"ไม่สำนึก-ลามปาม-ฉวยโอกาส" "ม.112"ถึง"พ.ร.บ.คอมพ์-ม.116" ยุทธศาสตร์ชิงพื้นที่ข่าว"เปิดโปง"


เพิ่มเพื่อน    

         ดูเหมือนกระแสเรื่อง “ต้าร์ วันเฉลิม” เริ่มแผ่วลงตามวงจรข่าว พาดหัววันจันทร์แห่งสัปดาห์ใหม่ จึงกลายเป็นประเด็น “โยนหินถามทางเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น” ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวต้องสอบถามความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หลังการประชุมสภาองค์การทหารผ่านศึก  ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเป็นประธานการประชุมเอง ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

        หลังจากผู้สื่อข่าวยิงคำถามในประเด็นงานนโยบายเรื่อง Travel Bubble และผลจากการยกเลิกมาตรการ "เคอร์ฟิว" เพื่อ “ชิมลาง” ตามมาด้วยคำถามเรื่อง “เลือกตั้งท้องถิ่น” ได้แค่เพียงหนึ่งคำถาม พลันก็มีคำถาม “เปิดทาง” ให้นายกรัฐมนตรีได้พรั่งพรูความกังวลใจในช่วงนี้

        “ท่านนายกฯ คะ ช่วงนี้มีความกังวลเรื่องใดคะ ?”

        เป็นคำถามสั้นๆ ที่ “นายกฯ” ตั้งใจตอบทันทีว่า "สิ่งที่กังวลที่สุดในขณะนี้ คือการละเมิดและก้าวล่วงสถาบัน" นอกจากนั้นยังมีประโยคสำคัญๆ ที่ส่งสารไปถึงกลุ่มเคลื่อนไหว ได้แก่ 

        “อะไรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็คือต่างประเทศ ใครจะกล้าเข้าไปทำอะไรแบบนั้นได้ ส่วนในประเทศไทยที่ยังเคลื่อนไหวกันก็ยังไม่มีใครทำอะไรซักคน ซึ่งกฎหมายมีอยู่หลายตัว“

      “ทุกคนต้องสำนึกเรื่องการบิดเบือนสถาบัน เดิมเรามีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ อยากบอกคนไทยว่าวันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย  เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้  นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว และคุณก็ละเมิดกันเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร คุณต้องการอะไรกัน“

      “สำนึกไว้ด้วยว่ามาตรา 112 ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดี และทำไมถึงมีคนฉวยโอกาสตรงนี้ขึ้นมา ทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณกำชับมากับผมโดยตรง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่มีการใช้ 112 ทำไมไม่คิดตรงนี้ลามปามกันไปเรื่อย”

        ย้อนกลับไปช่วงการรัฐประหารปี 2549 จุดเริ่มต้นสำคัญที่ขบวนการวิพากษ์สถาบันเข้มข้น และหนักหน่วงขึ้น พร้อมๆ กับเริ่มมีข่าวหน่วยเฉพาะกิจ 6080 หรือ ฉก.6080 ทำหน้าที่กวาดหาข้อมูลกลุ่มที่มีการละเมิด หรือหมิ่นสถาบันอย่างจริงจัง พอมายุค “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรี “กลุ่มเสื้อแดง” ขยายแนวร่วมเครือข่ายในต่างจังหวัด จนมีการตั้งหมู่บ้าน ตั้งโรงเรียน ปลูกฝังแนวคิดที่ต่อต้านรัฐ วิพากษ์สถาบัน และช่วงที่มีการตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ  (นปช.) ก็มีการเปิด “ผังล้มเจ้า” ที่พยายามชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง 

        สำหรับ “ฉก.6080” อยู่ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) มีหลายหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และในช่วงหลัง กองทัพบกไม่ได้ใช้กลไกของ ฉก.6080 ในการดำเนินการอีกต่อไป และปล่อยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นเจ้าพนักงานดำเนินการตามกฎหมาย

        หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง เป็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พอดี ปรากฏว่าแนวทางของ “ยิ่งลักษณ์” ต้องการซื้อใจทหาร จึงวางนโยบายหลายอย่างที่สนับสนุนกองทัพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการละเมิดสถาบัน โดยมีการฟื้น ฉก.6080 แต่เปลี่ยนหมายเลขเฉพาะกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เมื่อพบหลักฐานจะส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112

        พอเข้าสู่ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 มีคำสั่ง คสช.เรียกให้บุคคลมารายงานตัวเป็นบัญชีหางว่าว กลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดมาตรา 112 หรือเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย รวมถึงกังวลว่าจะถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมหลบหนีไปนอกประเทศ รวมถึง “ต้าร์ วันเฉลิม”

        5 ปีของ คสช. การเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการเริ่มมีการย้ายสมรภูมิรบไปที่โลกไซเบอร์มากขึ้น เครื่องมือทางกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยจึงกลายเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่ระบุว่าผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืนใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี"

        พร้อมทั้งการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14-15 ก็เป็นฐานความผิดในยุคปัจจุบันที่มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจำนวนมาก

        กรณีของ “ไผ่ ดาวดิน” น่าจะเป็นคดีท้ายๆ ที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในฐานะความผิดตาม ม.112 โดยร้อย รส.ขอนแก่น จากนั้นยังไม่พบการตั้งข้อหาดังกล่าว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้เฉลยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้มีการใช้มาตราดังกล่าวในการดำเนินคดี

        แต่ในภารกิจ หน้าที่ของรัฐบาล และความเป็นทหาร  “เรื่องการละเมิดสถาบัน” ยังถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นรัฐยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับและหลายมาตราในการนำมาตั้งข้อกล่าวเทียบเคียง ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ยิงเลเซอร์ ตามมาด้วยการหายตัวไปของ “ต้าร์ วันเฉลิม” ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเดินเครื่องกันอย่างหนัก บางอีเวนต์ “ล้ำเส้น” กฎหมาย จนน่าจะเป็นที่มาของวาทะ นายกฯ ระหว่างให้สัมภาษณ์เพื่อส่งสัญญาณตรงไปถึงกลุ่มเคลื่อนไหวให้เพลาๆ ลง

        “ลามปาม-ไม่สำนึก-ฉวยโอกาส” ที่น่าจะเป็นการปลุกกระแสให้ติดก่อนถึงห้วงวันรำลึกเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24มิ.ย.2475 อันเป็นอีเวนต์ต่อเนื่องจาก “ตามหาความจริง” ช่วงเดือนพฤษภาคม

        สงครามข่าวสารที่มากไปกว่า “ไอโอ” จึงไปไกลถึง “เอสไอ” strategy  information เพื่อชิงพื้นที่ข่าวเข้มข้นในเดือนร้อนแรงทางการเมือง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"