12ข้อส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระพันปีหลวง


เพิ่มเพื่อน    

 

     ด้วยพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไหมเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ และรักษาภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ไม่ให้สูญหาย และเพื่อสะท้อนให้เห็นอีกว่า การสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทยมีความงดงามอยู่ทุกยุคสมัย ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ จึงได้จัดแสดงนิทรรศการชุดใหม่ “สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ภายใต้โครงการปรับปรุงการนำเสนอและการจัดแสดงงานหัตถศิลป์ เพื่อเรียนรู้พระราชกรณียกิจการส่งเสริมงานหัตถศิลป์มรดกชาติอันทรงคุณค่าของไทย

 

 

     ภายในวันเปิดงานยังมีกิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับนิทรรศการครั้งนี้เป็นการจัดแสดงถาวรตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ หอสุพรรณ-พัสตร์ชั้น 2 อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

     โดยภายในนิทรรศการได้บอกเล่าถึง 12 ข้อ ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่นิยม ผ่านการจัดแสดงผ้าไหมส่วนหนึ่ง อาทิ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าปักไหมน้อย ผ้าแพรวา ผ้าขาวม้า ที่ล้วนเป็นพระราชกรณียกิจ และทรงมีแนวพระราชดำริสำคัญที่ทรงส่งเสริมฟื้นฟูและปรับปรุงคุณภาพของผ้าไหมไทย อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการผลิตและการใช้ผ้า จนทำให้ไหมไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเส้นไหม ตัวไหม และผลิตภัณฑ์กระเป๋าย่านลิเภาลายมัดหมี่ เป็นต้น

 

 

     ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำชมนิทรรศการ ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรครั้งแรกในปี 2498 ที่ครั้งหนึ่งได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในท้องที่ชนบทภาคอีสานหลายจังหวัด ทอดพระเนตรเห็นสตรีชาวบ้านนุ่งผ้าซิ่นไหมงดงามมารับเสด็จอยู่แทบทุกพื้นที่ จึงทรงประทับใจในความงามของผ้าไหมมาตั้งแต่ครั้งนั้น  และเห็นว่าการทอผ้าเป็นภูมิปัญญาและสิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย มีการผลิตอยู่ประจำ จนนำไปสู่การช่วยเหลือชาวบ้านในระยะยาว และการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในเวลาต่อมา

     นิทรรศการได้จัดแสดงโซนผ้าไหมแบบต่างๆ ที่ทำให้เราเห็นและนึกถึงสิ่งที่พระองค์ทรงส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงในผ้าไหมให้เป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น 12 ข้อ ได้แก่ 1.แต่เดิมหน้าผ้าไหมมีความสั้นยาวหลากหลายกันไป จึงทรงแนะนำให้ชาวบ้านค่อยๆ ปรับเปลี่ยนขยายความกว้างของหน้าผ้าให้เป็นมาตรฐานประมาณ 1 เมตร 2.ทรงให้ช่างทอผ้าไหมส่วนที่เป็นลวดลายมัดหมี่ยาว 5 เมตร และทอเป็นผ้าพื้นอีก 2 เมตรในผ้าฝืนเดียวกัน โดยใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งที่ย้อมในคราวเดียวกัน เมื่อนำไปตัดชุดสตรีจะได้เป็นสีเดียวกันดูงามตา 3.ทรงเห็นความสำคัญของลวดลายผ้าไหมที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น มีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์ลวดลายโบราณเหล่านั้น จึงทรงกำชับคณะทำงานที่ให้ลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างลายผ้าในภาคอีสานว่า “แม้แต่ผ้าถูเรือนก็อย่าได้ละเลย..” เพื่อนำไปป็นต้นทุนต่อยอดต่อไป 4.ทรงโปรดให้ช่างทอทดลองใช้สีที่ต่างไปจากสีเดิมๆ ที่เคยใช้ พระราชทานชุดสีโทนใหม่ๆ ให้ช่างทอไปสร้างสรรค์งานมาถวาย มีพระราชวินิจฉัยจนเกิดเป็นผ้ามัดหมี่แนวใหม่ที่มีสีสวยหวานต่างจากมัดหมี่เดิม เพื่อให้เป็นสากลมากขึ้น

     5.สำหรับผ้าแพรวา ซึ่งเป็นผ้าหน้าแคบ ที่แต่เดิมใช้เป็นผ้าสไบของชาวภูไท และยังเป็นผ้าที่มีวิธีการทอยุ่งยากซับซ้อน ต้องอาศัยทักษะของช่างทอสูง ทรงแนะนำให้ขยายหน้าผ้าให้มีความกว้างเพิ่มขึ้นเป็น 1 เมตร และทอลวดลายให้มีความละเอียดมากขึ้นโดยใช้ไหมน้อย ใช้ชุดสีที่ใช้หลากหลายมากขึ้น ที่ครั้งนั้นแม่คำใหม่ โยคะสิงห์ ถือเป็นผู้ริเริ่มฟื้นฟูการทอผ้าแพรวา 6.เมื่อครั้งเสด็จฯ ที่จ.สกลนคร ก็ได้ทรงพบกับป้าทุ้ม ป้าไท้ ที่ได้เลี้ยงไหมบ้าน ด้วยการกางมุ้งอย่างทะนุถนอม จึงทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงไหมบ้าน และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านของตนเอง อาทิ นางสิ่ว, วนาสวรรค์, ทับทิมสยาม 06, พญาราม เป็นต้น

     และ 7.การทอผ้าเป็นงานที่ไม่ต้องลงทุนมาก เพราะอุปกรณ์ในการเลี้ยงไหมและเครื่องไม้เครื่องมือในการทอ สามารถหาได้ในครัวเรือนและในชุมชน จึงเหมาะจะเป็นอาชีพเสริมของสตรีในท้องถิ่นต่างๆ 8.ได้ทรงชักชวนช่างทอจำนวนหนึ่งมารับการศึกษาอบรม เรื่องการย้อมกับหน่วยราชการในกรุงเทพฯ 9.ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ลายใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ลายโบราณ

 

 

     10.พระราชทานขวัญและกำลังใจให้ช่างทอผ้า ทรงรับซื้อผลงานจากช่างทอด้วยราคาที่เป็นธรรม 11.ทรงนำผ้าที่ชาวบ้านให้นักออกแบบระดับโลกและระดับชาติไปเป็นฉลองพระองค์ และทรงผ้าไหมไทยในทุกวาระโอกาส และ 12.ทรงตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อย่างเป็นทางการในปี 2519 ทรงแนะให้เป็นผ้าการเริ่มหัดทอ

 

 

     สำหรับเสวนาพิเศษ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร VOGUE Thailand เล่าว่า ตนได้คลุกคลีกับผ้าไหมไทยมาพอสมควร ทุกๆ ปีที่จะมีงานโว้ก กาล่า ได้นำผ้าไหมจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพส่งไปให้ดีไซเนอร์ต่างชาติออกแบบชุด ซึ่งทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพูดถึงผ้าไหมไทย ทุกคนจะรู้สึกได้ถึงความสามารถและศักยภาพของคนไทย เพราะการทอผ้าในแถบภาคอีสานมีวิถีการทออยู่ในสายเลือด และสิ่งสำคัญอย่างที่ BBC ได้เคยบอกไว้ว่าพระพันปีหลวงเปรียบเสมือนผู้ชุบชีวิตผ้าไหมไทยขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าในอนาคตจะมีชาวต่างชาตินำผ้าไหมไทยไปต่อยอดหรือไม่อย่างไร อย่างน้อยที่สุดเราได้ถ่ายทอดเสน่ห์และสัมผัสของไหมไทยออกไปสู่สายตาชาวโลก

 

     อัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสฝ่ายนิทรรศการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า การนำผ้าไทยมาใช้ อาจจะเกิดคำถามกับคนส่วนหนึ่งว่าเป็นสไตล์ของคนสูงอายุ แต่จริงๆแล้วผ้าไทยไม่ได้บ่งบอกว่าผู้ใช้นั้นแก่ แต่ขึ้นอยู่กับผู้นำไปใช้ในโอกาสไหน เพราะปัจจุบันหลายหน่วยงานก็มีการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยในหลากรูปแบบ แต่จะสามารถขยายในท้องตลาดได้ไหมนั้น อาจจะต้องมีการสนับสนุน อย่างไอคอนที่มีพื้นที่สำหรับงานหัตถกรรมไทย แต่ลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มเดิม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมให้ตลาดของผ้าไทยนั้นขยายมากขึ้น เริ่มจากการคนไทยใช้ผ้า 

     นิทรรศการสืบสานงานสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ณ หอสุพรรณ-พัสตร์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สอบถามโทร. 03-5367-054 ต่อ 3108 หรือ SACICT Call Center 1289

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"