ปรากฏการณ์ 'รุมทึ้ง' 4 แสนล. ทำ ป.ป.ช.ขยับ จับตา 'นักโกง'


เพิ่มเพื่อน    

        การใช้งานตามงบประมาณในพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1.9 ล้านล้านบาท หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน ได้รับการจับตาอย่างมากจากสังคม

        โดยเฉพาะวงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหลายภาคส่วนแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของความ

       “คุ้มค่า-โปร่งใส”

        ยิ่งมีข่าวคราวไม่ดีกับเรื่องเงินก้อนนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ว่า นักการเมืองจ้องมะรุมมะตุ้ม ตั้งแต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้

        รวมไปถึงคำอภิปรายของนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ว่า งบประมาณส่วนดังกล่าวยังไม่มีแผนที่ชัดเจน แต่มีการจัดสรรและแบ่งปันงบประมาณที่จะลงสู่จังหวัดให้กับ ส.ส.คนละ 80 ล้านบาท

        งบประมาณดังกล่าวถูกกันไว้ให้กับ ส.ส.แต่ละคน โดยข้อมูลระบุว่า เมื่องบประมาณลงสู่จังหวัด ส.ส.ในพื้นที่สามารถเข้าไปกำหนดว่า จะนำเงิน 80 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการใด ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปสู่การหักหัวคิว เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม

        แน่นอนว่า นี่คือคำอภิปรายของฝ่ายค้านที่อาจตั้งแง่ หรือลดทอนเครดิตฝ่ายรัฐบาล แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ถือว่ามี “ช่องโหว่” ในลักษณะนั้นจริงๆ

        เช่นเดียวกับ นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการได้มาซึ่งโครงการส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการระดมปัญหา ความต้องการ และการเสนอแผนการฟื้นฟู เป็นการทำแผนโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งอาจเป็นการหยิบจับโครงการที่เคยมีมาแต่เดิมมาปัดฝุ่นนำเสนอใหม่ ส่งผลให้โครงการที่ถูกนำมาเสนอจำนวนมากไม่สามารถนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนได้อย่างแท้จริง

        สิ่งที่แสดงความเป็นห่วงกันมากคือ โครงการที่ลงไปสู่พื้นที่อาจไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ เพียงแต่ตั้งมาเพื่อจะนำไปสู่การหาผลประโยชน์

        ขณะที่การทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน พบว่า ณ วันที่ 5 มิถุนายน มีการเสนอเข้ามาแล้ว 28,425 โครงการ วงเงิน 590,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกรอบวงเงิน และต้องมีการตัดทอนออก

        หลายฝ่ายมองว่า นี่คือปรากฏการณ์ “รุมทึ้ง” งบ 400,000 ล้านบาท และยังสะท้อนให้เห็นว่า เงินก้อนนี้ได้รับการหมายตาเป็นอย่างมาก

        แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุดคือ “กระบวนการตรวจสอบ” ที่จะสร้างความมั่นใจ มีเพียงเสียงเรียกร้องจากประชาชนเท่านั้น ที่ต้องการให้รัฐเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน-ภาคประชาสังคมเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบประเมินผลร่วมกลไกของรัฐ มากกว่ากลไกที่มีอยู่อย่าง “ThaiME”

        สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบเรื่องทุจริตก็ถูกตั้งคำถามถึงท่าทีที่ “นิ่งเงียบ” เกินไป ทั้งที่มีกลิ่นอายจากการทุจริตโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน หรือแคร์เซตในราคาสูง ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กระตุกเตือนให้ต้องขยับ

        การจัดกิจกรรมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช.พบสื่อมวลชน ในหัวข้อ การตรวจสอบเงินกู้ 4 แสนล้าน – เงินสะสมท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีให้ ป.ป.ช.ได้แอ็กชั่นว่า ไม่ได้อยู่เฉย

       “การใช้จ่ายเงินกู้ก้อนนี้ ป.ป.ช.จะถือเป็นเคสพิเศษที่ต้องมีการตรวจสอบและจัดการให้คดีเห็นผลทันที เพราะถือว่าเป็นแผนงานที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ขณะเดียวกันหากประชาชนพบความผิดปกติเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ขอให้รีบส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบทันที”

        นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย้ำ

        นอกจากนี้ นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้านการป้องกัน ก็พยายามให้ความมั่นใจว่า ป.ป.ช.มีประสบการณ์และสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้

       “แม้ว่าเงินกู้จำนวน 4 แสนล้านบาท จะเป็นตัวเลขที่มหาศาล แต่ไม่ใช่สถานการณ์แรกที่ ป.ป.ช.ได้เข้าไปตรวจสอบ เพราะก่อนหน้านี้เราเคยตรวจสอบทั้งโครงการมิยาซาวา และโครงการไทยเข้มแข็ง”

        แต่กระนั้น นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้านการปราบปราม ก็ยอมรับว่า ไม่สามารถรับปากได้ว่า จะไม่ให้เกิดการทุจริตแม้แต่บาทเดียว แต่ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกแรง เพื่อปิดช่อง

       “นักโกง”

        แต่อย่างไรก็ดี แม้ ป.ป.ช.จะขยับออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจ แต่บทบาทในห้วงหลายปีที่ผ่านมาก็ถูกตั้งคำถามไม่น้อยในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีคนของฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง

        เงิน 400,000 ล้านบาท ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะรั่วไหล จึงถือเป็นอีกภารกิจที่ท้าทายของ ป.ป.ช. เพื่อพิสูจน์ว่ายังเป็นองค์กรที่สามารถพึ่งพิงได้อยู่หรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"