เคลียร์ปม 'บ้านพักศาล' เชิงดอย  'รัฐบาล' กรรมการจำเป็น


เพิ่มเพื่อน    

     สถานการณ์กรณี บ้านพักตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ กลายเป็นหนึ่งในวิกฤติของศาลครั้งสำคัญ ที่อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกขึ้นมา หลังเกิดกระแสต่อต้านคัดค้านจากภาคประชาชน และเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก จากการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าวที่ลึกเข้าไปในพื้นที่ป่าจนเห็นได้ชัดจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ กระทั่งถูกเรียกล้อว่าเป็น “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ในขณะที่ศาลโดย “สำนักงานศาลยุติธรรม” แม้รู้ว่าจะมีกระแสต่อต้านคัดค้านมากก็ตาม แต่ถูกผูกมัดตามข้อกฎหมายและสัญญาก่อสร้างที่เดินหน้ามาไกลจนใกล้เสร็จสิ้นตามกำหนดแล้ว
    เป็นไปตามที่ สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะผู้แทนองค์กรที่ทำหน้าที่เป็น “แม่บ้านศาล” ชี้แจงไว้หลายครั้งถึงโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการดังกล่าว ที่ดำเนินการขออนุญาตตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2540 สมัยที่ศาลยังสังกัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนแยกมาเป็นสำนักงานศาลยุติธรรมในปี 2543 และดำเนินการตามขั้นตอนจนเริ่มสัญญาก่อสร้างในปี 2556-2557 จำนวน 3  โครงการ เป็นโครงการก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำนวน 1 โครงการ และโครงการก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา จำนวน 2 โครงการ
    ซึ่งสัญญาโครงการก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา 2 โครงการนี่เองที่กำลังเป็นปัญหาถูกประชาชนคัดค้านอยู่ ณ ขณะนี้ คือโครงการก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา จำนวน 38 หน่วย อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ จำนวน 16 หน่วย บ้านพักผู้อำนวยการ จำนวน 1 หน่วย และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลยุติธรรม จำนวน 36 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 31/2557 สัญญาสิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา โดยมีผลงานการก่อสร้างสะสมตามแผนถึงเดือน เม.ย.61 คิดเป็นร้อยละ 94.62 
     และโครงการก่อสร้างบ้านพัก รวมจำนวน 9 หน่วย อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ จำนวน  64 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ศาลยุติธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ตามสัญญาเลขที่ 55/2556 สัญญาสิ้นสุดวันที่ 9 มิ.ย.61 มีผลงานสะสมตามแผนนับถึงเดือน เม.ย.61 คิดเป็นร้อยละ 89.28
     อย่างไรก็ตาม “เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม” ก็ยืนยันเสมอถึงการดำเนินโครงการ ว่าได้ตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเสมอมา พร้อมแจกแจงประเภทและจำนวนของต้นไม้ที่ได้ทำการขุดย้ายออกไปในการก่อสร้างจำนวน 240 ต้น ไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า ทั้งยังมีแผนที่จะปลูกต้นไม้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องด้วย
     แต่ดูแล้วก็ยังไม่สามารถลดกระแสต่อต้านคัดค้านได้เท่าที่ควรนัก เพราะภาคประชาชนที่นำโดย  เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ตั้งเป้าเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเพื่อขอคืนพื้นที่ป่า 
     ด้าน คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ในฐานะฝ่ายบริหารของศาล จึงจัดประชุมวาระพิเศษประเด็นร้อนนี้เพื่อหาทางออกในวันที่ 9 เม.ย. 2561 จนได้มติว่า “ให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ชอบธรรมและด้วยสันติวิธี โดยตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม และให้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยหากรัฐบาลเห็นสมควรประการใด เช่น ให้ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราว หรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง”
     เท่ากับว่ากรณีนี้ไม่อาจจบลงได้โดยศาลนั่นเอง เพราะประชาชนเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งด้วยประการหนึ่ง ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของศาลด้วยประการหนึ่ง ที่จะเดินหน้าโครงการให้สำเร็จด้วยดีท่ามกลางกระแสคัดค้านก็ไม่ได้ แม้จะถูกกฎหมายแต่กลับไม่ถูกหลักการในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่หมู่บ้านไปตั้งอยู่กลางป่า ซึ่งอาจจะเสี่ยงน้ำป่าไฟป่าเสียด้วยซ้ำ ขณะที่จะถอยหลังยุติโครงการก็ไม่ได้ มีสัญญาโครงการผูกมัดทำเสร็จแล้วกว่า 80-90% นอกจากจะเสียงบประมาณแผ่นดินไปเยอะแล้ว หากยกเลิกต้องเสี่ยงถูกฟ้องร้องเข้าไปอีก
     สุดท้ายจึงเป็นเหตุให้ศาลตัดสินใจให้ฝ่ายรัฐบาลเข้ามาช่วยตัดสินปัญหานี้ ที่รัฐบาลจะต้องช่วยหาทางออกให้เป็นที่ยุติได้ด้วยดีทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจจะไม่ได้ตามเป้าประสงค์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ  100% อย่างไรก็ดี วิกฤตินี้ไม่น่าจะเป็นที่หนักใจต่อรัฐบาลมากนัก เพราะผลการหารือของภาคประชาชนที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ ที่จัดขึ้นวันเดียวกัน 9 เม.ย.ก็ได้เสนอทางออก เช่น การให้รื้ออาคารศาลบางส่วน ตั้งคณะกรรมการร่วม, รัฐต้องจ่ายเงินตามงวดงานให้แล้วเสร็จ, รัฐจะต้องหาพื้นที่เหมาะสมทดแทนในการก่อสร้าง และหากกำหนดพื้นที่ขีดเส้นได้แล้ว สำนักงานศาลต้องส่งคืนพื้นที่เกี่ยวข้องที่กระทบต่อผืนป่า เป็นต้น
     ทั้งหมดน่าจะเป็นทางออกที่ได้เสนออย่างประนีประนอมพอสมควรแล้ว บวกกับข้อมูลที่ศาลยุติธรรมเสนอไป น่าจะช่วยประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลได้ในการเคลียร์ปมนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"