วัดใจ 'อสส.' คดี 'วิรัชกับพวก' รอบนี้ 'วงศ์สกุล' เลี่ยงยาก


เพิ่มเพื่อน    

      คาดหมายกันไว้ว่าอาจเป็นสัปดาห์นี้ สำนวนคดีความร้อนๆ ที่เชื่อมโยงถึงคนการเมือง-นักการเมืองในซีกรัฐบาลที่หลายคนกำลังเฝ้าติดตาม คงวางอยู่บนโต๊ะที่ห้องทำงานของ อัยการสูงสุด-วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ เพื่อให้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร จะยื่นฟ้องหรือมีความเห็นไม่ฟ้องสำนวนคดีที่  ป.ป.ช.ชี้มูลเอาผิด

        "วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ-ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล-บิดา อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม กับพวกรวม 24 ราย" กรณีถูกกล่าวหาร่วมกัน "ทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในพื้นที่เขตการศึกษา จ.นครราชสีมา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน"

      ซึ่งตอนแถลงมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลคดีดังกล่าว วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุไว้เมื่อ 6 ส.ค.62 ว่า สาเหตุที่มีการชี้มูลเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เพราะ ป.ป.ช.เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบรายการและวิธีการก่อสร้าง และสนามกีฬาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

      และเมื่อเส้นทางของสำนวนคดีเดินไปเรื่อยๆ ต่อมาพออัยการฝ่ายคดีพิเศษได้รับสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ได้มีความเห็นสั่งฟ้องเลยทันที เพราะอัยการแย้งกลับมาว่าพบความไม่สมบูรณ์ในสำนวน  จึงนำมาสู่การตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายคือ อัยการกับ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดี  ซึ่งคณะทำงานก็ได้คุยกันมาหลายรอบ

      จนเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าคณะทำงานอัยการกับ ป.ป.ช.ปิดห้องคุยกันรอบสุดท้ายเมื่อ  8 มิ.ย. โดยสื่อมวลชนรายงานข่าวไว้ว่า คณะทำงานสององค์กรดังกล่าวคุยกันแล้ว เคลียร์กันได้ระดับหนึ่ง และมีความเห็นว่าสำนวนคดีมีความสมบูรณ์เพียงพอแล้ว จึงมีมติร่วมกันสั่งฟ้องนายวิรัชกับพวก  และขั้นตอนต่อไปคือเสนออัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป เพื่อให้ใช้ดุลยพินิจเป็นขั้นตอนสุดท้ายว่าจะสั่งฟ้องนายวิรัชกับพวกหรือไม่

      โดยหาก วงศ์สกุล-อัยการสูงสุด มีความเห็นให้ยื่นฟ้อง วิรัชกับพวก ก็จะทำให้มีการทำสำนวนฟ้องและนัดตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมาพบอัยการ เพื่อส่งตัวฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป แต่หากอัยการสูงสุดแทงเรื่องสั่งไม่ฟ้องสำนวนทั้งหมด ก็จะส่งเรื่องคืนมาที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งถ้าที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.มีมติยืนยันให้ยื่นฟ้องคดี ป.ป.ช.ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลฎีกาได้เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ โดยสำนักงาน ป.ป.ช.ก็จะไปจ้างทนายความมาว่าความให้ต่อไป  อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่หากสำนวนคดีที่ ป.ป.ช.ทำไปกลับถูกอัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้ว ป.ป.ช.ยืนยันให้ฟ้อง ก็ต้องลุยฟ้องเอง

      ว่ากันตามขั้นตอน สำนวนคดีที่สังคมให้ความสนใจเช่นนี้ อย่างไรเสีย วงศ์สกุล-อัยการสูงสุด ก็ต้องทำความเห็นทางคดีเองว่าจะเอาอย่างไร คงไม่เหมือนกรณี คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย ที่ พานทองแท้  ชินวัตร ถูกฟ้องเอาผิดตกเป็นจำเลยในศาลอาญาคดีทุจริต แล้วศาลอาญาคดีทุจริตที่เป็นศาลชั้นต้นยกฟ้อง แล้วต่อมาคณะทำงานฝ่ายอัยการคดีพิเศษและอัยการฝ่ายคดีศาลสูงมีความเห็นร่วมกันไม่ต้องอุทธรณ์ จนทำให้ต้องส่งเรื่องกลับไปที่ดีเอสไอ

      จนต่อมาคณะทำงานของดีเอสไอมีความเห็นแย้ง โดยยืนยันให้อุทธรณ์เพื่อสู้คดีให้ถึงที่สุด จนสุดท้ายเรื่องถูกส่งกลับไปที่อัยการสูงสุดที่ต้องชี้ขาดตามประมวลกฎหมายอาญาฯ แต่ปรากฏว่าคนทำความเห็นกลับไม่ใช่ วงศ์สกุล-อัยการสูงสุด แต่เป็น "รองอัยการสูงสุด" ปฏิบัติหน้าที่แทนอัยการสูงสุด คือ  เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด อาวุโสลำดับที่ 1 ที่เซ็นคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว จนทำให้คดีพานทองแท้สิ้นสุดลงทันที และสร้างกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึง

      มารอบนี้กับคดีทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน หลายคนจึงจับจ้องกันไม่วางตาว่าอัยการสูงสุดจะเอาอย่างไร

      เพราะเป็นคดีซึ่งคนที่เกี่ยวข้องเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล พลังประชารัฐถึง 3 คน คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ, นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ภรรยานายวิรัช และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.โคราช พลังประชารัฐเช่นกัน แต่ตอนเกิดเหตุเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีตําบลห้วยแถลง  โดยนางทัศนาพรเป็นน้องสาวนางทัศนียา

      อย่างที่เห็นกัน ในยุครัฐบาลพลังประชารัฐตอนนี้ วิรัช ถือว่ามีบทบาททางการเมืองทั้งในพรรคพลังประชารัฐและในสภาอย่างมาก เช่น การเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่จับมือกับอีกหลายกลุ่มในพรรคโค่นล้มแผงอำนาจ "กลุ่มสมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อหนุนหลัง "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน "อุตตม สาวนายน"

      ตามรัฐธรรมนูญหากมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ แล้วศาลประทับรับฟ้อง คนที่ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยต่อศาล หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ-นักการเมือง จะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลออกมา ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนตอนยุครัฐบาลมีเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งมาแค่ 3-4 เสียง หากทั้ง "วิรัช-ทัศนียา-ทัศนาพร" ต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ จนรัฐบาลหายไปสามเสียง โดยถ้าเป็นสมัยรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ คงทำให้รัฐบาลปั่นป่วนพอสมควร แต่ถึงตอนนี้ที่รัฐบาลมี ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้านหลายสิบคน ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องเสียงในสภาเหมือนก่อนหน้านี้

        ทำให้บทสรุปของเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คนใน "บ้านรัตนเศรษฐ" ต้องลุ้นกันว่า  สุดท้ายแล้วผลการสั่งคดีของอัยการสูงสุดจะออกมาอย่างไร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"