วงข้อมูลโดยตรง แต่เป็น “บุคคล” หรือ "กำลังพล” ในกองทัพเองที่แตกแถว และไม่ได้ “เป๊ะ”อยู่ในกรอบคิดเดียวกันเหมือนในอดีต

      ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ในกองทัพ “เปลี่ยนไป” โดยเฉพาะกำลังพลในวัยรุ่นที่ไม่ได้ซ้ายหัน-ขวาหัน ก้มหน้าก้มตาระบบอุปถัมภ์และสายการบังคับบัญชาอย่างไร้เหตุผล

      ปรากฏการณ์กราดยิงโคราช แม้จะเป็นเรื่องเลวร้ายในการกระทำ แต่เหตุปัจจัยแห่งการระเบิดออกมาถูกสะสาง ตรวจสอบจากผู้นำกองทัพมากขึ้น เพราะ “สัญญาณอันตราย” ไม่ได้มีอยู่ที่โคราชที่เดียว หากแต่ซ่อนอยู่ตามหน่วยต่างๆ ที่ถูกกดทับด้วย “ความไร้จริยธรรม” ของนายบางคน

      การสังคายนาระบบเงินนอกงบประมาณในกองทัพ-สวัสดิการหน่วย-การดูแลกำลังพล การปรับหน่วยเร่งดำเนินการอย่างเร่งรีบ แข่งกับการเร่งเครื่อง-โหมไฟ  ให้ตรวจสอบกองทัพอย่างรุกคืบ กลายเป็นว่าการเปิดพรมเพื่อกวาดขยะกลายเป็นการเปิดประตูให้ “ศัตรู” เข้ามารื้อพื้นบ้านในที่สุด

      พลทหาร-นายสิบที่ตกเป็นข่าว “ผู้ถูกกระทำ” ถูกโหมกระพือผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในห้วงที่ผ่านมา กลายเป็น “พระเอก” ชนชั้นรากหญ้าในแวดวงทหารศักดินา และกำลังกลายเป็น “ปม” ใหญ่ ที่ผู้นำกองทัพเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงในสังคมทหารที่ถืออาวุธ ที่เรื่องระเบียบวินัย การปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่อไป

      ดังนั้น การดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาสู่กรอบของจารีต ผ่านระบบคุณธรรมในการบังคับบัญชา จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่กำลังเร่งดำเนินการ

      เพราะไม่เช่นนั้น กำลังพลกลุ่มนี้ก็อยู่แต่ตัว ทว่า “ใจ” อยู่กับฝ่ายที่ต้านกองทัพ กลายเป็น "เขาในเรา” ที่พร้อมส่งข้อมูลทุกอย่างไปให้ฝ่ายต่อต้าน  และหากยิ่งต้องทำงานใกล้กับสถาบัน การกลั่นกรองบุคคลจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่มีใครแน่ใจว่าการสมัครใจทำงานบางประการอาจมีเป้าหมายเพื่อล้วงข้อมูล “วงใน” ที่ไปใช้ขยายผลในการสั่นคลอนสถาบันหรือไม่

        ปรากฆการณ์ “เขาในเรา-เราในเขา” ในสองขั้วจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กับกลุ่มที่ต้องการรักษาอำนาจและจารีตผ่านเครื่องมือในโลกยุคใหม่ ที่ล้วนแต่มี "ชีวิตคน” เป็นเดิมพันทั้งสิ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"